ชวนมองสถานการณ์การเมืองปัจจุบันในมุมมองนักจิตวิทยา Part 01: เยาวชนปลดแอก สถานการณ์โอดิปุส และการก้าวข้ามผ่าน
(เขียนเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563)
.
เมื่อไม่กี่วันก่อนได้มีการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้น ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นำโดยกลุ่มที่เรียกตนเองว่า “เยาวชนปลดแอก” หรือ “Free YOUTH” เพื่อเรียกร้องกับรัฐบาลในเรื่องของการทำหน้าที่รัฐ ซึ่งผมก็ได้ติดตามการไลฟ์แทบจะตลอดทั้งเย็นวันนั้น อีกทั้งมีเพื่อนบางคน และคาดว่ามีรุ่นพี่รุ่นน้องอีกหลายคนที่เข้าร่วมการชุมนุมในวันนั้น และเป็นที่น่ายินดีที่ไม่ได้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงใดๆ ขึ้น
.
ตลอดการดูไลฟ์การชุมนุมในวันนั้นทำให้ผมได้เห็นภาพของการชุมนุมทางการเมืองที่แตกต่างจากประมาณ 6 ปีก่อนหน้านี้มาก เพราะในช่วงก่อนหน้านี้ การชุมนุมทางการเมืองเป็นการต่อสู้กันระหว่างสองฝ่ายที่ถือได้ว่ามีพลังอำนาจที่ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่ในปัจจุบัน การต่อสู้กันทางการเมืองกลับทำให้เราได้เห็นภาพของความแตกต่างของพลังอำนาจที่แฝงอยู่หลายรูปแบบอย่างชัดเจนมากขึ้น และมีความห่างชั้นกันมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะถูกมองได้ว่าเป็นการต่อสู้กันของกลุ่มประชาชนกับรัฐ, คนทั่วไปกับผู้มีอำนาจ, รวมไปถึงการต่อสู้กันของเด็กกับผู้ใหญ่อีกด้วย
.
ถึงแม้การชุมนุมที่เกิดขึ้นในวันนั้นจะประกอบไปด้วยกลุ่มคนหลายเจเนอเรชั่นมากกว่านักศึกษา แต่คนส่วนใหญ่มักเป็นนักศึกษาดังเช่นกลุ่มที่นำการชุมนุมแสดงจุดยืนตั้งแต่แรกว่าพวกเขาเป็น “เยาวชน” ในขณะที่คนที่มาเพื่อสนับสนุนการชุมนุมซึ่งไม่ใช่เยาวชน ก็จะมีความคิดเห็นไปในทางที่ว่า พวกเขากำลังคำนึงถึงอนาคตของเยาวชนในประเทศและลูกหลานของพวกเขาเองด้วย
.
สิ่งที่ผมรู้สึกสนใจจนอยากจะเขียนบทความนี้ขึ้นมา นั่นคือเรื่องของการต่อสู้กันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ที่ปรากฏออกมาให้เห็นบ่อยมากขึ้นในเรื่องของทัศนคติต่อคนที่แสดงความเห็นทางการเมืองในปัจจุบัน ผมอาจตั้งตัวได้ว่าตนเองไม่ได้มีช่วงวัยที่แตกต่างจากกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาชุมนุมมากนัก แต่ก็ไม่คิดว่าตนเองจะเด็กพอจนเรียกตนเองว่าเป็นเยาวชนได้ ซึ่งผมคิดว่านักศึกษาหลายๆ คนที่แม้จะยังคงเรียนมหาวิทยาลัยอยู่แต่พวกเขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าตนเองจะเด็กเกินไปที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแบบผู้ใหญ่ในเวลานี้
.
คำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มการชุมนุมนี้หลายครั้งมักสะท้อนให้เห็นทัศนคติที่เป็นไปในทางเดียวกันกับในช่วงเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมาว่า
“เด็กไม่ควรที่จะออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองใดๆ และควรใช้เวลาไปกับการเรียนหนังสือมากกว่าจะมาทำอะไรแบบนี้”
แต่สิ่งที่เด็กเหล่านั้นตอบสนองกลับมาต่อทัศนคติเช่นนี้คือการปฏิเสธที่จะเชื่อฟัง ซึ่งหลายครั้งสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นเด็กแบบที่ผู้ใหญ่เหล่านั้นอยากให้เป็น และพยายามที่จะสร้างอนาคตของพวกเขาเอง รวมไปถึงหน้าที่ของพวกเขาเองด้วย
(เมื่อพูดถึงหน้าที่ของเด็กในยุคนี้เราไม่ได้พูดถึงหน้าที่ของนักเรียนนักศึกษา แต่รวมไปถึงหน้าที่ของพลเมืองของประเทศชาติและทั้งโลกด้วย)
.
ผมคิดว่าเรื่องนี้มีความน่าสนใจมากกว่าเรื่องของความแตกต่างด้านทัศนคติทางการเมือง แต่มันเป็นภาพสะท้อนของการเปลี่ยนผ่านเจเนอเรชั่น ซึ่งเป็นก้าวสู่การเป็นผู้ใหญ่ของเด็กหลายๆ คน และต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์โอดิปุสในระดับสังคม
(สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์โอดิปุสที่ผมเคยเขียนก่อนหน้านี้เพื่อทำความเข้าใจบทความนี้เพิ่มเติมได้ที่ >> https://www.facebook.com/k.thera.../posts/265938094823282...)
.
.
.
ผมหยิบยกเอาสถานการณ์ Oedipus complex มาใช้เพื่ออธิบายในประเด็นนี้เนื่องจากสิ่งที่ผมมองเห็นคือการก้าวข้ามผ่านช่วงวัยของเด็กสู่การเป็นผู้ใหญ่ในแง่มุมของสังคมการเมือง และต้องเผชิญหน้ากับบททดสอบจากผู้ใหญ่รุ่นก่อนมากมายเช่นเดียวกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในครอบครัวของพวกเขาเอง (บางคนที่ผมรู้จักก็มีความขัดแย้งในครอบครัวที่เกี่ยวเนื่องกับแง่มุมของการเมืองและการโตเป็นผู้ใหญ่ให้เห็น) แต่สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันจะสามารถเทียบได้กับสถานการณ์โอดิปุสจริงๆ หรือไม่? ซึ่งเราอาจต้องมาลองพิจารณากันดูหลังจากนี้
.
.
.
จากมุมมองของผม ผมคิดว่าสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันจะมีความเกี่ยวเนื่องกับ Oedipus complex มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะมันกำลังเกี่ยวเนื่องการการพยายามกีดกันเด็กออกจากเรื่องการเมือง
.
การพยายามกีดกันเด็กออกจากเรื่องใดๆ ก็ตามที่พวกเขาต้องเผชิญหน้าอยู่แล้วในอนาคต ได้สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจของผู้ใหญ่ที่มีมากกว่าเด็กเสมอ การเมืองเองก็เเป็นสิ่งที่มีอยู่และพวกเขาต้องเผชิญในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะมันเกี่ยวเนื่องกับการอยู่รอดของพวกเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง (ผมคิดว่ามันอาจเทียบได้กับเวลาที่เด็กถูกผู้ใหญ่ห้ามรับรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศในวัยเด็ก แต่โตมาพวกเขาก็ต้องเข้าใจเรื่องเพศนี้อยู่ดีเพราะมันเป็นเรื่องของความอยู่รอด)
.
หากคุณย้อนกลับไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Oedipus complex ที่ผมเคยกล่าวถึงในบทความก่อนหน้านี้แล้ว (“Revisit Oedipal complex”) คุณอาจจะพอจับทางได้ว่าผมพยายามพูดถึงเรื่องอำนาจ (power) อีกครั้ง
.
.
.
การพยายามต่อสู้ของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็น “เยาวชน” ได้แสดงให้เห็นจุดยืนของพวกเขาว่าพวกเขาเปรียบเสมือนเด็กที่อยู่ใต้อำนาจของพ่อแม่มาโดยตลอด และในวันใดวันหนึ่งที่เด็กเหล่านี้เริ่มโตขึ้น พวกเขาก็ต้องเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ใหญ่ให้ได้มากที่สุด แต่กระบวนการของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่นั้นไม่ได้ง่ายดายราวกับว่ามีรูปแบบของผู้ใหญ่ที่ทุกคนจะต้องเป็นเหมือนกันอยู่แล้ว
ความแตกต่างของคนมากมายในสังคมทำให้พวกเขาพยายามสร้างภาพของผู้ใหญ่ที่พวกเขาเชื่อว่าดีกว่าขึ้นมาในรูปแบบของตัวเอง
(เด็กหลายคนที่พยายามจะไม่เป็นเหมือนพ่อแม่ของตัวเองในบางเรื่องเพราะพวกเขามองว่าพ่อแม่ทำผิดพลาด)
.
นอกเหนือจากการที่เด็กจะพยายามสร้างภาพการเป็นผู้ใหญ่ในแบบฉบับของตัวเองแล้ว พวกเขาก็ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ Oedipal อีกครั้ง เนื่องจากนี่เป็นการแสดงจุดยืนของเด็กที่พยายามพิสูจน์ว่าพวกเขาจะสามารถพึ่งพาตัวเองได้ราวกับลูกนกที่ต้องการจะออกจากรัง แต่ในขณะเดียวกันนั้นเอง การเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นผู้ใหญ่จะมีความยากเมื่อพ่อแม่ของเด็กไม่สามารถยอมให้ลูกออกจากอ้อมอกของตัวเองได้อย่างง่ายดาย ดังเช่นที่เราสามารถมองเห็นได้บ่อยๆ ว่า “พ่อแม่มักมองลูกของตนเองเป็นเด็กเสมอ” สิ่งนี้จะทำให้เด็กที่กำลังพยายามเป็นผู้ใหญ่ในแบบของตนเองเกิดความสับสน และวิตกกังวลในบางครั้ง
.
ยังไงก็ตาม การต่อสู้กันของเจเนอเรชั่นเช่นนี้ในครอบครัวถือเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่เกิดขึ้นได้ และไม่มีทางหายไปอย่างแน่นอน โดยสาเหตุที่ทำให้การต่อสู้กันเช่นนี้ไม่มีทางหายไปก็เป็นเพราะนี่เป็นการพูดถึงเรื่องการสละอำนาจของผู้ใหญ่
.
ในเรื่องราวของ Oedipus จะเห็นได้ว่า Oedipus ได้ถูกทำนายไว้ว่าจะเป็นผู้ที่ฆ่าพ่อของตนเองหรือก็คือราชา Laius ในส่วนนี้ทำให้เกิดการตีความไปที่ตัวเด็กว่ามีความปรารถนาในการเอาชนะพ่อของตนเองตั้งแต่กำเนิดเพื่อให้ได้มาซึ่งพลังอำนาจ
แต่หากเรามองที่เรื่องราวในมุมมองของผู้เป็นพ่อและแม่จะเห็นว่า ราชา Laius เลือกที่จะทิ้งลูกชายของตัวเองให้ตายเมื่อรู้ข่าวว่าลูกของตนเองจะมาแย่งชิงบัลลังก์ นี่เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าราชา Laius นั้นหวาดกลัวลูกชายของตนเองหรือ Oedipus ตั้งแต่เขาเป็นเด็กทารกซะด้วยซ้ำ และสะท้อนให้เห็นถึงภาพของพ่อแม่ที่หวาดกลัวการสูญเสียอำนาจการเป็นเจ้าชีวิตของลูกในวันใดวันหนึ่ง
(ท้ายที่สุด Oedipus ก็ฆ่าพ่อของตนเองสำเร็จ แต่หากเขาไม่ถูกทอดทิ้งตั้งแต่แรกคำทำนายนั้นจะเป็นจริงเช่นนี้หรือไม่? บางที ในอีกเส้นทางหนึ่งอาจเป็นเพียงการสละอำนาจให้กับลูกชายเพียงเท่านั้น)
.
.
.
Hoffman ได้เขียนบทความหนึ่งเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านเจเนอเรชั่นของพ่อและลูกชายที่คล้ายคลึงกับประเด็นที่ผมพูดถึงเช่นกัน (https://www.psychologytoday.com/.../fathers-and-sons-why...) โดย Hoffman ได้บอกเราว่า ในการต่อสู้ระหว่างเจเนอเรชั่นนี้ไม่สามารถที่จะทำให้หายไปได้ แต่สามารถบรรเทาความขัดแย้งได้เมื่อทั้งผู้ใหญ่และเด็กต้องยอมรับว่าทั้งสองฝ่ายต่างต้องการที่จะมีอำนาจของตนเอง และผู้ใหญ่ควรจะเข้าอกเข้าใจความพยายามของเด็กที่ต้องการได้มาซึ่งอำนาจของพวกเขา
.
เมื่อเราย้อนกลับไปที่การชุมนุมเมื่อไม่กี่วันที่ผ่าน เราจะเห็นได้ว่ามันมีความคล้ายคลึงกันกับสถานการณ์ Oedipus อยู่พอสมควร โดยที่กลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” เป็นภาพสะท้อนของเด็กที่กำลังพยายามพิสูจน์ตนเองเพื่อการเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาต่างต้องการพยายามส่งเสียงเพื่อให้ถูกมองเห็นราวกับเด็กที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งหรือไม่สนใจ
ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามกับพวกเขาอย่างรัฐบาล เปรียบเสมือนตัวแทนของพ่อแม่ที่มีอำนาจมากกว่าพวกเขา การลุกฮือขึ้นมาเพื่อส่งเสียงของพวกเขาจึงเป็นสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกับการที่เด็กพยายามส่งเสียงร้องให้ดังที่สุดเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการควบคุมสถานการณ์ และพยายามพึ่งพาตนเองเมื่อพวกเขารับรู้แล้วว่าพวกเขาไม่สามารถพึ่งพาพ่อแม่ของตนเองอีกต่อไปได้ โดยข้อเรียกร้องแรกของพวกเขาต้องการอย่างการ “ยุบสภา” จึงเทียบได้กับการที่ Oedipus พยายามฆ่าพ่อของตนเมื่อเขาถูกทอดทิ้งจากพ่อแม่ในก่อนหน้านี้
.
ยังไงก็ตาม ผมไม่คิดว่าสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นปัจจุบันจะสามารถเทียบได้กับสถานการณ์โอดิปุสได้ 100% แต่เทียบได้เพียงส่วนที่เกี่ยวข้องกับแง่มุมของสัญชาตญาณแห่งความตาย (Thanatos) หรือแรงขับเพื่อการทำลาย (destructive energy) เท่านั้น นั่นเพราะในสถานการณ์โอดิปุสที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นในครอบครัวซี่งมีความสัมพันธ์กับสัญชาตญาณแห่งความอยู่รอด (Eros) หรือแรงขับที่เกี่ยวเนื่องกับความรักความผูกพันรวมอยู่ด้วย (attachment energy)
.
การก้าวข้ามผ่านสถานการณ์ Oedipus โดยปกติจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีทั้งสองแง่มุมนี้รวมอยู่ด้วยกัน จึงทำให้เด็กที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่สามารถเกิดภาวะ “ambivalence” หรือ ความสองจิตสองใจ ได้
กล่าวคือ เด็กสามารถที่จะทั้งรักและเกลียดพ่อแม่ของตนเองได้ และนำไปสู่ความสามารถมีมุมมองที่มีต่อสิ่งต่างๆ ที่เป็นทั้งบวกและลบรวมอยู่ด้วยกันได้อย่างเหมาะสม เพราะฉะนั้นสิ่งที่ Hoffman กล่าวถึงจึงเกิดขึ้นได้เมื่อมีภาวะ ambivalence นี้เกิดขึ้น
.
แต่เมื่อย้อนกลับไปที่สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกอีกครั้ง จะพบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงแง่มุมของ attachment energy ได้ตั้งแต่แรก นั่นเพราะรัฐไม่สามารถเป็นพ่อแม่ของพวกเขาได้อย่างแท้จริง แต่เป็นเพียงจินตภาพบางอย่างที่ทำหน้าที่เหมือนพ่อแม่ของพวกเขาเท่านั้น และจินตภาพเหล่านั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้เช่นเดียวกับ God (พระเจ้า) ซึ่งจะมีหน้าตาหรือนิสัยอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่นิยามพระเจ้าของตน ดังนั้น ข้อเรียกร้องที่สามของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่ว่า “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” จึงเปรียบเสมือนการเปลี่ยนจิตภาพของสิ่งที่เหมือนพ่อแม่ของพวกเขาใหม่ให้ดีกว่าเดิม
.
.
.
ประเด็นสุดท้าย สิ่งที่ผมอยากกล่าวถึงจากการที่ผมมองว่าสิ่งนี้อาจเป็นเหมือน “สถานการณ์โอดิปุสเทียม” เพราะขาดซึ่ง attachment energy ก็คือ การพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมไม่สามารถเกิดภาวะ ambivalence ได้อีกต่อไป แต่กลับทุ่มเทแรงขับทั้งหมดไปกับความต้องการทำลายสิ่งที่มีอยู่
.
ก่อนอื่น เมื่อพิจารณาถึงคำถามที่ว่า รัฐ (ตัวแทนของพ่อแม่) ไม่สามารถทำให้ประชาชนเกิดภาวะ ambivalence หรือมี attachment energy กับรัฐได้เลยหรือไม่? ผมคิดว่าจริงๆ แล้วมันอาจเป็นไปได้เมื่อเราพิจารณากันว่ารัฐพยายามที่จะวางตัวอย่างไรต่อประชาชน
.
ในการพูดถึงภาวะ ambivalence ซึ่งเป็นความสองจิตสองใจระหว่างการมองเห็นถึงข้อดีและข้อเสียของสิ่งใดสิ่งหนึ่งในเวลาเดียวกัน เมื่อเรากลับไปเทียบกับสถานการณ์โอดิปุสแล้วจะพบว่า ในขณะที่เด็กเกิดความรู้สึกรักและเกลียดพ่อแม่ สิ่งที่ยากสำหรับการเป็นพ่อแม่คือการรองรับความเกลียดของเด็กหรือการถูกมองว่าตนเองอาจไม่ไใช่พ่อแม่ที่ดีตลอดเวลา การบรรเทาความขัดแย้งของสถานการณ์โอดิปุสไม่ได้ขึ้นกับความสามารถของเด็กเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นกับท่าทีของพ่อแม่ที่มีต่อความพยายามเอาชนะและความรู้สึกไม่พึงพอใจของลูกที่มีต่อตนเองด้วย
.
เมื่อพ่อแม่สามารถยอมรับการเป็นพ่อแม่ที่ไม่สมบูรณ์แบบของตนได้ และให้โอกาสลูกในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในแบบของพวกเขาเอง เด็กจึงจะสามารถเรียนรู้ที่จะอดทนต่อภาวะของความสองจิตสองใจได้ (ทั้งรักและเกลียดพ่อแม่ และรวมตนเองด้วย)
แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อเด็กไม่สามารถที่จะมีตัวแบบที่ยอมรับข้อเสียของตนเองได้ (ยอมรับการเป็นพ่อแม่ที่ไม่สมบูรณ์ที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย) เด็กก็จะเกิดภาวะ Splitting (การแยก) กล่าวคือ เด็กก็จะไม่สามารถมองภาพของวัตถุหรือบุคคลแบบองค์รวมได้ แต่จะเป็นการมองว่าสิ่งใดดีหรือไม่ดีอย่างสุดโต่ง
.
ยังไงก็ตาม การ Splitting ถือว่าเป็นกลไกการป้องกันตนเองทางจิตที่มีอยู่โดยพื้นฐานของมนุษย์ และมันสัมพันธ์กับเรื่องของการอยู่รอด การ split สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อมีความตึงเครียดหรือวิตกกังวลเกิดขึ้น และการป้องกันตนเองทางจิตแบบนี้มีส่วนช่วยให้เราสามารถแยกได้ว่าสิ่งใดดีหรือไม่ดีในเวลานั้นๆ เพื่อจะได้รับมือได้อย่างเหมาะสม
(Donald Carveth ได้เสนอว่าภาวะ splitting และ ambivalence จะมีการแกว่งไปมาได้ตลอดเวลา โดยเขาได้พูดถึงเรื่องนี้ในการอธิบายทฤษฎีของ Melanie Klein ในเรื่อง Paranoid-Schizoid position & Depressive position)
.
เมื่อเรากลับมาที่สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันที่พบว่า กลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องการจะ “ยุบสภา” และ “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พึงพอใจต่อรัฐบาลในปัจจุบันและต้องการมุ่งเน้นไปที่การทำลายมากกว่าการปรองดองถึงแม้จะบอกว่าเป็นการยื่นข้อเรียกร้องก็ตาม
.
แต่เมื่อเราพิจารณากันว่าทำไมสถานการณ์การชุมนุมจึงออกมาในลักษณะนี้ นอกเหนือจากการที่สิ่งนี้จะเป็นเพียงภาพสะท้อนของสถานการณ์โอดิปุสเทียมเพราะรัฐไม่ใช่พ่อแม่จริงๆ ของประชาชนแล้ว สิ่งที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกบอกเราในข้อเรียกร้องที่สองที่ว่า “หยุดคุกคามประชาชน” ก็หมายความว่า พวกเขารับรู้ได้ถึงการถูกอำนาจกดขี่มากเกินไปจนเทียบได้กับเด็กที่ถูกทารุณซึ่งไม่มีทางที่พวกเขาจะมองได้ว่าคนที่ทำร้ายพวกเขานั้นเป็นคนดีหรือมีส่วนที่ดีอยู่
.
ถึงอย่างนั้น ไม่ได้มีเพียงเด็กเท่านั้นที่จะเกิดภาวะ Splitting เพราะเมื่อเราย้อนกลับไปที่พ่อแม่ซึ่งไม่สามารถยอมรับว่าตนเองมีข้อเสียอย่่างไรได้แล้ว นั่นหมายถึ งการ Split ก็มีอยู่ในพ่อแม่ด้วยเช่นกัน (มองเห็นแต่ข้อดี และปฏิเสธข้อเสีย) ดังนั้น เมื่อเรากลับมายังสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันนี้แล้วคงเห็นได้ว่าภาวะ Splitting นี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และในสถานการณ์การชุมนุมครั้งล่าสุดก็เป็นสิ่งที่บอกเราว่า คนที่พยายามทำตัวเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบจนทำร้ายลูกของตนเองกำลังถูกเอาคืนเมื่อเด็กเหล่านี้กำลังโตขึ้น
.
เจษฎา กลิ่นพูล
K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา)\
.
Photo credit: https://www.pinterest.com/pin/468726273691346384/
Comments