top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนPsychologist Chair

จิตวิเคราะห์จากภาพยนตร์เรื่อง “Shang-Chi and The Legend of the Ten Rings”


.


ผมเพิ่งได้ดูหนังเรื่อง Shang-Chi และระหว่างที่ดูก็อดคิดไม่ได้ว่านี่คือหนังแสดงภาพการทำงานของจิตใจในเรื่องปมโอดิปัสอย่างมากผ่านตัวละครหลักอย่าง Shang-Chi ซึ่งในมุมองของผมพบว่าหนังเรื่องนี้ทำให้เราได้เห็นคอนเซปต์สำคัญๆ ของปมดังกล่าวในกลุ่มทฤษฎี Object-relation พอสมควร วันนี้ผมเลยจะขอมาเล่าให้ฟังกันซักหน่อย

.


พระเอกของเรา (Shang-Chi) เปรียบได้กับ ego ที่ดิ้นรนอยู่ในปมโอดิปัสอย่างที่สุด กล่าวคือ เขาคือตัวละครที่แสดงให้เราได้เห็นว่า ego มีการรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตอย่างไร และในขณะเดียวกัน ก็ยังรวมไปถึงการพัฒนาตัวตน (กระบวนการ identification) ของ ego ด้วย

.


Shang-Chi เติบโตมาในฐานะลูกชายของพ่อ (Wenwu) ที่เป็นหัวหน้ากลุ่มนักฆ่าขนาดใหญ่ ขณะเดียวกัน เขาก็มีแม่ (Jiang Li) ที่มาจากหมู่บ้านลึกลับ Ta Lo ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการเป็นหมู่บ้านที่มีพลังลึกลับซ่อนอยู่ แต่ภายหลังจากที่แม่ของเขาตาย พ่อของเขาที่ทนรับมือกับการสูญเสียภรรยาไม่ได้จนหันไปหมกมุ่นกับพลังอำนาจของแหวนทั้งสิบอีกครั้งจึงฝึกฝน Shang-Chi ให้กลายเป็นนักฆ่ามือดี

.


ภายหลังการตายของแม่ Shang-Chi ทำให้เราเห็นการทำงานของ ego ที่ split (แยก) คอนเซปเรื่องความดี-ชั่วออกจากกันอย่างสุดโต่ง นี่ไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติแต่เป็นกลไกการป้องกันตนเองทางจิต (defense mechanism) ของ ego ในรูปแบบหนึ่งที่มักเกิดขึ้นโดยเฉพาะกับเด็กหรือคนที่เผชิญความคับข้องใจทางจิตต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น หนังเรื่องนี้ยังตั้งใจให้เราเห็นกระบวนการดังกล่าวในใจของเราด้วย โดยการแสดงให้เห็นภาพที่ชัดเจนระหว่างคนดี (ประชานในหมู่บ้าน Ta Lo) และความชั่ว (กลุ่ม Ten Rings) หรือแม้กระทั่งภาพของ Wenwu ในฐานะตัวร้าย และ Jiang Li ในฐานะแม่ผู้เสียสละ (ถึงขนาดว่าประโยคที่ Jiang Nan บอกกับ Shang-Chi ในตอนฝึกวิชาด้วยกันยังเป็นการบอกให้ Shang-Chi ยอมรับส่วนผสมของความดีและความชั่วในตัวเองเลย – หนังเรื่องนี้ทำให้ผมคิดภาพไม่ไปไกลกว่าสัญลักษณ์หยิน-หยางเลยแม้แต่น้อย)

.


ยังไงก็ตาม หนังเรื่องนี้ไม่ได้ใจร้ายขนาดนั้น เพราะหนังทำให้เราได้เห็นภาพของ Wenwu ในหลากหลายแง่มุมมากกว่าจะรู้สึกเกลียดหรือโกรธแค้นเขาเท่ากับ Shang-Chi รู้สึกเกลียดพ่อของตัวเอง เราจึงได้เห็นภาพของ Wenwu เป็นตัวละครเทาๆ แต่นั่นไม่ใช่ในมุมมองของ Shang-Chi เพราะในมุมมองและประสบการณ์ของเขา พ่อคือคนที่มีส่วนรับผิดชอบในฐานะคนที่ทำให้แม่ของเขาถูกฆ่า ขณะเดียวกันก็เป็นคนที่ทำให้เขาต้องเผชิญความทุกข์ทรมานจากการถูกฝึกฝนให้กลายเป็นนักฆ่าตั้งแต่เด็กอย่างไม่เต็มใจ แต่ถึงอย่างนั้น ความโกรธแค้นพ่อของ Shang-Chi ไม่สามารถถูกแสดงออกมาได้อย่างโจ่งครึ่ม เพราะเขาเองก็รู้สึกรักพ่อไม่ต่างกันกับที่รู้สึกรักแม่ (ในตอนท้ายของเรื่องเราจึงได้เห็นความรู้สึกของเด็กคนหนึ่งที่ปรารถนาความรักจากพ่อหรือให้พ่อปลอบประโลมเขาในวันที่เสียแม่ไปมากกว่าความแข็งแกร่งหรือการแก้แค้น) ขณะเดียวกัน Shang-Chi ก็รู้ตัวดีว่าไม่สามารถจะต่อกรกับพ่อของตัวเองได้ ซึ่งการได้เห็นภาพพ่อของเขาฆ่าคนต่อหน้าเป็นการตอกย้ำมากขึ้นไปอีกว่าพ่อของเขาน่ากลัวเพียงใด ดังนั้น เขาจึงมีทั้งความรู้สึกรัก-เกลียด และหวาดกลัวพ่อของตนไปพร้อมกัน

.


ผมคิดว่าคนทั่วๆ ไปคงทำสิ่งที่ไม่ต่างกันจาก Shang-Chi มากนักภายใต้สภาวะอารมณ์ที่ขัดแย้งกันมากขนาดนี้ Shang-Chi ตัดสินใจที่จะหนีไปจากพ่อของเขาพร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อของตนเองเป็น Shaun เพื่อทิ้งอดีตของตนเองไว้ด้านหลัง ซึ่งนี่ทำให้เราเห็นกลไกป้องกันตัวเองของ ego อีกครั้งด้วยการหลีกหนี (avoidance) และการปฏิเสธตัวตนอีกด้านหนึ่งของตน

.


มาถึงจุดนี้ สาเหตุที่ผมบอกว่า Shang-Chi คือตัวแทนของ ego ในใจของเรา นั่นเพราะการที่เราได้มองโลกผ่านตัวละครนี้ทำให้เราเห็นความเป็นมาในการประกอบสร้างตัวตนของตัวละครนี้มากกว่าตัวอื่นๆ และเห็นว่า Shang-Chi มีปฏิสัมพันธ์กับตัวละครอื่น (ซึ่งเป็นตัวแทนของ Object) อย่างไรบ้าง คล้ายกับการที่เราได้เห็นหน้าที่หลักของ ego คือการรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาปะทะไม่ว่าจะทั้งจากภายใน (internal conflict) หรือภายนอก (external world)

.


ผมได้ตัดสินใจวาดภาพที่แสดงบทบาทของส่วนต่างๆ ทางจิตใจผ่านตัวละครในเรื่องนี้ ซึ่งเราจะเห็นได้ตั้งแต่ในหนังแล้วว่า การที่หนังเรื่องนี้เล่าผ่านมุมมองของ Shang-Chi (ego) ทำให้เราเห็นว่าแม่ของเขาหรือ Jiang Li กลายเป็นตัวละครที่มีมิติเดียวขึ้นมา นั่นคือตัวแทนของ “คนดี” ที่ทำให้เราต้องแคลงใจกันนิดนึงว่า “ทำไมแม่ของพระเอกมันช่างเป็นคนดีขนาดนี้?”… แต่นั่นแหละครับ นี่คือหนังที่เล่าผ่านมุมมองของ Shang-Chi เป็นหลัก และย้อนกลับไปที่ผมบอกข้างต้นว่า นี่คือหนังที่พูดถึงเรื่องความดี-ชั่วอย่างสุดโต่งราวกับการมองโลกในมุมมองแบบขาว-ดำ และด้วยเหตุนี้เอง Jiang Li จึงกลายเป็นตัวแทนของ Good Object ไปโดยปริยาย (ในขณะที่ Wenwu คือ Bad Object สำหรับ Shang-Chi ซึ่งเราในฐานะคนดูจะรู้สึกสองจิตสองใจเพราะหนังตั้งใจให้เราเห็นตัวละคร Wenwu เป็นตัวละครเทาๆ มากกว่า)

.


หากเรามองในมุมมองแบบ Freud ขึ้นมาหน่อย การมีความสัมพันธ์ระหว่าง Shang-Chi กับพ่อแม่แบบนี้แหละที่ทำให้เห็นการพัฒนา superego ที่สร้างปัญหาตามมาในบางครั้ง นั่นเพราะ Wenwu (Bad Object) ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ superego ของ Shang-Chi ที่เรียกว่า conscience ซึ่งมีหน้าที่เดียวคือการลงโทษตัว Shang-Chi (ego) ในขณะเดียวกัน การ splitting ของ ego จนเห็นแม่ของเขาในบทบาทเดียวคือแม่ผู้แสนดีก็ทำให้ Shang-Chi พัฒนาอีกส่วนหนึ่งของ superego ที่เรียกว่า ego-ideal อย่างสุดโต่งขึ้นมา กล่าวคือ Shang-Chi ที่มองเห็นแม่ในฐานะ Good Object ก็อยากที่จะเป็นแบบแม่ของตนเองด้วยเพราะแม่ของเขาคืออุดมคติของความดีสำหรับ Shang-Chi

.


แต่กระบวนการพัฒนาตัวตนของ ego ไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยพื้นฐานแล้ว ego ไม่ได้มีความสามารถมากพอจะแยกแยะระหว่างความดีและความชั่วอย่างสุดโต่ง หน้าที่ของมันคือการดิ้นรนเอาตัวรอดไม่ใช่การมองหาโลกในอุดมคติ ดังนั้น ego จึงมีกระบวนการที่เรียกว่า identification หรือการเลียนแบบเกิดขึ้นในระดับจิตไร้สำนึก นี่จึงเหมือนกับที่ Jiang Nan บอกกับ Shang-Chi ว่าเขามีส่วนผสมของทั้งความดีและความชั่ว และจงยอมรับมันซะ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ ego จะรู้ดีเพียงใดว่าตัวมันเองมีส่วนผสมของทั้งสอง แต่การที่มันยังคง split ระหว่างความดี-ชั่วออกจากกันอย่างสุดโต่งเช่นนี้ จึงทำให้ ego เกิดความขัดแย้งในตัวมันเอง และสิ่งที่ตามมาก็คือความอึดอัด คับข้องใจ หรือ anxiety ที่มากล้น

.


เมื่อเรามองด้วยทฤษฎีของ Klein ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Good/Bad Object กับ Good/Bad Self เราจะเห็นภาพชัดขึ้นว่าทำไมมันจึงยากที่จะยอมรับตัวตนทั้งสองด้านนี้ สาเหตุก็เพราะจิตไร้สำนึกของเรานั้นแปลกประหลาด มันยังคงพยายามที่จะ split หรือแยกระหว่างความดีและชั่วออกจากกันอยู่เสมอเพื่อเอาตัวรอด ซึ่งสิ่งที่ทำให้เราแยกความชั่วออกจากความดีได้นั่นคือการมองไปยังผลกระทบที่ตามมาหากสิ่งนั้นมีอยู่ พูดให้ง่ายก็คือ ความชั่วคือสิ่งที่ทำให้เราหรือคนอื่นๆ เจ็บปวด ดังนั้น เมื่อ Shang-Chi มองว่าพ่อคือ Bad Object เขาจึงไม่สามารถทนต่อการมีส่วนหนึ่งของพ่อในตัวเองได้ ซึ่งเราสามารถเรียกมันได้ว่า Bad Self ที่จะทำลาย Good self และ Good Object ที่มีอยู่ (นี่จึงเป็นเหตุผลที่ Shang-Chi พยายามอย่างมากที่จะหลีกหนีจากพ่อและไม่อยากยอมรับตัวตนในอดีตที่คล้ายกับพ่อของตน นั่นเพราะเขาอยากที่จะปกป้องแม่ในใจของตนเองไว้ให้ได้มากที่สุด - เราสามารถเห็นได้จากฉากหนึ่งที่ Shang-Chi คุยกับน้องสาวว่าเขาไม่ได้ยินเสียงหรือแทบจะลืมแม่ไปแล้วเมื่อถูกฝึกให้เป็นนักฆ่าแบบเดียวกับพ่อมากขึ้นเรื่อยๆ และนั่นก็กลายเป็นอีกแรงจูงใจลึกให้เขาต้องการปฏิเสธพ่อของตนมากๆ)

.


นอกจากนี้ Shang-Chi ไม่ได้หนีจากพ่อของตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่เขายังหนีจากน้องสาวของตัวเอง (Xialing) อีกด้วย มันคล้ายกับความไม่ตั้งใจแต่ก็อาจเป็นความตั้งใจลึกๆ เช่นกัน เพราะเขาไม่คิดจะติดต่อกลับหาเธออีกเลยหลังจากนั้น บางที การที่เขายังอยู่ใกล้ Xialing อาจทำให้เขาไม่สามารถหนีออกจากสถานการณ์ที่น่าอึดอัดใจในอดีตได้ นั่นจึงกลายเป็นเหตุผลในเขาเลือกจะหนีออกจากเธอเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น การหลีกหนีจากน้องสาวของตัวเองที่มีประสบการณ์แบบเดียวกันเช่นนี้ ก็ยิ่งทำให้เราเห็นว่าตัวตนของ Shang-Chi มีการ split ในตัวมันเองออกจากกันแบบสุดโต่งอีกด้วย โดยในทฤษฎีของ Freud กล่าวว่า ego ประกอบไปด้วย 2 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ Observing ego และ Experiencing ego ซึ่ง Shang-Chi ก็มีทั้ง 2 ส่วนนี้ประกอบกัน เพียงแต่ความสัมพันธ์กับน้องสาวเขาอาจไม่ช่วยให้เขาเกิดการพัฒนา Observing ego หรือ ego ที่ทำหน้าที่มองสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างเป็นกลางได้ แต่กลับยิ่งทำให้ Experiencing ego หรือตัวตนที่สัมพันธ์กับเรื่องราวทั้งหมดเข้มแข็งขึ้น

.


ในการทำจิตวิเคราะห์แบบ Freud บอกไว้ว่า เราต้องช่วยให้ผู้ป่วยพัฒนา ego ของตนให้เข้มแข็งขึ้นเพื่อเป็นอิสระจาก superego ที่ทำร้ายตนให้มากที่สุด นั่นหมายความว่าเราต้องเน้นไปที่การพัฒนา Observing ego พร้อมๆ กับ Experiencing ego ด้วยการดึงสิ่งต่างๆ ในจิตไร้สำนึกออกมาให้ ego มองเห็นไปพร้อมกัน

.


ยังไงก็ตาม ผมคิดว่า ego อาจไม่ได้มีความสามารถในการแยกตัวมันเองออกจากกันได้มากขนาดนั้น เช่นเดียวกับที่เราเห็นว่า Shang-Chi สามารถเล่าเรื่องราวของตัวเองได้เป็นฉากๆ ว่าตนถูกฝึก (ทำร้าย) จากพ่อมายังไงบ้าง แต่เขาก็ไม่สามารถมองเห็นภาพของ Wenwu ที่เหมือนกับที่คนดูเห็นได้ ดังนั้น หากเรามองโลกผ่านมุมมองของ ego เพียงอย่างเดียวเราก็อาจมองเห็นประสบการณ์ต่างๆ รอบตัวไม่ต่างจาก Shang-Chi มากนัก

.


ในทางตรงข้าม ผมกลับคิดว่า Katy คือตัวแปรสำคัญของหนังเรื่องนี้ และเป็นตัวแปรสำคัญในการที่เราจะมองดูการทำงานของ ego ด้วย เพราะหาก Katy เปรียบได้กับตัวแทนของคนดู การดูหนังเรื่องนี้จึงเสมือนว่าเรากำลังมองดู ego (Shang-Chi) ที่กำลังดิ้นรนในโลกของ Phantasy

(คำว่า Phantasy ที่สะกดด้วยตัว Ph หมายถึงจิตไร้สำนึกในทฤษฎีของ Melanie Klein ในขณะที่ Fantasy หมายถึงการเพ้อฝันหรือใช้จิตนาการในระดับจิตสำนึก ซึ่งหนังเรื่อง Shang-Chi ทำให้เราเห็นการเปลี่ยนผ่านจาก Phantasy ไปสู่ Fantasy ได้ตอนท้าย)

.


จริงอยู่ว่า Katy เป็นตัวละครหนึ่งในเรื่องนี้ที่เราอาจพบว่าเธอคงไม่ได้มองเห็นเรื่องราวทั้งหมดแบบเดียวกับคนดู แต่ความไม่รู้ (เกี่ยวกับเรื่องของ Shang-Chi และครอบครัว) ของเธอทำให้การเปิดรับประสบการณ์ตรงหน้าแทบไม่ต่างอะไรจากคนดูมากนัก ในเวลาที่เราได้เห็นหมู่บ้าน Ta Lo เป็นครั้งแรกด้วยความรู้สึกตื่นเต้น ผมคิดว่า Katy เองคงรู้สึกไม่ต่างกัน

.


ยิ่งไปกว่านั้น ในฉากสุดท้ายของเรื่องที่มังกร The Great Protector ต่อสู้กับปีศาจ The Dweller-in-Darkness โดยมี Shang-Chi กับ Xialing ดึงรั้งกันอยู่ระหว่างกลาง นั่นทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะมองเห็นภาพของความดีและความชั่วที่ต่อสู้กันอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด โดยความชั่ว (Bad) นั้นกำลังจะเอาชนะความดี (Good) ได้ เพราะ ego (Shang-Chi) กำลังอ่อนกำลังไปกับการปกป้องตัวมันเองและสิ่งที่สัมพันธ์กับตัวมัน จนกระทั่ง Katy ผู้อยู่วงนอกและเห็นสถานการณ์ทั้งหมดตัดสินใจยิงธนูใส่ความชั่วเพื่อปกป้องความดีไว้แม้จะไม่ได้มีความมั่นใจนักว่าตนจะกลายเป็นผู้ปกป้องหรือผู้ทำลาย (อย่าลืมว่า Katy เพิ่งฝึกยิงธนูได้ไม่นาน เธอคงไม่ได้มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์แน่ว่าเธอจะช่วยทุกคนไว้ได้) ดังนั้นสำหรับผมเองจึงมองว่า Katy คือตัวแปรสำคัญของการแก้ไขปัญหาทั้งหมดของเรื่อง ตั้งแต่การเป็นคนที่อยู่ข้างๆ Shang-Chi ไปจนถึงช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจแก้ไขสถานการณ์

.


หลายครั้งเราอาจพบว่าตัวละครอย่าง Katy ไม่ได้อยู่ห่างไปไกลจากตัวเรามากนัก และไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นคนนอกหรือคนอื่นไกล แต่เราอาจพบ Katy ได้ในตัวของเราเอง โดย Katy ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของสิ่งที่เรียกว่า Subject ในทฤษฎีของ Lacan ซึ่งเป็นตัวตนในคนละส่วนกับ ego เนื่องจาก ego เป็นการพูดถึงตัวตนที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ต่างๆ หลอมรวมกันขึ้นมาคล้ายกับมัน “ถูกสร้าง” ขึ้นมาจากประสบการณ์ทั้งหมดมากกว่าจะเป็นอิสระในตัวของมันเอง (นี่จึงเป็นสิ่งที่สนับสนุนอีกว่าทำไมผมจึงมองว่า Shang-Chi คือตัวแทนของ ego เพราะเราจะได้เห็นว่าเรื่องราวทั้งหมดคือการพูดถึงความเป็นมาของ Shang-Chi ที่เกิดมาจากสภาพแวดล้อมที่คอยหล่อหลอม)

.


กลับกัน Katy คือส่วนของตัวตนที่เป็นอิสระจากเรื่องราวมากกว่า และมีโอกาสที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเรื่องราวเหล่านี้ได้มากกว่าด้วยพลังแห่งความสร้างสรรค์ของเธอ (การเอาชนะคู่ต่อสู้ด้วยการร้องเพลงเพื่อทำให้ศัตรูอึ้งบอกเราได้ถึงทักษะนี้) Katy จึงกลายเป็นตัวตนที่เราสามารถพบได้เมื่อเราถอยห่างออกมาจาก ego เพื่อมองเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในมุมมองแบบคนนอกหรือบุคคลที่สาม เพราะงั้นเมื่อเราดูหนังเรื่องนี้เราจึงพบว่าจิตใจของเรามีการสลับไปมาระหว่างการได้มองในมุมมองแบบ Shang-Chi (ego) และ Katy (subject)

.


นักปรัชญาที่ชื่อ George Herbert Mead เคยได้เสนอคอนเซปต์เกี่ยวกับตัวตน (self) ไว้ด้วยเช่นกันในทำนองว่า เมื่อเราพูดถึงตัวตนหรือ Self มันประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ “I” และ “me” โดยถึงแม้ว่าทั้งสองส่วนนี้จะมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมตลอดเวลาด้วยกันทั้งคู่ แต่ ‘me’ คือตัวตนที่ถูกสร้างขึ้นจากสภาพแวดล้อมและคาดเดา (หรือรู้จัก) ได้ ในขณะที่ ‘I’ เป็นส่วนที่มีความคลุมเครือมากกว่า คาดเดาไม่ได้ และตอบสนองไปตามแต่ละสถานการณ์อย่างเป็นธรรมชาติ ยิ่งไปกว่านั้น นักจิตวิเคราะห์ Danold Carveth ที่นำแนวคิดนี้มากล่าวอีกครั้งยังได้บอกด้วยว่า ‘I’ ยังเป็นสิ่งที่คอยสอดส่อง ‘me’ คล้ายกับเวลาที่เรามองดูภาพถ่ายที่ตากล้อง (I) ไม่ได้อยู่ในภาพ แต่เราก็รู้ได้ว่ามันมีอยู่ตรงนั้น ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ก็เหมือนกับที่เราพูดถึง subject และ ego


(ในภาษาไทยของเราคงยากที่จะเข้าใจแนวคิดแบบนี้ซักหน่อย เพราะคำว่า “ฉัน” ในภาษาไทยสามารถใช้ได้ทั้งในฐานะประธานและกรรม)

.


ยังไงก็ตาม ผมคงไม่สามารถยกความดีความชอบให้กับ Katy ได้ทั้งหมด เพราะมีตัวละครอย่าง Jiang Nan ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยฝึกฝน Shang-Chi ด้วย ซึ่งทำให้เราได้เห็นว่าท้ายที่สุดแล้ว ego (Shang-Chi) ก็กลายเป็นคนที่เอาชนะอุปสรรคทั้งหมดด้วยตัวเองในตอนจบ ทั้งนี้ ผมยังคงอดไม่ได้ที่จะต้องบอกว่านี่คือหนังที่ทำให้เราเห็นการพัฒนาของ ego ในการดิ้นรนอยู่ในโลกของ Phantasy และสุดท้ายแล้วผลสำเร็จก็เกิดขึ้นเมื่อ Shang-Chi ได้พบกับ Transitional Area และ Good-enough mother ตามทฤษฎีของ Winnicott

.


คงเพราะเรื่องราวของ Shang-Chi เป็นหนังซุปเปอร์ฮีโร่ เราจึงไม่จำเป็นต้องมองหาเหตุผลที่โลกนี้จะมีมังกรโล่นแล่นอยู่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นจริงในจิตใจของเรา เพียงแต่ว่าการอยู่ในหนังเรื่องนี้เราไม่ต้องมานั่งตีความว่ามันคือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

.


การปรากฏขึ้นของหมู่บ้าน Ta Lo ที่เคยเป็นเพียงนิทานวัยเด็กของ Shang-Chi เปรียบเสมือนกับ Fantasy ที่กลายเป็นจริง และสิ่งที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านนั้นก็กลายเป็นการแก้ปัญหาทุกอย่าง โดยเริ่มจากการที่ความปรารถนาลึกๆ ของ Shang-Chi ที่อยากจะให้พ่อของตนตายกลายเป็นความจริง แต่การสมปรารถนาเหล่านี้ก็เหมือนกับการสมปรารถนาอื่นๆ นั่นคือการตอบสนองความพึงใจ (pleasure) ไม่เคยทำให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ใจ (frustration) ดังเช่นที่ ego ที่บิดเบือนในจิตไร้สำนึกของเราคิด นั่นเพราะการเผชิญหน้ากับโลกความเป็นจริง (external world) ทำให้เราต้องแบกรับความรับผิดชอบหรือผลที่ตามมาทั้งด้านบวกและลบ ในขณะที่การตอบสนองความพึงใจในจิตไร้สำนึกของเรากลับคิดแต่เพียงว่าอยากให้โลกความจริงเป็นไปอย่างที่เราคิด แต่ไม่เคยต้องรับผิดชอบการตัดสินใจของตัวมันเอง ดังนั้น ในฉากที่ Wenwu ตายลงต่อหน้าต่อตา Shang-Chi สิ่งที่เขานึกถึงขึ้นมาจึงเป็นภาพของพ่อในอดีตที่ดูแลเขา และนั่นคือการเผชิญกับความเจ็บปวดของการสูญเสีย (loss) ที่เขาไม่เคยคาดคิดมาก่อน

.


ยังไงก็ตาม การสูญเสียพ่อของ Shang-Chi แทบไม่ต้องใช้เวลาทำใจมากนัก เพราะวิญญาณของ Wenwu ถูกสูบเข้าไปใน The Dweller-in-Darkness ในทันที จากนั้นผมจึงอดคิดไม่ได้ว่าภาพที่มังกรทั้งสองตัวสู้กันคือพ่อและแม่ในจิตไร้สำนึกของ Shang-Chi ต่อสู้กันเอง... นั่นแหละ ผมเลยมองว่าในฉากสุดท้ายของการต่อสู้คือ Transitional area หรือพื้นที่ที่ทำให้ Shang-Chi ได้นำเอาสิ่งที่อยู่ในจิตไร้สำนึก (Phantasy) ของตนออกมาในโลกแห่งความจริงคล้ายการเล่นของเล่นสำหรับเด็กในกระบวนการ play therapy


(ในโลกความจริงเราคงอธิบายกระบวนการนี้ว่ามันมีการเปลี่ยนผ่านใน 3 คือ Phantasy (unconscious) > Fantasy (conscious) > Reality (external world) แต่สำหรับหนังเรื่องนี้ Fantasy และ Reality คือสิ่งเดียวกัน)

.


ยิ่งไปกว่านั้น Shang-Chi คงไม่สามารถเข้าถึง Transitional area ได้หากขาดปัจจัยอื่นๆ โดยเฉพาะการมี Good-enough mother ซึ่งในเรื่องนี้คงเทียบได้กับ Jiang Nan และคนในหมู่บ้าน Ta Lo รวมถึง Wenwu ที่ตัดสินใจเสียสละตนเองเพื่อลูกในท้ายที่สุด (เราต้องเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า Good-enough เพราะมันยากเกินกว่าจะนิยามคำว่า ‘ดีพอ’ และเรารู้เพียงว่าการเป็น good-enough mother คือการให้อิสระกับเด็กได้วิ่งเล่นหรือตัดสินใจด้วยตนเองพอๆ กับที่พยายามควบคุมพวกเขา เช่น คนในหมู่บ้าน Ta Lo ที่ให้อิสระกับการฝึกฝนวิชาพอๆ กับที่ต้องการจะห้ามไม่ให้คนบางคนจับอาวุธเมื่อยังไม่พร้อม)

.


ในท้ายสุด ผมแทบจะสรุปได้ว่า Shang-Chi สามารถก้าวข้ามผ่านปมโอดิปัสได้เพราะเขาได้ฆ่าพ่อของตัวเองในทางอ้อม (The Dweller-in-Darkness) และรักษาแม่ของตัวเอง (The Great Protector) เอาไว้ได้

.


เจษฎา กลิ่นพูล

เพจ K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา

.

Ref แนวคิดของ G. H. Mead >> https://youtu.be/fIuFyq-lpXM

ดู 50 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Commenti


bottom of page