top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนPsychologist Chair

ความผูกพันของคนอยากตาย

เวลาที่ได้ยินข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของใครซักคนหนึ่ง ผมมักเห็นความคิดเห็นทำนองว่า “ไม่คิดถึงคนในครอบครัวกันบ้างหรอ?”, “ไม่คิดถึงพ่อ/แม่บ้างหรอ?” หรือ “ไม่คิดถึงคนข้างหลังบ้างหรือไง?” และมองว่าโศกนาฏกรรมเหล่านี้เกิดจากคน “คิดสั้น” คนนึงเท่านั้น . แต่สิ่งที่ผมกลับสงสัยมากกว่าคือ อะไรล่ะที่เป็นปัจจัยนึง? ทำให้พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้คำนึงถึงคนรอบข้างมากนัก โดยเฉพาะคำถามที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ว่า “จริงๆ แล้วรูปแบบของความสัมพันธ์กับคนรอบข้างของพวกเขานั้นเป็นอย่างไร?” . สิ่งนึงที่เราอาจมองข้ามไปในสัมพันธภาพกับคนอื่นๆ คือ รูปแบบของความผูกพันกับคนรอบข้าง ในตัวคนคนหนึ่ง (attachment style) นี่เป็นสิ่งที่อยู่ลึกลงไปในระดับที่เราเองไม่อาจรับรู้ได้ชัดเจนนัก และมันถูกฝังอยู่ในบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล . ความรู้สึกผูกพัน เป็นสิ่งที่มีความซับซ้อนมากกว่าสัมพันธภาพกับคนรอบข้างที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนอย่างการใช้เวลาอยู่ด้วยกันบ่อยๆ การดูสนิทกันมาก ชอบอะไรเหมือนๆ กัน หรือทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ เพราะมันเป็นความรู้สึกหรือประสบการณ์ส่วนบุคคลที่อาจบอกไม่ได้เลยว่า แต่ละคนนั้นรู้สึกผูกพันแตกต่างกันแค่ไหนหรือมีภาพของความสัมพันธ์ในปัจจุบันแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด เสมือนว่าโลกของความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่นั้น มีมุมมองที่ไม่เหมือนกันเลยในแต่ละคน . ยังไงก็ตาม รูปแบบของความรู้สึกผูกพันกับคนรอบข้างอาจแบ่งออกได้อย่างหยาบๆ ได้ 2 รูปแบบ คือ 1) ความรู้สึกผูกพันแบบปลอดภัย (secure attachment style) และ 2) ความรู้สึกผูกพันแบบไม่ปลอดภัยหรือน่ากังวลใจเสมอ (insecure attachment style) .

การมีความผูกพันแบบปลอดภัย (secure attachment style) จะรู้สึกว่าได้รับการยอมรับ รู้สึกว่าความสัมพันธ์นี้ค่อนข้างคงทน มีการให้กำลังใจและสนับสนุนกันอยู่เสมอ และมีความรู้สึกผูกพันใกล้ชิดอย่างมาก ทำให้รูปแบบของความสัมพันธ์ที่ปรากฏออกมาค่อนข้างจะสมดุล ไม่เรียกร้องมากเกินไป และทนอยู่กับความห่างเหินได้ซักระยะ เนื่องจากเชื่อว่าสัมพันธภาพเป็นสิ่งคงทน เชื่อใจได้ แต่ก็จะไม่ห่างกับคนอื่นมากเกินไปเพราะยอมรับว่าตัวเองยังคงต้องการใครซักคนอยู่ดี

. ในขณะที่การมีความผูกพันแบบไม่ปลอดภัยหรือน่ากังวล (insecure attachment style) จะรู้สึกว่าความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเป็นสิ่งที่ไม่มั่นคง ไว้วางใจได้ยาก และกังวลกับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเสมอ จึงขาดความสมดุล และเอนไปทางใดทางหนึ่งในแบบที่พูดถึงก่อนหน้านี้คือ อาจกังวลอย่างมากว่าจะต้องถูกปฏิเสธหรือไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป (anxious attachment style) ทำให้เรียกร้องความสนใจอย่างมาก และยอมทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ถูกทิ้งหรือถูกปล่อยให้ห่างกันซักระยะเดียว แม้ตนเองต้องเป็นคนที่ผิดก็ยอม . หรือในอีกรูปแบบหนึ่งคือ การเลือกปฏิเสธคนอื่นก่อน หรือเลือกที่จะทำเป็นไม่สนใจใครเลย (avoidant attachment style) เนื่องจากไม่ไว้วางใจในความสัมพันธ์กับใครก็ตามเหมือนกัน แต่เลือกที่จะปฏิเสธความต้องการผูกพันใครซักคนนึงอย่างลึกซึ้งของตัวเอง ก่อนที่จะต้องถูกปฏิเสธหรือไม่ได้รับการยอมรับจากคนอื่นในอนาคต . อย่างที่บอกว่า รูปแบบของความผูกพันเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในบุคลิกภาพของแต่ละคน และยากที่จะมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า จริงๆ แล้วคนคนนึงมีมุมมองเกี่ยวกับการที่ต้องใกล้ชิดกับคนอื่นแบบไหน หรือเขากำลังมองความสัมพันธ์ตรงหน้านั้นอย่างไร นี่อาจพอจะเป็นแนวทางนึงในการหันกลับมามองว่า ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกับคนรอบข้างของคนที่คิดฆ่าตัวตายนั้นเป็นอย่างไร? . ในการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า คนที่มีรูปแบบความผูกพันแบบไม่ปลอดภัย (insecure attachment style) นี่แหละที่มักจะพยายามทำร้ายตัวเองและคิดฆ่าตัวตาย นั่นเป็นเพราะความสัมพันธ์สำหรับพวกเขานั้นเป็นสิ่งที่ไม่มั่นคงเพียงพอ เสมือนว่าตนเองไร้ซึ่งที่พึ่งแล้วในโลกนี้เมื่อต้องเผชิญกับปัญหา . ในคนที่เรียกร้องความสนใจมาก ก็ไวต่อการถูกปฏิเสธได้มากเช่นกัน เพราะงั้นการที่จะคิดทำร้ายตัวเองเพื่อให้ได้รับความสนใจจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้สำหรับพวกเขา และถ้าหากถูกทอดทิ้งหรือไม่ยอมรับขึ้นมาจริงๆ ก็ไม่แปลกเลยที่จะเหมือนว่าโลกทั้งใบได้ถูกพังทลายลง ไร้ซึ่งที่พึ่ง และไม่อยากที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป . ส่วนคนที่หลีกหนีการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนอื่นๆ ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เนื่องจากลึกๆ แล้วพวกเขายังคงต้องการความสัมพันธ์ที่ดีอยู่ แต่กลับกลายเป็นว่าโลกทั้งใบนี้ช่างดูโหดร้าย และไม่มีที่ใดเลยที่จะรู้สึกปลอดภัยหรือไว้วางใจใครได้ ฉะนั้นความคิดที่จะฆ่าตัวตายจึงเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน . ถึงแม้รูปแบบความผูกพันจะเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในบุคลิกภาพของคน แต่บุคลิกภาพของเรานั้นก็เป็นสิ่งที่ถูกหล่อหลอมมาจากประสบการณ์ และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน เพราะงั้นการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างในทุกๆ วันจึงเป็นการเรียนรู้มุมมอง ทัศนคติ และความเชื่อเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไปด้วย . ประสบการณ์การทำงานของผมกับผู้ป่วยที่มีความคิดฆ่าตัวตายจำนวนหนึ่งทำให้ผมค่อนข้างแน่ใจว่า ภาพสะท้อนของความผูกพันในความรู้สึกของผู้ป่วยเหล่านั้นไม่ได้มีความสอดคล้องกับความเป็นจริงที่พวกเรามองเห็นเลย ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ใกล้ชิดกับแฟน พ่อ แม่ เพื่อน หรือใครก็ตามที่คนต่างๆ พบเห็นภายนอก แต่เมื่อถามถึงความรู้สึกของพวกเขาเหล่านั้นแล้ว พวกเขากลับรู้สึกว่าจริงๆ แล้วไม่มีใครอยู่เลยต่างหาก เพราะคนอื่นๆ ที่อยู่ด้วยในความเป็นจริง อาจไม่ได้อยู่ด้วยในความรู้สึกของพวกเขาเลยแม้แต่นิดเดียว . การได้มีโอกาสพบเจอกับความสัมพันธ์ที่ดีหรือได้พูดคุยกับใครซักคนที่มีการยอมรับกันอย่างไม่ตัดสิน ให้กำลังใจกันและสนับสนุนกับอยู่เสมอ จนรู้สึกว่าสามารถไว้วางใจได้อย่างแท้จริง อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้ขยับเข้าไปในโลกทางความรู้สึกของพวกเขาทีละนิด และนั่นก็อาจเพียงพอที่จะทำให้ป้องกันการหมกมุ่นกับความคิดที่จะทำร้ายตัวเองได้แล้ว

(อ่านเพิ่มเติมเรื่อง “เพราะอะไรเราถึงชอบไปปรึกษาคนนี้กันนะ” >>> http://www.facebook.com/2015610028712323/posts/2103364993270159/) . แต่ยังไงก็ตาม ความรู้สึกผูกพันก็ยังคงเป็นสิ่งที่อยู่ภายในใจของแต่ละคน และบอกไม่ได้เลยว่า อีกฝ่ายรู้สึกผูกพันกับเราเหมือนที่เรารู้สึกผูกพันกับเขารึเปล่า เพราะงั้นการพูดคุยกันอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความรู้สึก และความต้องการของแต่ละคนอาจเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำเนินไปของความสัมพันธ์อันดี . เก้าอี้ตัว J เจษฎา กลิ่นพูล

.

. อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Attachment theory ได้ที่ >>> http://theoryoflove.space/attachment-style/ . Reference Bostik, K. E., & Everall, R. D. (2007). Healing from suicide: Adolescent perceptions of attachment relationships. British Journal of Guidance & Counselling, 35(1), 79-96.

Falgares, G., Marchetti, D., De Santis, S., Carrozzino, D., Kopala-Sibley, D. C., Fulcheri, M., & Verrocchio, M. C. (2017). Attachment styles and suicide-related behaviors in adolescence: the mediating role of self-criticism and dependency. Frontiers in psychiatry, 8, 36.

Firestone, L. (2013, July 30). How your attachment style impacts your relationship: What is your attachment style?. Psychology Today. Retrieved from https://www.psychologytoday.com/us/blog/compassion-matters/201307/how-your-attachment-style-impacts-your-relationship

Grunebaum, M. F., Galfalvy, H. C., Mortenson, L. Y., Burke, A. K., Oquendo, M. A., & Mann, J. J. (2010). Attachment and social adjustment: relationships to suicide attempt and major depressive episode in a prospective study. Journal of affective disorders, 123(1-3), 123-130.

Stepp, S. D., Morse, J. Q., Yaggi, K. E., Reynolds, S. K., Reed, L. I., & Pilkonis, P. A. (2008). The role of attachment styles and interpersonal problems in suicide-related behaviors. Suicide and Life-Threatening Behavior, 38(5), 592-607.

ดู 90 ครั้ง0 ความคิดเห็น

留言


bottom of page