บทความต้นฉบับโดย Leon Garber, LMHC .
“ชีวิตของผมถูกขัดจังหวะด้วยช่วงเวลาที่ผมล้มเหลวเสมอ และเป็นไปได้ด้วยว่ามันมีอยู่มากกว่าคนทั่วๆ ไป อคติลบๆ ของผม เป็นผลพวงจากการผสมผสานกันอย่างลงตัวของการมีโครงสร้างบุคลิกภาพที่เซนซิทีฟอย่างมาก ซึ่งผมก็พยายามอย่างมากที่จะเก็บซ่อนมันไว้ และมันยังประกอบไปด้วยความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และส่วนหนึ่งก็จากสภาพแวดล้อมในวัยเด็กที่ผ่านมาของผมด้วย
ผมมักสงสัยอยู่บ่อยๆ ว่า ‘คนอื่นจะชอบผมรึเปล่า?’ ‘ผมดูน่าดึงดูดบ้างมั้ย?’ และ ‘อะไรคือสิ่งที่ผมควรมอบให้กับโลกใบนี้?’ ถ้าหากผมตอบคำถามอย่างซื่อสัตย์มากพอ ผมก็มักเชื่อเสมอว่า ‘พวกเขาไม่ได้ชอบผม’ ‘ผมไม่ได้น่าดึงดูด’ และ ‘ไม่มีอะไรเลยที่ผมจะมอบให้ได้’
สายป่านของความพ่ายแพ้ การขาดแคลนความสำเร็จทางวิชาชีพหรือกระทั่งด้านมนุษยสัมพันธ์ สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้ผมรู้สึกร่วงหล่นและอึดอัดแทบหายใจไม่ออก ซึ่งนั่นก็คล้ายกับสิ่งที่ผู้รับบริการของผมหลายคนต้องเผชิญ ผมได้แต่ย้ำคิดว่า ‘เมื่อไรหรือควรจะทำอย่างไร ความรู้สึกแย่ๆ เหล่านี้จะจบลง’”
.
เนื้อหาข้างต้น เป็นสิ่งที่ Leon Garber เขียนในบทความของเขาชื่อ “Psychotherapy Isn’t a Cure, But It Can Be Helpful in Multiple Ways” ซึ่งสำหรับแค่ชื่อของบทความแล้ว ก็ถือได้ว่าเป็นมุมมองที่น่าสนใจอย่างมาก
เนื้อหาที่เขาเขียนข้างต้นเป็นส่วนแรกในบทความของเขา หากอ่านผ่านๆ ก็คงทำให้รู้สึกงงว่าเขาต้องการสื่อสารอะไรกันแน่ และมันเกี่ยวข้องกับชื่อของบทความอย่างไร
แต่หากเราลองอ่านอย่างปราณี และอ่านจนจบทั้งบทความของเขาแล้ว ผมคิดว่าคงพอสรุปได้ว่า Leon Garber พยายามนำเสนอมุมมองที่ปัญหาทางจิตใจต่างๆ ไม่ได้ถือเป็นความเจ็บป่วยที่ต้องรักษาให้หายไปอย่าง 100% ด้วยซ้ำ แต่มันอาจเป็นหนึ่งในหลักการธรรมชาติของชีวิตที่ปรากฏขึ้นอย่างมีเหตุผล เพื่อการเอาตัวรอด และสั่งสมมา จนกว่าสิ่งนั้นจะค่อยๆ เกิดการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนไปทีละน้อยจนกระทั่งพบความลงตัว และเนื้อหาช่วงต้นของ Leon Garbor ที่เขียนออกมาคล้ายการ reflect (สะท้อน) ตัวเองเช่นนี้ ก็คือการทำให้เห็นว่าแม้แต่เขาเองก็มีองค์ประกอบทางจิตใจเหล่านี้ไม่แตกต่างกันจากคนไข้/ผู้รับบริการของเขา ในฐานะมนุษย์แบบเดียวกัน
เมื่อเป็นแบบนั้น ในมุมมองของ Leon Garbor จึงบอกเราว่า “จิตบำบัดไม่ใช่การรักษา” และเทียบมันกับการที่ “ชีวิตไม่มีทางรักษาเราให้หายจากความตาย” แต่ชีวิตก็ยังคงเป็นสิ่งที่สร้างประโยชน์หลายๆ ด้าน เช่นเดียวกัน เขาจึงนำเสนอต่อไปว่า “จิตบำบัดสามารถเป็นประโยชน์กับเราได้ในหลายๆ ด้านอย่างไร?” .
“รูปแบบการทำจิตบำบัดมากมาย ต่างพูดถึงความเชื่อด้านลบ (negative beliefs) ในแนวทางที่แตกต่างกัน”
Leon Garber ขึ้นต้นบทความของเขาไว้แบบนั้น ก่อนที่จะเล่าว่าในการทำจิตบำบัดแต่ละแบบมีหน้าตาพื้นฐานเป็นอย่างไร
เขาเลือกที่จะพูดถึงแนวทางการทำจิตบำบัด 2 แนวทางหลักๆ ที่ค่อนข้างเป็นที่นิยม (อย่างน้อยก็ในทางการวิจัยที่เปรียบเทียบประสิทธิภาพของทั้งสองแนวทางนี้กันบ่อยๆ) ได้แก่ 1. จิตบำบัดแบบจิตวิเคราะห์ (psychoanalysis และ psychodynamic) และ 2. จิตบำบัดแบบcbt (cognitive-behavioral therapy) . .
“ในจิตบำบัดแบบจิตวิเคราะห์บอกคุณว่า ตัวคุณกำลังมีความเกี่ยวข้องกับคอนเซปต์ของตัวตนที่มาจากประสบการณ์วัยเด็กของตัวคุณ และให้เห็นอกเห็นใจตัวคุณในวัยเด็กหรือ ‘inner child’ ไปพร้อมกับเรียนรู้ว่าทำไมคุณจึงไม่สามารถยอมรับความรักได้ แต่จิตบำบัดแบบจิตวิเคราะห์ไม่ได้ทำงานกับความเชื่อของคุณโดยตรง วิธีการของมันเป็นเพียงแค่การถามคำถามว่า ‘ประสบการณ์ก่อนหน้าในอดีตของคุณมีส่วนเกี่ยวข้องกับรูปแบบการตัดสินใจที่แย่ แต่ก็ยังเป็นการปกป้องตัวเองของคุณได้อย่างไร? และมันทำให้คุณติดอยู่กับการเลือกทำลายตัวเองหรืออย่างน้อยก็ทำให้ตัวเองตกที่นั่งลำบากได้อย่างไร?’”
Leon Gaber ได้อธิบายต่อว่า
“แนวทางการบำบัดแบบนี้ มีประโยชน์ต่อการอนุญาตให้คุณได้ถามตัวเองด้วยคำถามพื้นๆ เกี่ยวกับความกลัวการถูกทอดทิ้งของคุณที่อาจมีอยู่ นั่นคือการทำงานกับคำถามที่ว่า ‘ถ้าแม่ (หรือพ่อ) ไม่ได้รักฉันทั้งๆ ที่พวกเขาควรจะรัก แล้วคนอื่นๆ จะรักฉันได้อย่างไร?’
ซึ่งในกรณีนี้ นักจิตบำบัดที่ถูกเรียกว่า psychodynamic therapist อาจจะพิจารณาถึงรูปแบบบุคลิกภาพของพ่อแม่คุณ คอยสังเกตการตัดสินใจของพวกเขาและความกลัวในบริบทกว้างๆ ในความสัมพันธ์อันหลากหลายของพวกเขา และบางที แม้กระทั่งเรื่องราวในช่วงวัยเด็กของพวกเขาด้วย ซึ่งนั่นอาจทำให้เห็นได้ว่า ถ้าคนที่ถูกทำร้ายหรือมีบาดแผลเป็นคนที่ทำร้ายคนอื่นอีกที ในประสบการณ์ของผู้รับบริการก็อาจมองว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องส่วนตัวได้น้อยลง”
สำหรับสิ่งที่ Leon Gaber นำเสนอแล้ว แนวทางการทำจิตบำบัดแบบจิตวิเคราะห์เป็นสิ่งที่ทำงานกับความเชื่อด้านลบที่สร้างปัญหาให้กับชีวิตคุณในทางอ้อม ด้วยการสอนให้คุณ และอนุญาตคุณ ให้ถามคำถามมากมายกับตัวเองรวมทั้งคนอื่นๆ เพื่อไม่ให้คุณยึดติดกับความเชื่อเดิมที่สร้างบาดแผลทางใจให้กับคุณซ้ำๆ สำหรับการวิเคราะห์เพื่อเข้าใจพ่อแม่ของตัวเองที่ Leon Gaber พูดถึงแล้ว มันก็เหมือนกับการมองเห็นว่าพ่อแม่ก็ไม่ได้ตั้งใจทำร้ายคุณแต่พวกเขาแค่ปกป้องตัวเองจากอดีตเช่นเดียว (ถึงจะพูดแบบนั้น ผมก็คิดว่านี่ก็ไม่ได้สรุปออกมาว่าคุณต้องให้อภัยคนที่ทำร้ายคุณหรอกนะ) . .
Leon Garber อธิบายต่อในเรื่องการทำจิตบำบัดแบบ CBT
“ในห้องบำบัดของนักจิตบำบัด CBT (cognitive-behavioral therapist) ผู้รับบริการอย่างคุณก็จะได้เรียนรู้การสำรวจแก่นความเชื่อ หรือ core belifes อย่างตรงไปตรงมามากขึ้น พวกเขาจะไม่ถามคุณว่าความคิดที่เกิดขึ้นฉับพลันเกี่ยวกับตัวเองของคุณมาจากไหน แต่พวกเขาจะตรวจสอบความถูกต้องของมันแทน ถ้าหากคุณจะถามว่า ‘ความคิดแบบขาว-ดำ การตีตราตัวเอง หรือ การคิดเหมารวมเกินไปของคุณ ได้รับอทธิพลจากวัยเด็กของคุณมั้ย?’ และ ‘นักจิตบำบัดจะสอนคุณคิดแบบวิเคราะห์ลึกลงไปได้รึเปล่า?’ คำตอบของคำถามพวกนี้ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้วว่านักจิตบำบัดแนวทางนี้จะไม่ได้จงใจทำแบบนั้นในการบำบัด เว้นเสียแต่ว่ามันจะเกี่ยวข้องกับการเป็นหลักฐานให้แก่นความเชื่อด้านลบ (negative core belief) บางอย่างของคุณ”
เขาเล่าต่อ
“ในการบำบัดแบบ CBT ผู้รับบริการมักสงสัยว่า ‘จะต้องใช้เวลานานแค่ไหนฉันถึงจะหยุดความรู้สึกพวกนี้ได้?’ ช่างโชคร้ายที่คุณจะไม่สามารถทำมันได้ แต่อย่างน้อยนั่นก็ไม่ใช่ตลอดกาล ความคิดด้านลบ หรือ Negative Thought ของคุณจะเชื่อมโยงกับความรู้สึกด้านลบเช่นกัน ซึ่งคุณจะสามารถรับมือกับมันได้ด้วยการเพิ่มเติมความคิดใหม่ๆ เข้าไป แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น ความคิดกลับเป็นเรื่องของการหยั่งรู้ได้ด้วยตนเอง มันถูกป้องกันด้วยความสงสัยที่กังขา ความกลัว และความไม่ไว้วางใจ แง่มุมต่างๆ ในชีวิตของคุณเหล่านี้จะปกป้องคุณจากการถูกปฏิเสธ ความล้มเหลว และความทุกข์ทรมานที่ดำเนินไปไม่หยุดหย่อน ดังนั้น ต่อให้หลักฐานที่มีจะแน่ชัดและความรู้สึกยากลำบากที่มีอยู่ควรจะผ่อนคลายลงไปได้แล้ว แต่บางครั้งผู้รับบริการของผมกลับบอกว่า ‘ฉันไม่รู้ว่าคุณคิดผิดตรงไหน แต่ฉันก็ยังคงคิดว่าคุณคิดผิด สำหรับฉันแล้ว นั่นหมายความว่าฉันจะยอมรับข้อสรุปของคุณแค่ในเบื้องต้น แต่จะตื่นตัวอยู่เสมอเพื่อเจอหลักฐานที่ขัดแย้งกัน’”
สิ่งที่ Leon Gaber นำเสนอคือการบอกว่า คำพูดของผู้รับบริการของเขาแบบนั้นแหละที่ทำให้เราเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงความคิดเดิมๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการทำมันด้วยตัวเอง เขาเล่าต่อไปว่า
“มันคือการปกป้องตัวเองของคุณ มันคือส่วนที่สงสัยด้วยความกังขาของตัวคุณ ซึ่งมันช่วยหยุดคุณจากการมีความหวังในเมื่อคุณอาจล้มเหลว สิ่งนี้จะเป็นส่วนที่อยู่ในตัวคุณเสมอ แต่บางครั้ง มันก็อาจจะปรากฏตัวในรูปแบบของคำถาม (เช่น ‘แล้วถ้าเขาคิดผิดและฉันเป็นคนที่ต้องพ่ายแพ้ล่ะ?’) และในบางครั้ง มันก็อาจแผดเสียงในรูปแบบของการปกปิดตัวเองก็ได้ (เช่น ‘ฉันบอกคุณแล้วว่าคุณโง่เกินไปที่จะเข้าใจเรื่องนี้’) ดังนั้นแล้ว การทำจิตบำบัดไม่สามารถและจะไม่มีทางรักษาคุณให้หาย แต่มันจะช่วยให้คุณเข้าใจรูปแบบการคิดของตัวคุณและของคนอื่นๆ มันจะให้เครื่องมือกับคุณในการท้าทายและเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดแง่ลบของคุณซะใหม่ และ (โดยเฉพาะในแนวทางของจิตบำบัดแบบอัตถิภาวนิยม) มันจะช่วยคุณในการจัดวางตัวเองเข้าไปในบริบทต่างๆ ของมนุษย์คนอื่น หนึ่งในนั้นคือการยอมรับว่าความรู้สึกว่าตัวเองไม่สลักสำคัญมากพอไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัยเด็กของคุณเท่านั้น” (ผมคิดว่าสิ่งที่ Leon Gaber พยายามจะสื่อก็คือ คุณสามารถเปลี่ยนแปลงความรู้สึกปัจจุบันของตัวเองได้ ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องทำหรือเป็นแบบในอดีตของตัวเองตลอดไป) . .
“จิตบำบัดทำได้หลายสิ่งหลายอย่าง เว้นแต่สิ่งที่คนต้องการมากที่สุด”
Leon Garber น่าจะกำลังสื่อว่า นั่นคือการรักษาให้หาย
เขาเล่าต่อ
“มันไม่ต่างอะไรกับการที่ชีวิตไม่มีทางรักษาเราให้หายจากความตายได้ จิตบำบัดก็ไม่สามารถรักษาสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นจิตวิญญาณของเราได้เช่นกัน เพราะในแก่นแท้ของมันแล้ว มันก็คล้ายกับความสำเร็จและมิตรภาพของเรา ที่ทำหน้าที่ปลอบประโลมชั่วคราวและผ่อนผันเราไปจากสิ่งเดิมๆ การทำจิตบำบัดก็ให้การเยียวยาในรูปแบบเดียวกัน อย่างน้อยก็สำหรับคนที่ไม่สามารถมีความสุขได้โดยธรรมชาติ”
จากคำกล่าวของ Leon ข้างต้นนี้ ผมคิดว่าพอจะสรุปสิ่งที่ผมสรุปไปตั้งแต่ต้นได้แล้วว่า เขาตั้งใจสื่อสารให้เรามองการทำจิตบำบัดในแง่มุมใหม่ ไม่ใช่เรื่องของการรักษา เพราะไม่งั้นเราก็อาจตั้งเป้าไว้ที่การหายขาดจากความทุกข์ แต่แท้จริงแล้ว มันกลับเป็นการมองหาเครื่องมือเพื่อสร้างความสมดุลให้กับชีวิตเสียมากกว่า เพื่อพบธรรมชาติของความทุกข์ และความสุข ที่ควรดำเนินไปอย่างไม่ติดขัด . .
สุดท้าย Leon Gaber ได้กล่าวถึงจุดประสงค์ในบทความของเขาทิ้งท้ายด้วยว่า
“ผมหวังว่าสิ่งที่คุณควรได้จากบทความนี้คือ ‘เมื่อคุณพยายามทำบางสิ่งอย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว มันไม่ใช่ความผิดของคุณที่คุณจะรู้สึกว่าตัวเองช่างไร้เหตุผล และความเป็นมืออาชีพที่แท้จริงคือการรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ ไม่ว่าจะเป็นในด้านดีหรือแย่ก็ตาม’”
. .
แปลและเรียบเรียง เก้าอี้ตัว J เจษฎา กลิ่นพูล . ต้นฉบับ: https://existentialcafe.blog/2023/01/08/psychotherapy-isnt-a-cure-but-it-can-be-helpful-in-multiple-ways/?fbclid=IwAR0vwz1K69Fg8tAm-oMTxfXn3P3KiRKss_45jDSj7U0Ztku8G2lIlseCeXI
Comments