top of page
ค้นหา

ชวนมองสถานการณ์การเมืองปัจจุบันในมุมมองนักจิตวิทยา Part 02 (เขียนเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563)

รูปภาพนักเขียน: Psychologist ChairPsychologist Chair

ชวนมองสถานการณ์การเมืองปัจจุบันในมุมมองนักจิตวิทยา (2): จากเยาวชนสู่ประชาชน การมองหาทางออกของสถานการณ์โอดิปุส (เทียม) และการหยุดเบรคพักเพื่อสังเกต unconscious ในฝูงชน


(เขียนเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563)

.


ภายหลังจากที่ผมได้เขียนบทความ "ชวนมองสถานการณ์การเมืองปัจจุบันในมุมมองนักจิตวิทยา: เยาวชนปลดแอก สถานการณ์โอดิปุส และการก้าวข้ามผ่านเจเนอเรชั่น” ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นตอนแรกของบทความชุดนี้ ก็พบว่าสถานการณ์การเมืองได้มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น และสิ่งที่ชัดเจนมากที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงจากการเรียกร้องของ “เยาวชน” ไปสู่ “ประชาชน”

.


ผมไม่ได้ไปเข้าร่วมการชุมนุมในครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 ที่ชื่อ “ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ” แต่ก็เป็นอีกครั้งที่ผมติดตามความเคลื่อนไหวผ่านทางออนไลน์แทบตลอดทั้งวัน และสิ่งที่แตกต่างออกไปคืองานชุมนุมครั้งนี้จัดขึ้นโดยกลุ่ม “คณะประชาชนปลดแอก - Free People” ซึ่งจากชื่อกลุ่มก็เห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เป็นเยาวชนไปสู่ประชาชนอย่างชัดเจน

.


ผมได้ฟังคำปราศรัยของหลายคนในการชุมนุมครั้งนั้น และรู้สึกประทับใจกับการปราศรัยที่เน้นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และตลกเสียดสีที่น่าขบขันแต่ก็ยังทำให้ผมที่ฟังอยู่ต้องคิดตามในหลายๆ เรื่อง ยังไงก็ตาม คำปราศรัยที่ติดอยู่ในหัวผมคงหนีไม่พ้นการปราศรัยที่กล่าวว่า “นี่ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างเจเนอเรชั่น แต่เป็นความขัดแย้งของคนที่ตื่นแล้วกับคนที่ยังไม่ตื่น” โดยคำกล่าวนี้ทำให้ผมต้องคิดถึงบทความในก่อนหน้าของผม และคิดว่าต้องแก้ไขเพิ่มเติมมุมมองต่อจากเดิมมากขึ้นซักหน่อย

.

.

.


- จากเยาวชนสู่ประชาชน และความขัดแย้งระหว่างเจเนอเรชั่นทางจิต -


ถึงแม้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะสะท้อนให้เห็นว่า “นี่ไม่ใช่ความขัดแย้งกันระหว่างคนแก่และคนหนุ่มสาว” แต่ผมก็ไม่สามารถละทิ้งได้ว่านี่ยังคงเป็นการขัดแย้งกันระหว่างเจเนอเรชั่นอยู่ดี โดยถึงแม้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงจากกลุ่มเยาวชนไปสู่ประชาชน ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่ามีความหลากหลายของเจเนอเรชั่นมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม แต่ในการจำแนกระหว่างคนที่ตื่นแล้วกับคนที่ยังไม่ตื่นก็แสดงให้เห็นว่ามีการจำแนกกลุ่มคนออกจากกันแบบเป็นเส้นตรงของสิ่งที่มีอยู่ก่อนและหลังเช่นกัน

.


จากข้างต้น ถึงแม้จะเป็นการแสดงถึงสิ่งที่มีอยู่ก่อน (หรืออาจเรียกว่า คนหัวเก่า) และสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง (หรือเรียกว่า คนหัวก้าวหน้า) แต่เราก็ไม่สามารถแบ่งแยกกลุ่มคนทั้งสองด้วยคำว่า “เด็ก” และ “ผู้ใหญ่” ได้อีกต่อไป ดังนั้นในบทความนี้ผมจึงขอย้ายจาการกล่าวถึงคำว่า “เจเนอเรชั่น” เดิมที่สัมพันธ์กับ “เด็ก vs ผู้ใหญ่” ในเชิง “กายภาพ” หรืออายุจริง สู่การกล่าวถึง “เจเนอเรชั่น” ในทัศนะของ “จิต” แทน

.


การย้ายจาก “เจเนอเรชั่นทางกายภาพ” ไปสู่ “เจเนอเรชั่นทางจิต” ของผมส่งผลให้สถานะทางกายภาพของทั้งสองเจเนอเรชั่นนี้เท่ากัน แต่แตกต่างกันด้วยความคิด ทัศนคติ หรือมุมมองที่มีต่อโลก และทำให้ผมต้องขยายความเพิ่มเติมอีกว่า ถ้างั้นแล้วในมุมมองเช่นนี้จึงไม่มี “เด็ก” และ “ผู้ใหญ่” ที่แท้จริง แต่มีเพียง “เด็ก” ที่ “พยายามเป็นผู้ใหญ่” เท่านั้น

.


การบ่งบอกว่านี่เป็นความขัดแย้งระหว่างเจเนอเรชั่นทางจิต และมีแต่คนที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่กว่าคนอื่นเท่านั้นในปรากฏการณ์นี้ ผมจะขยายความต่อโดยการเชื่อมโยงกับประเด็นของ “สถานการณ์โอดิปุสเทียม” ที่ผมได้กล่าวถึงตั้งแต่บทความก่อนหน้า

.

.

.


- สถานการณ์โอดิปุสเทียมที่ไม่มีใครที่เหนือกว่าใคร -


ตั้งแต่ในบทความก่อนหน้าผมได้บอกไว้แล้วว่า ในมุมมองของผมถือว่าเป็นสถานการณ์โอดิปุสเทียมเพราะนี่ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบพ่อ-ลูกจริงๆ แม้แต่น้อย และในการอธิบายทั้งหมดนั้นก็เป็นการอธิบายในเชิงสัญลักษณ์ว่า “พ่อ = รัฐหรือผู้มีอำนาจ” และ “ลูก = ประชาชน” แต่เมื่อเป็นสถานการณ์โอดิปุสเทียมแล้ว จึงไม่มีตัวแทนของ “พ่อ” อยู่ในสถานการณ์นี้ เพราะทุกคนอยู่ในสถานะของ “ลูก”

.


นอกเหนือจากใจความที่ผมได้สื่อในคราวที่แล้วว่า “ไม่มี attachment energy เกิดขึ้นระหว่างประชาชนกับรัฐ” ซึ่งเป็นการนำเสนอถึงทางออกของสถานการณ์โอดิปุสในแง่หนึ่งว่า “เด็กจะต้องประสบพบว่าตัวเองมีความรู้สึกทั้งเชิงบวกและลบกับพ่อไปพร้อมกัน” แต่อีกสิ่งหนึ่งในการแก้ไขสถานการณ์โอดิปุสคือ Ego ของเด็กซึ่งทำงานอยู่กับการตรวจสอบความเป็นจริงพบว่า “พ่อของตนแข็งแรงกว่า และไม่สามารถเอาชนะได้”

.


จากข้างต้น ยิ่งสามารถสนับสนุนได้ว่า “นี่เป็นสถานการณ์โอดิปุสเทียม” เพราะการพิจารณาว่ารัฐหรือผู้มีอำนาจ (พ่อ) จะแข็งแรงกว่าประชาชน (ลูก) เป็นสิ่งที่ไม่เป็นจริงอีกต่อไปเมื่อ Ego ของประชาชนมองเห็นแล้วว่าความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นจากข้อมูลข่าวสาร และการได้รับความรู้ความเข้าใจที่มากขึ้นกว่าเดิมว่า ประชาชนสามารถโค่นล้มรัฐหรือผู้มีอำนาจได้ตามแนวทางของประชาธิปไตย

.


การที่ประชาชนมองเห็นว่าตนเองมี “อำนาจ” มากกว่ารัฐ จึงเป็นการบ่งบอกว่ารัฐไม่ใช่ตัวแทนของพ่อหรือผู้ใหญ่ แต่เป็นเพียง “คนที่คิดว่าตัวเองอยู่เหนือกว่า” หรือ “พยายามทำตัวเป็นผู้ใหญ่” เท่านั้น ดังนั้น นี่จึงไม่ใช่ความขัดแย้งของเจเนอเรชั่นทางกายภาพซึ่งหมายถึง “เด็ก vs ผู้ใหญ่” แต่เป็นความขัดแย้งของเจเนอเรชั่นทางจิตอันหมายถึง “เด็ก vs เด็ก” หรือ “การต่อสู้กันเพื่อบอกว่าใครเป็นผู้ใหญ่กว่า”

.


จากมุมมองของผมข้างต้นอาจทำให้หลายคนรู้สึกว่านี่เป็นการลดคุณค่าของความขัดแย้งนี้ให้เล็กลงไปหรือไม่?


ผมไม่คิดว่านั่นเป็นจุดประสงค์ที่พยายามจะสื่อ แต่เป็นเพียงการพยายามอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยมุมมองแบบจิตวิเคราะห์เท่านั้น และการที่เทียบว่าเป็นความขัดแย้งของ “เด็ก vs เด็ก” หรือ “การต่อสู้กันเพื่อบอกว่าใครเป็นผู้ใหญ่กว่า” เป็นการบ่งบอกว่า “ทุกคนเท่าเทียมกันในความขัดแย้งนี้” ดังนั้น การกล่าวอ้างว่าใครเป็นผู้ใหญ่กว่าและอีกฝ่ายต้องเชื่อฟังจึงไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป

.

.

.


- การหยุดพักเบรคเพื่อสังเกต unconscious ในฝูงชน -


อย่างไรก็ตาม เมื่อผมกล่าวว่านี้เป็น “การต่อสู้กันเพื่อบอกว่าใครเป็นผู้ใหญ่กว่า” แล้ว นั่นหมายความว่าเราอาจต้องระมัดระวังความคิดของเราเองที่อาจหลงลืมไปด้วยว่า เราไม่ได้มีความเหนือกว่าใครจริงๆ หรือการคิดจะเอาความรู้สึกว่าตัวเองโตกว่า หัวก้าวหน้ามากกว่า หรือรู้มากกว่า มาใช้เพื่อข่มขวัญหรือคุกคามคนอื่นนั้นกลับกลายเป็นสิ่งที่ผมอยากให้ลองหยุด “พักเบรค” เพื่อสังเกตตัวเองกันเล็กน้อย

.


ผมเชื่อว่าหลายคนอาจมีความรู้ความเข้าใจดีอยู่แล้วว่า “คนทุกคนมีทั้งดีและเลวปะปนกัน” ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงความเข้าใจว่าเราสามารถมองคนคนหนึ่งแบบองค์รวมได้ และนั่นหมายถึงการมองเห็นว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกันอยู่ในเรื่องนี้ แต่สิ่งที่ผมจะนำเสนอต่อจากนี้คือการบอกว่า เราอาจไม่สามารถละเลย Unconscious ของเราได้เมื่ออยู่ในกลุ่มคนที่มีความแตกต่างมากหน้าหลายตา

(เดิมผมมักแปล unconscious ว่าจิตใต้สำนึก และบางคนอาจแปลว่าจิตไร้สำนึกเพราะตรงตัวกว่า แต่ผมขอใช้ทับศัพท์ว่า unconscious ไปเลยเพราะมันมีความหมายที่มากรวมไปถึงส่วนที่ไม่ตระหนักรู้ ส่วนที่ไม่มีสติ ส่วนที่ไม่สามารถรับรู้ได้หรือนอกเหนือขอบเขตของการรับรู้และสังเกตเห็น)

.


ผมขอยกประสบการณ์ของตัวเองเป็นกรณีศึกษาเพื่อกล่าวถึงประเด็นนี้


“คืนนั้นผมได้นั่งคุยกับพ่อแบบเปิดอกจริงจัง เราไม่เคยคุยเรื่องการเมืองในครอบครัวมาก่อน และครั้งนั้นก็ไม่ใช่การพูดคุยเรื่องการเมืองด้วย เพียงแต่พ่อพูดถึงเรื่องม๊อบขึ้นมาเพราะด้วยความเป็นห่วงที่ผมเองก็เป็นศิษย์เก่ามธ. และวันนั้นก็คือหลังจากวันที่งาน “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ถูกจัดขึ้น


ใจความสำคัญที่พ่อพูดถึงคือ "การเมืองสนใจได้ แต่ให้ดูเหมือนดูละคร" โดยเหตุผลที่พ่อยกมาสนับสนุนคือการชี้ให้เห็นว่าคนที่จบธรรมศาสตร์ซึ่งเคยชุมนุมนู่นนี่ ตอนนี้ก็คือพวกที่ทำได้ทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ โดยใจความสำคัญของพ่อก็เหมือนการบอกกลายๆ ว่า "อย่าไปเชื่อใจใครมากนัก เพราะสุดท้ายมันก็คือเรื่องของผลประโยชน์ที่คนพร้อมจะเปลี่ยนฝั่งได้เสมอ"


ตอนที่นั่งฟังพ่อพูดผมไม่ได้ซื้อไอเดียนี้ตรงๆ แต่มันซึมซับเข้ามาแบบอ้อมๆ ให้ผมต้องคิดว่า "เออ งั้นเราก็ทำให้คนที่เป็นผู้นำโปร่งใสมากที่สุดสิวะ" หรือหมายถึงการเสนอแนะว่า คนที่จะมาเป็นแกนนำก็ควรที่จะจริงใจกับคนอื่นๆ ให้มากกว่าเดิม


แต่ผ่านมาซักพักผมก็เริ่มตระหนักได้ว่า การร้องขอให้ใครซักคนเป็นคนยังไงมันเป็นไปไม่ได้เลย อย่างเช่นในกรณีนี้ว่า เราจะขอให้คนที่เป็นผู้นำจริงใจกับเรามันก็เหมือนการร้องขอให้คนคนนั้นเป็น “คนดี” แต่มันจะขัดกับความเชื่อที่ว่า "เราเชื่อใจใครไม่ได้" ที่มีในตอนแรกไปเลย


ผมรู้ได้ทันทีว่า การคิดว่า "เราต้องการคนที่ดีกว่า" นั้นเป็นความคิดที่ idealize หรือเพ้อฝันเพื่อปกป้องตัวเองด้วยความเชื่อว่า “โลกนี้ยังคงมีสิ่งที่ดีอยู่” โดยไม่ละเลยแง่มุมของความเป็นจริงที่ว่า “คนเรานั้นมีทั้งดีและเลวปะปนกัน” ดังนั้นจึงนำพาผมไปสู่การตั้งคำถามใหม่ว่า


"ถ้าอย่างงั้นเราจะไม่ให้คนที่เราไม่รู้ว่าดีหรือเลวไม่ทำอะไรที่สุดโต่งเกินไปได้อย่างไร?"


คงต้องบอกว่านี่เป็นความคิดที่ไม่ได้แปลกใหม่เลยเพราะมันเป็นความคิดที่ผมเองก็คิดมาตลอดอยู่แล้ว แต่มันแปลกใหม่ในแง่ของประสบการณ์ที่ว่า เราอาจไหลตาม unconscious ของเราไปได้ง่ายมากเมื่อมันบรรเทาความทุกข์ใจที่ยอมรับว่าโลกนี้ไม่ได้มีคนดีและคนเลวที่แท้จริงเหมือนในนิทานหรือบทละคร”

.


จากประสบการณ์ของผมข้างต้น เป็นการบ่งบอกว่าในขณะที่เรามีความรู้ความเข้าใจอย่างมากแล้ว แต่ในระดับของ unconscious ของเรานั้นอาจนำพาเราหลงทางไปสู่การทำสิ่งต่างๆ ที่เราไม่คาดคิดได้เมื่ออยู่ในฝูงชน นั่นเป็นเพราะ unconscious ของเรายังคงมีอิทธพลอยู่เบื้องหลัง

.


ในประเด็นนี้เป็นการกล่าวถึงกระบวนการ introjective identification ซึ่งหมายถึงการซึมซับบุคลิกภาพของผู้นำเข้ามาในตัวเอง และทั้งหมดนั่นเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในระดับ unconscious ที่สัมพันธ์กับการที่เราจะรู้สึกว่าเราได้หลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับฝูงชนหรือรู้สึกเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันกับคนรอบข้างได้

.


ผมคิดว่าอาจจะอธิบายให้ง่ายขึ้นได้ก็อาจเหมือนการที่คุณรู้สึกว่ามีความเชื่อมโยงบางอย่างกับคนที่ปราศรัยอยู่ เพราะคุณมีความคิดคล้ายๆ กัน มีความรู้สึกคล้่ายๆ กัน และอาจคิดว่าเขาจะเป็นคนที่คล้ายกันกับคุณและคุณก็อาจจะพยายามเลียนแบบท่าทีของเขาเช่นกัน


ในกรณีของผมเองก็ไม่ได้บ่งบอกชัดเจนว่า ผม identify กับผู้ชุมนุมหรือผู้ปราศรัยคนไหน แต่ unconscious ของผมกลับนำพาไปได้ว่า “ผมจะเชื่อใจคนคนนี้" หรือมองว่า “คนคนนี้ดีกว่าคนอื่น” เพียงเพราะว่ารู้สึกเป็นพวกเดียวกันได้เสมอ

.


ยิ่งไปกว่านั้น การที่คนอื่นๆ ชื่มชมพวกเขาก็ทำให้การ identification นี้มันสัมพันธ์กับการ idealization หรือจมอยู่อยู่กับการเพ้อฝันแบบปกป้องตัวเองว่า “มีคนดีอยู่ในสังคมนี้” มากขึ้นไปอีก (แม้จะไม่ได้แสดงออกชัดเจนว่าเราเชื่อว่าคนนี้ดี แต่เราก็ยังคิดว่าเขาคงจะดีกว่าคนอื่น)

.


ผมขอยกอีกกรณีหนึ่งคือ ในวันเดียวกันนั้นมีคลิปของน้องที่กล่าวปราศรัยอีกฝั่ง แฟนของผมส่งมาให้ดูด้วยความตลกขบขัน (ผมเองขำเหมือนกัน) แต่ซักพักหนึ่งผมกลับรู้สึกว่าผมไม่ได้ “ขำแรง" ขนาดนั้น แต่เพราะคนในคลิปขำแรงมากรวมไปถึงการคอมเมนต์ในคลิปนั้นก็ยิ่งเพิ่มความตลกขบขันขึ้นไปอีก


แต่แล้วจากนั้นหลายคอมเมนต์ก็ยิ่งทวีเป็นการเยาะเย้ยมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเหมือนการบูลลี่ ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า คนที่กำลังเยาะเย้ยอะไรแบบนี้อาจสัมพันธ์กับ "การที่เราคิดไปเองว่าการทำสิ่งนี้มันดี แต่เรากลับมองข้ามเรื่องการบูลลี่ไปได้เพราะมันสอดคล้องกับ ideal ของเรา"

.


ในประเด็นสุดท้ายนี้จึงเป็นการที่ผมพยายามบ่งบอกว่ามีการทำงานของ Unconscious เกิดขึ้นในฝูงชนเสมอ และหลายครั้งเราเองอาจจะไม่รู้ตัว เช่นเดียวกัน ในเรื่องของการหลงคิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่นก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกันในกระบวนการเช่นนี้ และทำให้เราอาจต้องระมัดะวังกันมากขึ้นในเรื่องของการแบ่งพวกเขาพวกเราที่อาจเปลี่ยนจากการมองเห็น “คนเท่ากัน” ไปสู่การมองเห็นว่า “ฉันดีกว่าเธอ” โดยที่เราอาจไม่ทันตระหนักถึง

.


ผมคิดว่ามันหลงลืมกันได้ในบางจังหวะ ดังนั้นผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้นในช่วงเวลานี้ที่บอกว่าอาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะในการ “พักเบรค” เพื่อหันกลับมาสังเกตตัวเองมากขึ้นก่อนที่จะเดินหน้าต่อ

.


เจษฎา กลิ่นพูล

K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา


ดู 2 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page