top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนPsychologist Chair

ความหมายของชีวิตที่ต้องสร้าง แต่พยายามอย่าให้คุณค่าจนเกินไป

ในทางจิตวิทยา คอนเซปต์เรื่องความหมายในชีวิต (meaning of life) คงไม่มีใครไม่รู้จัก Viktor Frankl จิตแพทย์ผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันนาซี และเขียนหนังสือชื่อ “Man’s search for meaning’ เพื่อให้เราได้ตระหนักว่าสิ่งสำคัญสำหรับการมีชีวิตอยู่ต่อไปคือการที่เราสามารถค้นพบความหมายในชีวิตของตัวเอง และต้องไม่ลืมว่าเราอาจพบความหมายของชีวิตได้แม้ในขณะที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่สิ้นหวัง อย่างเช่นตัวเขาเองที่ถูกกักขังอยู่ในค่ายกักกันนาซีแต่ยังสามารถค้นพบความหมายในชีวิตของตัวเองได้

.

Frankl ได้ให้แนวทางการตามหาความหมายในชีวิตไว้ 3 ทาง ได้แก่ 1) จงสร้างสรรค์ผลงาน 2) จงหาประสบการณ์หรือพบปะผู้คน และ 3) จงเปลี่ยนมุมมองของตนเองในเรื่องความทุกข์ทรมานที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังเช่นคำกล่าวของเขาที่บอกไว้ว่า “เมื่อเราไม่สามารถเปลี่ยนสถานการณ์ตรงหน้าได้อีก... เราก็หันกลับมาท้าทายตัวเองด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเรา”

.

จริงๆ แล้ว ผมนึกภาพไม่ออกเท่าไรว่าความหมายในชีวิตที่ Frankl พยายามจะบอกนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไรหากเราขาดซึ่งความหวังดังเช่นที่ตัวเขามีหวังว่าวันหนึ่งเขาจะได้ออกจากค่ายกักกันในตอนนั้น ในขณะที่คุกหรือค่ายกักกันที่ขังเราอยู่นั้นอาจหมายถึงชีวิตและความตายของเราเอง

.

พูดมาถึงตรงนี้ บางคนอาจเริ่มมองเห็นว่า เมื่อเราพูดถึงความหมายในชีวิต มันก็นำเราไปสู่เรื่องของความตายด้วยเช่นกัน เพราะหลายคนที่ผมเคยพบเจอมักเริ่มต้นจากจุดนี้ก่อนจะด่วนสรุปว่า ชีวิตของตนเองไม่มีความหมายใดๆ เพราะงั้นความตายที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ตั้งแต่ต้นก็ไม่น่าใช่เรื่องเสียหายหากเราจะรีบเดินทางไปถึง

.

แต่นั่นคือความคิดที่ถูกต้องจริงๆ หรอ?

.

สำหรับตัวผมเอง ผมคิดว่าการที่เราเริ่มต้นด้วยการเฝ้าถามตัวเองว่าชีวิตมีความหมายอย่างไรอาจสะท้อนถึงการที่เราตกหลุมพรางของการเชื่อว่าชีวิตนั้นมีความหมายตั้งแต่แรก

.

หากเราย้อนกลับไปใคร่ครวญอีกครั้งถึงสิ่งที่ Frankl ได้ให้ไว้ว่าเราจะค้นพบความหมายในชีวิตได้อย่างไรแล้ว จะพบว่าความหมายของชีวิตนั้นอาจไม่ได้มีอยู่ตั้งแต่แรก แต่มันเกิดขึ้นมาเมื่อเราได้เริ่ม “กระทำบางสิ่ง”

.

Jean Paul Sartre นักปรัชญาแนวคิดอัตถิภาวนิยม (existentialism) สามารถเปิดมุมมองของเราในเรื่องนี้ได้ว่า ก่อนที่เราจะพบถึงการมีอยู่ของความหมายในชีวิต เราควรตระหนักก่อนว่าความหมายของสิ่งต่างๆ ไม่ได้มีอยู่ตั้งแต่แรก โดยคำกล่าวที่ผมถือว่าทรงพลังที่สุดในเรื่องนี้ของเขาคือ “existence come before essence” หรือพูดให้ง่ายก็คือ “ชีวิตเกิดขึ้นก่อนความหมาย”

.

Albert Camus ผู้เป็นทั้งนักปรัชญาและนักประพันธ์ได้ขยายมุมมองในเรื่องนี้ด้วยคอนเซปต์ที่ชื่อว่า “Absurdity” ซึ่งหมายความได้ถึง “ความไร้แก่นสาร” และ “ความไม่สมเหตุสมผล” (ผมขอเลือกใช้คำแปรอันแรกเพราะคิดว่าครอบคลุมมากกว่าในเรื่องนี้)

.

แนวคิดของ “ความไร้แก่นสาร” นั้นประกอบขึ้นจากปัญหาที่ว่า มนุษย์นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล และพยายามใช้เหตุผลเหล่านั้นอธิบายโลกที่ตนเองอาศัยอยู่ ในขณะที่แท้จริงแล้วโลกนี้กลับไร้ซึ่งเหตุผลใดๆ และมีความไม่แน่นอนอยู่ทุกหนทุกแห่ง

.

มนุษย์เราเรียนรู้ที่จะ “โกง” (cheat) การมีชีวิตที่ไร้แก่นสารของตนเองในสองทางคือ การปฏิเสธความจริงว่าชีวิตนี้ไม่แน่นอนหรือไร้เหตุผลด้วยการวางแผนอนาคตอันไกลโพ้นแม้ต้องแลกมากับอิสรภาพที่ลดน้อยลง (ความเชื่อในเรื่องโลกหลังความตายก็เป็นหนึ่งในนั้น) หรือในอีกกรณีก็คือ การละทิ้งความสามารถทางเหตุผลของตนเองไปจนถึงการยกเหตุผลนั้นๆ ให้กับสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างพระผู้เจ้า (God’s plan)

.

เพราะงั้นสำหรับ Camus แล้ว มันเป็นไปไม่ได้ที่จะหาคำตอบที่ถูกต้องที่สุดของความหมายในชีวิต และยิ่งพยายามมากเท่าไรก็จะยิ่งนำไปสู่จุดจบที่มีแต่ความหายนะ โดยการสร้างคอนเซปเรื่องความหมายในชีวิตอาจเป็นเพียงภูมิคุ้มกันตัวเราจากปัญหาของความไร้แก่นสาร (absurd) เท่านั้น

.

ถึงแม้ว่าแนวคิดของ Camus อาจนำเราไปสู่การทอดทิ้งการค้นหาความหมายของชีวิตและจำยอมกับความไร้แก่นสารตั้งแต่แรก แต่สิ่งที่เขาพยายามสื่ออย่างแท้จริงคือการพยายามให้เรามองเห็นข้อจำกัดของการให้ความหมายกับชีวิตที่ว่า ความหมายหรือคุณค่าเป็นสิ่งที่เราเองเป็นคนสร้างมันขึ้นมาเอง ดังนั้นการยึดติดกับมันมากจนเกินไปอาจนำไปสู่ความทุกข์ใจได้

.

รศ. โสรีช์ โพธิ์แก้ว ผู้ริเริ่มแนวคิดจิตวิทยาการปรึกษาเชิงพุทธและเป็นนายกสมาคมนักจิตวิทยาการปรึกษาขณะนี้ อีกทั้งยังเป็นอาจารย์คนหนึ่งของผม ได้เป็นผู้ที่เติมเต็มให้บทความนี้สมบูรณ์ขึ้นเมื่อเขาได้พูดถึงการที่เราไม่ควรให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ

.

ผมไม่ได้ซื้อแนวคิดเรื่องจิตวิทยาและศาสนาของเขา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านั่นเป็นประเด็นที่กระตุ้นความสนใจในเรื่องนี้ได้พอสมควร เช่นเดียวกับ Walter T. Stace ที่บอกว่าตัวเขาเห็นด้วยกับเหล่าบาทหลวงที่อ้างว่าการสูญสิ้นศรัทธาต่อพระเจ้าและทอดทิ้งศาสนาคือต้นเหตุของความโกลาหลในโลกสมัยใหม่ แต่การที่เขาจะไม่ยอมรับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ คงเป็นเรื่องน่าขัน

.

ในมุมมองของ รศ. โสรีช์ สิ่งที่เขาพยายามสื่ออาจหมายถึงการดึงเอาหลักธรรมอย่างไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) มาอธิบายความจริงของชีวิตที่ว่าทุกสิ่งไม่แน่นอน พร้อมเปลี่ยนแปลง และไร้ซึ่งตัวตนตั้งแต่แรก เพราะงั้นการให้คุณค่าหรือแม้แต่การสร้างความหมายของชีวิตสำหรับเขาจึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าเห็นด้วยนัก แต่ผมพยายามเข้าใจความเป็นไปของคนเราที่มีข้อจำกัดอยู่ จึงไม่ขอปฏิเสธการตามหา (สร้าง) ความหมายของชีวิตต่อไป

.

ในการศึกษที่ผ่านมาพบว่า ความหมายในชีวิตไม่ได้เป็นเพียงแรงจูงใจหรือเป็นเพียงความพยายามให้เหตุผลกับการมีชีวิตอยู่เท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์กับการมีสุขภาวะทางจิตที่ดีและช่วยในการจัดการกับความโศรกเศร้าจากการสูญเสียได้ด้วย

.

Mushtaq et al. ได้แสดงให้เห็นว่าความหมายของชีวิตสัมพันธ์กับความเข้าใจชีวิตอย่างผาสุขและนำไปสู่ความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ที่ดีกว่า ในขณะที่การหยุดหรือลดความพยายามในการสร้างความหมายในชีวิตกลับนำไปสู่ความยากลำบากของชีวิตหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง ด้านการแก้ไขปัญหา การมีมุมมองต่อตัวเองที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และความภูมิใจในตัวเองตกต่ำลง

.

ถึงแม้ว่าความหมายในชีวิตที่แท้จริงจะไม่มีอยู่ แต่ความหมายในชีวิตมีส่วนสำคัญมากเมื่อมันนำไปสู่การคิดถึงเรื่องความตายอย่างที่กล่าวถึงในช่วงแรก เพราะความหมายในชีวิตที่ลดน้อยลง ความกลัวตายกลับยิ่งเพิ่มมากขึ้น และเรากลับยิ่งไม่กล้าพูดถึงเรื่องความตาย รู้ตัวอีกทีเมื่อใช้ชีวิตอย่างไร้ความหมายพร้อมกับความรู้สึกโดดเดี่ยวภายในแล้ว ความคิดและความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น (ยิ่งกลัวตาย ยิ่งเลี่ยงจะพูดถึงเรื่องความตาย ความตายจึงไร้ความหมายมากกว่าหนทางจบความทุกข์ทรมานในชีวิต) อีกทั้ง การใช้ชีวิตอย่างไร้ความหมายทำให้เราต้องเผชิญกับความว่างเปล่าของการดำรงอยู่ ความเบื่อหน่าย ความตกต่ำ และความซบเซา เราไม่สามารถที่จะค้นพบหนทางและสิ่งที่ต้องการได้แม้จะมีอิสรภาพก็ตาม

.

ความกลัวตาย (death anxiety) สื่อถึงความกลัวสิ่งที่ไม่แน่นอน กลัวความโดดเดี่ยว กลัวการสูญเสียคนใกล้ตัว กลัวการสูญเสียตัวตน กลัวการถูกลงโทษหลังความตาย กลัวเสียการควบคุม กลัวความเจ็บปวด กลัวสูญเสียร่างกาย และกลัวการสูญพันธ์ มันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพูดถึงสิ่งที่เป็นสาเหตุของความเจ็บปวด ความกลัว และความกังวลเหล่านี้ เราจึงอาจหันมามองดูแต่เรื่องการมีชีวิตอยู่เพียงด้านเดียวเท่านั้น

.

แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือ คนที่ความหมายในชีวิตกลับไม่กังขาใดๆ ในการพูดถึงเรื่องความตาย หรือบอกไว้ว่า การพูดคุยเรื่องความตายกลายเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าเรายอมรับการมีอยู่ของมัน และจัดการกับความกังวลหรือความกลัวตายได้ ดังนั้น ถ้าเราผสมผสานชีวิตตัวเองเข้ากับแนวคิดเรื่องความตายได้ก็จะนำไปสู่ชีวิตที่มีความหมายมากยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ (นึกภาพว่านักจิตวิทยามักสอนให้คุณรับฟังคนที่อยากจะฆ่าตัวตายมากกว่าการหักห้ามพวกเขาจะความคิดเหล่านั้น)

.

นอกจากนี้ ความหมายในชีวิตยังสัมพันธ์กับการลดความรู้สึกโดดเดี่ยว อย่างที่เราได้เห็นว่าแนวทางหนึ่งที่ Frankl ให้ไว้คือการพบปะผู้คนเพื่อคนพบความหมายในชีวิต การมีสัมพันธภาพที่ดีและการพัฒนาตนเองอย่างดีจะเป็นแหล่งที่มาอันสำคัญของความหมายในชีวิตและการตามหามันต่อไป หรือในทางกลับกัน การมีความหมายในชีวิตก็ช่วยให้เรารู้สึกเหงาน้อยลงได้ด้วย เพราะคนที่มีความหมายในชีวิตหรือพยายายามสร้างมันขึ้นมาเรื่อยๆ จะนำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างอย่างมีความหมาย

.

สรุปแล้ว ความหมายของชีวิตจึงได้ให้เหตุผลในการเอาตัวรอด ส่งเสริมความสามารถในการควบคุมชีวิตตัวเอง สร้างคุณค่าในตัวตน ปัญหาทางอารมณ์มากมายจะถูกแก้ไข และชีวิตกลับมามีคุณค่าอีกครั้ง รวมถึงความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้างก็จะยิ่งดีขึ้น

.

ยังไงก็ตาม Camus ก็ยังเน้นย้ำว่า การใช้ชีวิตอย่างไร้ความหมายก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่แย่ไปซะทั้งหมด หากเราเข้าใจอย่างแท้จริงว่าชีวิตนั้นไร้แก่นสารตั้งแต่แรกแล้ว (หากไม่มีส่วนที่หาย ก็ไม่ต้องเติมเต็มส่วนที่มีอยู่) เราสามารถใช้ชีวิตอย่าง enjoy กับสิ่งเล็กๆ ในชีวิตประจำวันได้ เช่นเดียวกับที่เขาชื่นชมแสงอาทิตย์ ผู้หญิง รอยจูบ การเต้นรำ อาหารดีๆ และกีฬาอย่างฟุตบอล เพราะการที่ชีวิตไร้ความหมาย ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความสุขกับสิ่งต่างๆ ไม่ได้

.

แล้วอย่างที่คุณเห็นในท้ายที่สุดว่า ไม่ว่าจะ Frankl หรือ Camus ต่างก็สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ชีวิตที่ไม่ต่างกันมาก นั่นคือ การออกไปข้างนอก, เพลิดเพลินกับสิ่งเล็กๆในชีวิตประจำวัน, กินข้าวหรือดื่มกาแฟกับเพื่อนและคนรัก, เลิกจำยอมกับความสิ้นหวัง และโอบกอดการมีชีวิตอยู่อย่างไร้ความหมาย หรืออย่างน้อย ก็มีชีวิตอยู่เพื่อสร้างความหมายของตนต่อไปเรื่อยๆ

.

.

.

Reference

Ammer, R. (n.d.). Is it worth the trouble? [Blog]. Retrieved from https://ralphammer.com/is-it-worth-the-trouble/.

Çakar, F. S. (2020). The levels predicting the death anxiety of loneliness and meaning in life in youth. European Journal of Education Studies. 6(11). 97-121.

Das, A. K. (1998). Frankl and the realm of meaning. Journal of Humanistic Education & Development. 36(4), 199.

Emmons, R.A. (2005). Striving for the Sacred: Personal Goals, Life Meaning, and Religion. Journal of Social Issues. 61(4), 731-745.

Hendrick, S. (2018, March 01). The meaning of life: Albert Camus on faith, suicide, absurdity. Big Think. Retrieved from https://bigthink.com/scotty-hendricks/the-meaning-of-life-albert-camus-on-faith-suicide-and-absurdity.

Kübler-Ross, E. (1997). Ölüm ve ölmek üzerine. (B. Büyükal, Çev.). İstanbul: Boyner Holding Yayınları [On death and dying. (B. Buyukal, Trans.). Istanbul: Boyner Holding Publications].

Mushtaq, R., Shoib, S., Shah, T. & Mushtaq, S. (2014). Relationship Between Loneliness, Psychiatric Disorders and Physical Health? A Review on the Psychological Aspects of Loneliness. Journal of Clinical and Diagnostic Research, 8(9):WE01-4.

Stace, W. T. There is Meaning in Absurdity. Philosophy The Quest for Truth, 541-549.

Steptoe, A., Shankar, A., Demakakos, P. & Wardle, J. (2013). Social isolation, loneliness, and all-cause mortality in older men and women. Proceedings of the National Academy of Sciences, 110, 15, 5797–807.

Varshinini, A. (2019, February 21). The myth of Sisyphus and man’s search for meaning. The Startup. Retrieved from https://medium.com/swlh/the-myth-of-sisyphus-and-mans-search-for-meaning-50c94cc2f8f.

ดู 74 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Commentaires


bottom of page