ในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้าน ไม่ค่อยได้ออกไปพบกับผู้คน สิ่งที่ผมได้รับรู้จากคนรอบข้าง และในสังคมจะมีสภาวะความรู้สึกหนึ่งที่ได้มีการพูดถึงบ่อยคือ "ความเหงา" . การที่เราไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน (หรือแฟน) ได้บ่อยเท่าไหร่จะทำให้เกิด "ความเหงา" ขึ้น แต่ ความเหงา ที่เกิดขึ้นได้มีแค่นั้นเองเหรอ? ยังมีอะไรอีกบ้างที่อยู่ภายในสภาวะที่เกิดขึ้นที่ทำให้เกิดความรู้สึกเหงาขึ้นมา . Ornish ได้กล่าวว่ามนุษย์ทุกคนนั้นล้วนต้องการเป็นส่วนหนึ่งของอะไรซักอย่าง เราไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ด้วยตัวคนเดียวได้เลย . Danneel ได้เสริมอีกว่า เมื่อเราได้รับรู้ว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอะไร เราจะเริ่มรู้สึกถึงความเจ็บปวด ความโดดเดี่ยว และความเหงา . จากคำกล่าวเบื้องต้น อาจจะสรุปได้สั้น ๆ ว่า มนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม ควรเป็นส่วนหนึ่งของอะไรซักอย่าง ถ้าเราไม่ได้อยู่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมจะเกิดความรู้สึกเหงาขึ้นมา แต่ในขณะเดียวกัน ทำไมบางครั้งการที่เราก็มีปฏิสัมพันธ์ในสังคม อยู่ในกลุ่มเพื่อน อยู่ในกลุ่มคนรู้จัก หรือมีผู้คนมากมายรอบตัวเรา เราก็ยังคงสัมผัสได้ถึงความเหงา ความโดดเดี่ยวอยู่ . Miller ได้กล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องการจะรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม รู้สึกได้รับการดูแล ได้ดูแลคนอื่น ได้รับรู้ว่าการเป็นส่วนหนึ่งเกิดความใกล้ชิด ความเชื่อใจ ความคุ้นเคย และห่วงใยซึ่งกันและกัน . การศึกษาของ Perlman D. ได้กล่าวว่า ความเหงาคือการที่เราเริ่มรับรู้ถึงความรู้สึกของตัวเองว่าต้องการมีความสัมพันธ์กับสังคม แต่กลับไม่ได้ถูกตอบสนองในความต้องการนั้นทั้งในเชิงปริมาณ หรือโดยเฉพาะในด้านคุณภาพ รวมถึงรับรู้ถึงจุดยืนในสังคมของตนเองว่าไม่สามารถทำให้เกิดความสัมพันธ์ในสังคมในแบบที่ตนเองต้องการได้ ทำให้รู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว และขาดมิตรภาพ . Carl Rogers ได้เชื่อว่า เมื่อตัวตนที่แท้จริงของเขาได้แสดงออกไปสู่สังคมภายนอก และค้นพบว่าสังคมที่ได้พบกับตัวตนที่แท้จริงของเขานั้นไม่คู่ควรกับการปฏิสัมพันธ์กับในสังคมนั้น ทำให้สังคมเกิดการไม่ยอมรับในตัวตนที่แท้จริงของบุคคลนั้น ทำให้รู้สึกถึงความว่างเปล่า ในการที่จะแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา จึงทำให้เกิดความเหงาขึ้น . Mijuskovic กล่าวว่า ความรู้สึกเหงา เหมือนกับเราอยู่ในที่มืด ที่รู้สึกว่าเราโดดเดี่ยว และต้องคอยระวังตลอดเวลา และรับรู้ว่าไม่ว่าเราจะเดินไปในทิศทางไหน หรือไปที่ใด ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองก็ยังคงอยู่ในความมืดนั้น . จากที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ผมได้รับรู้ว่า ความเหงา นั้นไม่ใช่แค่การที่เราต้องอยู่คนเดียว หรือไม่มีการปฏิสัมพันธ์กับใครเลย แต่มันคือการที่ถึงแม้เราจะปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นแล้ว เราก็ยังคงรู้สึกว่า เรายังคงโดดเดี่ยว ไม่ได้รับรู้ถึงมิตรภาพความห่วงใย ความเชื่อใจ และไม่มั่นใจว่าตนเองจะสามารถแสดงตัวตนที่แท้จริงของตัวเองและถูกยอมรับได้ .
ความเหงาไม่ใช่แค่การที่อยู่คนเดียว แต่ยังเป็นการเราอยู่ตรงพื้นที่ตรงนั้น สังคมตรงนั้นแล้วรู้สึกโดดเดี่ยว รับรู้ว่าที่ตรงนั้นไม่ยอมรับเรา แต่ยังมีความรู้สึก ความคิดว่า ไม่มั่นใจเหมือนกันว่า บนโลกใบนี้จะมีที่ ๆ ของเราหรือเปล่า
. แต่ในความเหงานั้นมันคือสภาวะที่เกิดขึ้นได้โดยปกติ เพราะอย่างที่กล่าวมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ความเหงาทำให้เกิดแรงผลักดัน ทำให้เรายังคงออกไปหาสังคมใหม่ ๆ เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ . การเกิดความเหงาถึงแม้ว่าอาจจะรู้สึกโดดเดี่ยว และแน่นอนว่ามันทรมาน กับการที่เราไม่ได้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของอะไรเลย แต่มันก็ยังคงเป็นแรงผลักดันให้เราได้เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ได้ลองปรับตัว . ถึงแม้ว่าจะมีความกังวลไม่มั่นใจว่าตกลงพื้นที่ตรงไหนจะสามารถให้เราเป็นส่วนหนึ่งได้หรือไม่ จนเกิดความไม่กล้าที่จะแสดงออก หรือเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น . อย่าให้ ความเหงา กลายเป็นสิ่งที่นิยามในตัวตนของคุณ . เก้าอี้ตัว W วงศธรณ์ ทุมกิจจ์ .
Reference.
Ornish, D. (1999). Love and survival: the scientific basis for the healing power of intimacy. New York: HarperPerennial. Danneel, S., Maes, M., Vanhalst, J., Bijttebier, P., & Goossens, L. (2018). Developmental change in loneliness and attitudes toward aloneness in adolescence. Journal of Youth and Adolescence Miller, R. S. (2012). Intimate relationships (6th International ed.). New York: McGraw Hill. Perlman, D., & Peplau, L. A. (1981). Toward a social psychology of loneliness. Personal relationships, 3, 31-56. Rogers, C. R. (1961). The loneliness of contemporary man as seen in the “Case of Ellen West.”. Annals of Psychotherapy, 1, 2227. Mijuskovic, B. L. (2012). Loneliness in philosophy, psychology and literature. Bloomington, IN: iUniverse. Rokach, A., & Shaʻked, A. (2013). Together and lonely: loneliness in intimate relationships: causes and coping. New York: Nova Publishers.
Comments