เมื่อพูดถึง “มาโซคิสม์" (Masochism) เราอาจนึกภาพกันออกถึงคนที่มีความพึงพอใจทางเพศจากการถูกทำให้เจ็บปวดที่ไม่ว่าจะเป็นการถูกฟาดด้วยแส้หนัง ถูกกดขี่ หรือด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคายเสมือนไม่ใช่มนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งคนเหล่านี้มีความรู้สึกพึงพอใจและยินดีที่ถูกกระทำเพราะเป็นการกระตุ้นความรู้สึกทางเพศอย่างที่สุดสำหรับพวกเขา . ยังไงก็ตาม การยินดีให้ถูกกดขี่หรือเรียกว่า “มาโซคิสม์” นั้น อาจมีอยู่ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศก็ได้ เช่น การยินดีให้ถูกกดขี่ในสถานะทางสังคม หรือการยินดีเป็นผู้ที่คอยรับใช้ ดูแล ช่วยเหลือคนอื่น โดยไม่คิดถึงตัวเองแม้แต่น้อย (ถึงแม้ว่าจะถูกเอารัดเอาเปรียบฉันก็ยินดี) ในทางจิตวิทยาเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า “มาโซคิสม์ทางศีลธรรม” หรือ “Moral masochism” . ผมอยากจะยกกรณีศึกษาของ Molly มาอธิบายให้พอเห็นภาพกันว่า Moral masochism นั้นมีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง และการบำบัดของเธอแบบคร่าวๆ ได้ทำให้เราเห็นการหลุดออกจากกรอบเหล่านี้ได้อย่างไร . Molly มีอาชีพเป็นพยาบาลและครูสอนการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล เธอเป็นคนที่ฉลาด พูดเก่ง และน่าดึงดูด อาชีพการงานของเธอเป็นเหมือนสิ่งที่ใช้เพื่อเลี้ยงชีพตัวเองพร้อมกับสามีของเธอที่เป็นนักเรียนกฎหมาย แต่แล้ว Molly ก็ได้เข้ารับการทำจิตบำบัดเนื่องจากได้รับคำแนะนำจากสามี เพราะเธอเองมีปัญหาเรื่องอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล นอกจากนี้ นี่ยังเป็นการเข้ารับการบำบัดเพื่อรักษาชีวิตคู่ของพวกเขาไว้อีกด้วย เนื่องจากสามีของเธอมักทำร้ายร่างกายและด่าทอเธอบ่อยๆ จนเขาต้องเข้ารับการบำบัด และเขาคิดว่าคงเป็นการดีที่เธอจะมีการทำจิตบำบัดของตัวเธอเองด้วย .
Molly มีลักษณะของ Moral masochrism จากการที่เธอเองมักเก็บกดความต้องการของตัวเองไว้ แต่กลับให้ความสำคัญกับความต้องการของคนอื่นมากกว่า เธอไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองได้นอกจากความว่างเปล่าในใจ เธอจึงใช้ชีวิตเหมือนคนที่คอยปรนนิบัติรับใช้ความต้องการของคนอื่นๆ หรือไม่พยายามทำให้พวกเขาต้องรู้สึกขัดใจกับเธอ เช่นเดียวกันกับสามีของเธอที่ยังคงมีการทำร้ายร่างกายและจิตใจเธออยู่บ้าง แต่เธอก็ยังคงใช้ชีวิตอย่างไม่มีปากมีเสียงต่อไป พร้อมกันนั้น ในการบำบัดของเธอก็พบว่า สำหรับเธอมันเป็นเรื่องยากมากที่จะแสดงความไม่พอใจออกไปใส่คนอื่น เพราะเธอติดอยู่กับกรอบทางศีลธรรมหลายอย่างว่าเธอไม่ควรจะรู้สึกโกรธหรือไม่พอใจพวกเขา
. เรื่องราวของ Molly ที่ผมยกมาเพื่อนำเสนอเรื่อง moral masochism บางคนที่อ่านแล้วอาจรู้สึกเชื่อมโยงและเข้าใจเป็นอย่างดีในการที่ตนเองอาจไม่ต่างกับ Molly ที่เอาแต่คอยคิดถึงแต่คนอื่นๆ จนไม่คิดถึงตัวเอง แต่ก็ไม่สามารถจะเลิกทำแบบนั้นได้ . ในทางจิตวิเคราะห์มองว่าความยินดีให้ตัวเองถูกกดขี่เช่นนี้มักเกี่ยวข้องกับความรู้สึกผิดระดับลึก พูดง่ายๆ ว่า การที่คนเราไม่คิดถึงความต้องการหรือความรู้สึกของตัวเอง แต่กลับให้ความสำคัญกับความต้องการและความรู้สึกของคนอื่นมากจนเกินไป เป็นเพราะในจิตใต้สำนึกนั้นมีความรู้สึกผิดบางอย่างอยู่ และความรู้สึกผิดนั้นนำไปสู่การลงโทษตัวเองด้วยการให้คนอื่นๆ ทำร้ายตนในทางใดทางหนึ่ง . สำหรับเรื่องราวของ Molly หลังจากเข้ารับการบำบัด เธอได้ระลึกถึงความทรงจำวัยเด็กที่หายไปเป็นเวลานาน นั่นคือความทรงจำที่ว่า เธอเคยทำน้องสาวแรกเกิดของตัวเองหล่นจากอ้อมกอดจนแขนหัก ในตอนนั้นเธอมีความรู้สึกมากมายพรั่งพรูเข้ามาทั้งความเสียใจและรู้สึกผิดจากอุบัติเหตุนั้น แต่หนึ่งในความรู้สึกลึกๆ อีกอย่างที่เธอรับรู้ในตัวเองคือ ความไม่พอใจหรือความมุ่งร้ายเล็กๆ ต่อน้องสาวแรกเกิด เพราะการเกิดของน้องสาวทำให้เธอไม่ได้รับการดูแลจากแม่อีกต่อไป (เธอต้องมาเป็นคนเลี้ยงน้องแทนแม่) เธอจึงเกิดความรู้สึกผิดอย่างมากต่อความไม่พึงพอใจของตนเองต่อน้องสาวในสายเลือดที่ผสมปนเปกับความรู้สึกผิดต่ออุบัติเหตุดังกล่าว อีกทั้งแม่ของเธอที่เป็นคนที่เคร่งศาสนาก็มีอิทธิพลต่อทัศนคติของเธอที่ว่าการแสดงความไม่พึงพอใจต่อคนใกล้ชิดนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ . จากประสบการณ์ของ Molly ในการบำบัดกลับทำให้เธอได้เกิดความเข้าใจใหม่ว่า ความโกรธและไม่พึงพอใจนั้นเป็นความรู้สึกหนึ่งที่สามารถยอมรับได้ สามารถสัมผัสถึงมันได้อย่างปลอดภัย และแสดงออกได้อย่างเหมาะสมเช่นเดียวกับความรู้สึกอื่นๆ หากเรายังคงเป็นมนุษย์คนหนึ่ง (ความอิจฉา, ความไม่พึงพอใจ, และการแข่งขันกันของพี่น้องเป็นเรื่องปกติในทางจิตวิทยา) และเรื่องราวของ Molly ก็ได้สะท้อนให้เข้าใจเกี่ยวกับ moral masochism ของเธอในบางประเด็นที่ว่าความรู้สึกผิดลึกๆ ที่เธอมีนั้นส่งผลต่อการห้ามตัวเองจากความรู้สึกและความต้องการส่วนตัวได้อย่างไร . แต่อีกส่วนหนึ่งของการคิดถึงคนอื่นจนไม่คิดถึงตัวเองนี้อาจเกี่ยวข้องกับการผูกติดความภาคภูมิใจในตนเอง (self esteem) กับคนอื่นด้วย โดยนักจิตวิเคราะห์ที่ชื่อ Theodor Reik ได้ให้ความเห็นว่า
การยินดีให้ถูกกดขี่นั้นอาจเกี่ยวข้องกับการที่เราเอาความภาคภูมิใจในตัวเองไปผูกติดกับการเสียสละความต้องการส่วนตัวเพื่อคนอื่นมากจนเกินไป และบ่อยครั้งราคาที่ต้องจ่ายก็คือความทุกข์ใจ, ความอับอายหรือละอายใจ, และการถูกเอารัดเอาเปรียบ
. เมื่อย้อนกลับมาที่เรื่องราวของ Molly ในตอนท้ายแล้วของการบำบัดแล้ว เธอดีขึ้นได้ด้วยการเรียนรู้ที่จะใส่ใจกับการยอมทำตามความต้องการของคนอื่นน้อยลง และให้ความสำคัญกับความต้องการและความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น . เรื่องราวของ Molly และการหลุดออกจากความยินดีให้ถูกกดขี่ของเธอจึงเหมือนเป็นการบอกเราอย่าง อ้อมๆ ว่า การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่านั้นอาจต้องอาศัยทั้งการให้ความสำคัญกับความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ให้ผูกติดอยู่กับคนอื่นมากจนเกินไป รวมทั้งยอมรับความรู้สึกด้านลบของตัวเองโดยเฉพาะความโกรธและไม่พึงพอใจว่าเป็นอารมณ์ความรู้สึกหนึ่งไม่ต่างจากความรู้สึกอื่นๆ ซึ่งสามารถแสดงออกได้อย่างเหมาะสมโดยไม่จำเป็นต้องเก็บกดไว้ด้วยความรู้สึกผิด .
. ปล. สำหรับเรื่องราวของ Molly ในตอนท้ายเธอเริ่มมีปากมีเสียงหรือไม่ยอมรับการถูกทำร้ายร่างกายจากสามีส่งผลให้ต้องหย่ากัน แต่ Molly ก็ได้พบรักใหม่ที่ดีกว่าเดิม และเธอไม่ยอมที่จะทำตามเสียงของคนอื่นอีกต่อไป . Reference McWilliams, N. (2004). Molly. Psychoanalytic psychotherapy: A practitioner's guide (pp. 197-218). New York, NY: Guilford Press. Ribas, D. (2019, September 21). Moral masochism. In Encyclopedia.com. Retrieved from https://www.encyclopedia.com/psychology/dictionaries-thesauruses-pictures-and-press-releases/moral-masochism#targetText=Moral%20masochism%20is%20seeking%20unpleasure,of%20unconscious%20feelings%20of%20guilt.
Comments