(บทความต้นฉบับโดย Prof. Mark Solms)
Sigmund Freud ผู้คิดค้นทฤษฎีและแนวทางการบำบัดรักษาทางจิตที่ชื่อว่า “จิตวิเคราะห์” โดยลักษณะของจิตวิเคราะห์ที่ Freud คิดค้นขึ้นจะเป็นการทำความเข้าใจโครงสร้างหน้าตาของจิตใจมนุษย์ และความสัมพันธ์ของมันกับอาการป่วยหรือความทุกข์ทางจิตใจที่เกิดขึ้น และเขาได้นำเอาสิ่งที่เขาคิดค้นขึ้นนี้มาใช้ในการช่วยเหลือผู้คนจากปัญหาทางจิตใจต่างๆ
รูปแบบของจิตวิเคราะห์แบบดั้งเดิมนั้นก็เป็นลักษณะของการให้คนไข้หรือผู้รับบริการนอนลงบนโซฟา และบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง ซึ่งในขณะนั้นนักจิตวิเคราะห์ที่นั่งอยู่ด้านหลังก็จะคอยรับฟัง และนำเสนอสิ่งที่พวกเขาสรุปได้จากการตีความเรื่องราวของผู้รับบริการ (interpretation) เพื่อให้ผู้รับบริการเกิดความเข้าใจหรือตระหนักรู้ (insight) ในที่มาของปัญหาหรือรูปแบบพฤติกรรมของตนเอง ก่อนที่จะนำไปสู่การมองหาหนทางการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว
(อ่านเรื่องราวการคิดค้นจิตวิเคราะห์ของ Freud คร่าวๆ ได้ที่ https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=2698951610432210&id=2251738951820147)
แต่ในปัจจุบันนี้ การทำจิตวิเคราะห์แบบดั้งเดิมมีจำนวนลดน้อยลงไปบ้าง และมีการขยับขยายนำเอาจิตวิเคราะห์ของ Freud มาปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมหรือความถนัดของนักจิตบำบัดหรือนักจิตวิทยาแต่ละคน โดยในการบำบัดรักษาที่เปลี่ยนรูปแบบไปจะไม่ได้ให้ผู้รับบริการหรือคนไข้นอนลงบนโซฟา แต่ใช้การนั่งตรงข้ามกันเหมือนการพูดคุยปกติ ซึ่งมักจะเรียกรวมๆ การบำบัดรักษาหรือการปรึกษาแบบนี้ว่า Psychoanalytic/Psychodynamic psychotherapy ซึ่งจะมีความเข้มข้นของการบำบัดรักษาก็จะแตกต่างออกไปจากเดิมที่พบกันไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ เหลือเพียง 1-2 ครั้ง/สัปดาห์
.
ในวันนี้ผมอยากจะยกเอาบทความของ Prof. Mark Solms มาเล่าให้ฟังกันว่าให้เห็นภาพว่า ในมุมมองทางด้านประสาทวิทยานั้นจะตอบคำถามในประสิทธิภาพของการทำจิตวิเคราะห์ได้ยังไงบ้าง? (บทความต้นฉบับ: https://www.therapyroute.com/.../how-to-do-psychoanalysis...)
.
.
.
Prof. Mark Solms เป็นทั้งนักจิตวิเคราะห์และนักประสาทจิตวิทยา ก่อนหน้านี้เขาเป็นนักประสาทจิตวิทยามาก่อน และก็เทรนด้านจิตวิเคราะห์ในระหว่างที่ศึกษาปริญญาเอกด้านประสาทจิตวิทยาด้วย
.
ในบทความที่เขาเขียนชื่อว่า “HOW TO DO PSYCHOANALYSIS” ได้นำเสนอมุุมมองด้านประสาทจิตวิทยาที่ผนวกเข้ากับความเข้าใจด้านจิตวิเคราะห์ให้เราได้เห็นกันว่า “จิตใจของเราทำงานยังไง?” “จิตวิเคราะห์ได้ผลได้อย่างไร?” และ “เพราะอะไรจิตบำบัดหรือการปรึกษาเชิงจิตวิทยาถึงต้องใช้ระยะเวลานาน?”
.
ก่อนอื่นเขาได้บอกเราว่า จิตวิเคราะห์ (psychoanalysis) และประสาทวิทยา (neuroscience) ไม่สามารถเอามาแทนที่กันได้อย่างสมบูรณ์ เพราะทั้งสององค์ความรู้อยู่บนฐานของการสังเกตคนละมุมมองกัน แต่ยังไงก็ตามความรู้ทั้งสองมุมมองนี้กลับมีความสอดคล้องกันอยู่ในบางเรื่อง และเราสามารถเรียนรู้ในทั้งสองมุมมองนี้ได้
.
เขาได้ยกการศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องกันนี้มา 2 ข้อ
1. จิตสำนึก (consciousness) เป็นผลมาจากแกนกลางของก้านสมอง ซึ่งเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดการทำงานที่คล้ายกับ “id” ในมุมของ Freud ดังนั้น “id” จึงไม่ได้เป็นส่วนของจิตใต้สำนึก
(id หมายถึง ส่วนของจิตใจที่เกี่ยวข้องกับแรงขับตามสัญชาตญาณที่อยู่บนหลักแห่งความพึงใจ หรือ pleasure principle)
2. “ego” เป็นส่วนของแรงขับจากจิตใต้สำนึก และได้รับความสามารถในการเกิดสำนึกได้ก็เนื่องมาจากก้านสมอง “id” ดังนั้น “ego” ไม่ได้มีต้นกำเนิดมากจากจิตสำนึก
(ego หมายถึง ส่วนของจิตที่เป็นตัวกลางระหว่างจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก และมีหน้าที่ในการทดสอบความเป็นจริงกับความปรารถนาของ id รวมถึงการเกิดสำนึกรู้ในตัวตนหรือ sense of personal identity)
*เพิ่มเติมจากความเข้าใจของผม: ตามทฤษฎีของ Freud, ego เป็นส่วนที่เกิดมาภายหลังจาก id โดยมาจากแรงขับตามสัญชาตญาณเพื่อจัดระเบียบ id กับ reality และการทำงานของ ego ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในระดับของจิตใต้สำนึกเช่นเดียวกัน
.
.
.
Solms ได้อธิบายต่อจากการศึกษานี้ว่า จิตสำนึกถูกแสดงให้เห็นแล้วว่ามันมีรากฐานอยู่ที่การทำงานของอารมณ์ความรู้สึก แต่ถ้าหาก “id” นั้นเป็นส่วนของจิตสำนึกแล้ว จิตไร้สำนึก (unconscious) จะอยู่ที่ไหน?
.
การศึกษาทางประสาทวิทยาพบว่า ความทรงจำที่สัมพันธ์กับจิตใต้สำนึก/จิตไร้สำนึก (ความทรงจำที่ไม่ชัดเจน) จะอยู่ที่ subcortical ganglia บริเวณสมองส่วนหน้า และความทรงจำเหล่านี้จะนำไปสู่การโปรแกรมพฤติกรรมที่แสดงออก
(สมองส่วน ganglia มีหลายหน้าที่รวมกัน ทั้งการเคลื่อนไหวใต้อำนาจจิตใจ การเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมซ้ำๆ เป็นนิสัย การเคลื่อนไหวของตา การรู้คิด และการทำงานที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกด้วย โดยรวมแล้วจึงเหมือนเป็นสมองที่สัมพันธ์กับการเรียนรู้จนเกิดเป็นนิสัยโดยไม่รู้ตัว)
.
Solms เสนอว่า โปรแกรมพฤติกรรมที่พูดถึงเหล่านี้คือรูปแบบของการทำนายหรือคาดเดา ซึ่งเป็นการคาดเดาว่าทำอย่างไรจึงจะตอบสนองความต้องการจากแรงขับตามสัญชาตญาณต่างๆ ได้โดยใช้ความทรงจำที่เราเคยมีเป็นสิ่งที่ช่วยในการคาดเดาเหล่านี้
.
การคาดเดาเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติซึ่งนำเอาความทรงจำทั้งหลายมาผนวกเข้าด้วยกัน (consolidation) และศัตรูของการคาดเดาคือ “ความไม่แน่นอน” และ “ความล่าช้า”
(ผมคิดว่าในที่นี้หมายถึง ความไม่แน่นอนทำให้เราคาดเดาได้ยาก และความล่าช้าของการได้รับการตอบสนองทำให้การคาดเดาได้ยากขึ้น หรืออาจหมายถึงความไม่ตรงต่อเวลาของสิ่งที่คาดเดาก็ได้)
.
การคาดเดาที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัตินี้บางครั้งมันก็อาจจะถูกต้องหรือส่งผลดี แต่บางครั้งมันก็อาจจะผิดหรือไม่ส่งผลดี ซึ่งการคาดเดาแบบหลังนั้นสัมพันธ์กับ “การเก็บกด” (repressed) คือการคาดเดาที่สัมพันธ์กับวิธีการทำยังไงก็ได้ให้เกิดผลเสียน้อยที่สุดในแบบที่เด็กคนนึงจะคิดได้ในช่วงเวลาที่เจอปัญหาให้อารมณ์ความรู้สึกมันท่วมท้นไปหมด นั่นก็คือ การเก็บกด ไม่ให้เกิดการตอบสนองต่อความปรารถนาของตนเอง
.
ความทรงจำที่ไม่ชัดเจนจะไม่สามารถเข้ามาสู่จิตสำนึกได้ กล่าวคือ มันไม่สามารถถูกนำมาผนวกกันใหม่ (reconsolidated) กับความทรงจำที่ชัดเจนได้ เพราะเมื่อความทรงที่คลุมเครือแวบเข้ามา มันไม่ใช่การกู้ข้อมูลความทรงจำ แต่มันเป็นการทำให้ความทรงจำนั้นปรากฏในลักษณะของอารมณ์ความรู้สึกอีกครั้ง Solms จึงบอกว่า สิ่งที่เราเก็บกดไว้จะไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการจดจำ และแรงขับความปรารถนาของพวกเราจะเข้ามาสู่จิตสำนึกได้ก็เกี่ยวข้องกับระบบของอารมณ์ความรู้สึก (การคาดเดาที่ถูกต้องจะทำให้จัดระเรียบความรู้สึกกับความปรารถนาได้) ดังนั้น นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยจึงมาจากความรู้สึก เพราะพวกเขาทรมานจากความปรารถนาทางความรู้สึกที่ไม่ได้รับการตอบสนองหรือไม่ได้รับการตอนรับ
.
ถึงแม้ Freud จะบอกเคยพูดถึงเรื่องการกลับมาของสิ่งที่เก็บกด แต่สิ่งที่เก็บกดไว้มันไม่ได้กลับมา ความรู้สึกที่จัดการไม่ได้ต่างหากที่กลับมา และกลไกการป้องกันตัวเองขั้นทุติยภูมิก็จะถูกนำมาจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกเมื่อการเก็บกดนั้นล้มเหลว นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมอาการป่วยจึงสัมพันธ์กับกลไกป้องกันทางจิตที่ล้มเหลวด้วย
**เพิ่มเติม: กลไกป้องกันตัวเองที่ไม่เหมือนกับการเก็บกด เช่น การโยน (projection) การทำสิ่งที่ตรงข้ามกับความต้องการจริงหรือปากอย่างใจอย่าง (reaction formation) การแทนที่ (displacement) การแยกตัวออกจากอารมณ์ (isolation) เป็นต้น
.
.
การศึกษาทางประสาทวิทยาศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่าความปรารถนาตามแรงขับของเรามีมากกว่า 2 อย่าง และความล้มเหวในการตอบสนองแรงขับที่สัมพันธ์กับอารมณ์เหล่านี้ก็ม้กจะก่อให้เกิดพยาธิสภาพ ซึ่งแรงขับที่สัมพันธ์กับร่างกายอย่างการรักษาสมดุลภายของร่างกาย (homeostatic) และตอบสนองประสาทสัมผัส (senosory) นั้นง่ายที่จะควบคุม แต่แรงขับที่สัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึก (emotional drive needs) ซึ่งมักจะเกิดความขัดแย้งกันเองบ่อยๆ นี้ต้องอาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์อย่างมาก
***เพิ่มเติม: แรงขับตามสัฐชาตญาณจากทฤษฎีของ Freud ได้แบ่งประเภทคร่าวๆ ไว้ 2 อย่างคือ แรงขับแห่งชีวิตหรือแรงขับทางเพศ (Eros) และแรงขับแห่งความตายหรือการทำลายล้าง (Thanatos)
.
Solms เชื่อว่าการรักษาทางคลินิกจะมีประสิทธิภาพขึ้นถ้าเราทำงานกับความรู้สึกที่ยังไม่ถูกจัดระเบียบของผู้ป่วยเหมือนกับการทำงานของจิตวิเคราะห์ โดยตั้งต้นจากอารมณ์ความรู้สึกในจิตสำนึกอิงไปสู่ความปรารถนาทางอารมณ์ที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง ในเวลาต่อมาการทำสิ่งเหล่านี้ก็จะเอื้อให้สามารถระบุถึงการคาดเดาที่สัมพันธกับการเก็บกดของผู้ป่วยในตอนแรกได้ และทำให้ความปรารถนาทางความรู้สึกนั้นได้รับการตอบสนองหรือได้รับการต้อนรับในท้ายที่สุด
.
การคาดเดาที่สัมพันธกับการเก็บกดของผู้ป่วยจะสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์การถ่ายโอน" หรือ “transference" ซึ่งเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ และเราไม่สามารถจดจำมันได้ แต่มันก็จะเกิดขึ้นซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น
****เพิ่มเติม: transference คือ ปรากฏการณ์ที่ความปรารถนาหรืออารมณ์ความรู้สึกที่ตกค้างอยู่ของเราในระดับจิตใต้สำนึกถูกถ่ายโอน (transfer) ไปมายังประสบการณ์ในปัจจุบัน เช่น การถ่ายโอนความรู้สึกเก่าๆ ที่มีกับผู้เลี้ยงดูมายังนักจิตบำบัดหรือนักจิตวิทยา ซึ่งซึ่งเหล่านี้สามารถถูกนำมาตีความเพื่อมองเห็นรูปแบบพฤติกรรมของผู้รับบริการที่เกิดขึ้นซ้ำๆ โดยไม่รู้ตัวได้
.
การตีความ transference สามารถทำได้ใน 4 ขั้นตอน ได้แก่
(a) ‘คุณมองเห็นมั้ยว่าพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ ในลักษณะเดิม?’
(b) ‘คุณมองเห็นมั้ยว่ามันหมายถึงความปรารถนาเหล่านี้ที่ต้องการตอบสนองหรือได้รับการตอบรับ?’
(c) ‘คุณมองเห็นมั้ยว่าที่ทำอยู่มันไม่ได้ผล?’
(d) ‘คุณมองเห็นมั้ยว่านั่นเป็นเหตุผลที่คุณยังรู้สึกทุกข์ทรมานจากความรู้สึกเหล่านี้อยู่?’
การเกิดการตระหนักรู้และเข้าใจ (insight) เกี่ยวกับ transference จะทำให้ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการสร้างการคาดเดาที่ดีกว่าได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอันเดิมจะหายไป เพราะถึงแม้เราจะเกิดการตระหนักรู้ถึงมันได้แล้ว แต่มันก็ยังมีอิทธิพลต่อโปรแกรมพฤติกรรมของเราอยู่ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผู้ป่วยหรือผู้รับบริการสามารถกลับมาทำพฤติกรรมแบบเดิมได้อีก โดยเฉพาะในเวลาที่อยู่ภายใต้ความกดดัน
การตีความ transference จึงต้องถูกทำซ้ำๆ จนกว่าผู้ป่วยหรือผู้รับบริการจะสามารถทำมันได้ด้วยตัวเองเมื่อมันเกิดขึ้น (สังเกตและตั้งคำถามกับตัวเองได้) ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เรียกว่า “working through”
.
นอกจากนี้ ความรู้ด้านประสาทวิทยาที่สัมพันธ์กับการรู้คิด (cognitive) ก็ได้บอกเราอีกว่า การสร้างการคาดเดาโดยอัตโนมัติใหม่อันใหม่นั้นต้องใช้เวลานาน เพราะความทรงจำที่ไม่ชัดเจน (ตัวแรกเริ่มของเรื่องนี้ทั้งหมด) มันยากที่จะเรียนรู้และยากที่จะลืม เพราะง้น การทำจิตวิเคราะห์ จิตบำบัด หรือการปรึกษาเชิงจิตวิทยาต้องอาศัยการพบกันหลายๆ ครั้ง
.
.
.
ในท้ายที่สุดนี้ Solms ได้เสนอว่า บทความของเขาเพียงต้องการนำเสนอถึงการที่เรานำเอาทฤษฎีพื้นฐานของเรามาผนวกเข้ากับความรู้ทางประสาทวิทยาในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อจะได้พัฒนาองค์ความรู้ทางทฤษฎี และเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดรักษาตามการคิดวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาอยู่เรื่อยๆ
.
ความคิดเห็นส่วนตัวของผมสำหรับบทความนี้ถือเป็นบทความที่น่าสนใจ และผมเองก็เพิ่งจะเคยได้ยินชื่อของ Mark Solms เมื่อไม่นานมานี้จากในคลิปดีเบตเรื่อง “Is Psychoanalysis Relevant to Neuroscience?” (ลิ้งค์ https://www.youtube.com/watch?v=a2wyr0FnY7k&list=WL...) ซึ่งภายหลังจากการชมการดีเบตนั้นแล้ว ถึงแม้ว่าความรู้ทั้งสองมุมมองนี้จะมีความคาบเกี่ยวกันได้ แต่มันยังคงมีพื้นฐานอยู่ที่คนละมุมมองอย่างเช่นที่ Solms พูดถึงในบทความนี้ตอนแรกเริ่ม
.
ผมคิดว่าบทความนี้ถือว่าเข้าใจได้ยากในบางเรื่องจริงๆ และนั่นอาจเป็นเพราะผมไม่ได้เชี่ยวชาญในความรู้ทางประสาทวิทยาเท่าที่ควร การที่จะเข้าใจสิ่งที่ Solms พยายามสื่อจึงถือว่าเป็นเรื่องยากอยู่ ยังไงก็ตาม ผมยังไม่เคยได้ลองอ่านงานของ Solms ซะที ซึ่งคิดว่าถ้าได้อ่านแล้วอาจจะพอนำมาเล่าให้ฟังได้มากกว่านี้ หากใครอยากลองอ่านเพื่อทำความเข้าใจงานของเขาก่อนหน้าผมก็ลองหามาอ่านกันดูได้ในบทความวิจัยเชิงวิชาการที่ชื่อ “The Conscious Id”
.
เจษฎา กลิ่นพูล
K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา
.
Photo credit: https://termcoord.eu/.../dreaming-brain-terminology.../
Comentarios