top of page
ค้นหา

ทำความรู้จักแนวคิดจิตวิเคราะห์แต่ละสายแบบคร่าวๆ

รูปภาพนักเขียน: Psychologist ChairPsychologist Chair


.

เมื่อไม่นานมานี้ผมได้ฟังพอดแคสต์ของนักจิตวิเคราะห์กลุ่มนึงเกี่ยวกับการทำจิตบำบัด สิ่งที่น่าสนใจคือการพูดถึง quote ของ Freud บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่พูดถึงประมาณว่า

“จิตวิเคราะห์ดูคล้ายจะเป็นหนึ่งในสามของ ‘มืออาชีพที่เป็นไปไม่ได้ (impossible profession)’ ในขณะที่อีกสองอันก่อนหน้าคือเรื่องการศึกษา (education) และการปกครอง (government)”

.

ไม่ใช่แค่นั้น นักจิตวิเคราะห์สองคนที่พูดในพอดแคสต์นั้นยังพูดถึงสไตล์การทำงานที่ต่างกัน มุมมองที่ต่างกัน และที่มาที่ต่างกันด้วย ผมจึงคิดได้ว่านั่นอาจจะจริงที่ทำให้การเป็นคนที่จะบอกว่าตัวเองรู้ดีว่าศาสตร์จิตวิเคราะห์นั้นกลายเป็นเรื่องยากมากเพราะแนวคิดนั้นก็มีหลากหลายมากมายพอๆ กับบุคลิกของนักทฤษฎี

.

ในวันนี้ผมจึงคิดว่าอยากที่จะมาพูดถึงแนวคิดจิตวิเคราะห์ที่มีหลายสำนักหรือเรียกว่าหลาย “school” กันแบบคร่าวๆ ให้พอรู้ว่ามี school ไหนบ้าง และอาจใส่ความคิดเห็นของผมจากที่เคยสัมผัสจากการฟังและอ่านผ่านตาจากหนังสือ บทความ โพสต์ หรือคอมเม้นต์ของนักบำบัดหลายๆ คนมาเพื่อประกอบเพื่อให้พอเห็นภาพว่าแต่ละ school พอจะมีความแตกต่างกันยังไงได้บ้าง

.


1. Classical psychoanalysis หรือ Classical Freudian

ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าคลาสสิก เพราะฉะนั้นก็เป็นสายดั้งเดิมที่สุดของบิดาแห่งจิตวิเคราะห์คือ Sigmund Freud


สำหรับสายนี้ต้นกำเนิดแรกเริ่มคือในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย น้อยคนที่จะไม่รู้จักชื่อของ Freud หากจะทำความรู้จักกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ และต่อให้ศึกษางานเขียนของนักจิตวิเคราะห์สายอื่นหรือนักจิตบำบัดแนวคิดอื่นก็ยังคงต้องได้เห็นชื่อของ Freud ปรากฎอยู่ทุกครั้ง ทั้งในแง่ของอ้างอิงอย่างนับถือ เห็นด้วย ไปจนถึงการวิจารณ์เพื่อสร้างทฤษฎีใหม่


แนวคิดดังเดิมของ Freud ให้ความสำคัญเรื่อง Drive Theory เป็นหลัก โดย school นี้จะโฟกัสไปที่กระบวนการของสัญชาตญาณ (instinctual process) และวิเคราะห์ว่าการดำรงอยู่ของมนุษย์คือการก้าวผ่านความหมกมุ่นทางร่างกายจากลำดับขั้นพัฒนาการทางเพศ (psychosexual stage) ได้แก่ oral stage, anal stage, phallic stage, latent stage และ genital stage


Drive Theory ของ Freud แบบดั้งเดิมคือความเชื่อในเรื่องแรงขับ (drive) ตามสัญชาตญาณโดยเฉพาะแรงขับทางเพศ (ถึงจะใช้คำว่าแรงขับทางเพศ แต่คำว่า sexuality ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความต้องการทางเพศแต่รวมไปถึงองค์ประกอบเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศต่างๆ และเรื่องความรักด้วย) โดย Freud ให้ความสนใจกับการเอาตัวรอดขั้นพื้นฐานซึ่งสัมพันธ์กับการเลี้ยงดูและพฤติกรรมอื่นๆ ของแม่ต่อร่างกายของทารก (infant) แฟนตาซีของเด็กตั้งแต่เกิดถึงตาย และปมทางเพศที่ติดอยู่กับความสัมพันธ์ร่วมกับพ่อหรือแม่ จากนั้นเขาได้อธิบายว่า ตัวตนของทารกในผู้ใหญ่คือการมองหาความพึงพอใจตามสัญชาตญาณ ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ความเข้มข้นของแรงขับ (drive)


Freud เชื่อว่าพ่อแม่ที่สามารถเข้าใจการสลับไปมาระหว่างการตอบสนองความพึงพอใจที่เพียงพอและการยอมให้เกิดความลำบากในการตอบสนองอย่างเหมาะสมจะทำให้เด็กเกิดความมั่นคงทางอารมณ์ มีความพึงใจกับตัวเอง และเรียนรู้ที่จะรั้งรอหรือหาทางตอบสนองความพึงใจด้วยแนวทางทดแทนอื่น (replace) ซึ่งเป็นการชั่งตวงกับหลักของความจริง (reality principle) พ่อแม่จึงต้องมีความเมตตาพอๆ กับการห้ามปรามเด็ก ดังนั้น พยาธิสภาพทางจิตหรืออาการทางจิตต่างๆ ในมุมมองของ Freud จึงมักสัมพันธ์กับเรื่องการติดขัดเป็นปม (fixation) ตามลำดับขั้นพัฒนาการ โดยเฉพาะในขั้น Phallic stage ซึ่งเป็นขั้นที่ Freud พูดถึงความขัดแย้งของปมโอดิปัส (oedipus complex)


ยังไงก็ตาม ทุกวันนี้นักจิตวิเคราะห์น้อยคนมากที่จะสนใจเรื่อง drive theory ตามลำดับขั้นพัฒนาการทางเพศของ Freud และแทบไม่ได้มีใครยึดอยู่กับการใช้แนวทางการทำจิตวิเคราะห์แบบ Freud ที่ให้ผู้ป่วยนอนลงบนโซฟาและนักบำบัดอยู่ข้างหลัง แต่กลับมองเป็นทางเลือกหนึ่งในการบำบัดเท่านั้น


แต่ถึงอย่างงั้น แนวคิดของ Freud ก็ทำให้เกิดการต่อยอด school อื่นๆ ของจิตวิเคราะห์ในเวลาต่อมาจากแนวคิดอื่นๆ นอกจากเรื่อง drive theory ตัวอย่างเช่น


Erik Erikson ที่ต่อยอดแนวคิดของ Freud โดยเพิ่มเรื่องสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (interpersonal) และงานของจิต (intrapsychic tasks) เข้าไปในแต่ละขั้นพัฒนาการ และกลายเป็นว่างานของ Erikson มักถูกพบได้ในกลุ่ม ego psychology ดั้งเดิม (เปลี่ยนแปลงจากมุมมอง biologism ของ Freud)


Harry Stack Sullivan หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการสื่อสาร (communicative achievement) เช่น การพูดคุยและเล่นกับเด็กแทนการมองเป็นเรื่องการตอบสนองแรงขับ และกลายเป็น Interpersonal school


Magaret Mahler หันมาให้ความสนใจกับเรื่องกระบวนการแยกจากและเป็นปัจเจก (seperation-individuation) ซึ่ีงเป็นการขยายกรอบความคิดเกี่ยวกับการที่เด็กริเริ่มพัฒนาโครงสร้างบุคลิกภาพ และแนวคิดของเธอก็อยู่บนฐานคิดแบบ object relation แต่ก็ยังให้ความสำคัญกับเรื่องปมติดขัดแบบ Freud อยู่ อย่างไรก็ตาม Mahler ฉีกแนวคิดเรื่อง oral & anal stage ของ Freud ทิ้ง โดยมองไปที่ระยะของการไม่ตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของคนอื่นๆ ของทารกมากกว่า และเรียกว่า autistic phase (0 - 6 เดือน) ก่อนที่จะไปสู่การมีสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยที่เรียกได้ว่าเป็นระยะ hatching, practicing rapprochement หรือ on the way to object constancy (6 เดือน - 1 ขวบ) ซึ่งเป็นเงื่อนไขก่อนเข้าสู่กระบวนการ seperation-individuation process


Melanie Klein นักจิตวิเคราะห์สาย Object relation ที่เปลี่ยนจากการเสนอแนวคิดเป็นขั้นพัฒนาการแบบ Freud เป็นตำแหน่ง (position) หรือผมขอเลือกว่า “ช่วง" โดยเธอวิเคราะห์ว่าทารกจะเป็นการข้ามจาก paranoid-schizoid postion ไปสู่ depressive position ซึ่งช่วงแรกคือการที่ทารกยังไม่สามารถแยกตัวเองออกจากคนอื่นได้อย่างเหมาะสม และในช่วงหลังคือการที่เด็กสามาถเข้าใจได้ว่าคนอื่นอยู่นอกเหนืออำนาจในการควบคุมของตัวเอง และแต่ละคนมีความคิดของตัวเอง

(Donald Carverth นำเสนอใหม่ว่าแนวคิดของ Klein จริงๆ แล้วเป็นควรเป็นการสลับไปมาระหว่างสองระยะมากกว่า เพราะแต่ละระยะก็มีผลดีผลเสียต่อการเอาตัวรอดของแต่ละช่วงชีวิตหรือแต่ละประเด็นปัญหาในเวลานั้นๆ)


และ Peter Fonagy นำเสนอแนวคิดเรื่องพัฒนาการของความมีวุฒิภาวะต่อจาก Freud โดยให้ความสำคัญกับเรื่อง capacity to mentalize หรือ Mentalization ที่หมายความถึงการพยายามเข้าใจแรงจูงใจหรือพยายามอ่านใจคนอื่น โดยเทียบได้กับระยะ depressive position ของ Klein ที่ยอมรับว่าแต่ละคนก็มีชีวิตของตัวเอง


โดยสรุปแล้ว การเข้าใจแนวคิดพื้นฐานเรื่อง Drive theory ของ Freud นั้นถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้นเมื่อเทียบกับศาสตร์จิตวิเคราะห์ที่ต่อยอดหลังจาก Freud ไปอีกหลากหลาย school และโดยส่วนตัวผมเองก็ได้อ่านงานของ Freud ผ่านตามาบ้าง แนวคิดของสายนี้ยังคงถือว่ามีความน่าสนใจและคลาสสิกมากจริงๆ แต่ในบางประเด็นก็มีการพัฒนาไปมากกว่านั้น ผมจึงคิดว่าเราควรรู้จักกับ school อื่นๆ ในศาสตร์จิตวิเคราะห์เพิ่มเติมกันบ้าง

.


2. Ego Psychology

อาจเรียกได้ว่าเป็นสายตกทอดของ Freud อย่างแท้จริง เพราะคนสำคัญในการต่อยอดมายัง school นี้คือลูกสาวของ Freud ที่ชื่อว่า Anna Freud


Anna Freud พยายามที่จะทำจิตวิเคราะห์กับเด็กซึ่ง Freud เองไม่เคยเชื่อว่าจะสามารถทำได้เพราะเด็กมีความยุ่งเหยิงมากเกินไป (disturb) แต่ Anna Freud ก็พยายามวางรากฐานจนสำเร็จ และงานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ school นี้คือการต่อยอดเรื่อง Ego และ Defense mechanism ของ Freud


ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปที่แนวคิดของ Freud ที่ทำให้เกิดการต่อยอดมาเป็น ego psychology ก่อน นั่นคือตอนที่ Freud หันมาความสนใจจากเรื่อง drive theory มาสู่ structural theory โดยเป็นการอธิบายโครงสร้างของจิตด้วย id ego และ superego ทำให้การพยายามเข้าใจกระบวนการของการตอบสนองต่อความตึงเครียดหรือวิตกกังวล (anxiety) ที่นำมาสู่แนวคิดเรื่องการเก็บกด (repression) และกลไกการป้องกันตัวเองทางจิตอื่นๆ ที่ใช้ในการหลีกเลี่ยงความกลัวหรือความทุกข์ใจที่เกินรับไหว และการเกิดความป่วยหรือพยาธิสภาพทางจิตนี้ก็คือการที่กลไกทางจิตเหล่านั้นไม่ work อีกต่อไปและความตึงเครียดเหล่านั้นก็นำมาสู่การทำลายตนเองแทน


การปรับตัวของจิตและการใช้กลไกทางจิตเพื่อเก็บกดองค์ประกอบต่างๆ ไว้ในจิตไร้สำนึกเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของ ego ซึ่งต่อมา Anna Freud ได้พัฒนาแนวคิดเรื่องกลไกการป้องกันตัวเองทางจิต (defense mechanism) ต่อจากเดิมจนสามารถแยกออกมาเป็นกลไกการป้องกันตัวเองหลายๆ รูปแบบ


จุดเด่นของ ego psychology จึงเป็นการย้ายความสนใจในเนื้อหาของจิตไร้สำนึก (unconscious content) ไปสู่การทำความเข้าใจกระบวนการของจิตที่พยายามเก็บสิ่งต่างๆ ไว้ในจิตไร้สำนึกหรือทำให้บางสิ่งห่างออกจากจิตสำนึกแทน หรือพูดให้ง่ายก็คือ แทนที่จะสนใจว่า “สิ่งที่ถูกเก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึกคืออะไร?” กลายเป็นการสนใจว่า “ego พยายามปรับตัวยังไงกันจนทำให้คนคนหนึ่งมีบุคลิกภาพแบบในทุกวันนี้?”


กลายเป็นว่าเนื้อหาที่สนใจคือเรื่องความปรารถนา (wish) ความกลัว (fear) และแฟนตาซี (fantasy) เพราะมันดูใกล้เคียงกับจิตสำนึกมากกว่า และเข้าถึงได้มากกว่าถ้าหากเราให้ความสนใจกับกลไกการป้องกันตัวเองทางจิตหรือการทำงาน ego


ใน school นี้ดูเหมือนจะมุ่งความสนใจไปที่บทบาทของ ego ในการปรับตัวกับสภาพความเป็นจริง และเชื่อว่าสิ่งที่บอกถึงระดับของความแข็งแรงของอีโก้ได้ (ego strength) คือยอมรับความจริงได้แม้บางครั้งจะเจ็บปวด และไม่พยายามใช้กลไกการป้องกันตนเองทางจิตปฐมภูมิ (primitive defense) มากเกินไป ซึ่งบางครั้ง school นี้อาจแบ่งกลไกการป้องกันทางจิตเป็นแบบขั้นต้น (archaic) และแบบเติบโตหรือมีวุฒิภาวะ (mature) แล้ว โดยแบบแรกคือการพยายามหลีกเลี่ยงไปจนถึงบิดเบือนความจริงจนส่งผลต่อความยากลำบากในการใช้ชีวิต ในขณะที่แบบหลังคือมีการพยายามปรับตัวเข้ากับความเป็นจริงมากกว่า ก่อนที่การแบ่งประเภทเหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องการยึดติดอยู่กับรูปแบบเดิมๆ (rigidity) และความยืดหยุ่นทางอารมณ์แทน (emotional flexibility)


โดยสรุปแล้ว school นี้คือการให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องการปรับตัวของคนจากการศึกษาการทำงานของ ego และเท่าที่ผมเคยลองอ่านผ่านตามาบ้าง ก็ดูเหมือนจะเป็นสายที่มีอิทธิพลต่อการสร้างแนวคิดการบำบัดแบบเป็นขั้นเป็นตอนพอสมควร ส่วนหนึ่งอาจเพราะพอหันมาให้ความสนใจกับการทำงานของ ego ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเข้าใจว่าความสามารถในการปรับตัวของคนคนหนึ่งประกอบด้วยอะไรบ้าง

.


3. Object relation Theory (British school)

ผมขอเรียกสายนี้ว่าเป็นสายอังกฤษแล้วกัน ถึงแม้ว่าจะเรียกว่ากลุ่มนักจิตวิเคราะห์ยุโรป แต่แกนหลักๆ ก็ดูจะอยู่ที่อังกฤษกัน


ถ้าจะให้อธิบายคำว่า Object relation แบบง่ายๆ ก็คือเริ่มจากคำว่า “Object” ซึ่งก็มาจากคำที่ Freud ใช้เพื่อเรียกคนหรือสิ่งของที่จะเป็นเป้าหมายของแรงขับพุ่งทะยานไปหา และคำว่า “relation” ก็แบบตรงตัวว่าความสัมพันธ์ เพราะงั้นการจะอธิบายว่า school นี้เน้นไปไปที่ประเด็นไหนก็ตามชื่อคือ ประเด็นด้านการมีความสัมพันธ์กับ Object ของคนคนนึง โดยเฉพาะกับบุคคลหรือสิ่งของอันเป็นที่รักในอดีต (love object)


จริงๆ แล้ว Freud ก็เริ่มมุมมองด้าน object relation มาก่อนแล้วเหมือนกัน ในตอนที่เขาอธิบายเรื่อง oedipus complex เพราะจริงๆ เขาก็ให้ความสำคัญกับเรื่อง family romance หรือความโรแมนติกในครอบครัวที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางเพศของเด็กหรือบุคลิกภาพขของเด็กในเวลาถัดมา (แต่คนเพราะเน้นเรื่องเพศมากเกินไปเลยถูกมองข้ามประเด็นนี้)


นักจิตวิเคราะห์ใน school นี้อาจเรียกได้ว่าเริ่มจาก Sandor Ferenczi ก็ได้ โดยเขาเป็นคนที่เริ่มแหกคอกจากแนวคิดของ Freud คนแรกเหมือนกัน และเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องการให้ความรักความอบอุ่นกับคนไข้แทนที่จะนิ่งวิเคราะห์แบบนิ่งเฉยเหมือน Freud (Ferenczi มองว่าถ้านักบำบัดยิ่งนิ่งเฉยเกินไปก็จะเหมือนซ้ำรอยแผลเก่าของคนไข้ที่รู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง)


Ferenczi เป็นหนึ่งในนักจิตวิเคราะห์ที่เรียกกันว่า Hungarian school โดยอิทธิพลของเขาต่อวงการจิตวิเคราะห์ก็คือสิ่งที่กล่าวข้างต้นว่าเป็นเรื่องการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการบำบัดของนักจิตวิเคราะห์ด้วยการแสดงออกถึงความเข้าอกเข้าใจคนไข้ (empathy) และนำมาสู่การศึกษาประสบการณ์ปฐมภูมิในด้านความรัก ความโดดเดี่ยว ความสร้างสรรค์ และความสมบูรณ์ของตัวตนมากกว่าการสนใจอยู่กับแนวคิด structural theory ของ Freud


ตัวอย่างประเด็นที่นักจิตวิเคราะห์สาย Object relation สนใจคือการหาว่าอะไรคือบุคคลหรือสิ่งอันเป็นที่รัก (love object) ในโลกของเด็ก? มันควรมีหน้าตาอย่างไร? มันถูกซึมซับเข้าไปสู่ประสบการณ์ของเด็กยังไง? เด็กเกิดความรู้สึกต่อแง่มุมต่างๆ ของมันในใจตัวเองอย่างไร? และภาพสะท้อนทางจิตภายในของสิ่งเหล่านี้หรือบุคคลเหล่านี้สิ่งผลหรือสะท้อนให้เห็นถึงจิตไร้สำนึกในชีวิตตอนเป็นผู้ใหญ่อย่างไร?


ในภาพรวมแล้วกลายเป็นว่า ประเด็นเรื่อง oedipus complex แบบ Freud ก็กลายเป็นอะไรที่สำคัญน้อยกว่าเรื่องความรัก (love) ความปลอดภัย (safety) การแยกจาก (seperation) และความเป็นปัจเจก (individuation) โดยบางครั้งเรียกว่าเป็นการให้ความสนใจในประเด็น pre-oedipal หรือก่อนปม oedipus แทน (เปลี่ยนจากการสนใจหลักเรื่องความสัมพันธ์แบบ แม่-พ่อ-ลูก เป็นแบบ แม่-ลูก)


น่าเสียดายที่ Ferenczi ไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่ากับลูกศิษย์คนหนึ่งของเขาอย่าง Melanie Klein นั่นเพราะ Klein เลือกที่จะทำจิตวิเคราะห์กับเด็ก และเป็นเหมือนคู่แข่งกับ Anna Freud อยู่พอสมควร จนถึงขั้นว่ามีการแบ่งก๊กแบ่งเหล่าเป็น กลุ่ม Freudian (นักจิตวิเคราะห์สาย Vienna) และ Kleinian (นักจิตวิเคราะห์สาย Hungarian) กันเลย


ยังไงก็ตาม แนวคิดของ Klein ก็ดูเหมือนจะมีชื่อเสียงและมีอิทธิพลอย่างมากต่อ British school และแนวคิดของเธอยังคงถูกพูดถึงอยู่ทุกวันนี้ แต่ในขณะเดียวกัน ท่ามกลางระหว่างการวอร์กันแบบย่อมๆ ของกลุ่ม Freudian และ Kleinian ก็ผุดกลุ่มย่อยอีกกลุ่มขึ้นมาคือกลุ่ม Independent group ซึ่งอยู่กึ่งกลางแบบไม่เข้าข้างฝ่ายไหน และคนสำคัญที่มีอิทธิพลท่ามกลางการวอร์กันของสองฝ่ายนี้คือ D.W. Winnicott แพทย์เด็กชาวอังกฤษ


แต่ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปที่มุมมองของ Klein ก่อน อาจเพราะเธอมีความนับถือ Freud พอๆ กับที่พยายามแข่งกับ Anna เพื่อให้ได้รับการยอมรับจาก Freud แนวคิดของเธอเลยยังคงมีกลิ่นอายในเรื่อง Drive theory พอสมควร และนำไปสู่การนำเสนอแนวคิดที่เน้นเรื่องความก้าวร้าว (aggression) และความอิจฉา (envy) ของทารกเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องสัญชาตญาณแห่งความตาย (Death instinct) ของ Freud ในเวลานั้น


ในขณะที่ W.R.D. Fairbairn นักจิตวิเคราะห์ชาวสกอต และเป็นหัวหอกกลุ่ม Independent group เหมือน Winnicott ก็เริ่มปฏิเสธมุมมองเรื่องการมองหาการตอบสนองแรงขับจาก object เพียงอย่างเดียว แต่บอกว่าคนเรามองหาการมีความสัมพันธ์กับ object มากกว่า ดังนั้น เด็กจึงไม่ได้มองหานมแม่แต่กลับมองหาประสบการณ์ที่อบอุ่นและความรู้สึกผูกพัน (attachment) ในตอนที่ถูกป้อนนมต่างหาก


Winnicott เริ่มเข้ามามีบทบาทและมีชื่อเสียงมากขึ้นในฐานะของตัวกลางระหว่างแนวคิดของสาย Vienna และ Hungarian ด้วยการนำเสนอแนวคิดที่อยู่ตรงกลางมากขึ้นในเรื่อง Transitional phenomena หรือปรากฏการณ์เปลี่ยนผ่านของ love object โดยครอบคลุมทั้งเรื่องการตอบสนองแรงขับตามสัญชาตญาณ การปรับตัวของอีโก้ ไปจนถึงเรื่องความรักความผูกพันธ์ รวมทั้งในงานเขียนที่ชื่อ Hate in the counter-transference ก็สอดคล้องกับแนวคิดของ Ferenczi ในด้านการบำบัดด้วย


จริงๆ แล้ว จิตวิเคราะห์ใน school นี้อาจแบ่งออกได้เป็น 2 school ย่อยด้วยซ้ำ เพราะในแนวคิดแบบ Klein นั้นจะถือว่าเป็นสาย Traditional (ดั้งเดิม) กว่าด้วยการเน้นเรื่องการวิเคราะห์ (analyse) คนไข้เพียงอย่างเดียวเหมือน Freud ในขณะที่แนวคิดแบบ Winnicott จะเสริมมุมมองเรื่องภาวะการพึ่งพาอาศัยกัน (symbiosis) ระหว่างนักบำบัดกับคนไข้เข้ามาด้วย และทำให้มองว่ามุมมองแบบ Winnicott เป็นใบเบิกทางในการทำความเข้าใจเรื่องโลกที่สอดประสานกันของปัจเจคมากขึ้น (intersubjectivity)


ยังไงก็ตาม จุดเด่นของสาย Object relation นอกเหนือจากความหลากหลายของนักทฤษฎีแล้ว ยังเป็นสายที่อนุญาตให้นักบำบัดขยายขอบเขตของการแสดงความเข้าอกเข้าใจ (empathy) ต่อคนไข้เพื่อสร้างความเชื่อมต่อทางอารมณ์กับคนไข้ได้ และมองว่าสถานการณ์ในการบำบัดคือการอยู่ในภาวะคู่ขนานกัน (dyadic space) ระหว่างการรับรู้ว่าบุคคลตรงหน้ากลายเป็นส่วนหนึ่งของตนเอง ขณะเดียวกันก็รับรู้ถึงความเป็นอิสระต่อกันของปัจเจก


จุดเด่นอีกอย่างของ school นี้คงหนีไม่พ้นการให้ความสนใจกับปรากฏการณ์ดั้งเดิม (primitive phenomena) หรือความสัมพันธ์ในช่วงก่อนการรับรู้ภาษาเพื่อใช้ในการคิด ซึ่งมักทำให้พบความยากลำบากในการอธิบายให้กลายเป็นภาษาที่คนเข้าใจได้ และเน้นไปที่เรื่องประสบการณ์ทางอารมณ์เยอะเหมือนกัน แต่ถึงอย่างนั้น school นี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็น school ที่มีงานวิจัยสนับสนุนมากที่สุด โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความผูกพันธ์ทางอารมณ์ (attachment) ระหว่างแม่-ลูก และนำมาสู่งานวิจัยอื่นๆ อีกในการบำบัด (จริงๆ ต้องให้เครดิต John Bowlby ซึ่งถือเป็นอีกคนที่มีชื่อเสียงใน school นี้ด้วย เพราะเขาเป็นคนที่พูดถึงเรื่อง Attachment theory อย่างจริงจังคนแรกๆ)

.


4. Interpersonal Psychoanalysis

ในขณะที่สาย Object relation เกิดขึ้นในฝั่งยุโรป นักจิตวิเคราะห์สายอเมริกันอีกกลุ่มหนึ่งก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กับ และมีแนวคิดที่คล้ายกับยสาย Object relation และเรียกตัวเองว่า Interpersonal psychoanalyst


เนื่องจากมีความคล้าย Object relation มาก ผมเลยจะไม่ขอพูดถึงแนวคิดสายนี้เท่าไร แต่ขอพูดถึงคนสำคัญใน school นี้คือ Harry Stack Sullivan


Sullivan เป็นนักจิตวิเคราะห์ชาวอเมริกันที่ต่อยอดงานของ Freud เหมือนๆ กับ Object relation school ด้วยการพยายามบำบัดคนไข้กลุ่มที่ Freud มองว่ายุ่งเหยิงมากเกินไป และเห็นความสำคัญของเรื่องสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (interpersonal) ที่มีส่วนช่วยในการปรับตัวหรือบำบัดรักษา


แต่ในแง่ของการบำบัดแท้จริงแล้ว Freud ก็ริเริ่มแนวคิดแบบ interpersonal ไว้ตั้งแต่ตอนที่เขาพูดถึงเรื่อง transference หรือการถ่ายโอนความรู้สึกจากสัมพันธภาพในอดีตมาสู่สัมพันธภาพในห้องบำบัดแล้ว โดยอธิบายว่าเป็นการรับรู้สัมพันธภาพที่บิดเบือนเนื่องจากประสบการณ์ในอดีต และในการบำบัด Freud ก็ยังให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างความปลอดภัยทางอารมณ์ (emotional safety) เพื่อการรักษาเนื่องจากประเด็นนี้ด้วย ซึ่งจะทำให้คนไข้ได้ซึมซับภาพสะท้อนของนักบำบัดเข้าไปในตัวเองคล้ายการทำลายภาพเก่าของสิ่งที่คนไข้เคยยึดถือ


แนวคิดของ Sullivan จึงดูเหมือนกับการต่อยอดแนวคิดเรื่อง Transference ของ Freud โดยใช้ชื่อว่า parataxical distortion ที่มีความหมายคล้ายกับ transference คือรูปแบบการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญในชีวิต (significant person) ที่ติดตัวมาจนบิดเบือนให้เกิดการรับรู้และมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในรูปแบบเดียวกัน และเขายังได้อธิบายว่าถ้าปรากฏการณ์นี้ของสองบุคคลสองคนประสานเข้าด้วยกันแบบพอดีจะเรียกว่า Parataxical integration หรือการที่รูปแบบปฏิสัมพันธ์นั้นเกิดความเข้ากันได้อย่างลงตัว โดยถึงแม้แนวคิดนี้แทบไม่ถูกใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์เท่าไร แต่มันก็นำไปสู่การบำบัดเช่นเดียวกับสาย Object relation ได้คือการเข้ามามีส่วนร่วมของนักบำบัด


อย่างที่บอกว่าแนวคิดนี้ไม่ค่อยถูกใช้ในการอธิบายเท่าไร ดังนั้นข้อแตกต่างจากสาย Object relation จึงเป็นเรื่องการอธิบายความเข้าใจจิตไร้สำนึกที่น้อยกว่า แต่ในแง่ของการบำบัด ทั้งสองสายนี้ก็ให้ความสำคัญของการสร้างความปลอดภัยทางอารมณ์ (emotional safety) มากกว่าแนวคิดแบบดั้งเดิมของ Freud ที่เน้นการสร้างความตระหนักรู้ (insight) ถึงจิตไร้สำนึก

.


5. Self Psychology

school นี้ก็เป็นอีก school ที่เกิดและเติบโตในอเมริกาเหมือนกัน โดยคนสำคัญในแนวคิดคือ Heinz Kohut นักจิตวิเคราะห์ชาวอเมริกัน


Kohut เป็นอีกคนที่ปฏิเสธแนวคิดเรื่อง Drive theory ของ Freud หลังจากทำงานบำบัดคนไข้มาซักระยะ เขาพบว่าคนเริ่มเกิดความทุกข์ใจกับการสงสัยว่าตัวเองเป็นใครมากขึ้นเรื่องๆ นั่นจึงทำให้เขาเกิดความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องตัวตน (Self) และนำไปสู่การวิเคราะห์ประเด็นเรื่องการรับรู้และทำความเข้าใจตัวตนของบุคคล


ในขณะเดียวกัน เขาก็พบว่าในการทำงานของตัวเขาเอง การให้ความสนใจอยู่กับเรื่องการทำความเข้าใจแรงขับตามสัญชาตญาณอย่างเดียวอาจไม่พอ อีกทั้งเริ่มคิดถึงสิ่งที่ Freud เชื่อว่าความหลงตัวเองคือการขาดวุฒิภาวะ (immature) นั้นอาจไม่จริง เพราะคนไข้ที่มีความหลงตัวเองแบบผิดปกตินั้นกลับขาดความเชื่อมั่นในตนเอง (self-esteem) หรือขาดการรักตัวเอง (self-love) ซะด้วยซ้ำ และขณะเดียวกันบางคนที่สามารถรักตัวเองได้ก็คือภาพสะท้อนของความหลงตัวเองที่ healthy


Kohut จึงได้พบว่าคนที่มีความหลงตัวเองแบบผิดปกติ (pathological narcissism) กลับมีแง่มุมของความสัมพันธ์กับบุคคลหรือ object เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะสิ่งที่สำคัญต่อการที่คนจะเกิด self-esteem หรือ self-love ได้ต้องมีแหล่งทรัพยากรที่ทำให้บุคคลมองเห็นคุณค่าและตัวตนของตัวเองที่ชัดเจน ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญในชีวิตหรือที่ Kohut เรียกว่า self-object


แนวคิดเรื่อง self-object ของ Kohut อาจมองได้คล้ายกับมุมมองของสาย object relation ที่ว่า บุคคลสำคัญที่ถือเป็น self-object จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการรับรู้ self และกลายเป็นส่วนหนึ่งของ self ของคนคนนั้น แม้ในขณะเดียวกันส่วนอื่นๆ ของตัวตน (self) ก็ยังคงมีอยู่และทำให้บุคคลรับรู้ได้ว่าตัวเองแยกออกจาก self-object อย่างไรก็ตาม ถ้าหากการพัฒนาเรื่อง self-object ของคนคนนึงไม่ดีพอ และเหลือไว้แต่แง่มุมที่แยกออกจากคนอื่น ก็จะกลายเป็นความหลงตัวเองที่ผิดปกติไป หมายความว่ากลายเป็นความหลงตัวที่ไม่ได้เกิดความรักตัวเองจริงๆ เพราะไม่สามารถรับรู้ถึงคุณค่าในตัวเองอย่างแท้จริงได้ (ขาด object ที่เข้ามาเป็น self-object ที่มั่นคง และเป็นทรัพยากรให้เห็นคุณค่าในตัวเอง)


โดยรวมแล้วแนวคิดของ Kohut ถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญในเรื่องการนำไปประยุกต์ในการบำบัดพอสมควร แต่ในมุมมองของผมเองอาจไม่ได้มีจุดเด่นในเรื่องการบำบัดมากนักเพราะการอธิบายเรื่องกระบวนการบำบัดความคล้ายกับสาย Object relation และการสรุปอย่างง่ายด้วยการให้ความสำคัญกับเรื่อง Empathy ก็ทำให้แนวคิดของสายนี้ถูกวิจารณ์ในเรื่องเทคนิคไปอีก ยังไงก็ตาม จุดเด่นของสายนี้อาจไม่ใช่การอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการบำบัดอย่างแพรวพราวเช่นเดียวกับสาย Object relation และไม่ได้อธิบายถึงกระบวนการของจิตไร้สำนึกเรื่องการตอบสนองแรงขับหรือการปรับตัวของอีโก้ได้มากเท่ากับ Freud และ Anna แต่ในแง่มุมมองการอธิบายเรื่องการรับรู้ตัวตน (self) ถือได้ว่ามีความละเอียดและลึกซึ้งอย่างมาก ซึ่งผมเองพบว่าแนวคิดของสายนี้อาจสำคัญต่อการทำจิตวิเคราะห์เช่นเดียวกัน

.


6. Lacanian school

นี่เป็น school สุดท้ายที่ผมจะอธิบายถึง จริงๆ แล้วถือได้ว่าเป็น school ที่ผมรู้สึกว่าอธิบายได้ยาก และอาจจะไม่ได้รู้ลึกมากที่สุด (จริงๆ อาจจะรู้มากกว่า ego psychology และ self psychology แต่แค่รู้สึกว่ามันอธิบายยากกว่า)


สำหรับจิตวิเคราะห์สายนี้ เป็นสายที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส โดยจิตแพทย์ชื่อ Jacques Lacan ซึ่งอาจเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มนักจิตวิเคราะห์ว่านี่เป็นสายที่ย้อนกลับไปหาแนวคิดของ Freud มากที่สุดจนได้ชื่อว่า Freud แห่งฝรั่งเศส (French Freud)


แนวคิดของ Lacan มีความสลับซับซ่้อนอย่างมาก และมีความเป็นปรัชญาหลังโครงสร้างนิยม (post-structuralism) สูง การนำเสนอแนวคิดของเขาคือการนำเอางานเขียนของ Freud มาตีความใหม่อีกครั้งโดยไม่ใช่การตีความแบบตรงตัวตามตัวหนังสือ (literaly) แต่เป็นการตีความคล้ายการอุปมาอุปไมย และยังพยายามตอบคำถามที่ Freud ยังตอบไม่ได้เข้าไปอีกด้วย


จุดเด่นของแนวคิดแบบสาย Lacanian คือการให้ความสนใจกับเนื้อหาของจิตไร้สำนึกอีกครั้ง โดยเขาย้อนกลับไปให้ความสนใจที่ปม oedipus complex ของ Freud แต่เป็นการตีความด้วยแนวคิดทางภาษาศาสตร์ (linguishtic) ซึ่งทำให้กลายเป็นการพยายามอธิบายว่าจิตไร้สำนึกในมุมของ Lacan คือเรื่องของภาษาและการติดกับดักของภาษา โดยหนึ่งในแนวคิดสำคัญของ Lacan คือเรื่อง Three order (The imaginary, The Symbolic, The Real) ที่ขยายความประเด็นด้านภาษาศาสตร์ของเขาไปอีกว่าการติดกับดักของภาษานั่นก็เพราะคนเราอาศัยอยู่บนการสอดประสานกันของทั้ง 3 ขา แต่มนุษย์เรากลับรับรู้ได้เพียง 2 ขา (The imaginary และ The Symbolic) และ The Symbolic จำนวนมากก็ยังอยู่นอกเหนือการรับรู้ของเราด้วยความเป็นนามธรรมอย่างมากของมัน


นอกเหนือจากจะย้อนกลับไปขยายความแนวคิดของ Freud แล้ว แนวทางการบำบัดก็ดูเหมือนจะกลับไปสู่ความดั้งเดิมแบบ Freud ด้วย (หรืออาจจะเกินกว่า Freud ไปอีก) เพราะเท่าที่ผมสังเกตจากแนวทางการบำบัด และความเห็นของหลายๆ คนแล้ว นักจิตวิเคราะห์สายนี้แทบจะทิ้งเรื่องอารมณ์ความรู้สึกและการเห็นอกเห็นใจไปเลย แต่กลับให้ความสำคัญอยู่กับเรื่องการให้ความหมายและสิ่งที่ถูกให้ความหมายของจิตไร้สำนึก

.

เขียนมาซะยืดยาว หวังว่าบทความนี้น่าจะพอทำให้หลายคนเห็นภาพมากขึ้นเกี่ยวกับศาสตร์จิตวิเคราะห์ และอาจจะไม่ต้องแปลกใจเมื่อพบว่านักจิตบำบัดหรือนักจิตวิทยาการปรึกษาแต่ละคน แม้จะทำงานบนฐานของทฤษฎีจิตวิเคราะห์เหมือนกัน แต่กลับมีบุคลิกลักษณะและประเด็นที่สนใจแตกต่างกันไปอีก ยังไงก็ตาม การทำจิตบำบัดหรือการปรึกษาเชิงจิตวิทยาที่ประสบผลสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องแนวคิด แต่ขึ้นอยู่กับสัมพันธภาพระหว่างนักจิตและผู้รับบริการเป็นหลักนะครับ เพราะงั้นสิ่งสำคัญจึงเป็นเรื่องของความเข้ากันได้ (fit in) มากกว่า และนั่นก็จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีตามมาแน่นอน

.


เจษฎา กลิ่นพูล

เพจ K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา

.

อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจาก McWilliams, N. (2011). Psychoanalytic diagnosis: Understanding personality structure in the clinical process. Guilford Press.

ดู 82 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page