ในหลายๆ แนวคิดทฤษฎีการบำบัดหรือการปรึกษาทางจิตวิทยามีการอธิบายที่แตกต่างกันไปในเรื่องของแนวทางและคำศัพท์ที่ใช้เรียกปรากฏการณ์นั้นๆ แต่กลับมีสิ่งที่สอดคล้องกันคือ นักจิตวิทยาหลายคนต่างก็พยายามทำให้เห็นว่า “ความยืดหยุ่นทางจิตใจ” มีความสำคัญมากน้อยแค่ไหนในการใช้ชีวิต . ถึงแม้นักจิตวิทยาจะพยายามอธิบายความยืดหยุ่นทางจิตใจเหล่านี้ออกมาหลายๆ แบบ อย่างเช่น ความยืดหยุ่นในการคิดการจัดการ (Cognitive/Mental flexibility), ความยืดหยุ่นในการกำกับการแสดงออกทางอารมณ์ (Emotional regulation flexibility), ความยืดหยุ่นในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และความยืดหยุ่นทางจิต (Psychological flexibility) ที่กำลังถูกให้ความสำคัญโดยกลุ่มนักจิตวิทยาที่หันมาสนใจการยอมรับและเข้าใจเป็นพื้นฐาน (acceptance-based theories) . แต่ภาพรวมของ “ความยืดหยุ่นทางจิตใจ” ก็อาจจะมีคอนเซปต์ที่สอดคล้องกันว่า มันเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนมุมมองหรือแนวคิดที่มีอยู่เพื่อให้สามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้, ไม่ตกเป็นทาสของความคิดตัวเอง, ไม่หลีกหนีหรือยอมรับกับสิ่งที่ต้องเผชิญ, ตระหนักรู้และอยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบัน, สามารถมองเห็นบริบทในภาพรวมของสถานการณ์โดยมีตัวเองอยู่ในนั้น, รู้ถึงสิ่งที่ตัวเองให้คุณค่า และสามารถเลือกแนวทางการแสดงออกตามสิ่งที่ตัวเองให้คุณค่าได้อย่างเหมาะสม .
หรือเรียกได้ว่า มันก็คือรูปแบบของการรักษาสมดุลทางจิตใจให้สามารถปรับตัวได้ในสถานการณ์ที่หลากหลาย และไม่ยึดติดอยู่กับความคิดความเชื่อ หรือการทำพฤติกรรมแบบใดแบบหนึ่งมากจนเกินไปจนอาจก็ให้เกิดผลเสียที่ตามในภายหลัง
. เช่นในความเคยชินกับการพยายามหลีกหนีหรือไม่อยากรับรู้เรื่องราวที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดอันเป็นกลไกการป้องกันตัวเองทางจิตอย่างหนึ่ง (defense mechanism) . จริงอยู่ที่ในบางครั้งมันอาจเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจหรือมีความสุข แต่ในการทิ้งปัญหาไว้เบื้องหลังนั้น มันก็อาจจะย้อนกลับมาทำให้รู้สึกเจ็บปวดและทุกข์ทรมานได้อีกหากมีอะไรที่รุนแรงกว่าเข้ามากระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง และยิ่งถ้าหากไม่ได้เปิดโอกาสให้ตัวเองได้ค่อยๆ เรียนรู้เกี่ยวกับความทุกข์ทรมานในจิตใจหรือลองเผชิญหน้ากับมันดูบ้าง ก็อาจจะยิ่งทำให้รับมือหรือปรับตัวได้ยากมากยิ่งขึ้น . การขาดความยืดหยุ่นเนี่ย มันมีการศึกษาว่าสัมพันธ์กับความผิดปกติทางจิตมากมาย ทั้งโรคความผิดปกติทางการกิน (anorexia nervosa และ bulimia nervosa), โรคซึมเศร้า (major depressive disorder หรือ depression), โรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive disorder หรือ OCD) และโรคเครียดหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-traumatic stress disorder หรือ PTSD) . เพราะงั้นการพัฒนาความยืดหยุ่นทางจิตใจจึงเข้ามามีบทบาทในการทำจิตบำบัดหรือการปรึกษาทางจิตวิทยาในหลากหลายรูปแบบ อาจจะเป็นการปรับเปลี่ยนความคิด หรือช่วยในการปรับสมดุลการใช้กลไกป้องกันตัวเองทางจิตให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้นก็ได้ . ในขณะเดียวกันก็มีการค้นพบว่าการมีสุขภาพจิตที่ดีหรือมีความเป็นอยู่ที่ดีก็สัมพันธ์กับการมีความยืดหยุ่นทางจิตใจ และความยืดหยุ่นทางจิตใจนี้ยังสัมพันธ์กับการจัดการปัญหาต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย . ตัวอย่างที่ยกไปก่อนหน้านี้เป็นแง่ของรูปแบบพฤติกรรมการป้องกันตัวเองทางจิตที่ค่อนข้างอธิบายและเข้าใจได้ยาก เพราะงั้นขอยกตัวอย่างในแง่ของความยืดหยุ่นทางความคิดกับภาวะซึมเศร้าเข้ามาเพิ่มเติมที่อาจจะเห็นภาพได้ง่ายกว่า . ในกรณีของคนที่มีอาการซึมเศร้า มีการศึกษาส่วนหนึ่งพบว่าสัมพันธ์กับการขาดความยืดหยุ่นทางความคิดที่ทำให้พวกเขามีรูปแบบของความคิดที่ผิดปกติและเป็นไปในแง่ลบอยู่บ่อยครั้ง (cognitive distortion) เช่นความคิดเหมารวมว่า ไม่มีใครในโลกที่รักฉัน หรือทุกๆ คนเกลียดฉัน เมื่อคิดแบบนั้นก็ยิ่งรู้สึกแย่ เสียใจ ซึมเศร้า และมีพฤติกรรมหลีกหนีสังคมหรืออื่นๆ ตามมา แต่ถ้าหากมีความยืดหยุ่นทางความคิดหรือจิตใจก็จะค่อยๆ มองเห็นว่าความคิดเหล่านี้ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เป็นเพียงความคิดนึงเท่านั้น เราสามารถปรับเปลี่ยนความคิดเหล่านี้ได้ในรูปแบบที่ยังทำให้เราดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างปกติสุข . ยังไงก็ตาม การปรับตัวเหล่านี้ก็ยังคงต้องอาศัยประสบการณ์ส่วนบุคคล และยังคงสอดคล้องกับคุณค่าในชีวิตที่เรายึดถือ เพราะงั้น มันอาจออกมาในรูปของความสามารถในการอดทนอดกลั้น และสามารถจัดระบบความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของตัวเองในแต่ละสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพในรูปแบบของแต่ละคน และการที่คนคนนึงแสดงว่ามีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์หนึ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความยืดหยุ่นในสถานการณ์อื่นๆ เสมอไป เพราะงั้นความยืดหยุ่นทางจิตใจนี้อาจต้องอาศัยประสบการณ์ที่มากขึ้น และเรียนรู้มากขึ้นไปเรื่อยๆ . สุดท้ายนี้ก็อยากจะเชิญชวนให้ทุกๆ คนมารู้จักยืดหยุ่นกับชีวิตกันบ้าง อะไรที่มากไปก็ไม่ดี อะไรที่น้อยไปก็ไม่ดี สิ่งที่อยู่ตรงกลางของแต่ละคนก็อาจจะต้องใช้ประสบการณ์ในการค้นหาด้วยตัวเองกันบ้าง แต่อาจเริ่มจากการคิดพิจารณาเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เราเชื่อมาตลอดว่านั่นถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง และสุดท้ายเราพบว่าความถูกต้องที่เรายึดถือนั้นอาจไม่มีอยู่จริง และเป็นเพียงกรอบที่กักขังตัวเราเองไว้จากการมีชีวิตที่กลมกลืนกับคนรอบๆ ตัว . เก้าอี้ตัว J เจษฎา กลิ่นพูล
.
. อ้างอิง Aldao, A., Sheppes, G., & Gross, J. J. (2015). Emotion regulation flexibility. Cognitive Therapy and Research, 39(3), 263-278.
Fledderus, M., Bohlmeijer, E. T., Smit, F., & Westerhof, G. J. (2010). Mental health promotion as a new goal in public mental health care: A randomized controlled trial of an intervention enhancing psychological flexibility. American journal of public health, 100(12), 2372-2372.
Forster, N. C., Vinacke, W. E., & Digman, J. M. (1955). Flexibility and rigidity in a variety of problem situations. The Journal of Abnormal and Social Psychology, 50(2), 211.
Johnson, B. T. (2016). The relationship between cognitive flexibility, coping and symptomatology in psychotherapy (Doctoral dissertation, Marquette University).
Kashdan, T. B., & Rottenberg, J. (2010). Psychological flexibility as a fundamental aspect of health. Clinical psychology review, 30(7), 865-878.
Kato, T. (2016). Impact of psychological inflexibility on depressive symptoms and sleep difficulty in a Japanese sample. SpringerPlus, 5(1), 712.
Lemma, A. (2003). Defences and Resistance. In Introduction to the practice of psychoanalytic psychotherapy (pp. 200-229). John Wiley & Sons. Levin, M. E., Hildebrandt, M. J., Lillis, J., & Hayes, S. C. (2012). The impact of treatment components suggested by the psychological flexibility model: A meta-analysis of laboratory-based component studies. Behavior therapy, 43(4), 741-756.
Lloyd, J., Bond, F. W., & Flaxman, P. E. (2013). The value of psychological flexibility: Examining psychological mechanisms underpinning a cognitive behavioural therapy intervention for burnout. Work & Stress, 27(2), 181-199.
Murphy, F. C., Michael, A., & Sahakian, B. J. (2012). Emotion modulates cognitive flexibility in patients with major depression. Psychological medicine, 42(7), 1373-1382.
Qouta, S., El-Sarraj, E., & Punamäki, R. L. (2001). Mental flexibility as resiliency factor among children exposed to political violence. International Journal of Psychology, 36(1), 1-7.
Shedler, J. (2010). The efficacy of psychodynamic psychotherapy. American psychologist, 65(2), 98.
Tchanturia, K., Anderluh, M. B., Morris, R. G., Rabe-Hesketh, S., Collier, D. A., Sanchez, P., & Treasure, J. L. (2004). Cognitive flexibility in anorexia nervosa and bulimia nervosa. Journal of the International Neuropsychological Society, 10(4), 513-520.
Whiting, D. L., Deane, F. P., Simpson, G. K., McLeod, H. J., & Ciarrochi, J. (2017). Cognitive and psychological flexibility after a traumatic brain injury and the implications for treatment in acceptance-based therapies: A conceptual review. Neuropsychological rehabilitation, 27(2), 263-299.
コメント