top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนPsychologist Chair

ชวนมองสถานการณ์การเมืองปัจจุบันในมุมมองนักจิตวิทยา Part 03 (เขียนเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563)

ชวนมองสถานการณ์การเมืองปัจจุบันในมุมมองนักจิตวิทยา (3): การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความสัมพันธ์ของแม่-ลูก และความรู้สึกผิดของ Oedipus ถึง Ajase


(เขียนเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563)

.


นี่เป็นตอนที่ 3 ของบทความมองสถานการณ์การเมืองในมุมมองจิตวิทยาของผม อันแท้จริงแล้วอาจเป็นการชวนมองในมุมมองแบบจิตวิเคราะห์ซะมากกว่า โดยผมคิดว่าตอนที่ 3 นี้จะเป็นบทความสุดท้ายที่ผมจะเขียนในมุมมองของสถานการณ์โอดิปุส ซึ่งจะเป็นการเพิ่มเติมในส่วนที่ขาดหายไปจากสองตอนก่อนหน้านี้ นั่นคือ บทบาทของ “แม่” ที่ควรจะมีอยู่ในความขัดแย้งแบบสามเส้า (oedipal triangle) ที่ประกอบด้วย แม่-พ่อ-ลูก

.

.

.


ในบทความสองตอนก่อนหน้านี้ ผมคิดว่าบางคนอาจมองเห็นว่าการที่ผมยกเอาแนวคิดเรื่อง Oedipus มาอธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง ประชาชน (ตัวแทนของลูก) กับ รัฐ (ตัวแทนของพ่อ) จะเหมือนกับว่าผมกำลังตกลงไปในจุดบอดเช่นเดียวกันกับการตีความของ Sigmund Freud ที่ว่า นี่เป็นการมองด้วยมุมมองแบบ Patriachy หรือมุมมองแบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งทำให้บทบาทที่สำคัญของแม่นั้นหายไปจากสมการนี้ (ถึงแม้ในตอนที่ 1 ผมจะบอกว่ารัฐเป็นทั้งตัวแทนของพ่อและแม่ แต่ในตอนที่ 2 กลับเริ่มเห็นชัดว่ารัฐมีลักษณะของความเป็นพ่อที่สูงกว่าอย่างมากเมื่อสถานการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยขยายตัวขึ้น)


แต่แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่ซ่อนอยู่ในการสังเกตการณ์นี้คือความสัมพันธ์ของแม่และลูกที่ค่อยๆ ก่อตัวให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นอย่างช้าๆ ดังสำนวนของต่างประเทศที่ว่า


“Behind every great man there's a great woman"


.


การขยายตัวของกลุ่มการเรียกร้องประชาธิปไตยที่ประกอบด้วย “การลงชื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญใหม่” นำไปสู่ภาพที่ชัดเจนมากขึ้นของความสัมพันธ์แบบสถานการณ์โอดิปุสอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งเป็นภาพของความสัมพันธ์แบบสามเส้าอย่างชัดเจนที่ประกอบไปด้วย ประชาชน - รัฐ - กฎหมาย

.


ตั้งแต่ในตอนที่ 1-2 ผมได้เน้นย้ำอย่างมากว่าประชาชนกับรัฐอาจไม่เกิด attachment energy กันเลยก็ได้ เพราะนั่นขึ้นอยู่กับการวางตัวและการทำหน้าที่ของรัฐที่ใครสามารถจะก้าวขึ้นมาทำหน้าที่ตรงนี้ก็ได้


การมองเห็นรัฐจากมุมของประชาชนจึงอาจเกิดการแยกส่วน (spitting) ได้อย่างสมบูรณ์เมื่อความสัมพันธ์ของรัฐและประชาชนเปรียบเสมือนสถานการณ์โอดิปุสเทียม เพราะอำนาจของรัฐนั้นไม่ใช่อำนาจที่แท้จริงจนทำให้สถานะของความเป็นพ่อและลูกนั้นจางหายไปเหลือเพียงความสัมพันธ์ของเด็ก vs เด็กที่พยายามทำตัวเป็นผู้ใหญ่

.


แต่หากมองไปยังความสัมพันธ์ของประชาชนกับกฎหมาย กลับกลายเป็นความสัมพันธ์ที่มีความเหนียวแน่นมากกว่า โดยไม่ว่าประชาชนจะเห็นด้วยกับรัฐที่ออกและบังคับใช้กฎหมายหรือไม่ก็ตาม


กล่าวคือ ประชาชนยังคงปรารถนากฎหมายไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง เช่นเดียวกับที่รัฐที่เป็นผู้ออกกฎหมายเองก็ปรารถนาตัวกฎหมายด้วยเช่นกันเพื่อคงไว้ซึ่งสถานะของตน ดังนั้น ทั้งประชาชนและรัฐก็ยังคงมีความสัมพันธ์กับกฎหมายด้วย attachment energy เสมอ

.


จริงๆ ผมคิดว่าในเชิงการใช้ภาษาจะพบสิ่งที่น่าขบขันทีเดียว เพราะในเวลาที่เราพูดถึงต้นแบบอะไรซักอย่างหนึ่งในภาษาไทยเรามักจะใช้คำว่า “แม่” เข้ามานิยามเสมอ เช่นเดียวกับการกล่าวถึงกฎหมายที่บางครั้งก็อาจใช้คำว่า “แม่บทกฎหมาย” เพื่อบ่งบอกว่านี่คือต้นแบบของสิ่งอื่นที่จะตีความต่อจากนั้น ราวกับว่าแท้จริงแล้วในสังคมประเทศไทยมีความคุ้นเคยกับ “ความสัมพันธ์แบบแม่-ลูก” มากกว่า “ความสัมพันธ์แบบพ่อ-ลูก” ด้วยซ้ำ

.


การย้ายจากมุมมองจาก “ความสัมพันธ์แบบพ่อ-ลูก” ไปสู่การให้ความสำคัญกับ “ความสัมพันธ์แบบแม่-ลูก" มากกว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในมุมมองด้านจิตวิเคราะห์ เพราะนักจิตวิเคราะห์หลายคนภายหลังจาก Freud ต่างก็ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทความเป็นแม่ (maternal) ที่มีความสำคัญตั้งแต่ก่อนช่วงปมโอดิปุส (peroedipal stage) และส่งผลต่อเนื่องอย่างยาวนานในด้านความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของบุคคล ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการพูดถึงเรื่องความรัก ความอบอุ่น และความผูกพัน

.

.

.


- การแก้ไขรัฐธรรมนูญคือความพยายามครอบครองความรักของแม่ -


การจัดบทบาทของ “กฎหมาย” ให้อยู่ในรูป “ตัวแทนของแม่” ที่ผมตั้งใจกล่าวถึงอาจเริ่มจากการพิจารณาง่ายๆ ว่า สิ่งที่ประชาชนในสังคมและรัฐปรารถนานั้นเป็นสิ่งเดียวกันนั่นคือ กฎหมายสูงสุด หรือ “รัฐธรรมนูญ” โดยเมื่อมองจากสถานการณ์โอดิปุสจะเห็นว่าสัมพันธ์ได้กับจุดที่เป็นต้นกำเนิดของความขัดแย้งระหว่างพ่อกับลูกชายนั่นคือความปรารถนาในจิตไร้สำนึกต่อผู้เป็นแม่ที่มีร่วมกัน แต่ลูกชายกลับต้องพบว่าพ่อของตนเป็นผู้ที่ได้ครอบครองความรักจากแม่ในท้ายที่สุด

.


อย่างไรก็ตาม กฎหมายสูงสุดหรือรัฐธรรมนูญก็เป็นเพียง “ภาพสะท้อนตัวแทนของแม่” เท่านั้น เนื่องจากหากมองด้วยตาเปล่าเราคงเห็นได้ว่ากฎหมายนั้นถูกสร้างขึ้นมาจากรัฐและ/หรือประชาชนที่ถูกนำมาใช้เพื่อปกครองตัวเองอีกที ดังนั้น หากเราจะพูดถึง “บทบาทของแม่” ในกฎหมายนั้นคงต้องไปไกลกว่าสิ่งที่ตาเห็น นั่นคือ แม่ที่แท้จริง (Real mother)

.


ผมขอเริ่มจากการกล่าวถึง “การเข้าถึงความจริง (reality) 3 ทาง” จากทฤษฎีของ Jacque Lacan กันก่อน


โดย Lacan ได้แบ่งแยกการเข้าถึงความจริง 3 ทางของมนุษย์ออกเป็น จินตภาพ (imagery), ระบบสัญลักษณ์ (symbolic), และ ความจริงที่แท้ (the real)


โดยหากจะอธิบายให้เห็นภาพคร่าวๆ ของทั้ง 3 ทางแล้วคงบอกได้ว่า

1. imagery คือ มุมมองที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้หรือการมองเห็นสิ่งต่างๆ จากประสาทสัมผัสทั้งห้า

2. symbolic คือ มุมมองที่เกี่ยวข้องกับระบบสัญลักษณ์และภาษา

และ

3. the real คือ มุมมองที่เป็นเหมือนสิ่งที่จริงแท้หรือความจริงสูงสุดและไม่ถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์


โดย Lacan ได้เสนอว่าการรับรู้ของมนุษย์ต่อสิ่งต่างๆ บนโลกนี้จะประกอบด้วย 3 ส่วนนี้ประกอบกัน แต่มนุษย์กลับสามารถเข้าถึงได้แค่ 2 ทางคือ imagery และ symbolic ในขณะที่ the real นั้นกลับเป็นตัวแทนของสิ่งที่อยู่นอกเหนือการรับรู้ทั้งหมด และปรากฏให้เห็นได้เพียงในจุดที่ประสานกันกับอีก 2 แง่มุมก่อนหน้านี้

(ผมคิดว่า the real อาจเปรียบได้กับสิ่งที่เป็นความจริงแท้ ซึ่งเราไม่สามารถรับรู้ได้จริงๆ ว่ามันคืออะไรกันแน่ เพราะในทุกการรับรู้หรือมองโลกของเราก็ยังคงประสานอยู่กับ imagery และ symbolic อยู่)

.


เราอาจไม่จำเป็นต้องเข้าใจในแนวคิดของ Lacan มาก เพียงแต่การเข้าใจว่าการเข้าถึงความจริงของมนุษย์นั้นอาจถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากการประสานกันของทั้ง 3 ทาง (orders) ดังนั้น ในการพิจารณาถึง “แม่” ที่อยู่ในรูปของ “กฏหมายสูงสุด” นั้นจึงสามารถแยกออกได้เป็น 3 ทางหรือ 3 มุมมอง คือ แม่ในจินตภาพ (imagery mother), แม่ในระบบสัญลักษณ์ (symbolic mother), และ แม่ที่แท้จริง (real mother)

.


กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ปรากฎให้เห็นเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นเป็นภาพสะท้อนที่เห็นได้ชัดเจนของ imagery mother หรือ แม่ในจินตภาพ


กล่าวคือ เป็นภาพสะท้อนที่ประกอบด้วยการรับรู้จากประสาทสัมผัสของเราว่า “แม่ควรจะเป็นอย่างไร?” ในขณะเดียวกัน เมื่อเราพิจารณาถึงสถานการณ์การลงชื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญนั้น แม้อาจจะไม่ใช่กฎหมายที่ได้รับการยืนยันหรือบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว แต่นั่นก็ถือได้ว่าเป็น imagery mother ด้วย เนื่องจากการพยายามแก้ไขหน้าตาที่ควรจะเป็นของกฎหมายนั้นก็สะท้อนให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายหรือการเข้าถึงความจริงในทางเดียวกัน (แม่ควรจะเป็นอย่างไรกันแน่?)

.


แต่อย่างที่ผมได้บอกไปก่อนหน้านี้ว่า เราไม่สามารถแยกการเข้าถึงความจริงทั้ง 3 ทางออกจากกันได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้น กฎหมายรัฐธรรมนูญก็มีส่วนประกอบของ symbolic mother หรือ แม่ในระบบสัญลักษณ์ อยู่ด้วย โดยเราอาจมองเห็นเค้าโครงของแม่ในระบบสัญลักษณ์นี้ได้จากเรื่องของการพยายามตีความลายลักษณ์อักษรของกฎหมายที่มองเห็นหรือได้ยิน เนื่องจากแม่ในระบบสัญลักษณ์นี้เกี่ยวข้องกับเรื่องความหมาย (signified) ของสิ่งที่เป็นตัวให้ความหมาย (signifier) ซึ่งอาจจะมีรูปสัญลักษณ์หรือตัวให้ความหมายเดียวกันแต่การตีความหรือรับรู้ความหมายของสิ่งนั้นก็จะแตกต่างกันไปได้อีกจากประสบการณ์ของแต่ละคน

(Symbolic mother อาจอยู่ในรูปของระบบสัญลักษณ์ ทัศนคติ ความเชื่อ หรือเงื่อนไขใดๆ ก็ตามที่สะท้อนว่านี่สิ่งเหล่านี้เป็นตัวแทนกำลังสื่อให้เห็นได้ถึง Real mother หรือ แม่ที่แท้จริง)

.


เพื่อที่จะให้เข้าใจได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้มีความเกี่ยวข้องกับทั้ง 3 orders ใน “บทบาทของแม่” ที่อยู่ในกฎหมายอย่างไร เราคงต้องทำความเข้าใจว่า “กฎหมาย” ที่กำลังพูดถึงกันอยู่นี้ไม่ใช่ “กฎหมายที่ได้รับการถูกทำให้เป็นลายลักษณ์อักษร” (particular piece of legislation) แต่เรากำลังพูดถึง “Law” หรือ “หลักการพื้นฐานเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม”

.


เมื่อเราเปลี่ยนจากการพูดถึงกฎหมายให้อยู่ในรูปแบบของ “Law” หรือ “หลักการพื้นฐานเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม” แล้ว เราคงจะพบได้ว่านี่อาจทำให้เราเกิดคำถามว่า “อะไรจะเป็นหลักการพื้นฐานเหล่านี้ได้?” ในตอนที่เราเกิดคำถามเหล่านี้เองคือการที่เรากำลังพยายามหาทางสอดประสานกันของทั้ง 3 orders ที่ผมได้กล่าวถึงในข้างต้น

.


บทบาทของแม่นั้นเทียบได้กับผู้ที่ให้ความรัก ความอบอุ่น ความรู้สึกปลอดภัย หรือตอบสนองความปรารถนาของลูกได้ แต่หากเรานึกภาพของแม่ที่พยายามตอบสนองความปรารถนาของลูกได้ทั้งหมดแล้ว นั่นเทียบได้กับ real mother หรือ แม่ที่แท้จริง อันหมายความถึงสิ่งที่จะตอบสนองความต้องการได้ในระดับสูงสุด (ultimate object of desire) และอยู่เหนือระบบสัญลักษณ์ (symbolic order)

.


แต่ real mother นั้นเป็นสิ่งที่เราไม่อาจเข้าถึงได้จริงๆ เช่นเดียวกับที่เราได้แต่นั่งคิดว่า “หลักการพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันของสังคมที่ดีที่สุดคืออะไร?” แล้วต้องพบว่าเราไม่สามารถเข้าถึงคำตอบที่ตายตัวได้อย่างชัดเจน


ดังนั้น สิ่งที่ตามมาจึงเป็น symbolic mother และ imagery mother ที่จะกลายเป็นตัวแทนของการสื่อว่าการกระทำใดๆ ก็ตามของแม่จะเป็นสิ่งที่สื่อว่านี่คือ “ความรักของแม่” และผลลัพธ์อีกด้านที่ตามมาเนื่องจากการที่เราไม่สามารถเข้าถึง the real (real mother) ได้จริงๆ ก็เลยทำให้การตีความและกำหนดว่าสิ่งเหล่านั้นคือความรักของแม่ก่อให้เกิดความสับสนและความขัดแย้งได้เสมอ


เนื่องจากในการพยายามกำหนด “ตัวแทนของแม่ที่แท้จริง” นั้นกลับนำไปสู่เงื่อนไขของการได้รับความรัก หรือ “ความรักที่มีเงื่อนไข” (condition of love)

.


เมื่อย้อนกลับมาที่เรื่องราวของการร่างกฎหมายหรือหลักการพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันของสังคมจะพบว่า กฎหมายหรือหลักการเหล่านี้กำเนิดมาจากจุดประสงค์ที่ว่า เป็นไปเพื่อให้คนในสังคมเกิดความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย และเป็นธรรมในการอยู่ในสังคม กฎหมายจึงมีหน้าที่ (function) คล้ายกับ “ตัวแทนของแม่” ที่จะบอกเราว่าการปฏิบัติตัวแบบใดจึงจะได้รับความรักหรือการยอมรับในสังคม

.


อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญทำให้เราสามารถมองเห็นได้ว่า ประชาชน (ลูก) ปรารถนาที่จะได้มาซึ่งการครอบครองกฎหมาย (แม่) ที่อยู่ถูกยึดครองโดยรัฐ (พ่อ) ด้วยความรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม

.


หากมองในแง่มุมอย่างง่ายว่า ประชาชนต้องการครอบครองกฎหมายที่จะถูกนำมาใช้ปกครองตัวเองนั้นคล้ายกับการพยายามแย่งสิทธิ์ครอบครองความรักของแม่มาจากพ่อของตนเอง ก็คงจะมองเห็นได้แค่ว่าประชาชนนั้นพยายามยื้อแย่งสิทธิ์การเป็นเจ้าของกฎหมายจากรัฐที่ทำตัวเป็นเหมือนเจ้าของกฎหมายที่แท้จริงเท่านั้น (เช่นเดียวกับการเทียบแบบตรงตัวว่าพ่อก็เป็นสามีของแม่อยู่วันยังค่ำ)

.


แต่หากพิจารณาตั้งแต่ในบทความตอนก่อนหน้าที่ผมได้เขียนไว้ว่า “นี่เป็นเหมือนสถานการณ์โอดิปุสเทียม” อันส่งผลให้ “รัฐไม่ใช่ตัวแทนของพ่อที่แท้จริง” ดังนั้น


รัฐที่อาจจะวางตัวเช่นเดียวกับการเป็นผู้ครอบครองกฎหมายทั้งหมดจึงกลายเป็นเพียงสิ่งที่ถูกสมมติขึ้นเพื่อตอบสนองตัวรัฐเองในการได้ครอบครองความรักของแม่หรือกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งส่งผลให้รัฐกลายเป็นเพียงลูกที่พยายามครอบครองความรักของแม่ด้วยการปลอมเป็นพ่อ

.


ยิ่งไปกว่านั้น หากเราพิจารณาจากแนวคิดของ Lacan เกี่ยวกับ “บทบาทของแม่” ที่ผมได้กล่าวถึงในข้างต้นก็จะเห็นได้ว่า รัฐที่ทำหน้าที่ในการออกกฎหมายและบังคับใช้นั้นก็อยู่ในสถานะเดียวกันกับประชาชนในการพยายามเข้าถึง real mother และสร้าง condition of love ขึ้นมาในรูปของ “กฎหมาย” ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการสร้างความรู้สึกคับข้องใจ (frustration) กับประชาชนได้หากประชาชนพบว่ากฎหมายที่ถูกสร้างขึ้นนั้นห่างไกลจาก “บทบาทของแม่” ในมุมมองของประชาชน หรือไม่สามารถสะท้อนให้เห็นได้ว่านั่นมีความใกล้เคียงกับ Law หรือ หลักการพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันของสังคม ที่จะสร้างความสงบสุขปลอดภัยได้จริงๆ

.

.

.


- จากความรู้สึกผิดของ Oedipus ถึง Ajase -


ตอนสุดท้ายในเรื่องราวของ Oedipus ภายหลังจากที่เขาได้รู้ว่าตัวเองเป็นคนที่ฆ่าพ่อของตน และแต่งงานกับแม่ของตัวเอง เขาได้ทำให้ตัวเองตาบอดเนื่องจากความรู้สึกผิด ซึ่งในการตีความของ Freud ได้มองว่าความรู้สึกผิดของ Oedipus นั้นแสดงให้เห็นว่าความรู้สึกผิดคือความกลัวการถูกลงโทษจากสิ่งที่ทำ และการทำให้ตัวเองตาบอดของเขาคือการลงโทษตัวเองที่ทำสิ่งผิด

(Oedipus ถูกทิ้งตั้งแต่เกิดด้วยคำทำนายว่าจะฆ่าพ่อและแต่งงานกับแม่ของตน และในตอนที่ตามหาคนฆ่าพ่อของ Oedipus ก็เป็นผลมาจากคำทำนายว่าต้องหาคนที่ฆ่าราชาคนก่อนให้เจอโรคระบาดในเมืองถึงจะหายไป นี่ทำให้เห็นว่าความรู้สึกผิดของ Oedipus เชื่อมโยงกับเรื่องการถูกลงโทษในการทำสิ่งที่ผิดเยอะมาก เช่น การฆ่าพ่อตัว การสมรสกับแม่ตัวเอง และการนำคำสาปโรคระบาดมาสู่คนในเมือง เป็นต้น)

.


ยังไงก็ตาม Donald Carveth ได้เสนอว่ามุมมองเรื่องความรู้สึกผิดของ Freud นั้นเรียกได้ว่าเป็น “ความรู้สึกผิดแบบลงโทษ” (punitive guilt) ซึ่งเป็นการมองเรื่องความรู้สึกผิดในด้านเดียวเท่านั้น

.


Carveth ได้นำเอาแนวคิดของ Melanie Klein เข้ามาอธิบายว่า การมองความรู้สึกผิดของ Freud นั้นเชื่อมโยงกับสภาวะ Paranoid-Schizoid Position (PS position) มากกว่า โดยในภาวะนี้หมายความถึงการที่คนเราอยู่ในช่วงเวลาที่เกิดการมองโลกแบบแยกส่วน (splitting) อย่างมาก นั่นคือการนำไปสู่มุมมองแบบ ขาว-ดำ หรือ ถูก-ผิด แบบสุดโต่ง


ในขณะที่ความรู้สึกผิดกลับมีอีกด้านหนึ่งคือ “ความรู้สึกผิดเพื่อแก้ไข” (reparative guilt) ซึ่งเป็นความรู้สึกผิดที่ไม่ใช่การพยายามลงโทษตัวเอง แต่เป็นการพยายามแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด และเชื่อมโยงกับสภาวะ Depressive/Reparative position (D position) ซึ่งเป็นภาวะที่มีการมองโลกแบบเทาๆ หรือพยายามมองโลกแบบเป็นองค์รวม

.


นอกจากนี้ Heisaku Kosawa ก็ได้แยกความรู้สึกผิดออกเป็น “ความรู้สึกผิดที่เกี่ยวข้องกับการถูกลงโทษ" (punitive guilt feeling) และ “ความรู้สึกผิดที่ได้รับการให้อภัย” (forgiven guilt feeling) ด้วยเช่นกันจากการตีความเรื่องของ Ajase ใน Ajase’s complex

.


ทั้ง Carveth และ Kosawa ได้แสดงให้เห็นว่า การเกิดความรู้สึกผิด (guilt feeling) นั้นไม่ได้จำเป็นต้องเป็นความกลัวการถูกลงโทษอย่างเดียวก็ได้ แต่อาจเป็นความรู้สึกผิดที่มาจากจิตสำนึกดีก็ได้เช่นกัน

(อ่านบทความ ““ทำไมเราต้องรู้สึกผิดกับการทำสิ่งที่ถูกด้วยนะ?”: ศีลธรรมของ Superego และการสำนึกดีของ Conscience ได้ที่ >> https://www.facebook.com/psycho.../posts/2646297475643572...)

.


เมื่อเราย้อนกลับมาที่สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ผมไม่คิดว่ากลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยนั้นจะเกิดความรู้สึกกลัวหรือความรู้สึกผิดแบบ punitive guilt เหมือนกับ Oedipus ดังนั้น ผมคิดว่าเราจึงควรกลับมาทำความเข้าใจสถานการณ์โอดิปุสเทียมเช่นนี้ในแง่มุมของความรู้สึกผิดเพิ่มเติม

.


เนื่องจากในก่อนหน้านี้ที่ผมยังคงเน้นย้ำว่าในสถานการณ์โอดิปุสเทียมนี้ “รัฐไม่ใช่ตัวแทนของพ่อที่แท้จริง” ผมจึงไม่คิดว่าประชาชนจะเกิดความรู้สึกเกรงกลัวรัฐหรือรู้สึกว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นเป็นสิ่งที่ผิดได้


ยิ่งไปกว่านั้น การที่ประชาชนนั้นเริ่มแสดงให้เห็นว่าตนเองสามารถครอบครองความรักของแม่ในรูปของกฎหมายได้แล้วด้วยนั้น ก็ยิ่งทำให้ประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยไม่รู้สึกว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นผิดได้อีกด้วยเช่นกัน เพราะทุกคนต่างเชื่อว่าตนเองกำลังประกอบสร้าง Law หรือ หลักพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันของสังคมที่ดีกว่า หรือสะท้อนให้เห็นถึง real mother มากกว่าเดิม

.


ยังไงก็ตาม ผมไม่คิดว่าประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยจะไม่เกิดความรู้สึกผิดใดๆ เลย แต่เป็นความรู้สึกผิดแบบ reparative guilt หรือ forgiven guilt feeling มากกว่า ซึ่งเป็นการเกิดความรู้สึกผิดต่อการละเลยที่จะไม่ทำในสิ่งที่เชื่อว่าถูกต้องจากสำนึกดีของตัวเอง หรือก็อาจมีความรู้สึกผิดแบบ punitive guilt อยู่ได้บ้างแต่ไม่มีความเข้มข้นเท่ากับการพยายามทำสิ่งที่เชื่อว่าถูกต้อง

.


ผมไม่ได้พยายามบอกว่าสิ่งที่กลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยทำทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ตั้งใจแสดงให้เห็นว่าพวกเขาอาจเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นถูกต้องและดีกว่า ในบางเรื่องที่พวกเขาทำก็อาจผิดพลาดเนื่องจากการหลงลืมหรือขาดสติดังเช่นที่เคยกล่าวถึงในตอนที่สองของบทความชุดนี้ ในขณะเดียวกัน การที่ผมตั้งใจกล่าวถึงการพยายามเข้าถึง real mother หรือ Law ของทั้งรัฐและประชาชนก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ทั้งรัฐและประชาชนก็อาจกำลังเชื่ออย่างสุดหัวใจว่าตนเองนั้นทำสิ่งที่ถูกต้องอันเนื่องมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของตนเอง (imagery & symbolic)

.


ผมพยายามจะจินตนาการว่า หากประชาชนบางส่วนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นรัฐได้เองแล้วพวกเขาจะเกิดความรู้สึกผิดหรือไม่?


บางทีพวกเขาอาจเกิดความรู้สึกผิดได้ทั้งสองแบบก็ได้ (เราอาจยอมรับผิดได้และพยายามแก้ไขให้ถูกต้อง แต่ขณะดียวกันก็มีความหวาดระแวงคนอื่นๆ ในสังคมอีกมากปะปนอยู่) ยิ่งไปกว่านั้น เราก็ไม่รู้จริงๆ ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด หรือ "อะไรคือ the real"

.


การมุ่งไปสู่หนทางของระบอบการปกครองประชาธิปไตยจึงไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดหรือแย่ที่สุด แต่กลับกลายเป็นสิ่งที่จะเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้การไม่หวาดกลัวต่อ "ความไม่รู้” และสิ่งที่พอจะควบคุมได้ก็คือการสร้างระบบที่ควบคุมอย่างเข้มงวดในการคานอำนาจรัฐ

.


การที่ต้องยกเอาเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและความสัมพันธ์แบบแม่-ลูกขึ้นมาในบทความนี้ เพราะจากเรื่องราวของ Ajase ก็ได้แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนผ่านจาก punitive guilt feeling ไปสู่ forgiven guilt feeling นั้นก็ต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงของแม่ (mother) ก่อน (แม่ของ Ajase ไปหาพระพุทธเจ้าเพื่อแก้ปมในใจของตนเองเพื่อมาดูแล Ajase จนหายจากโรคผิวหนัง)


ดังนั้น ผมจึงคิดว่าหากกฎหมายอันเป็นตัวแทนของแม่นั้นมีความใกล้เคียงกับ Law ที่ตอบสนองความปรารถนาของประชาชน (รวมถึงรัฐ) ได้เป็นอย่างดี ก็อาจทำให้ความรู้สึกผิดของรัฐนั้นไม่ยากเกินรับไหว (เมื่อความรู้สึกผิดยากเกินรับไหวจึงนำไปสู่การพยามยามปกป้องตัวด้วยกลไกทางจิต ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการแยกส่วนหรือ splitting) รวมไปถึง ความรู้สึกคับข้องใจของประชาชนก็จะไม่มากเกินทนเช่นเดียวกัน

.


เจษฎา กลิ่นพูล

K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา

.

ดู 7 ครั้ง0 ความคิดเห็น

コメント


bottom of page