.
ในหนังสือเล่มหนึ่งของ Brett Kahr ที่ชื่อ “Freud: Great Thinkers on Modern Life” นำเอาทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) มาพูดไว้อย่างน่าสนใจในบทแรกของหนังสือเกี่ยวกับประเด็นนี้
ในหนังสือจะยกตัวอย่างจากเหตุการณ์คดีอื้อฉาวของนักแสดงชายอย่าง ฮิวจ์ แกรนท์ (Huge Grant) ในปี 1994 ที่เพิ่งจะโด่งดังขึ้นมาในฮอลลิวู้ดจากหนังเรื่อง For Wedding and a Funeral
ซึ่งในปีถัดมาก่อนที่หนังเรื่องใหม่ของเขาจะเข้าฉาย (เรื่อง Nine Months) เพียง 2 สัปดาห์ครึ่ง แกรนท์ก็ถูกจับในระหว่างซื้อบริการทางเพศจาก ดีไน์ บราวน์ (Divine Brown) หรือชื่อจริงคือ เอสเตลล่า แมรี่ ทอมป์สัน (Estella Marie Tompson) จนกลายเป็นข่าวที่โด่งดังมากในช่วงนั้นเพราะสร้างความงุนงนว่าทำไมแกรนท์ที่กำลังเดตกับนักแสดงสาวอีกคนหนึ่งอยู่ด้วยจึงทำแบบนั้น
อีกกรณีตัวอย่างหนึ่งในหนังสือคือ คดีของนักการเมืองนิวยอร์ก อีเลียต สปิตเซอร์ (Elliot Spitzer) ที่หลังได้รับการเลือกตั้งไม่นานก็ถูกแฉและดำเนินคดีว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อบริการทางเพศ จนสุดท้ายต้องประกาศลาออกและหายไปจากอาชีพทางการเมืองในที่สุด
.
Brett Kahr พยายามยกเอาทฤษฎีของฟรอยด์มาเพื่อบอกว่าเรื่องนี้ไม่ได้แปลกเท่าไร เพราะฟรอยด์เองก็เคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ในงานเขียนของตัวเองว่า คนไข้ประสาทหรือคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตหลายคนของเขาต่างก็เริ่มมีอาการหรือมีพฤติกรรมบ่อนทำลายตัวเองก็หลังจากประสบประสบการณ์ของชัยชนะมากกว่าความล้มเหลวเสียด้วยซ้ำ
ยกตัวอย่างเช่น กรณีของหญิงสาวที่เกิดในครอบครัวฐานะดี และเมื่อถึงช่วงวัยรุ่นก็เริ่มหลงรักการผจญภัยจึงหนีออกจากบ้านไปพบเจอศิลปินหนุ่มที่มองเห็นความงามและคุณค่าในตัวเธอ
แต่เมื่อศิลปินหนุ่มเริ่มคิดจะขอเธอแต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและแนะนำให้เธอได้รู้จักกับครอบครัวของเขา หญิงสาวก็เริ่มมีอาการทางประสาทเกิดขึ้น เริ่มจากการที่เธอไม่ค่อยอยู่บ้าน จินตนาการว่าญาติฝ่ายชายจะทำร้ายลงโทษเธอ และกีดกันแฟนหนุ่มจากกิจกรรมเข้าสังคมทุกแขนง โดยให้เขาอยู่แต่ภายในห้องกับงานศิลปะของตัวเองเท่านั้น
.
อีกกรณีหนึ่งคือ อาจารย์มหาวิทยาหนุ่มที่ปรารถนาว่าวันหนึ่งจะได้ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับอาจารย์อาวุโสที่เชื้อเชิญเขามาเข้าวงการ
แต่เมื่อถึงวันที่อาจารย์อาวุโสเกษียณและเพื่อนร่วมงานของอาจารย์หนุ่มบอกว่า เขาคือผู้ถูกเลือกในฐานะคนที่ประสบความสำเร็จที่สุด เขากลับเริ่มเกิดความลังเลใจ เริ่มมองค่าความสามารถของตัวเองในแง่ลบ ลดทอนคุณค่าของตัวเองว่าเขาไม่เหมาะสมกับตำแหน่งที่จะได้รับ และกลายเป็นโรคซึมเศร้าที่รบกวนทุกการทำกิจกรรมในชีวิตของเขานับปี
.
จริงๆ แล้วหนังสือของ Brett Kahr ไม่ได้อธิบายในเชิงทฤษฎีอะไรมาก ผมจึงนำเอาประเด็นสำคัญในบทนี้มาต่อยอดและเขียนขึ้นมาเพื่ออธิบายด้วยแนวทางของผมเอง เพราะงั้น เรามาเริ่มกันว่า “ทำไมคนที่ประสบความสำเร็จบางคนจึงมีโอกาสทำลายชีวิตตัวเองลงกับมือได้?”
.
1. ความไม่สัมพันธ์กันของอิด อีโก้ และ ซุปเปอร์อีโก้
ตามทฤษฎีของ Sigmund Freud จะแบ่งโครงสร้างทางจิตออกเป็น 3 ส่วนที่ทำงานร่วมกัน ประกอบด้วย
อิด (id) ส่วนของจิตใจที่เต็มไปด้วยแรงขับทางจิตต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่แรงขับทางเพศและความก้าวร้าว โดยฟรอยด์เรียกพลังงานของแรงขับเหล่านี้ว่าลิบิโด (libido)
อีโก้ (ego) ส่วนของจิตใจที่รับเรื่องจากอิด มีหน้าที่ในการประสานความต้องการของอิดกับความเป็นจริงว่าสามารถตอบสนองได้หรือไม่ จึงเป็นส่วนของจิตใจที่มีเหตุผลในการห้ามปรามอิดพอสมควรเนื่องจากความต้องการของอิดบางครั้งก็เป็นอันตรายต่อตัวเอง ยังไงก็ตาม แต่อีโก้ก็ไม่ได้ทำงานด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียว เพราะอีโก้ก็ได้สร้างซุปเปอร์อีโก้ขึ้นมาเพื่อช่วยประเมินอิดด้วยหลักศีลธรรม แต่ก็กลายเป็นว่าซุปเปอร์อีโก้สามารถสร้างความลำบากใจให้อีโก้ที่ต้องมาหาทางประนีประนอมความไม่ลงรอยกันของอิดกับซุปเปอร์อีโก้อีกทีนึงด้วย
ซุปเปอร์อีโก้ (super) ส่วนของจิตใจที่เป็นแหล่งรวมของกฎและข้อบังคับทางศีลธรรมต่างๆ ทั้งจากที่เรียนรู้มาโดยตรงและการเลียนแบบ ซุปเปอร์อีโก้จึงมีทั้งข้อบังคับต่างๆ ที่ห้ามปรามให้อีโก้เกิดความรู้สึกผิดเมื่ออนุญาตการทำงานอิด (ตัวห้าม) และส่วนของตัวตนในอุดมคติที่กำหนดว่าจริงๆ แล้วอีโก้ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร (ตัวยุ)
โครงสร้างทางจิตทั้ง 3 ส่วนเมื่อทำงานร่วมกัน ก็เลยจะเห็นได้ว่าอีโก้ต้องแบกภาระในการรับเรื่องจากอิด และหากปล่อยให้พลังงานของอิด (ที่ชื่อว่าลิบิโด) ปลดปล่อยออกมามากเกินไป ก็จะเกิดความรู้สึกผิดและถูกลงโทษจากซุปเปอร์อีโก้ได้ (ถูกทำลายด้วยศีลธรรมในใจ)
คราวนี้ ความปรารถนาในการเอาชนะอุปสรรคหรือประสบความสำเร็จนั้นก็เป็นส่วนที่สัมพันธ์กับลิบิโดในอิด และมันก็พุ่งเป้าไปอย่างมีเป้าหมายผ่านการทำงานของอีโก้และซุปเปอร์อีโก้
พูดง่ายๆ คือ ซุปเปอร์อีโก้เป็นตัวกำกับว่าความสำเร็จ (เป้าหมาย) คืออะไรจากประสบการณ์ที่เราได้เรียนรู้มา และอีโก้ก็ทำหน้าที่ประสานระหว่างความปรารถนาของอิดกับเป้าหมายนั้น แต่ต้องไม่ใช่การทำให้อิดบรรลุเป้าหมายแล้วเกิดความรู้สึกจากซุปเปอร์อีโก้ไปพร้อมกันด้วย (เพราะซุปเปอร์อีโก้เป็นทั้งตัวห้ามและตัวยุ แม้จะยุว่าแนวทางการประสบความสำเร็จคืออะไร แต่การไล่ตามความสำเร็จที่ต้องเหยียบหัวคนอื่นจะทำให้เกิดความรู้สึกผิดหรือละอายใจขึ้นมาด้วย)
ดังนั้น การที่คนคนหนึ่งประสบความสำเร็จและผูกติดตัวเองกับความสำเร็จนั้นเสมือนว่าตนได้บรรลุจุดสูงสุดของชีวิตแล้ว จึงเปรียบเหมือนลิบิโดของอิดที่เอาชนะอีโก้ได้ด้วยการทำลายภาพในอุดมคติของตัวเองสิ้น และตกอยู่ในภาวะที่เสมือนว่า “ดีเกินกว่าจะเชื่อว่าเป็นจริง”
และเมื่อตกอยู่ในภาวะแบบนั้น การตอบสนองทุกสิ่งอย่างตามอุดมคติได้หรือบรรลุอุดมการณ์ทั้งหมดจึงนำมาสู่อุดมคติของอีโก้ที่หายไปด้วย จนหลงเหลือเพียงพลังงานของอิดหรือลิบิโดที่ย้อนกลับมาสร้างความทรมานใจแทนเนื่องด้วยความรู้สึกผิดหลังจากเอาชนะทุกอย่างได้แล้ว (เสมือนว่าเมื่อบรรลุเป้าหมายได้แล้วกลับพบแต่ความว่างเปล่า และมองไปไม่เห็นสิ่งใดอีก นอกเสียจากร่องรอยบาดแผลของสงครามที่สร้างขึ้นเองกับมือในเบื้องหลัง)
การประสบความสำเร็จของคนบางคนที่ไม่อาจสร้างสมดุลระหว่างจิตใจทั้ง 3 ส่วนนี้ได้ จึงนำมาสู่อาจนำมาสู่อาการซึมเศร้า วิตกกังวล และการทำลายชีวิตของตัวเองลงกับมือเพื่อประคองสมดุลของพลังงานลิบิโดกับความรู้สึกผิดเอาไว้
.
2. ความรู้สึกแบบลงโทษ (persecutory guilt)
เราพูดถึงเรื่องความรู้สึกผิดไปแล้วว่า มันจะเกิดขึ้นเมื่อคนคนหนึ่งประสบความสำเร็จเพราะมองเห็นว่าความสำเร็จของตัวเองกลับทำให้คนอื่นตกต่ำลงหรือต้องลำบากมากขึ้นอย่างไร
แต่ขณะเดียวกัน เราต่างก็รู้ดีว่าไม่ใช่ทุกคนเสียหน่อยที่จะรู้สึกผิดจนซึมเศร้ากับการประสบความสำเร็จ ดังนั้นความรู้สึกผิดนี้มันก็ต้องมีความแตกต่าง
ในที่นี้ ผมขอยกทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ เมลานี ไคลน์ (Melanie Klein) มาเสริมทฤษฎีของฟรอยด์เพราะจะเห็นภาพได้ชัดเจนกว่า เนื่องจากไคลน์มีการแบ่งความรู้สึกออกเป็น 2 รูปแบบ ในขณะที่ฟรอยด์ไม่ได้แบ่ง
สำหรับ เมลานี ไคลน์ ความรู้สึกผิด (guilt) จึงเกิดขึ้นในสองรูปแบบ และส่งผลต่อกระบวนการทางจิตใจของบุคคลในแบบที่ต่างกัน
2.1) แบบแรกคือ “ความรู้สึกผิดแบบลงโทษ” (persecutory guilt) ซึ่งเป็นความรู้สึกผิดแบบที่สัมพันธ์กับการทำงานของซุปเปอร์อีโก้ที่แข็งกระด้างและอีโก้ที่อ่อนแอ
หมายความว่า ความรู้สึกผิดแบบนี้คือการหวาดกลัวการถูกลงโทษ การละอายใจอย่างสุดซึ้ง ซึ่งมีโอกาสลงลึกไปในระดับตัวตน ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าความรู้สึกผิดแบบนี้มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือโรคประสาทหวาดระแวง เพราะจะทำให้คนคนนั้นเกิดความหมกหมุ่น เกิดความกลัว เกิดความวิตกกังวล ไม่มั่นใจ และรู้สึกละอายใจต่อการกระทำบางสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อคนอื่น
2.2) ความรู้สึกผิดแบบที่สองคือ “ความรู้สึกผิดแบบแก้ไขได้” (reparative guilt) ซึ่งเป็นความรู้สึกผิดที่อีโก้แข็งแรงอยู่และเข้ามากำกับความขัดแย้งระหว่างอิดกับซุปเปอร์อีโก้ต่อไปได้ ซึ่งทำให้อีโก้ไม่ได้รู้สึกสูญเสียตัวตนหรือถูกทำลายไปหมดสิ้น ไม่ตกอยู่ในภาวะของความว่างเปล่า และมองหาเป้าหมานใหม่ต่อไปได้ด้วยหลักของเหตุผล
แปลว่า ความรู้สึกผิดแบบที่สองจะเกิดขึ้นกับคนที่ถึงแม้จะรู้ว่าตนเองทำบางสิ่งบางอย่างผิดพลาดไปหรือทำบางสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อคนอื่น แต่จิตใจก็จะไม่สั่นไหวและไม่จมอยู่กับความหวาดกลัวหรือละอายใจมากจนทำอะไรไม่ โดยความรู้สึกผิดแบบนี้เราจะเห็นได้จากคนที่สำนึกต่อการกระทำผิดของตัวเองแล้วยืดอกรับผลกรรมทุกอย่าง หรือเห็นได้จากคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตส่วนตัวแล้วนำเอาความสำเร็จนั้นแบ่งปันช่วยเหลือคนอื่นเสมือนเป็นความหมายในชีวิตที่ถูกสร้างขึ้นใหม่
คราวนี้คงพอจะเห็นได้ว่า แม้ว่าอิด อีโก้ และซุปเปอร์อีโก้ จะไม่สมดุลกันจนทำให้คนคนนึงเกิดความรู้สึกผิดจากการตอบสนองแรงขับจากอิดได้ แต่ความแข็งแรงของอีโก้นั้นจะเป็นตัวกำหนดอีกทีหนึ่งว่าคนคนนั้นจะแบกรับผลกระทบทางใจที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นได้รึเปล่า ซึ่งนั่นก็คือความรู้สึกผิดต่อการเอาชนะคนอื่นได้หรือความรู้สึกผิดจากการประสบความสำเร็จ
.
3. ประสบการณ์ที่สร้างความรู้สึกไม่ดีพอ หรือ การมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง
เราพูดถึงความรู้สึกผิดที่แตกต่างกันเพราะความแข็งแรงของอีโก้ที่ต่างกันไปแล้ว แต่คำถามต่อมาคือแล้วอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้อีโก้ของแต่ละคนแข็งแรงไม่เท่ากัน (และซุปเปอร์อีโก้แข็งกระด้างจนรู้สึกผิดมากด้วย)
ในมุมมองของฟรอยด์ มันก็คือการย้อนกลับไปที่ปมโอดิปุส (Oedipus complex) ที่บอกว่า เด็กผู้ชายต้องการแข่งขันกับพ่อเพื่อเอาชนะใจแม่ ก็เลยพยายามเลียนแบบพ่อของตนและบางครั้งก็พยายามทำตัวเองให้ดีกว่าด้วย
เรื่องราวของปมโอดิปุสไม่ได้จบลงที่การเอาชนะพ่อจนครองใจแม่ได้ เพราะการแต่งงานกับแม่ตัวเองเป็นเรื่องผิดศีลธรรมน่นอน ดังนั้น ปมโอดิปุสสำหรับทฤษฎีของฟรอยด์มันจึงเป็นการจบลงที่การล้มเลิกการแข่งขันกับพ่อของตน และสร้างชีวิตของตัวเองแทน (หาคู่ครองของตัวเองแทนซะ)
แต่ยังไงก็ตาม สิ่งที่ฟรอยด์ได้พุดถึงเกี่ยวกับปมโอดิปุสคือ พ่อของเด็กชายคือคนที่กำหนดข้อบังคับหรือห้ามปราม รวมทั้งกำกับเสียด้วยว่าเด็กชายควรจะต้องมีกลายเป็นคนแบบใดจึงจะเรียกได้ว่าเป็นลูกผู้ชาย (ทั้งที่บอกโดยตรงและการเป็นตัวแบบให้ดู) ดังนั้น หากพ่อของเด็กชายมีทัศนคติที่แข็งกระด้าง ด่าทอ ละเลย และแสดงออกให้เด็กชายรู้สึกว่าเด็กคนนั้นไม่เคยดีพอในสายตาของเขาเลย สิ่งที่ตามก็คือการสร้างตัวตนของเด็กที่ไม่แข็งแรงและรู้สึกไร้ค่า
หมายความว่า อีโก้นั้นก็ไม่แข็งแรงไปด้วยเนื่องจากมันสูญเสียอำนาจในการควบคุมตัวเอง มองเห็นตัวเอง และต้องคอยเอาตัวเองไปผูกติดกับพ่อที่เสริมสร้างความแข็งกระด้างของซุปเปอร์อีโก้มากขึ้น)
ความรู้สึกไม่ดีพอและมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเองที่ไม่สามารถเยียวได้นี้เองจึงเป็นองค์ประกอบที่คล้ายชนวนให้เกิดการตำหนิและถล่มตัวเองของบุคคลได้ง่าย เมื่อคนคนนึงอยู่บนเส้นทางของความสำเร็จก็ไม่ใช่เพียงการทำเพื่อตัวเองแต่ก็เพื่อพิสูจน์คุณค่าของพวกเขาต่อคนที่มองไม่เห็น (พ่อแม่) ไปเรื่อยๆ แต่เมื่อพวกเขาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จได้แล้ว บาดแผลในใจที่ไม่เคยหายไปนี้ก็จะกลับมาทำร้ายพวกเขาเองอีกครั้งให้เกิดความรู้สึกผิดและลำอายใจที่ตนทำได้ดีกว่าพ่อแม่ของตน เพราะสิ่งที่พวกเขาติดใจอยู่เสมอไม่ใช่การเป็นคนขี้แพ้ แต่มันคือความรู้สึกว่าตนไม่เคยดีพอ
.
มาถึงจุดนี้ ถ้าเรานำเอาข้อ 1-3 มารวมกัน ก็จะเห็นได้ว่าเหตุผลที่คนที่ประสบความสำเร็จแล้วมีโอกาสทำลายชีวิตตัวเองลงกับมือนั้น ก็เพราะมันมักมีจุดเริ่มต้นมาจากประสบการณ์หรือความรู้สึกของการไม่ดีพอ และผูกติดอยู่กับความรู้สึกผิดในใจที่ไม่เคยจัดการได้อย่างเหมาะสม
จนกระทั่งเมื่อคนเราได้มาซึ่งความสำเร็จ อำนาจ หรือ ชื่อเสียง ความรู้สึกว่าตนเอง “ไม่สมควรได้รับ” ก็ถาโถมจนรับมือไม่ถูก หากไม่ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าอย่างทรมานจิตใจ ก็อาจกลายเป็นคนที่ใช้อำนาจที่ได้มาอย่างไม่เหมาะสมและเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวคล้ายการเยียวยาความเปราะบางในใจของตนเองมากกว่าการคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมที่พวกเขาอาจใช้อำนาจของตัวเองมอบให้ได้
.
.
.
ยังไงก็ตาม ถึงแม้ทฤษฎีของฟรอยด์ดูเหมือนเรากำลังไปโทษประสบการณ์ในวัยเด็กมากเกินไป และกำลังบอกว่าสาเหตุนั้นก็มาจากประสบการณ์วัยเด็กของคนเหล่านี้ทั้งนั้น แต่ในการวิเคราะห์ตามจริงเราต้องอาศัยหลายปัจจัยประกอบ
แม้แต่การพูดถึงปมโอดิปุสที่บอกว่าพ่อแม่อาจเป็นคนสร้างความรู้สึกไม่ดีพอในเด็ก ทั้งที่ความจริงแล้ว ประสบการณ์พวกนั้นอาจเกิดมาจากปู่ย่าตายาย ญาติ ครูที่โรงเรียน เพื่อนที่บูลลี่ อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่สังคมที่ทำงานก็ได้
เวลาที่บอกว่าคนเหล่านี้อาจไม่เคยหลุดพ้นจากการแข่งขันกับพ่อของตัวเอง จึงไม่ได้หมายถึง “Father” แบบตรงตัวเหมือนที่ฟรอยด์เขียน แต่เป็น “Name of Father” (นามแห่งพ่อ) ในทฤษฎีของฌาคส์ ลากอง (Jacques Lacan) นักจิตวิเคราะห์ฝรั่งเศส ที่แนะนำให้เราอ่านงานของฟรอยด์ในแบบตีความเชิงสัญลักษณ์ก็ได้
.
Kahr, B. (2015). Freud: Great thinkers on modern life. Pegasus Books, LLC.
Comments