“น่าเสียดายที่บ้านเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการคุยกันถึงความรู้สึก โดยเฉพาะในครอบครัวนี่ยิ่งไม่ค่อยจะเห็นกันได้ง่ายๆ และนี่ก็มักทำให้เด็กไม่รู้ว่าความรู้สึกพวกนั้นเรียกว่าอะไร และจะต้องทำยังไงกับความรู้สึกพวกนี้”
.
ข้อความข้างต้นเป็นส่วนที่ผมดึงมาจากความทรงจำในการพูดคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาของผม จริงๆ มันเป็นเหมือนข้อสรุปที่ผมได้จากสิ่งที่อาจารย์พูดซะมากกว่า ข้อความดังกล่าวเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงที่มาอันสำคัญอย่างหนึ่งของปัญหาในการจัดการอารมณ์ที่เกิดขึ้น
.
เมื่อเราพูดกันถึงการจัดการอารมณ์แล้ว คนส่วนใหญ่มักนึกถึงการ “จำกัดทิ้ง” หรือการหักห้ามไม่ให้ตนเองมีอารมณ์ความรู้สึก เรามักได้ยินกันเสมอเรื่องของการอบรมสั่งสอนที่ให้อดทนอดกลั้นอารมณ์ทางลบต่างๆ เช่น การห้ามร้องไห้ ห้ามเสียใจ ห้ามอิจฉา ห้ามโกรธ ห้ามเกลียด ฯลฯ
.
แต่การกระทำเช่นนี้บางครั้งกลับส่งผลเสียยิ่งกว่าเดิม เพราะมันเป็นการทำให้เกิดการเก็บกด (repress) ความรู้สึกในระดับจิตใต้สำนึก และเมื่อถูกกระตุ้นในภายหลังอาจทำให้ความรู้สึกต่างๆ ระเบิดออกมาอย่างไม่สามารถควบคุมได้ เพราะไม่เคยเรียนรู้วิธีการจัดการ หรือแม้แต่การจะเข้าใจความรู้สึกที่เกิดขึ้นเหล่านั้น
.
มีความเป็นไปได้อย่างมากที่เรามักจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับอารมณ์ความรู้สึกทางลบในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะมาจากคนอื่นๆ หรือจากภายในตัวเอง เพราะอารมณ์ทางลบเหล่านี้มักส่งผลให้เรารู้สึกทุกข์ทรมานและยากจะจัดการได้ การหักห้ามความรู้สึกพวกนั้นจึงเป็นสิ่งที่ง่ายกว่า แต่แท้จริงแล้ว อารมณ์ความรู้สึกเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด ต่างจากความสามารถทางการคิดอย่างมีเหตุผลที่จะตามมาภายหลัง การหักห้ามอารมณ์ความรู้สึกจึงเหมือนการขัดกระแสน้ำของธรรมชาติ และวันหนึ่งน้ำที่ขังอาจเอ่อล้นออกมา หรือกลับกลายเป็นกระแสน้ำที่ทะลักออกมาอย่างรุนแรงกว่าเดิม
.
Sigmund Freud ผู้ได้คิดค้นวิธีการทำจิตบำบัดแบบจิตวิเคราะห์ได้ค้นพบว่า การพูดคุยเกี่ยวกับอารมณ์ที่ถูกเก็บกดภายในห้องบำบัดที่จัดให้เป็นส่วนตัว จะเป็นการที่เราสามารถใช้ภาษาเข้ามาแทนที่พฤติกรรมตอบสนองที่รุนแรงอย่างไม่รู้ตัวอันมีสาเหตุมาจากอารมณ์ที่ถูกเก็บกดไว้เหล่านี้ได้ ซึ่งเขาได้เปรียบเปรยไว้ว่า “บุคคลแรกที่เริ่มใช้การขว้างปาคำพูดแทนหอกใส่ศัตรูของเขา จะเป็นผู้นำแห่งความมีอารยะ”
.
กระบวนการที่ว่านี้มักถูกเรียกกันว่า “Putting Feeling into Words” หรือการจับยัดเอาอารมณ์ความรู้สึกใส่ลงไปในคำพูด ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ของพัฒนาการทางภาษาและการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลของมนุษย์เข้ามากำกับการแสดงออกทางอารมณ์
.
ในปัจจุบันความสัมพันธ์กันของระบบความคิด การใช้ภาษา และอารมณ์เป็นสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญในความเป็นมนุษย์ โดยอารมณ์ความรู้สึกเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด และถูกค้นพบว่ามีความสัมพันธ์กับทักษะทางการคิดในหลายๆ ประเด็นเมื่อเราโตขึ้น เช่น ความคิดที่บิดเบือนนำไปสู่ความรู้สึกวิตกกังวลหรือซึมเศร้า เป็นต้น (>>https://www.facebook.com/psychologistschairs/posts/2327817857491537?__tn__=K-R) และเมื่อพูดถึงทักษะการคิดของมนุษย์แล้วก็พบว่ามีความสัมพันธ์กับทักษะทางการใช้ภาษาด้วยเช่นกัน จนกล่าวได้ว่า “เราอาจไม่สามารถคิดได้ถ้าไม่มีภาษา”
.
พัฒนาการทางภาษาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อใช้ในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการอยู่รอด และในขณะเดียวกัน การแลกเปลี่ยนข้อมูลกันก็ต้องอาศัยทักษะในการคิดวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่สื่อสารกันอยู่ ดังนั้น การใช้ภาษาเพื่อสื่อสารจึงได้กระตุ้นกระบวนการใช้ความคิดของเราด้วย
.
การพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกด้วยการระบุอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วยคำพูดต่างๆ นั้น ได้กระตุ้นสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคิดวิเคราะห์ของเรา และลดการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ดังนั้น การพูดคุยถึงความรู้สึกจึงเป็นเหมือนการเปลี่ยนการทำงานของสมองบางส่วนให้เราสามารถควบคุมตัวเองได้มากขึ้น รวมทั้งช่วยบรรเทาความรู้สึกและลดปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายที่สัมพันธ์กับอารมณ์ของเราได้
.
ในต่างประเทศมีการสอนเกี่ยวกับคำศัพท์ที่ระบุอารมณ์ความรู้สึกให้กับนักเรียนเนื่องจากมองเห็นถึงความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ การที่เรามีคำศัพท์หรือภาษาที่ใช้เพื่อสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้จำนวนมากจึงเป็นสิ่งที่อาจทำให้เราสามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้อย่างเหมาะสมมากขึ้นเช่นเดียวกัน
.
การเรียนรู้ที่จะสื่อสารทางความรู้สึกอย่างง่ายๆ อย่างสร้างสรรค์ที่มักแนะนำกันคือ การใช้ “I” Message ตัวอย่างเช่น
“ฉันรู้สึก....เมื่อ.... เพราะว่า.... จริงๆ แล้วฉันต้องการ....”
ซึ่งในสถานการณ์จริงหากสามารถเริ่มต้นด้วย “ฉันรู้สึก...” ได้แล้ว ส่วนอื่นๆ ที่อาจจะลดทอนลงเหลือเพียง “ฉันรู้สึก.... เมื่อ....” ก็สามารถช่วยให้ทำความเข้าใจที่มาที่ไปของความรู้สึกเราได้อย่างเป็นระบบระเบียบแล้ว
.
ยังไงก็ตาม การระบุความรู้สึกของตัวเองออกมาเป็นคำพูดหรือภาษานั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์จริง เนื่องจากการที่เราพูดถึงความรู้สึกเหล่านั้นเป็นเหมือนเราเองกำลังยอมรับความรู้สึกที่บางทีเราอาจจะไม่อยากยอมรับมันเท่าไรนัก เช่น ความรู้สึกโกรธ หงุดหงิด ไม่พอใจ เสียใจ เศร้า อาลัยอาวรณ์ อับอาย ขยะแขยง หรือความรู้สึกทางเพศ เป็นต้น เราจึงมักจะกลับไปสู่ความเคยชินในการหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงซะมากกว่า
.
ดังนั้น การฝึกฝนที่จะคิดหรือพูดถึงความรู้สึกของตัวเองเป็นประจำอาจทำให้เราเคยชินกับการฝืนใจเมื่อสถานการณ์จริงมาถึง
.
เราสามารถเรียนรู้ที่จะใช้ “I” message ได้ทั้งในสถานการณ์ที่เราพูดกับตัวเองเพื่อบรรเทาความรู้สึก (อาจใช้การจินตนาการหรือเขียนบันทึก) หรือในสถานการณ์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นก็ได้ แต่ในสถานการณ์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างนั้น สิ่งที่เราอาจจะต้องคำนึงอีกอย่างคือ การใช้ “I” message ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อให้คนรอบข้างเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของพวกเขา แต่เป็นเพียงการยืนยันความรู้สึกของตัวเราเองเท่านั้น นี่เป็นสิ่งที่หลายคนมักเข้าใจผิดว่าเราจะสามารถพูดโน้มน้าวคนรอบข้างได้ แต่ “I” message ไม่ได้มีจุดประสงค์แบบนั้นเลย (cognitive distortion แบบ fallacy of change)
.
ท้ายที่สุดแล้ว การใช้คำพูดหรือระบุคำศัพท์นี้ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องเหมือนกันในทุกคน สิ่งนี้เป็นทักษะที่เราอาจจะต้องเรียนรู้ในการสร้่างเองด้วยเช่นกัน ความรู้สึกนั้นมีระดับที่แตกต่างกัน และเราอาจมีคำศัพท์เฉพาะของตัวเราเองเพื่อนิยามความรู้สึกในแต่ละระดับ (ลองนึกถึงคำศัพท์เกี่ยวกับความโกรธ อาจไล่ไปตั้งแต่ รำคาญ>หงุดหงิด>หัวร้อน>ไม่พอใจ>โกรธ>ของขึ้น>โมโห>ระเบิด ซึ่งแต่ละคนอาจจะไล่ระดับไม่เหมือนกันหรือมีคำศัพท์ของตัวเองที่มากกว่านี้ก็ได้)
.
นอกจากนี้ บางคนอาจไม่สามารถใช้การระบุคำศัพท์ออกมาเป็นคำพูด แต่เรื่องของทักษะทางการใช้ภาษาเพื่อสื่อสารความรู้สึกนั้นอาจปรากฏในรูปของงานศิลปะหรืองานอดิเรกอื่นๆ ก็ได้ เนื่องจากภาษานั้นเป็นรูปแบบของการเรียนรู้สัญลักษณ์ตัวแทนของสิ่งต่างๆ อย่างเช่นอารมณ์ในประเด็นนี้ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่เราอาจใช้การสื่อสารทางอารมณ์รูปแบบอื่นในการจัดระเบียบความรู้สึกของเราได้ เช่น เด็กอาจที่เรียนรู้การใช้สีแดงแทนความโกรธ และสีฟ้าแทนความเศร้า (ศิลปะยังช่วยเสริมทักษะทางภาษาและการคิดด้วย)
.
สำหรับคนรอบข้างที่เข้าใจเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จากที่ผมกล่าวถึงข้างต้นแล้ว ดังนั้น สิ่งสำคัญสำหรับผู้รับฟังหรือรับรู้ความรู้สึกของคนรอบตัวเราคือการคิดเสมอว่า “ความรู้สึกไม่ว่าจะเชิงบวกหรือทางลบล้วนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้”
.
.
.
Reference
Anderson, A. (2017, September 26). How and why the arts support language learning and cognition: A picture is worth a thousand words. Psychology Today. Retrieved from https://www.psychologytoday.com/intl/blog/arts-all-children/201709/how-and-why-the-arts-support-language-learning-and-cognition
Geltner, P. (2012). Emotional communication: Countertransference analysis and the use of feeling in psychoanalytic technique. New York, NY: Routledge.
Good therapy. (2018, February 14). “I” message. Retrieved from https://www.goodtherapy.org/blog/psychpedia/i-message.
Holinger, P. C. (2018, June 13). Putting words to feelings: Verbalization of affects has a major effect on development. Psychology Today. Retrieved from https://www.psychologytoday.com/intl/blog/great-kids-great-parents/201806/putting-words-feelings.
Kahr, B. (2015). Freud: Great thinkers on modern life. New York, NY: Pegasus Book.
Lieberman, M. D., Eisenberger, N. I., Crockett, M. J., Tom, S. M., Pfeifer, J. H., & Way, B. M. (2007). Putting feelings into words. Psychological science, 18(5), 421-428.
Torre, J. B., & Lieberman, M. D. (2018). Putting feelings into words: Affect labeling as implicit emotion regulation. Emotion Review, 10(2), 116-124.
Comments