.
ผมกำลังคิดถึงว่า เราจะสามารถเริ่มต้นอธิบายเนื้อหาสำคัญของจิตวิเคราะห์ต่างๆ ได้อย่างไร?
ผมได้พูดคุยกับรุ่นน้องที่รู้จักเพื่อค้นหาไอเดียถึงการเขียนบทความชิ้นต่อไป จากเดิมที่ผมคิดว่าการจะอธิบายคอนเซปต์ทางจิตวิทยาเรื่องใดเรื่องนึงออกมา ก็ต้องมาสะดุดกับประเด็นของการที่คนเราสามารถนำเอาความรู้เหล่านี้มาเพื่อปกป้องตัวเองมากกว่าที่จะนำมาใช้เพื่อทำความเข้าใจตัวเองมากขึ้นเป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับบทความก่อนหน้านี้ที่ผมเคยยกเอาประเด็น “ข้ออ้างของโรคซึมเศร้า?” ขึ้นมาแสดงให้เห็นว่ามันเกิดการสลับบทบาทระหว่างผู้กระทำและเหยือทางอารมณ์ได้อย่างไร
.
รุ่นน้องของผมได้นำเสนอสิ่งที่น่าสนใจคือคำว่า “repression” หรือมักถูกแปลความหมายว่า “การเก็บกด” เพื่ออธิบายว่ามันเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของปัญหาเหล่านี้
นั่นคือการที่คนเราเลือกจะนำเอาความรู้ต่างๆ ทางจิตวิทยาแบบผิวเผินมาใช้ในการอธิบายตนเอง แต่กลับเก็บกดสิ่งที่เป็นต้นตอหรือเรื่องราวที่สัมพันธ์กับปัญหาเหล่านั้นไว้เช่นเดิมแทนที่จะไตร่ตรองเพื่อทำความเข้าใจตนเองมากกว่าเดิมที่เป็นอยู่ ผมคิดว่านี่อาจสัมพันธ์กับการที่ต้องเผชิญหน้ากับความเปราะบางทางจิตใจ ซึ่งส่งผลที่ไม่น่าแปลกใจนักที่จะทำให้คนเราพยายามหลีกเลี่ยงมัน ในเมื่อเราไม่เคยเรียนรู้วิธีการเผชิญหน้ากับความเปราะบางเหล่านี้
.
ผมจึงคิดว่า หากเราสามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการเก็บกดเหล่านี้ได้ อาจทำให้การทำความเข้าใจในประเด็นอื่นๆ เกี่ยวกับการวิเคราะห์จิตมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น
.
.
.
ก่อนอื่น เมื่อพูดถึง “การเก็บกด” สิ่งเราอาจจะต้องตั้งคำถามคือว่า การเก็บกดนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยความตั้งใจมากน้อยเพียงใด?
เมื่อผมพยายามนึกถึงภาพที่มาพร้อมกันกับคำว่า “เก็บกด” นั่นเหมือนกับมันมีความตั้งใจบางอย่างที่จะเก็บซ่อนสิ่งต่างๆ ที่ถูกเก็บกดไว้เบื้องหลัง
.
แต่ในการอธิบายเชิงจิตวิเคราะห์กลับสะท้อนถึง “การเก็บกด” ใน 2 ลักษณะ นั่นคือ “suppression” และ “repression”
.
ผมคิดว่าคำที่น่าจะสอดคล้องกับคำว่า “เก็บกด” ในบ้านเราน่าจะสัมพันธ์กับคำแรก (suppression) ซึ่งหากคุณนึกภาพตามเกี่ยวกับคำว่า “เก็บกด” แล้วเห็นภาพคล้ายกับคนที่ไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึกจริงๆ ของตัวเองออกมาและปิดปากเงียบ
ซึ่งคุณก็คิดว่า “ทำไมคนคนนั้นต้องทำแบบนี้ด้วย?” หรือ “มีอะไรก็พูดดิ” นั่นคงยืนยันว่าความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “เก็บกด” ของเรานั้นใกล้เคียงกันพอสมควร แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “เก็บกด” ในลักษณะนี้ เหมือนกับว่ามันมีความตั้งใจบางอย่างอยู่ภายในนั้นโดยที่คนคนนั้นก็ตั้งใจ หรือคนคนนั้นรู้ตัวว่าตนเองกำลัง “เก็บกด” อยู่
.
ผมพยายามคิดถึงคำอื่นที่น่าจะสัมพันธ์กับคำว่า “suppression” มากกว่าการเก็บกด เช่นเดียวกับการคิดถึงความหมายของคำว่า ‘repression” ที่ยังไม่ได้พูดถึง โดยคำหลัง (repression) ก็มักถูกแปลว่า “การเก็บกด” เช่นเดียวกันอย่างที่ผมกล่าวถึงในตอนแรก
.
.
.
ผมคิดว่าเราอาจจะย้อนกลับมาที่ความหมายของ “repression” กันก่อน
คำว่า “repression” ถูกแยกออกจากคำว่า “suppression” ด้วยคอนเซปง่ายที่สุดคือระดับของการตระหนักรู้ (consciousness)
โดย “suppression” นั้นใกล้เคียงกับตัวอย่างของการเก็บกดตามที่เราเข้าใจกันโดยกว้างอย่างที่ผมได้ยกตัวอย่างไปข้างต้น
ในขณะที่ “repression” เป็นลักษณะของการเก็บกดที่อยู่ในระดับของจิตใต้สำนึก (unconscious) หรือเราไม่รู้ตัวว่าเราได้ทำมันลงไป
.
หากเรามุ่งเน้นไปที่ความตั้งใจของคนที่เก็บกดแล้ว บางทีเราอาจจะนิยามความหมายของ “suppression” ได้ว่า “การอดกลั้น” ในขณะที่ “repression” ยังเท่ากับ “การเก็บกด” ดังเดิม
.
.
.
Repression ได้ถูกพูดถึงเสมือนเป็นประเด็นหลักของจิตวิเคราะห์ นั่นเพราะอาจถือได้ว่ามันเป็นส่วนที่มีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนกับจิตใต้สำนึก (unconscious)
การกล่าวถึง repression เป็นการสะท้อนถึงองค์ประกอบทางจิตบางอย่าง เช่น ความปรารถนาต้องห้าม ความคิดต้องห้าม ความรู้สึกที่ไม่อยากจะยอมรับ ฯลฯ ที่ถูกเก็บกดไว้ในระดับของจิตใต้สำนึก และขณะเดียวกันมันก็เกิดขึ้นในระดับของจิตใต้สำนึกด้วย (ไม่ได้ตั้งใจตั้งแต่แรก)
.
เมื่อเราพูดถึง repression มันก็อาจเกี่ยวข้องกับการที่ สิ่งต่างๆ ที่ถูกเก็บกด (the repressed) กำลังอยู่นอกเหนือสายตาเรา และในขณะเดียวกัน มันสัมพันธ์กันกับการเซ็นเซอร์หรือต้องห้ามทางสังคมด้วย
.
Freud ได้อธิบายกลไกของ repression ที่สัมพันธ์กันกับการทำงานของ Id, ego และ superego
พูดให้เข้าใจง่ายก็คือตัวเรา (ego = I) พยายามกดความปรารถนา ความคิด ทัศนคติ อารมณ์ความรู้สึก ฯลฯ ที่ต้องการจะแสดงออกมากจากภายใน (id = it) เมื่อเรากำลังคำนึงถึงศีลธรรมและความรู้สึกผิดชอบชั่วดีต่างๆ ที่จะคิดหรือรู้สึกแบบนั้น (superego = moral principle) และสิ่งที่ถูกเก็บกดเหล่านั้นก็หลุดออกไปจากวงโคจรเหล่านี้
แต่ในขณะเดียวกัน มันก็สามารถย้อนกลับมาได้ทุกเมื่อในรูปแบบที่แตกต่างออกไป เช่น อาการทางจิตต่างๆ เป็นต้น
.
ผมคิดว่าการอธิบายกลไกของ repression ในมุมของ Freud เกือบจะสมบูรณ์ในทีเดียวหากเราคำนึงถึงว่าในห้องการบำบัดหรือปรึกษาทางจิตวิทยาเป็นเหมือนกับห้องแห่งความลับหรือห้องสารภาพบาปตามความตั้งใจแรกเริ่มของ Freud ที่ให้คนไข้ของเขาได้พูดคุยอย่างอิสระบนโซฟาโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงข้อห้ามต่างๆ และอาจสัมพันธ์กับแนวทางการทำงานของเขาตั้งแต่แรกที่เป็นการให้คนไข้ได้มีโอกาสพูดในสิ่งที่พวกเขาไม่คิดว่าสมควรพูดในที่สาธารณะ เช่นเดียวกันกับที่เขายกตัวอย่างถึงการไล่ผีไล่ปีศาจที่เข้าสิงคนแบบศาสนาคริสต์ที่หมายถึงวิธีการเอาชนะปีศาจนั้นคือการเรียกชื่อของมัน (it)
.
ผมคิดว่าในประเด็นนี้อาจมีความแตกต่างกันอยู่บ้างเมื่อยกกรณีไล่ผีของศาสนาคริสต์เข้ามา เพราะการไล่ผีของบ้านเรานั้นมักจะไม่สัมพันธ์กันกับการเรียกชื่อผีหรือปีศาจที่เข้าสิงเพื่อไล่มันออกไป แต่หากเรากำลังคิดถึงการขอขมาหรือการหาหมอผีมาปราบด้วยการท่องคาถาหรือเฆี่ยนตีด้วยหวายแล้ว ผมคิดว่ามันอาจมีความสอดคล้องกันอยู่ในเรื่องนี้ว่า การถูกผีเข้าสิงของบ้านเรานั้นสัมพันธ์กับการได้มากซึ่งบางสิ่งบางอย่าง เช่น ความเคารพ การหมายเอาชีวิตของคนที่ถูกสิง หรือการได้รับสิ่งของถวายต่างๆ เป็นต้น ซึ่งผมคิดว่านั่นอาจะสัมพันธ์กระบวนการของ repression ก็ได้
กล่าวคือ หากผู้ที่ถูกเข้าสิงมีความสัมพันธ์บางอย่างเกี่ยวกับความเชื่อทางจิตวิญญาณเหล่านั้นโดยพื้นฐาน การแสดงออกเมื่อถูกสิงจึงเสมือนการแสดงออกเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุประสงค์บางอย่างที่สัมพันธ์กันกับความปรารถนาในส่วนลึกของจิตใจของคนคนนั้น และในขณะเดียวกันพฤติกรรมเหล่านั้นก็เป็นที่ยอมรับในบริบทของสังคมอีกด้วย การได้รับการขอขมาจึงอาจสัมพันธ์กับการได้รับความสนอกสนใจ ได้รับความเคารพ การยอมรับ หรือแม้แต่การได้รับความรัก ในขณะเดียวกัน การถูกหมายเอาชีวิตจากวิญญาณร้ายก็อาจหมายถึงความปรารถนาเบื้องลึกแห่งความตายของคนเราก็ได้
ยิ่งไปกว่านั้น การถูกหมอผีหรือพระไล่ท่องบทสวด รดน้ำมนต์ หรือเฆี่ยนด้วยหวาย ก็อาจสะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาการในการถูกลงโทษ ถูกกำราบ หรือถูกควบคุมจากความปรารถนาที่ไม่อยากจะยอมรับของตนเอง
.
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าในส่วนนี้อาจทำให้บางคนคิดว่านี่เป็นเพียงสมมติฐานที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งนั่นหมายถึงเรื่องราวของวิญญาณอาจจะมีอยู่จริงก็เป็นได้ แต่ผมคิดว่าสมมติฐานของผมนี้อาจทำให้เราต้องตั้งคำถามบางอย่างเกี่ยวกับการที่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งนั้นไม่ใช่ความซับซ้อนของจิตใจของคนเราที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงแบบแปลกๆ อย่างเฉพาะตัวขึ้นมาเอง
(ในประเด็นนี้ผมขอแนะนำหนังสือ “โลกหมุนรอบกลัว” เพื่อประกอบสมมติฐานดังกล่าว https://www.facebook.com/…/a.20214025081…/2300285756911414/…)
.
.
.
หากเราย้อนกลับมาที่เรื่องของ “Repression” แล้ว เหตุการณ์ที่ผมยกมาอาจจะทำให้เราสามารถมองเห็นความเป็นไปของ “การเก็บกด” ที่พูดถึงมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น “repression” อาจไม่ใช่ “การเก็บกด” เพราะเมื่อมันไม่ได้ถูกเก็บซ่อนอยู่เบื้องหลังอย่างเช่นในตัวอย่างเรื่องผีและปีศาจเหล่านี้ แต่มันกลับถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจนให้เห็นได้เป็นตัวตนมากกว่าการอยู่เบื้องลึกในจิตใจของเรา
.
ผมคิดว่าในประเด็นอาจนำพาเราไปสู่การตั้งคำถามที่ว่า
จริงๆ แล้วสิ่งที่ถูกเก็บกดไปอยู่ที่ไหนในจิตใจของเรา?
ซึ่ง Jacques Lacan ได้ตอบคำถามนี้ด้วยการแสดงให้เราเห็นว่า
“หากเราต้องการจะเข้าใจเกี่ยวกับการเก็บกด เราก็ต้องย้อนมาดูที่การกลับมาของสิ่งที่ถูกเก็บกด”
.
ผมขอยกตัวอย่างของเรื่องการถูกผีสิงนี้ต่อเพื่อให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น
อาการของการถูกผีสิงนั้นเทียบได้กับ “การกลับมาของสิ่งที่ถูกเก็บกด” (the return of the repressed)
กล่าวคือ หากนั่นสะท้อนถึงความปรารถนาที่ถูกเก็บกดไว้แล้ว การกลับมาในรูปของสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางจิตวิญญาณก็สะท้อนให้เห็นว่า ความปรารถนาที่ถูกเก็บกดกลับมาอยู่ในหน้าฉากของพฤติกรรมที่แสดงออกอีกครั้ง การกลับมาในที่นี้อาจไม่ได้กำลังหมายถึงการกลับมาอยู่ระดับของจิตสำนึกหรือการตระหนักรู้ของคนเรา แต่กลับมาผ่านพฤติกรรมที่แสดงออกคืออาการถูกผีสิงต่างๆ โดยที่ผู้ถูกสิงไม่รู้ตัว
ผมคิดว่าในประเด็นนี้สัมพันธ์กับสิ่งที่ Lacan พยายามนำเสนอ นั่นคือ สิ่งที่ถูกเก็บกดนั้นยังคงอยู่ตรงนั้น ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่มันกำลัง “เปลี่ยนรูป" ไปสู่สิ่งอื่นที่สัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตของเรา
นอกจากนี้ ผมคิดว่านี่เป็นการทำให้เห็นว่า จิตใต้สำนึกไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่ฉากหลังของจิตใจจนไม่มีทางรับรู้ได้ แต่มันอยู่รอบตัวเราไปหมดโดยที่เราไม่ทันสังเกตเท่านั้นเอง
ดังนั้น การทำงานของจิตวิเคราะห์ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงอิสระ (free association) โดยให้คนไข้พูดถึงสิ่งที่อยู่ในใจออกมาโดยไม่ปิดกั้นใดๆ ก่อนที่นักจิตวิเคราะห์จะตีความ (interpretation) เรื่องราวเหล่านั้นตามที่ตนเองเข้าใจสะท้อนกลับไปให้คนไข้คิดทบทวน จึงกลายเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้นว่าสิ่งที่คนเราพูดหรือแสดงออกนั้นสามารถนำเราไปสู่สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในตัวคนคนนั้นได้
.
.
.
การที่ผมยกเอาเรื่องของ Repression มาบอกเล่าให้ฟังในบทความนี้ นั่นเพราะด้วยความตั้งใจให้ผู้อ่านได้ลองหันมามองเห็นและติดตามความซับซ้อนของจิตใจของเรากันมากขึ้นกว่าเดิมกันอีกเล็กน้อย และขณะเดียวกัน นี่ก็อาจเป็นหนทางไปสู่การทำความเข้าใจแง่มุมมของจิตใจอื่นๆ อีกต่อไปก็ได้
.
ผมคิดว่าการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ Repression ในบทความนี้อาจทำให้เราหันกลับมาเห็นมากขึ้นว่าจิตใจของเรามีการทำงานที่หลอกตัวของเราเองได้อย่างไร และยิ่งไปกว่านั้น การยกเอาเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับปีศาจหรือผีสางเข้ามาในบทความนี้ นี่อาจทำให้ผู้อ่านสามารถเกิดความเข้าใจและยอมรับส่วนที่เปราะบาง หรือรู้สึกว่าเป็นสิ่งต้องห้ามของตัวเองได้มากขึ้นกว่าเดิม ดังเช่นคำกล่าวของ Rollo May นักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่ว่า...
"เมื่อสิ่งที่กำลังถูกมองว่าเป็นปีศาจ (อารมณ์และแรงขับด้านมืดของคุณ) ไม่สามารถถูกเรียกว่าเป็นปีศาจจริงๆ ได้ มันทำให้เราต้องเผชิญหน้ากับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกจนได้แต่ครุ่นคิดว่า สิ่งนั้นควรจะถูกตระหนักถึง ยอมรับ และมันสำคัญกับการมีชีวิตของเราจริงๆ หรือไม่? หรือว่าจริงๆแล้วมันควรถูกทำให้เป็นสิ่งที่ไม่ทันสังเกตและเป็นเพียงความไม่ทันยั้งคิดต่อไป? แต่แล้วเมื่อมันถูกเก็บกดไว้อย่างนั้น... มันก็อาจปะทุออกมาได้ในรูปแบบอื่นอยู่ดี”
.
เจษฎา กลิ่นพูล
K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา
.
Reference
Freud, S. (2005). The unconscious (J. Strachey, Trans.). Vintage. (Original work publish 1915).
Freud, S. (1988). The future prospects of psychoanalytic therapy (B. Wolstein, Eds). New York, NY: New York University. (Original work publish 1910).
LacanOnline (2019, October 2). What is repression? Introduction to Lacan's theory (part I)
[Video file]. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=8loM0ZeaMw8
LacanOnline (2019, October 2). What is repression? Introduction to Lacan's theory (part I)
[Video file]. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=8loM0ZeaMw8
.
Photo credit: https://newint.org/columns/letters-from/2006/09/01/art
Kommentare