top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนPsychologist Chair

ด่วนสรุปก็ทุกข์ใจ - การระบายหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอาจช่วยให้ช้าลงและตั้งคำถามกับตัวเองได้ดีขึ้น

ปัญหาสุขภาพจิตเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลได้รับความสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน และจากงานวิจัยจำนวนมากได้สนับสนุนสมมติฐานที่ว่า ปัญหาทางจิตเวชเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับเรื่องของความคิดที่บิดเบือนในตัวบุคคล แต่ความคิดเหล่านั้นมีที่มาอย่างไร? มันทำงานอย่างไร? และ เราสามารถควบคุมมันได้มากน้อยแค่ไหน? . จริงๆ แล้ว ความคิดที่บิดเบือน (cognitive distortion) อาจเป็นสิ่งที่มีอยู่ได้ในมนุษย์ทุกคน ซึ่งในบางครั้งตัวผมเองและเพื่อนรอบข้างหลายๆ คนที่ฝึกฝนการให้การปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด ก็ตกหลุมพลางของความคิดเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว (แต่ก็สามารถรู้ตัวได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน) . ในสายตาของจิตแพทย์อย่าง Aron T. Beck เชื่อว่า ในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตอาจมีความคิดเหล่านี้มากเป็นพิเศษ และยิ่งไปกว่านั้น นั่นคือพวกเขาอาจพร้อมที่จะเชื่อความคิดเหล่านั้นอย่างเอาเป็นเอาตายในระยะเวลาที่รวดเร็วนั้นด้วย (ตัวอย่างของความคิดบิดเบือนสามารถดูได้จากภาพด้านล่าง หรือลิ๊งค์นี้ครับ >>>https://www.facebook.com/D2JED/photos/a.318595861606987/399416120191627/?type=1&theater) . แต่แล้วความคิดเหล่านี้มาจากไหนกัน? ในสายตาของนักจิตวิทยาแทบทุกคนเชื่อว่า ความคิดความเชื่อเหล่านี้สัมพันธ์กับประสบการณ์ที่เราได้รับในวัยเด็ก เช่น ปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ ประสบกาณ์ในโรงเรียนกับครูและเพื่อน หรือสิ่งที่ได้สัมผัสจากสังคมรอบข้างและสื่อต่างๆ โดยจะทรงอิทธิพลอย่างมากเมื่อมากเมื่อสัมพันธ์กันกับบุคคลใกล้ชิด .

ในมุมมองของ Beck เชื่อว่า เราสามารถปรับเปลี่ยนสภาวะอารมณ์และความวิตกกังวลของเราให้ลดลงได้ด้วยการปรับเปลี่ยนชุดความคิดของเราให้สมเหตุสมผลอยู่กับความเป็นจริงมากขึ้น

. แต่ในความเป็นจริงแล้วการปรับเปลี่ยนความคิดหรือความเชื่อฝังหัวของตัวเองอาจไม่ใช่สิ่งที่ทำได้โดยง่ายขนาดนั้น เพราะบางครั้งเราอาจไม่สามารถตระหนักถึงมันได้เร็วพอ และมันอาจเกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ เช่น เวลาที่เรารู้สึกโกรธหรือเสียใจอย่างมาก เราอาจไม่ทันได้คิดทบทวนว่า “เพราะอะไรเราถึงรู้สึกแบบนั้น?” หรือ “ความคิดของตัวเรามันถูกต้องมากน้อยแค่ไหน?” . เราอาจพร้อมที่จะเชื่อทุกสิ่งที่เราคิดได้ในเวลาอันรวดเร็วเมื่อมันสอดคล้องกับความเข้าใจที่เรามีต่อโลกและคนรอบข้าง เนื่องจากการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลนั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้พลังงานอย่างมากสำหรับมนุษย์ . ในการเริ่มต้นของชีวิต จิตใจของมนุษย์อาจเป็นเหมือนกระดานชนวนที่ว่างเปล่าอย่างมุมมองของ John Locke หรือประกอบไปด้วยสัญชาตญาณดิบอย่างสัตว์ป่าในมุมมองของ Sigmund Freud ความคิดเชิงตรรกะหรือความคิดแบบให้เหตุผลจึงเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น . เราใช้การคิดลักษณะนี้เพื่อจัดระเบียบข้อมูลและแลกเปลี่ยนสิ่งที่เราได้เรียนรู้กับคนอื่นๆ แต่การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาและความพยายามพอสมควร มนุษย์จึงเรียนรู้ที่จะใช้ความคิดในทางลัดเพื่อให้รวดเร็วขึ้น และประหยัดพลังงานมากกว่า และเราชื่นชอบที่จะคิดแบบนั้นเพราะมันไม่เหนื่อย (เหมือนเวลาที่คุณกำลังอ่านและคิดตามบทความนี้ ในขณะที่ผมคิดว่าหลายคนอาจเลื่อนผ่านตั้งแต่เห็นว่ามันยืดยาว และเปลืองพลังงานสมอง! ผมจะพยายามจบบทความนี้อย่างรวดเร็วเพื่อเห็นแก่ความทรมานของการจ้องหน้าจอเป็นระยะเวลานาน) . สรุปง่ายๆ ว่า ความคิดรวบยอดอย่างรวดเร็วหรือการด่วนสรุปเป็นสิ่งที่คุ้นชินกับคนเรามากกว่า เพราะงั้นจึงไม่แปลกที่ความคิดบิดเบือนจะเกิดขึ้นได้โดยง่าย . ผมขอยกตัวอย่างสมมติ เช่น ผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ Eva เธอเป็นผู้หญิงที่เก่งและสมบูรณ์แบบอย่างมาก เพราะเธอสามารถเป็นบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ได้ตั้งแต่อายุ 25 ปี วันหนึ่งเธอทำงานพลาด เธอตกใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นความผิดพลาดที่เธอไม่คาดคิด ในทันใดนั้นที่เธอคิดว่าการทำงานของตนเอง “ต้อง” ไม่มีข้อผิดพลาดเธอจึงเริ่มเกิดความรู้สึกวิตกกังวลอย่างรุนแรง และในครั้งถัดๆ มาเมื่อ Eva ทำงานพลาดซ้ำอีกหลายครั้ง เธอก็เชื่ออย่างสนิทใจว่า “ฉันทำผิดพลาดทุกๆ ครั้ง” และ “ฉันมันเป็นคนล้มเหลว” . เรื่องราวของ Eva สะท้อนให้เห็นความคิดที่บิดเบือนอย่างรวดเร็ว และชุดความเชื่อที่ไม่สมเหตุสมผลของเธอ เธอเชื่อว่า “การทำงาน “ต้อง” ไม่มีข้อผิดพลาด” นี่เป็นชุดความเชื่อที่ดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไรเมื่อความเป็นจริงแล้ว ความผิดพลาดก็อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ นั่นจึงทำให้เธอวิตกกังวลอย่างรุนแรง . ในเวลาต่อมาที่เธอทำผิดพลาดมากขึ้นเรื่อยๆ เธอด่วนสรุปทันทีว่าเธอเป็นคนที่ล้มเหลวและจะต้องทำพลาดทุกครั้ง นี่เป็นการด่วนสรุปที่รวดเร็วด้วยข้อสังเกตเพียงไม่กี่ครั้งที่เธอทำผิดพลาด ซึ่งอาจสอดคล้องกับการใช้เหตุผลแบบอุปนัย (inductive reasoning) ง่ายๆ ว่าเธอทำผิดพลาดซ้ำๆ ติดต่อกัน ดังนั้น “ฉันทำผิดพลาดทุกๆ ครั้ง” และการที่ทำผิดพลาดซ้ำๆ สรุปได้ว่า “ฉันมันเป็นคนล้มเหลว” . เธอใช้ข้อสังเกตเพียงเล็กน้อยเพื่อยืนยันผลสรุปนั้น แต่หากเราลองพิสูจน์ข้อสรุปที่ได้แล้ว การที่เธอสรุปว่า “ฉันทำผิดพลาดทุกๆ ครั้ง” ไม่เป็นความจริงเมื่อที่ผ่านมาหรือในครั้งอื่นๆ เธอสามารถทำงานได้เป็นอย่างดี และความคิดที่ว่า “ฉันมันเป็นคนล้มเหลว” เพราะเธอทำผิดพลาดซ้ำๆ ก็จะไม่จริงเลยเช่นกัน เมื่อความจริงแล้วความผิดพลาดก็สามารถเกิดขึ้นได้ในคนที่ประสบความสำเร็จ . คนเราเคยชินกับการคิดแบบง่ายๆ (ให้เหตุผลแบบอุปนัย) โดยใช้การเอาข้อสังเกตมารวมกันเพื่อสรุปมากกว่า เพราะมันไม่ต้องใช้พลังงานมากนักเพื่อสรุปสิ่งที่เราคิด ในขณะที่การคิดเพื่อพิสูจน์ความเชื่อที่ว่า “ฉันต้องไม่มีข้อผิดพลาด”, “ฉันต้องทำพลาดทุกๆ ครั้ง”, และ “ฉันมันเป็นคนล้มเหลว” ข้างต้น เป็นสิ่งที่ต้องใช้พลังงานมากกว่าเพราะมันเป็นการตั้งคำถามเพื่อหาความเป็นไปได้ทั้งหมดว่าความเชื่อนั้นมีโอกาสผิดพลาดอย่างไรบ้าง (เรียกการคิดเพื่อพิสูจน์ผลสรุปเช่นนี้ว่า การคิดให้เหตุผลแบบนิรนัย (deductive reasoning)) . เนื่องจากความเคยชินของเราเองอาจทำให้เราไม่ทันสังเกตการด่วนสรุปของตัวเอง ดังนั้นสิ่งสำคัญจึงเป็นการชะลอการด่วนสรุปจากความคิดความเชื่อที่บิดเบือนของตัวเราเอง . การชะลอบางครั้งอาจเป็นสิ่งที่ยาก แต่สิ่งที่อาจจะช่วยและได้ผลคือ การระบาย และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น . การระบายหมายถึงการพูดออกมา หรือเขียนความคิดของตัวเองลงในสมุดบันทึก (บางคนอาจใช้การทำกิจกรรมทางศิลปะ) จะเป็นสิ่งที่ทำให้การด่วนสรุปของตัวเองช้าลงเล็กน้อย และทำให้เราสามารถมองเห็นสิ่งที่ตัวเองกำลังคิดผ่านคำพูด หรือตัวหนังสือ (หรือสัญลักษณ์ในงานศิลปะ) จนสามารถตั้งคำถามและวิเคราะห์สิ่งที่ออกมาจากความคิดความเชื่อของตัวเราเองได้อย่างชัดเจนมากขึ้น . ในขณะเดียวกัน บางครั้งการคิดให้เหตุผลด้วยตัวเองอาจเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน และบางครั้งเราอาจมีความเข้าใจที่ไม่เพียงพอต่อการหาเหตุผลที่ถูกต้อง ดังนั้นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่นๆ หรือขอคำปรึกษาก็เป็นสิ่งที่สามารถช่วยได้ เนื่องจากการทำเช่นนี้นอกจากจะเป็นการที่ได้ระบายโดยมีคนรับฟังแล้ว เราอาจจะได้มุมมองอื่นๆ ที่ตัวเองอาจคิดไม่ถึง . ผมตั้งใจให้มองเห็นว่าการตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวเป็นสิ่งสำคัญ บางครั้งเราอาจต้องตั้งคำถามถึงพฤติกรรมของตัวเอง หรือต่อความคิดของตัวเอง ซึ่งอาจนำไปสู่การตั้งคำถามต่อสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมาก่อนที่จะด่วนสรุปเพื่อเชื่อในความคิดเหล่านั้น . ก่อนจบบทความนี้ผมขอจากกันด้วยคำกล่าวหนึ่งของ Primo Levi นักเคมีและนักเขียนผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิวเชื้อสายอิตาเลียน และแนะนำหนังสือที่ช่วยเสริมทักษะการคิดอย่าง "ปรัชญา: ประวัติศาสตร์ สายธารแห่งปัญญา" โดยไนเจล วอร์เบอร์ตัน ซึ่งผมคิดว่ามีประโยชน์อย่างมากต่อการเรียนรู้ที่จะคิดและตั้งคำถามกับความเชื่อต่างๆ . “Monsters exist, but they are too few in number to be truly dangerous. More dangerous are the common men, the functionaries ready to believe and to act without asking questions.” (อสูรกายมีอยู่จริง แต่ที่อันตรายจริงๆ มีอยู่น้อยมาก สิ่งที่อันตรายมากกว่าคือคนทั่วไปที่พร้อมจะเชื่อและทำโดยไม่ตั้งคำถามใดๆ) - Primo Levi . เก้าอี้ตัว J เจษฎา กลิ่นพูล

.

. Reference

วอร์เบอร์ตัน, ไนเจล. (2561). ปรัชญา: ประวัติศาสตร์ สายธารแห่งปัญญา (พิมพ์ครั้งที่ 4). แปลจาก A Little History of Philosophy. แปลโดย ปราบดา หยุ่น และ รติพร ชัยปิยะพร. กรุงเทพฯ: บุ๊คสเคป. Geltner, P. (2012). Emotional communication: Countertransference analysis and the use of feeling in psychoanalytic technique. New York, NY: Routledge. Grohol, J. H. (2019, June 24). 15 Common Cognitive Distortions. Retrieved from https://psychcentral.com/lib/15-common-cognitive-distortions/

ดู 18 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page