.
“Stutz” หรือ “ฟิล สตูทซ์: เครื่องมือชีวิต” เป็นภาพยนต์สารคดีบน Netflix ที่ผมเพิ่งดูจบและอยากแนะนำให้หลายๆ คนได้ดู โดยหนังสารคดีเรื่องนี้เป็นหนังของนักแสดงชื่อดังอย่าง Jonah Hill ที่เขาได้ตัดสินใจถ่ายทอดเรื่องราวของนักจิตบำบัดของตัวเองชื่อ Phil Stutz เพื่อถ่ายทอดแนวคิดการบำบัดจิตใจที่เขาพบเจอ และคิดว่าอาจเป็นประโยชน์ต่อหลายๆ คนในการดำเนินชีวิต
ต่อให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังสารคดี แต่ผมกลับไม่ได้รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้น่าเบื่อเลยแม้แต่น้อย ส่วนหนึ่งอาจเพราะ Jonah Hill เขาถ่ายทำออกมาได้ดีมาก (แม้เขาอาจไม่ได้คาดหวังว่ามันจะออกมาดีขนาดนั้น) และการได้เห็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งของทั้งคู่ในฐานะนักจิตบำบัดกับคนไข้ เป็นอะไรที่น่าทึ่งและฉายภาพชัดเจนว่าหนังเรื่องนี้คือผลสำเร็จหนึ่งของการบำบัดที่ทั้งคู่ร่วมทำกันมา
Phil Stutz เป็นหมอจิตบำบัดที่ป่วยด้วยโรคพาร์กินสันตั้งแต่อายุน้อย แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขาบกพร่องจากการเป็นผู้ช่วยเหลือเรื่องจิตใจ เขาเป็นนักจิตบำบัดที่จะบอกกับคุณว่า “คุณเลิกมาพบผมและโยนสารพัดปัญหาใส่ผมซะทีเถอะ” หรือไม่ก็พร้อมจะบังคับให้คุณ “ทำตามที่ผมบอกเลย ทำตามนี้เลยที่ผมบอก รับรองคุณจะรู้สึกดีขึ้น รับรองร้อยเปอร์เซ็นต์ เชื่อผม” ซึ่งต่างจากภาพของนักจิตบำบัดโดยส่วนใหญ่
ยังไงก็ตาม Phil Stutz เขาไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้หรือให้คำแนะนำแบบลวกๆ แต่เขาเป็นนักจิตบำบัดที่กลั่นกรองประสบการณ์ของตัวเองในการช่วยเหลือคนไข้จำนวนมาก มาจนกลายเป็นแนวคิดสำคัญๆ ที่ช่วยเหลือคนไข้ของเขาได้อย่างแท้จริง เขามักแนะนำสิ่งที่เรียกว่า “เครื่องมือ” (Tools) ให้กับคนไข้เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีกว่าสำหรับคนไข้ของเขาที่จะต้องเผชิญความระทมทุกข์ แต่ขณะเดียวกันเขาก็ไม่หลงลืมความเข้าใจเกี่ยวกับความจริงและชีวิตที่จะพูดคุย อธิบาย และร่วมทางตอบคำถามไปพร้อมกับคนไข้ของเขา ดังนั้นถึงแม้ว่าเขาจะมีแนวคิดหลักๆ อยู่แล้วว่าคืออะไรบ้างหรือมีเครื่องมืออะไรบ้าง แต่เขาก็ยังวาดรูปบนกระดาษเล็กๆ ให้กับคนไข้ของเขาแต่ละคนที่แตกต่างกันไปตามแต่ละเรื่องราวที่พบเจอ
สำหรับโพสนี้ ผมอยากจะนำเอาแนวคิดของ Stutz ที่มีอยู่ในหนังสารคดีเรื่องนี้มาเล่าโดยสรุปกันอีกครั้งสำหรับคนที่ดูจบไปแล้ว หรือยังลังเลอยู่ว่าจะได้อะไรกลับไปบ้างจากการดูสารคดีเรื่องนี้
__________________________________________________________________________________
“Life Force”
“การสานสัมพันธ์กับพลังชีวิต 3 ระดับ”
.
เนื้อหาแรกของการดูแลสุขภาพจิตแบบฉบับของ Stutz ที่คุณแทบไม่จำเป็นต้องเข้าใจอะไรเลยนั่นคือการสานสัมพันธ์กับพลังชีวิตหรือ Life Force ของคุณใน 3 ระดับ
โดย Stutz จะบอกให้คุณทำสิ่งเหล่านี้เพื่อให้รู้สึกถึงความมีชีวิตชีวาให้ได้ซะก่อน และมันจะให้คุณสัมผัสถึงการมีพลังกระตือรือร้น (passion) มากขึ้นก่อนที่จะไปทำอย่างอื่น หรือแม้แต่จะมองเห็นได้ว่าคุณรักจะทำอะไรในชีวิตนี้ ซึ่งสำหรับ Stutz แล้ว เขามองว่าการที่คุณทำสิ่งเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี มันจะช่วยคุณให้รู้สึกดีขึ้นได้มากถึง 85%
Life Force 3 ระดับที่คุณต้องสานสัมพันธ์ ประกอบไปด้วย
Body (ร่างกาย)
People (ผู้คน)
Yourself (ตัวตน)
Stutz บอกว่าให้คุณต้องดูแลตัวเองทั้ง 3 ด้านเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด และเขามักแนะนำมันให้กับคนที่ป่วยซึมเศร้าอีกด้วย
สำหรับผมแล้ว นี่อาจไม่ใช่วิธีการที่แปลกใหม่ แต่การแบ่งเป็น 3 ระดับนี้ของ Stutz ทำให้เราเห็นภาพได้ชัดขึ้นว่า สิ่งที่คุณควรทำเป็นอย่างแรกๆ คือการดูแลร่างกายของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็น การออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ นอนให้พอ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้สำคัญว่าคุณทำมันเพื่อจะผอมหรืออะไร มันไม่เกี่ยวกัน แต่เป็นการสานสัมพันธ์กับพลังงานชีวิตของคุณในด้านร่างกาย (Body) เท่านั้น
ในขณะเดียวกัน ด้านผู้คน (People) Stutz แนะนำให้คุณเข้าหาผู้คนซะ ชวนคนเหล่านั้นไปกินข้าวหรือทำกิจกรรมอะไรร่วมกันต่อให้นั่นจะทำคุณรู้สึกอึดอัดหรือน่าเบื่อก็ตาม แต่ Stutz เชื่อว่าสิ่งนี้จะส่งผลทางบวกกับคุณในระยะยาว เขายกตัวอย่างว่าความสัมพันธ์เหมือนกับตอกลิ่มยึดหินสำหรับปีนเขา มันจะกลายเป็นสิงที่ช่วยให้คุณดึงตัวองกลับมามีชีวิตชีวาได้ แต่คุณต้องเป็นฝ่ายเริ่มก่อนจึงจะเข้าใจ
ส่วนในระดับสุดท้าย ด้านตัวตนของคุณ (Yourself) มันคือการที่คุณสานสมพันธ์กับจิตใต้สำนึกของตัวคุณเอง ซึ่งไม่มีใครรู้ว่ามีอะไรอยู่ใต้นั้นบ้าง แต่ Stutz เชื่อว่าคุณสามารถสังเกตเห็นมันได้จากการลองเขียนเหมือนบันทึกประจำวัน แล้วคุณจะค่อยๆ มองเห็นตัวเองเหมือนกับการส่องกระจก ซึ่งสำหรับผมแล้ว ในกระบวนการทำจิตบำบัดหลายๆ ครั้งก็เป็นแบบนั้นเช่นกัน เพราะการทำจิตบำบัดให้คุณกลับมามีชีวิตชีวาได้ในหลายครั้งคือการช่วยให้ผู้รับบริการได้ย้อนกลับมาสะท้อนเห็นตัวเองมากขึ้น
และในตอนนั้น… คุณจะรู้ว่าคุณรักอะไร
__________________________________________________________________________________
“3 Aspects of Reality” & “Life is String of Pearls (+ Turd)”
“3 แง่มุมของความเป็นจริง” และ “ชีวิตคือสายร้อยไข่มุก (และอึ)”
.
สำหรับการเข้าใจเครื่องมือ (Tools) ของ Stutz ในเรื่องต่อๆ ไปแล้ว เขาเลือกที่จะให้คุณเข้าใจเสียก่อนว่าชีวิตในโลกความจริงนั้นมีเงื่อนไขหรือแง่มุมบางอย่างที่คุณ หรือใครก็ตาม ต่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
3 Aspects of Reality เป็นสิ่งที่ Stutz บอกคุณว่าไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่คุณก็ต้องเผชิญและทำได้แค่ยอมรับว่าตัวคุณหนีไม่พ้น โดยประกอบไปด้วย 3 ข้อ ได้แก่
Pain (ความปวดร้าว)
Uncertainty (ความไม่แน่นอน)
Constant work (การจัดการอย่างต่อเนื่อง / ชีวิตที่ต้องดิ้นรนทำงานหรือสิ่งต่างๆ อย่างไม่หยุดหย่อน)
ความจริงทั้ง 3 ประการนี้ คือสิ่งที่ Stutz บอกให้คุณยอมรับและอยู่กับมันให้ได้ โดยเขาบอกว่าคุณอาจใช้เครื่องมือ (Tools) ที่เขาแนะนำให้เพื่อให้คุณรับมือมันได้อย่างดีขึ้นก็ได้ แต่ยังไงก็ตาม เขาไม่ลืมที่จะพูดถึงแนวคิดเกี่ยวกับชีวิตอีกอย่าง นั่นคือการบอกเราว่า “ชีวิตคือสายร้อยไข่มุก”
Life is String of Pearls จึงเป็นอีกหนึ่งแนวคิดเรื่องชีวิตที่สำคัญอีกอย่างที่ Stutz อยากให้เราตระหนัก มันหมายความว่าในชีวิตของเราจะพบกับเรื่องราวชีวิตต่างๆ มากมาย และสิ่งต่างๆ มากมายที่เราทำก็เหมือนกับไข่มุกเพียง 1 เม็ด แม้ว่าคุณจะมองเห็นว่าเรื่องใดมีคุณค่ามากกว่าเรื่องอื่น แต่สำหรับ Stutz ทุกสิ่งที่คุณทำมีค่าเท่ากันหมดหากมองเป็นชีวิตระยะยาว
ยิ่งไปกว่านั้น Stutz ยังบอกอีกว่า ภายในไข่มุกแต่ละเม็ดจะมี “อึ” (Turd) ซ่อนอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เราตระหนักว่า ทุกสิ่งที่คุณทำไม่เคยมีอะไรที่สมบูรณ์แบบเลย แต่มีข้อบกพร่องปะปนกันไป เขาจึงบอกให้เรายอมรับและอยู่กับความไม่สมบูรณ์แบบ รวมถึงความไม่แตกต่างเรื่องคุณค่าเหล่านี้ให้ได้ เช่นเดียวกับแง่มุม 3 ประการของชีวิต
__________________________________________________________________________________
“Part X” & “the Shadow”
“พาร์ทเอ็กซ์” และ “เงา”
.
แนวคิดของ Stutz อีอย่างที่สำคัญคือการบอกเราว่า ทุกคนต่างมีส่วนที่เรียกว่า “Part X” อยู่ในใจ คือต่อให้ไม่ว่าคุณจะยอมรับความจริง 3 ประการได้มากน้อยแค่ไหน นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการใช้ชีวิตของคุณจะง่ายขึ้นไปซะทั้งหมด เนื่องจากสิ่งที่เรียกว่า Part X ในใจของเรานี้คือตัวขัดขวาง
Stutz บอกว่า Part X เหมือนกับเสียงหรืออะไรก็ตามที่ขัดขวางและคอยตัดสินใจบอกคุณว่าคุณทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่ได้ มันคือตัวร้ายที่ห้ามคุณจากความเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ Stutz กลับบอกเราว่าเราทำลาย Part X ไม่ได้ มันกลับเป็นสิ่งที่เราต้องมีอยู่เหมือนกับที่ Jonah Hill สรุปว่า “ในหนังฮีโร่ทุกเรื่องต้องมีตัวร้าย” และนั่นก็คือประโยชน์ของ Part X
ยังไงก็ตาม Part X ยังคงมีส่วนสำคัญกับใจของเรามากในการสร้าง “ผลผลิตของ Part X” ในแง่มุมอื่นๆ ในใจของเรา แต่เรากลับยังคงต้องการแง่มุมด้านลบเหล่านี้เพื่อการเติบโตอยู่ดี
นอกจาก Part X อีกสิ่งที่สำคัญในแนวคิดเรื่องสิ่งที่ขัดขวางเราความเปลี่ยนแปลงคือ “เงา” หรือ “the Shadow” ซึ่งโดยส่วนหนึ่งแล้วมันคือผลผลิตอีกด้านของ Part X แต่อาจแตกต่างตรงที่สิ่งนี้คือตัวตนของเราที่เกิดขึ้นมาจากคำพูดของ Part X และ Part X ก็กระตุ้นมันซ้ำๆ จนทำให้ the Shadow มีความหมายถึงประสบการณ์ด้านตัวตนด้านหนึ่งของเราที่รู้สึกอับอายหรือละอายใจ (Shame) ไม่อยากให้ใครรับรู้ และเราก็อยากที่จะปฏิเสธและหลีกเลี่ยงจากมันให้ได้มากที่สุด
__________________________________________________________________________________
“the Snapshot/ the Realm of Illusion”, “the Maze”, & “the Black Cloud”
“สแนปช็อต/ดินแดนมายา”, “เขาวงกต” และ “เมฆดำ”
.
ผลผลิตของ Part X ที่ Stutz พูดถึงในหนังสารคดีเรื่องนี้ประกอบด้วย 3 อย่างที่หลายคนอาจประสบพบเจอได้ และอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาหากไม่ทันได้ตระหนักถึงมันซะก่อน
ผลผลิตของ Part X เหล่านี้ประกอบไปด้วย
“the Snapshot/ the Realm of Illusion” (สแนปช็อต/ดินแดนมายา) หมายถึง ภาพในอุดมคติของเราที่สร้างขึ้นและเป็นภาพของ Part X ขนาดใหญ่ที่บอกให้เราไล่ตามไปให้ถึง แต่ยิ่งเราไล่ตามมันมากเท่าไรก็ตาม เรากลับยิ่งพบความทุกข์ระทมตามมาเพราะเราไม่มีทางเจอกับภาพที่สมบูรณ์แบบขนาดนั้นได้ ซึ่งภาพเหล่านี้อาจมาจากสื่อหรือคนอื่นๆ วาดฝันไว้ให้กับคุณก็ได้
“the Maze” (เขาวงกต) หมายถึง ผลผลิตของ Part X ที่ทำให้เราติดอยู่ในอดีตเหมือนกับเขาวงกต เนื่องจาก Stutz เชื่อว่าชีวิตของเราจะเดินไปข้างหน้าเสมอ แต่ Part X ที่คล้ายเสียงซึ่งคอยบอกคุณว่า “คนอื่นต้องชดใช้กับสิ่งที่ทำกับคุณเสียก่อน” กลับทำให้คุณต้องตกอยู่ในเขาวงกตของอดีตจนเดินหน้าต่อไปไม่ได้ นั่นเพราะไม่ว่ายังไงก็ตาม Stutz เชื่อว่าคุณจะไม่มีทางได้รับความเสมอภาคหรือการตอบแทนใดๆ จากคนอื่นๆ เพราะงั้น Stutz จึงบอกให้คุณถามตัวเองดูว่าอยากจะเล่นเกมเดิมต่อไปหรือไม่
“the Black Cloud” (เมฆดำ) หมายถึง ผลผลิตของ Part X ที่ทำให้คุณมองไม่เห็นแง่มุมด้านบวกของสถานการณ์เลย โดย Stutz เปรียบเทียบว่าหลายครั้ง Part X ก็สร้างสิ่งที่คล้ายเมฆดำมาบดบังคุณจากแสงอาทิตย์ หรือก็คือการบดบังคุณจากความจริง ทำให้คุณมองเห็นเพียงด้านลบ และยึดอยู่กับการด่วนตัดสินใจแบบนั้น ทั้งๆ ที่มีแสงอาทิตย์อยู่เหนือเมฆดำนี้ แต่คุณต้องมองทะลุการด่วนตัดสินนี้ไปให้ได้
__________________________________________________________________________________
“Tool 1: สานสัมพันธ์กับ Life Force”
.
เครื่องมือแรกที่ Stutz นำเสนอคือการย้อนกลับไปที่เรื่อง Life Force ซะก่อน มันอาจดูเหมือนไม่ใช่เครื่องมือที่เขาพูดไว้อย่างเด่นชัด เพราะเพียงแค่พูดผ่านเพื่ออธิบายเสียก่อนว่าเขาจะแนะนำคนไข้ของเขาอย่างไรในตอนแรกๆ เพื่อให้รู้สึกว่าพวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในทันที่
ยังไงก็ตาม สำหรับผม มันกลับเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เราทุกคนควรตระหนักและทำตามเมื่อเราเริ่มเสียศูนย์ การย้อนกลับมาดูแลตัวเอง เช่น การออกกำลังกาย การกินอาหารที่มีประโยชน์ การนอนหลับ การพักผ่อน และการสานสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมทั้งสำรวจตัวเองอยู่เสมอ เป็นเครื่องมือแรกๆ ที่เราสามารถทำได้โดยไม่ต้องคิดอะไร
“ทำตามที่ผมบอกเลย ทำตามนี้เลยที่ผมบอก รับรองคุณจะรู้สึกดีขึ้น รับรองร้อยเปอร์เซ็นต์ เชื่อผม” อย่างที่ Stutz ได้บอกไว้
__________________________________________________________________________________
“Tool 2: คุยกับ the Shadow”
.
เนื่องจาก Stutz เชื่อว่าเราทุกคนต่างมี “เงา” หรือ “the Shadow” อยู่ แต่สำหรับเขา เขามองว่ามันไม่ได้สำคัญเลยว่าเงาของคุณจะดูดีหรือไม่หรือเป็นยังไง แต่มันอยู่ที่กระบวนการทางใจของคุณที่มีต่อเงานี้ต่างหาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการไม่ยอมรับและปฏิเสธตัวตนส่วนหนึ่งนี้ของคุณ เมื่อใครก็ตามพูดกระทบใจคุณและมันเกี่ยวข้องกับเงานี้ มันก็จะกระทบต่อความรู้สึกของคุณอย่างมาก และเงาที่คุณไม่ยอมรับก็จะยิ่งนำพาคุณไปสู่พฤติกรรมเชิงลบต่างๆ ที่ไม่ดีกับตัวคุณเอง รวมทั้งห่างไกลจากการยอมรับตัวตนที่แท้จริงของคุณเองมากขึ้นเรื่อยๆ
Stutz แนะนำให้เรา “ใส่ใจ” เงาของตัวเองนี้ให้มากขึ้น เขาบอกให้เราคุยกับมัน เพื่อให้เราเกิดการประสานกับเงาของตัวเองให้ได้ กลายเป็นภาวะที่เรียกว่า “Whole” หรือ “ความบริบูรณ์” หมายถึงการที่คุณเป็นตัวคุณเองแบบองค์รวม เป็นอิสระแบบตัวคุณเอง และไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว
Stutz ให้คุณคุยกับเงาของคุณที่เป็นตัวตนของคุณในอดีต แบบเดียวกับ Jonah Hill ที่นึกถึงตัวเองตอนวัยรุ่น Stutz บอกให้เขาหลับตา จินตนาการ และถามเงาของตัวเองว่าเงาของเขาต้องการอะไร และด้วยความใส่ใจ เขาจะทำอะไรให้กับเงานี้ได้บ้าง ให้เงานี้อยู่ร่วมกันกับตัวเรา เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา ซึ่ง Jonah Hill ก็ได้ทำสิ่งนั้นด้วยการยอมรับ ชื่นชม ภูมิใจ และยอมรับเงาของตัวเองอย่างที่คนอื่นไม่เคยคิดจะยอมรับ
Stutz เรียกเครื่องมือนี้ว่าเป็น “การช่วยสานสัมพันธ์กับเงา” ซึ่งเหมาะกับการรับมือความอาย ด้วยการทำให้คุณพึงพอใจในตัวตนที่แท้จริงของตัวเองแทนที่จะสนใจเรื่องความสมบูรณ์แบบ
__________________________________________________________________________________
“Tool 3: Active Love”
.
จากการพูดถึง The Maze หรือการติดอยู่กับเขาวงกตในอดีต ทั้ง Stutz และ Jonah Hill ต่างรับรู้ได้ว่าการติดอยู่กับอดีตส่วนหนึ่งนั้นก็เพราะมีคนที่เราจะรู้สึกเกลียดหรือไม่พอใจอยู่เสมอ และหลายครั้งเราต่างต้องการให้เขาชดใช้ แต่ยังไงก็ตาม เนื่องจาก Stutz มองว่านี่เป็นผลผลิตจาก Part X และเราไม่มีทางได้รับการตอบแทนเหล่านั้นได้ จึงทำได้เพียงต้องออกจากการเล่มเกมนี้เพื่อเดินหน้าต่อ Stutz จึงได้แนะนำเครื่องมือที่ชื่อว่า “Active Love” ให้เรารับมือกับเรื่องนี้ให้ได้
วิธีการหลายอย่างอาจดูตลกหรือแปลกประหลาด แต่ Stutz จะบอกให้คุณทำมันอย่างตั้งใจเพื่อท้ายที่สุดแล้วคุณจะหลุดพ้นจากอดีต และอยากทำอะไรที่มันสร้างสรรค์ แม้ว่านี่จะดูเหมือนการให้อภัยคนอื่น แต่มันไม่ใช่การทำเพื่อคนอื่นแต่เพื่อตัวคุณเองทั้งสิ้น
วิธีการประกอบด้วย
หลับตา และจินตนาการถึงความรักที่มีอยู่มากมายรอบตัวคุณ เป็นความรักที่คุณได้รับและมีอยู่รอบๆ เต็มไปหมด
ซึมซับความรักเหล่านั้นเข้ามาในตัวคุณ โอบรับมันไว้ให้ได้มากที่สุด
คราวนี้ให้คุณนึกถึงคนที่คุณเกลียด คนที่ไม่ชอบ หรือคนที่ทำให้คุณเจ็บช้ำ
จินตนาการว่าคุณส่งความรักที่คุณมีออกไปให้คนคนนั้น และจินตนาการจนสัมผัสได้ว่าพลังความรักที่คุณส่งไปนี้ซึมเข้าไปในตัวคนคนนั้นไม่ใช่แค่การเห็นว่ามันซึมเข้าไป
เมื่อคุณเริ่มสัมผัสได้ว่าพลังความรักที่ส่งไปซึมเข้าไปในคนที่คุณเกลียด ให้คุณเริ่มสัมผัสถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันกับคนคนนั้น แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ให้นึกไว้เสมอว่า “หากฉันเป็นหนึ่งเดียวกับคนนี้ได้ ฉันจะเป็นหนึ่งเดียวกับใครก็ได้”
นอกจากนี้ ตัวอย่างของแนวคิด Active Love ที่มีอยู่ในหนังเรื่องนี้อีกอย่างคือ สิ่งที่เราอาจเห็นได้จากการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาระหว่าง Jonah Hill กับ แม่ของเขา อีกด้วย เพราะการที่เขาเลือกจะเริ่มต้นพาแม่มาพูดคุยด้วยกันก่อน (เริ่มที่ตัวเองก่อน) ทำให้เขาได้ส่งพลังความรักที่เขามีให้กับแม่โดยไม่สนใจอดีตที่ผ่านมาอีกแล้ว ซึ่ง Stutz ก็สรุปปรากฏการณ์นี้ด้วยแง่คิดที่คล้ายๆ การหลุดพ้นจาก the Maze ด้วยว่า “อดีตจะกระจ่างชัดแค่ไหนไม่สำคัญ แต่ปัจจุบันนี้เราเป็นยังไง”
__________________________________________________________________________________
“Tool 4: Radical Acceptance”
.
จากการที่ Stutz ได้พูดถึงแง่มุมของความจริง 3 ประการให้เราตระหนักว่าเราต้องหาทางรับมือกับมันไม่ใช่การหลีกหนี เช่นกับ Part X ที่เราไม่สามารถกำจัดมันทิ้งไปได้ ก่อนที่ Stutz จะบอกให้เราทำอะไรกันต่อเพื่อมีความหวังกับอนาคต เขากลับแนะนำให้เราเรียนรู้ที่จะ “ยอมรับแบบสุดใจ” หรือ “Radical Acceptance”
Stutz บอกว่าโดยส่วนใหญ่เวลาคนเราเจอเรื่องไม่มักจะคิดไปเองว่ามันไม่ได้แย่มากเกินไปและอนาคตมักจะต้องดีขึ้น แต่สำหรับ Stutz เขามองว่าการคิดแบบนี้ไม่เพียงพอต่อการเดินหน้าต่อและเรียนรู้จากประสบการณ์ เขาจึงแนะนำให้เรารู้จัก “ยอมรับอย่างสุดใจ” กับประสบการณ์ที่เกิดขึ้น และเฝ้าถามตัวเองว่า “ตอนนี้จะทำไงกับเรื่องนี้?” เพื่อให้เราได้กลั่นกรองประสบการณ์ของตัวเองให้ได้มากที่สุด และมองเห็นความหมายของเรื่องราวที่ซ่อนอยู่
โดย Stutz บอกว่าการที่เราจะยอมรับอย่างสุดใจได้มีกฎง่ายๆ อยู่ 2 ข้อเพื่อให้คุณยอมรับเรื่องที่เกิดขึ้นได้
อย่าตัดสินอะไร โดยเฉพาะเรื่องด้านลบของตัวเอง Stutz บอกว่าคุณไม่ควรไปเถียงอะไรกับด้านลบ แต่นี่ไม่ใช่การปฏิเสธ แค่ยอมรับและไม่เถียงกับมัน
ต้องมองหาสิ่งที่เป็นด้านบวก คุณต้องมีศรัทธากับเรื่องนี้ และมีความศรัทธาพอจะมองเห็นได้ว่ามีความหมายซ่อนอยู่แม้แต่ในเรื่องเล็กๆ
ในมุมมองของผม เครื่องมือนี้เป็นสิ่งที่อาจช่วยให้คุณอยู่กับเมฆดำ (the Black Cloud) ได้มากขึ้นเช่นกัน ก่อนที่คุณจะไปสู่การใช้เครื่องมือถัดไปสำหรับมองทะลุเมฆดำเหล่านั้น
__________________________________________________________________________________
“Tool 5: the Grateful flow”
.
Stutz เชื่อว่า ความรู้สึกขอบคุณ (Grateful) จะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณมองทะลุก้อนเมฆดำ (the Black Cloud) ที่เป็นผลผลิตของ Part X ได้ แต่คุณต้องสร้างกระแสของความรู้สึกขอบคุณขึ้นมาให้ได้ซะก่อน
วิธีการที่ Stutz นำเสนอ ประกอบไปด้วย
หลับตา แล้วพูดขอบคุณอะไรซัก 2-4 อย่าง แต่ไม่ควรนึกถึงสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกขอบคุณ แต่ให้เป็นการสร้างความรู้สึกขอบคุณสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาจากคุณเอง (ไม่ให้นึกถึงสิ่งที่ “ควรขอบคุณ” แต่เป็นสิ่งที่ “อยากขอบคุณ”)
พยายามทำข้อ 1 ช้าๆ และค่อยๆ ซึมซับความรู้สึกขอบคุณนั้นให้ได้
ทำข้อ 1 และ 2 ไปเรื่อย ทำแบบนี้กับ 2-4 อย่างที่ตั้งใจไว้ในตอนแรก ถ้าใจของคุณเริ่มนึกขอบคุณเรื่องอื่นเพิ่มอีกให้หยุดเลย เพราะ Stutz เชื่อว่าการทำแบบนี้จะทำให้พลังงานความรู้สึกขอบคุณยิ่งใหญ่มากขึ้น เกิดเป็นกระแสของความรู้สึกขอบคุณได้
นอกจากนี้ Stutz ยังบอกอีกว่าวิธีการนี้จะมีประโยชน์มากเวลาที่คุณเริ่มควบคุมความคิดไม่ได้ และเน้นย้ำว่าอย่าพูดถึงสิ่งที่ขอบคุณนั้นซ้ำๆ มากเกินไป แต่ให้ทำมันช้าๆ และพยายามทำมันในลักษณะที่เปลี่ยนแปลงอารมณ์ของคุณไม่ใช่การนึกขอบคุณขึ้นมาง่ายๆ
__________________________________________________________________________________
“Tool 6: Loss processing”
.
เมื่อมาถึงช่วงท้ายของหนังสารคดี และอาจเป็นช่วงท้ายที่ทั้งคู่ก็ไม่คาดคิด แต่มันได้นำมาสู่ความจริงอีกข้อของชีวิตที่พวกเขาปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือ การเผชิญกับความสูญเสีย
Jonah Hill ยอมรับอย่างซื่อตรงว่าเขากลัวเสีย Stutz ไป ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งคู่เองก็เคยเจอประสบการณ์ของการสูญเสียมาก่อนด้วย ซึ่งทำให้ทั้งคู่คุ้นชินกับเรื่องการสูญเสียดี แต่คงมองในมุมที่แตกต่างกันเล็กน้อย
ยังไงก็ตาม ประสบการณ์เรื่องการสูญเสียมีอยู่กับเราทุกคน และไม่จำกัดอยู่แค่การสูญเสียผู้คนที่รักเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสิ่งต่างๆ ในชีวิตที่เราไม่อยากเสียไปด้วย ด้วยเหตุนี้ Stutz จึงได้นำเสนอเครื่องมือที่ชื่อ “Loss Processing” ในหนังเรื่องนี้สำหรับการรับมือความสูญเสียที่ยากทำใจสำหรับหลายคน
Stutz บอกว่า Loss Processing คือเครื่องมือที่ใช้เพื่อให้เราเลิกยึดติด แม้จะยังคงแสวงหาสิ่งต่างๆ แต่ก็เต็มใจที่จะเสียมันไปอยู่ดี โดยเขาบอกให้เราใช้เครื่องมือนี้ด้วยการทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
เลือกสิ่งที่ยึดติดอย่างมาก อาจเป็นของเล็กๆ หรือะไรก็ได้ ไม่สำคัญ แค่เป็นสิ่งที่ไม่อยากเสียไป
จินตนาการว่าคุณจับมันไว้แน่นเหมือนกับกิ่งไม้บนต้นไม้ใหญ่ และรู้สึกกลัวอย่างมากถ้าต้องปล่อยมือ
ปล่อยมือจากมันซะ และร่วงลงไป แม้นี่จะทำให้รู้สึกว่าน่ากลัว แต่มันไม่เลวร้าย
ให้จินตนาการว่าคุณร่วงลงมาอย่างช้าๆ และนุ่มนวล พร้อมพูดในใจว่า 'ฉันเต็มใจที่จะสูญเสียทุกอย่าง'
เมื่อคุณจินตนาการว่าคุณตกถึงพื้น ร่างกายคุณจะถูกพระอาทิตย์เผาเป็นจุน กลายเป็นแสงที่เปล่งออกมา และมองไปรอบ คุณมองเห็นว่ามีดวงอาทิตย์ที่เปล่งแสงเหมือนคุณอยู่ทุกที่
สุดท้าย Stutz บอกเราเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการสูญเสียอีกด้วยว่า “การกลัวตายไม่ใช่ปัญหา ตราบที่เราคิดว่ามันไม่ใช่ภาวะถาวร แต่มีสิ่งที่อยู่หลังความตาย (และ) มันเป็นการเกิดใหม่”
__________________________________________________________________________________
“Stutz: นักจิตบำบัดก็คือมนุษย์คนหนึ่ง”
.
สุดท้าย ในตลอดทั้งหนังสารคดีเรื่องนี้เราจะเห็นได้ว่า Stutz ก็ได้บอกเล่าเรื่องราวประวัติชีวิตของตัวเองไปพร้อมๆ กับการบอกเล่าเครื่องมือและแนวคิดต่างๆ ที่เขาใช้ในการบำบัดคนไข้ ซึ่งการนำเสนอเรื่องราวของ Stutz ออกมาในลักษณะนี้ตามแบบฉบับของ Jonah Hill ก็ทำให้เราได้เห็นสิ่งที่ Jonah Hill ต้องการนำเสนอไว้จริงๆ
นั่นคือการที่เราได้เห็นข้อสรุปสุดท้ายของเรื่องนี้ว่า นักจิตบำบัดหรือคนอื่นที่เราคิดจะเอาเป็นแบบอย่าง ไม่ว่าใครก็ตาม คนเหล่านี้ก็ยังคงเป็นมนุษย์ที่ดิ้นรนและต่อสู้กับความเป็นมนุษย์ของตัวเองอยู่เสมอ ไม่มีใครที่สามารถหลุดพ้นจากความเป็นจริง 3 ประการได้ แม้แต่ Stutz เองก็เจอเรื่องราวต่างๆ ที่เขาไม่คาดคิดมามากมาย ทั้งเรื่องโรคพาร์กินสัน การสูญเสียน้องชายตั้งแต่เด็ก การถูกคาดหวังจากครอบครัวให้เรียนหมอ หรือแม้แต่ชีวิตคู่ที่ลุ่มๆ ดอนๆ เป็นเวลากว่า 40 ปีที่จบลงด้วยการแยกจาก
Stutz ที่เราจะได้เห็นในหนังเรื่องนี้เขาไม่ได้เป็นคนที่สมบูรณ์แบบ เราจะได้เห็นว่าเขาต้องนั่งสั่นไปกับโรคพาร์กินสันที่ควบคุมไม่ได้ และได้เห็นสีหน้าระทมทุกข์กับบางประเด็นที่พูดถึง
สุดท้าย Stutz เพียงฝากความเห็นของเขาเกี่ยวกับเรื่องการเผชิญอุปสรรคต่างๆ ที่อาจเจอในชีวิตไว้อีกข้อว่า
“ยอมรับเสียว่าถ้าคุณหาทางแก้ไขไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่คนอื่นจะหาทางแก้ได้ ความสุขนั้นขึ้นอยู่กับว่าคุณยอมรับเรื่องนั้นยังไง และจัดการมันยังไง แต่ก่อนอื่นต้องยอมรับให้ได้ ถ้ายอมรับไม่ได้ เรื่องนี้จะวนอยู่ในใจว่าฉันต้องก้าวข้ามมันได้ หรือจัดการได้ และตัดมันออกจากชีวิตได้ แต่ก็ทำไม่ได้”
.
เจษฏา กลิ่นพูล
นักจิตวิทยาการปรึกษา
Comments