top of page
ค้นหา

ความฝัน (Dream) - ลวงหลอก (Lie) - ความปรารถนา (Desire)

รูปภาพนักเขียน: Psychologist ChairPsychologist Chair

เมื่อความปรารถนาและความสิ้นหวังเป็นฝาแฝดกัน ความฝัน (ความหวัง) จึงเป็นทางออกสำหรับคนส่วนใหญ่


.


ผมได้ดูซีรี่ย์ “The Sandman” ทาง Netflix จบมาซักพัก และรู้สึกชื่นชอบมาก โดยเฉพาะในช่วงเนื้อหาบทบาทของ “ดรีม” (หรือ มอร์เฟียส) “จอห์น” และ “ดีไซเออร์”


อืม จริงๆ ในระหว่างที่ดูผมก็คิดว่าจอห์นจะกลายเป็นตัวร้ายตลอดทั้งซีซั่นนี้ แต่กลับพบว่าบทบาทของจอห์นต้องจบลงตั้งแต่ใน ep ที่ 5 (น่าเสียดายนิดหน่อย แต่ตอนอื่นๆ ก็สนุกดีเหมือนกันครับ)


สิ่งที่ผมชื่นชอบเกี่ยวกับบทบาทของ 3 ตัวละครนี้ ก็ด้วยเพราะความจำเป็นในการมีอยู่ของแต่ละตัวละครที่สะท้อนปรัชญาชีวิตบางอย่างได้


โดยในเรื่องราวของ the sandman ได้ถูกวางไว้ให้ “ดรีม” (Dream) และ “ดีไซเออร์” (Desire) เป็นพี่น้องที่เหมือนคู่กัดกัน จนทำให้ดีไซเออร์เองเนี่ยแหละที่อาจเป็นคนอยู่เบื้องหลังหรือคอยสังเกตการณ์ให้ชีวิตของดรีมต้องมีประสบพบเจอกับจอห์นแบบลับๆ

(ผมไม่แน่ใจว่าดีไซเออร์มีส่วนในปัญหาของดรีมตรงนี้มากมั้ย แต่ดีไซเออร์ก็ดูจะมองดูอย่างยิ้มเยาะ และเหมือนแอบทำอะไรบางอย่างให้ดรีมตกที่นั่งลำบาก)


ถ้าใครได้ดูซีรี่ย์เรื่องนี้แล้วจะเห็นได้ว่า “ดรีม” เขาคือตัวแทนของ “ความฝัน” ในขณะที่ “ดีไซเออร์” คือตัวแทนของ “ความปรารถนา” และมีฝาแฝดชื่อ “เดสแพร์” (Despair) ที่เป็นตัวแทนของ “ความสิ้นหวัง”

.


ผมอยากพูดถึง “ดีไซเออร์” และ “เดสแพร” ก่อน ผมรู้สึกว่าผู้แต่งวางความสัมพันธ์ของ 2 ตัวละครนี้ได้ดี ความปรารถนาและความสิ้นหวังอาจดูเหมือนสิ่งที่แตกต่างกันอย่างมาก แต่ในมุมมองของนักจิตวิทยาอย่างผม และนักจิตวิเคราะห์อย่าง Adam Phillip เคยพูดถึงเรื่องในทำนองนี้ไว้ด้วยเช่นกันว่า ความปรารถนาก็สามารถนำมาสู่ความทุกข์ใจได้ นั่นเพราะความปรารถนาอาจทำให้เราต้องเผชิญกับการผิดหวัง ไม่สมหวัง ไม่สมปรารถนาได้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเราพูดถึงการใช้ชีวิตในโลกความเป็นจริงที่ต้องพบว่ามีเรื่องมากมายไม่เป็นไปอย่างใจเราปรารถนา


ยิ่งไปกว่านั้น หากเราได้ลองสำรวจประสบการณ์ชีวิตของเราในแต่ละวันอย่างถี่ถ้วน เราอาจพบได้ว่าในเวลาที่เราสมหวังหรือสมปรารถนา ไม่ได้ทำให้ความทุกข์ของเราห่างหายไปแม้แต่น้อย มันอาจลดระดับลงเพียงชั่วครู่ แต่ความกังวลเกี่ยวกับชีวิตที่ยืดยาวของเรายังคงอยู่ ความสิ้นหวังจึงมาเคียงครู่กันเมื่อเราเห็นว่าการสมหวังสมปรารถนาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงครั้งคราวเท่านั้น


ผมคิดว่าเราอาจยกตัวอย่างที่ชัดเจนได้ในกรณีของคนที่ “กลัวการมีความสุข” (Cherophobia) นั่นเพราะเราอาจพบได้ว่าคนเหล่านี้มีมุมมองเกี่ยวกับความสุขคล้ายคติที่ว่า “ยิ่งสูงก็ยิ่งหนาว” หรือ “ยิ่งสูง ตกลงมาก็ยิ่งเจ็บ” นั่นก็เพราะพวกเขาต่างมองเห็นอยู่แล้วว่า ความสุขที่เกิดขึ้นจากความสมปรารถนานั้นเป็นสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน และวันหนึงมันก็จะหายไปเหลือเพียงความทรงจำเท่านั้น จนสุดท้ายจึงอาจส่งผลให้คนเหล่านี้ไม่สามารถรู้สึกเอนจอยกับความสุขที่ผ่านเข้ามาในช่วงเวลาปัจจุบันของพวกเขาได้ แต่กลับจมดิ่งไปกับอนาคต (บางครั้งก็อดีต) ที่ความสุขเหล่านั้นหายไป โดยสรุปแล้ว พวกเขาจึงต้องเผชิญกับความ “สิ้นหวัง” อยู่ลึกๆ ภายในใจของตัวเองแต่กลับเด่นชัดกว่าความปรารถนาที่มีอยู่ในตอนแรก

.


ในจุดนี้ เราอาจเห็นแล้วว่า “ความปรารถนา” และ “ความสิ้นหวัง” มีความสัมพันธ์กันอย่างไร และมีอิทธิพลต่อใจของเราได้อย่างไรบ้าง แต่ความปรารถนากลับเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถละทิ้งไปได้ เช่นเดียวกับการมีอยู่ของดีไซเออร์และเดสแพร์ในเรื่อง the sandman ที่ยังคงต้องมีอยู่เสมอในฐานะของ the endless (ผมคิดว่าที่กลุ่มพี่น้องนี้ถูกเรียกว่า endless นั่นเพราะเราไม่สามารถหาจุดสิ้นสุดของคอนเซปเหล่านี้ได้เลยหากยังคงมีสิ่งมีชีวิตอยู่ในโลก)


ด้วยเหตุนี้ ผมจึงคิดว่าผู้แต่งรู้อยู่แล้วว่า “ความฝัน” หรือ “ดรีม” คือส่วนที่เขามาอุดช่องว่างเล็กๆ ในจิตใจของผู้คน นั่นเพราะหากเราพิจารณาตามแนวคิดความเชื่อที่เรามีเกี่ยวกับความฝัน เช่น ทฤษฎีของ Sigmund Freud แล้ว เราอาจพบได้เลยว่า “ความฝันคือสิ่งที่เติมเต็มความปราถนาลึกๆ ในใจของเรา”


จะเห็นได้เลยว่า เมื่อความฝันสามารถเติมเต็มความปรารถนาของเราได้ในโลกฝัน ความสำคัญของความปรารถนาอย่าง “ดีไซเออร์” ก็หมดลงในช่วงระยะเวลาหนึ่งในทันที และผมคิดว่านี่เองเป็นสาเหตุให้ดีไซเออร์ไม่ชอบหน้าดรีมนัก


นอกจากนี้ เมื่อเราพูดถึงฝันร้าย มันก็อาจไม่ได้ชัดเจนมากนักว่าความฝันประเภทนี้จะช่วยเติมเต็มหรือลดทอนความสำคัญของความปราถนาที่อยู่ของเราลงไปได้อย่างไร โดยเฉพาะในฝันร้ายที่เชื่อมโยงกับเหตุการสะเทือนขวัญในอดีตของผู้ป่วยโรค PTSD ซึ่งเกิดขึ้นอย่างซ้ำๆ แต่การรับรู้ได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นฝันร้ายไม่ใช่ความจริง ก็ช่วยบรรเทาความรู้สึกสิ้นหวัง (despair) ให้กับผู้ที่ฝันได้เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น ในทฤษฎีความฝันของ Freud เองก็เชื่อว่า การฝันร้ายเป็นเหมือนการเตรียมการของจิตใจให้เราเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายและหาทางรับมือได้มากขึ้นหากต้องเผชิญอันตรายในความเป็นจริง รวมทั้งอาจเป็นการแก้ไขความรู้สึกที่ตกค้าง (ปมที่ค้างใจ) ของผู้ฝันในรูปแบบอ้อมๆ อีกด้วย!


ความขัดแย้งของ “ดรีม” “ดีไซเออร์” และ “เดสแพร์” (หลักๆ ยังคงเป็นดรีมกับดีไซเออร์ เพราะเดสแพร์ไม่ได้ถูกลดความสำคัญลงไปมาก หรือต่อให้ฝันร้าย คนเราก็ยังสิ้นหวังกับโลกความจริงได้อยู่) จึงเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นเสมอ และไร้จุดสิ้นสุด (endless) ของพี่น้องเหล่านี้

.


สิ่งที่ผมชื่นชอบในเรื่องนี้คือ การมาถึงของ “จอห์น” ซึ่งเป็นมนุษย์คนธรรมดาที่ริอาจต่อกรกับ the endless อย่างดรีม โดยบทบาทของ “จอห์น” สำหรับผมถือว่าน่าสนใจ นั่นเพราะเขาเป็นคนที่เข้ามาเติมเต็มให้ความขัดแย้งระหว่าง “ดรีม” กับ “ดีไซเออร์” ชัดเจนขึ้น


ในช่วงแรก บางคน (เช่น ผม) อาจไม่เข้าใจว่าทำไมจอห์นจึงจะกลายมาเป็นศัตรูกับดรีม นั่นเพียงเพราะเขาต้องการทับทิมของดรีมเท่านั้นหรอ (ทับทิมคือเครื่องมือที่บรรจุพลังของดรีมไว้ทำให้ความฝันเป็นจริง)


แต่เรื่องราวของจอห์นที่ถูกเล่าออกมา ทำให้เราเห็นว่าเขามีปมกับเรื่องการถูกแม่ของตัวเองโกหก (ไม่บอกความจริง) เกี่ยวกับตัวตนของเขา แม้ในนาทีสุดท้ายที่แม่ยอมเปิดปากบอก และมอบเครื่องรางให้เขาเพื่อช่วยชีวิตเขาไว้ เขาก็ยังคงหมกมุ่นอย่างมากกับเรื่องการโกหกอันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้


ถึงแม้จอห์นจะเจอกับโรสแมรี่ที่บอกเขาว่าคนเราอาจโกหกเพราะพวกเขากลัว แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้จอห์นเปลี่ยนใจไปจากจุดประสงค์แรกที่ต้องการพลังของทับทิมมาทำให้ฝันของตัวเองเป็นจริง ซึ่งฝันที่ว่านั่นคือการทำให้ทุกคนพูดความจริง เป็นตัวเองจริงๆ และในเวลานั้นคือช่วงเวลาที่ความปรารถนาได้รับอนุญาตให้ถูกปลดปล่อยออกมา!

.


ใน ep ที่ 5 (ตอน “24/7”) เป็นตอนที่บอกเล่าถึงโลกที่ความฝันของจอห์นเป็นจริง โดยบอกเล่าผ่านการแสดงให้เห็นภาพสถานการณ์ในร้านอาหารแห่งหนึ่งที่จอห์นเข้าไปนั่ง และขณะเดียวกันก็มีข่าวในทีวีคอยบอกสถานการณ์ข้างนอกที่กำลังเกิดขึ้น


จอห์นใช้เวลาซักพักในการสังเกตการณ์คนในร้านอาหาร และพบว่าพวกเขาต่างมีความลับหรือความคิดความต้องการที่บอกไม่ได้อยู่ จนทำให้คนในร้านอาหารเหล่านั้นมีท่าทีอึกอัก ไม่สบายใจ และแสดงออกอย่าง “ไม่จริงใจ” ต่อกัน ซึ่งแน่นอนว่านั่นเป็นสิ่งที่ขัดกับอุดมการณ์ของจอห์น เขาจึงใช้ทับทิมในการทำให้ทุกคนพูดและแสดงออกอย่างตรงไปตรงมากับความปรารถนา… และในเวลานั้นเองที่หายนะของ ep ที่ 5 บังเกิด


ผมชื่นชอบสิ่งที่ดรีมบอกกับจอห์นว่า “นั่นไม่ใช่การโกหก มันคือความฝัน” และบรรยายว่าคนในร้านอาหารเหล่านั้นมีความฝันอย่างไรบ้าง


สิ่งที่ดรีมแสดงให้จอห์นเห็นคือ ความฝันเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนมี “ความหวัง” และแน่นอนว่ามันต้องขัดแย้งกับความปรารถนาลึกๆ ในเวลานั้นอยู่บ้าง แต่พวกเขาก็ยังคงมีความฝันไว้ใช้บรรเทาความทุกข์ใจ ณ เวลานี้อยู่


“ความฝัน” และ “ความหวัง” กลายเป็นสิ่งเดียวกัน มันทำให้คนเราเลือกที่จะโกหกหรือปกปิดบางสิ่งบางอย่างไว้เพราะเชื่อว่าคงเป็นการดีกว่าหรือจะมีสิ่งที่ดีกว่าเกิดขึ้น (ฝันถึงอนาคตที่ดีกว่าเดิม) ด้วยเหตุนี้ ความฝันจึงกลายเป็นแรงบัยดาลใจให้กับผู้คนพอๆ กับที่มัน “โกหก” หรือ “หลอกลวง” เรา

.


ที่ผมบอกว่าผมชื่นชอบบทบาทของ “จอห์น” ก็เพราะเขาคือตัวแทนของการมาบอกว่าว่า “ความฝันคือสิ่งหลอกลวง” นั่นก็เพราะเมื่อคนเรามีฝัน เราสามารถหลอกลวงความปรารถนาในใจลึกๆ ของเราได้ และหลอกลวงแง่มุมต่างๆ ในจิตใจของเราได้โดยไม่รู้ตัว อย่างเช่นการหลอกลวงความสิ้นหวังให้คนเราได้ลิ้มรสมันในฝันแต่ในขณะเดียวกันก็หลอกล่อให้คนเรารู้ว่า “นั่นก็แค่ฝัน” หรือ “เรียนรู้ว่าจะรับมือกับความสิ้นหวังอย่างไร”


การทำงานของความฝันเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและเข้าข่ายกับการหลอกลวงอย่างถึงที่สุด นั่นเพราะในทฤษฎีทางจิตวิเคราะห์เชื่อว่า หลายครั้งเราไม่ได้ฝันถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งแบบตรงตัว แต่กระบวนการของความฝันกลับมีกลไกของการหลอมรวม ทดแทน และใช้สัญลักษณ์ เพื่อหลอกล่อให้เราห่างจากความหมายที่แท้จริงของความฝัน

(ในศาสตร์จิตวิเคราะห์จึงมีเทคนิคการบำบัดที่ใช้วิเคราะห์และตีความความฝันเพื่อบำบัดรักษาคนไข้ด้วย เนื่องจากเชื่อว่าหากเราสามารถเข้าใจจิตใจของตัวเองได้มากขึ้นแล้ว เราจะพบว่าตัวเองป่วยจากสาเหตุใด และมีทางเลือกใดได้บ้างในการแก้ปัญหาของตัวเอง)


แต่การหลอกลวงของความฝันนี้ก็มีจุดประสงค์แฝงอยู่นั่นคือการปกป้องตัวผู้ฝันในขณะหลับ การเข้าถึงความหมายที่แท้จริงได้ยากขึ้นทำให้จิตใจของเราไม่ต้องแบกรับความตึงเครียดมากเกินไปจนกระทั่งสติแตก และการค่อยๆ ตีความวิเคราะห์ความหมายของฝันก็เป็นสิ่งที่ปลอดภัยต่อตัวผู้ฝันมากกว่าการพูดคุยถึงประสบการณ์สะเทือนใจโดยตรงได้อีกด้วย

.


เจษฎา กลิ่นพูล

K.Therapeutist

ดู 439 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page