top of page
ค้นหา

ความกลัวตายที่มากเกินไป

รูปภาพนักเขียน: Psychologist ChairPsychologist Chair

เชื่อว่าทุกๆคนต้องเคยคิดเกี่ยวกับความตาย ไม่ว่าจะเป็นความตายของตัวเองหรือคนรอบข้าง และการคิดถึง ความตาย แน่นอนว่าย่อมทำให้หลายๆคนรู้สึกกลัวขึ้นมา แต่เรารับมือกับมันความกลัวตายอย่างไร หลายๆคนอาจจะเข้าใจและยอมรับได้ว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ และทุกสิ่งก็มีเวลาสิ้นสุดของตัวเอง ทำให้เราอาจจะไม่ได้นั่งนึกถึงความตายหรือกลัวตายบ่อยๆ แต่ก็มีอีกหลายคนที่กังวลและคิดเกี่ยวกับความตายมากกว่าคนอื่นๆ หากคุณเป็นหนึ่งคนที่คิดถึงความตายบ่อยๆ คุณอาจจะเป็นคนที่มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตาย (Death anxiety)

.

ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตาย (Death anxiety) เป็นความวิตกกังวลที่มีผลมาจากความคิดเกี่ยวกับความตายของตัวเองหรือการตายของคนที่รัก เรียกอีกอย่างได้ว่า thanatophobia หรือการกลัวความตาย ซึ่ง Sigmund Freud เป็นบุคคลแรกที่กล่าวถึงและนิยามคำนี้ขึ้นมามองว่า การกลัวความตายสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งในวัยเด็กที่ไม่ได้รับการแก้ไขมากกว่าเป็นความรู้สึกกลัวตายเอง ซึ่งในทางจิตวิทยาก็มีการศึกษาและมีทฤษฎีหลายทฤษฎีที่อธิบายเกี่ยวกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตาย

.

ในยุคหลังๆ ทฤษฎีเกี่ยวกับความตายมักจะอ้างอิงจากพื้นฐานของมุมมองเกี่ยวกับความตายของ Becker (Furer & Walker, 2008) ซึ่งมองว่า

ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตาย เป็นความกลัวที่จริงและอยู่บนพื้นฐานของการรองรับความกลัวและวิตกกังวลในหลายๆรูปแบบ บุคคลที่เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตายอาจจะรู้สึกวิตกกังวลและกลัวมากผิดปกติเมื่อพิจารณาว่าความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งอาจเพราะเคยมีประสบการณ์ กลัวการแยกจาก กลัวการสูญเสีย หรือกังวลเกี่ยวกับการทิ้งคนที่รักไว้ข้างหลัง

.

แล้วเมื่อไรที่ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตายกลายมาเป็นปัญหา?

.

โดยปกติแล้วคนเราสามารถรับมือกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตายได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป Becker มองว่าโดยปกติมนุษย์จัดการควบคุมความวิตกกังวลและความกลัวตายด้วยการปฏิเสธความตายและใช้ชีวิตตามโลกทัศน์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย เช่น ความเชื่อในชีวิตหลังความตาย ความเชื่อว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ หรือการทิ้งสัญลักษณ์ของตนเองให้ยังอยู่สืบไป (เช่น ความสำเร็จของตัวเอง หรือครอบครัว)

.

แต่สำหรับบางคนอาจจะไม่สามารถรับมือกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตายที่เกิดขึ้นได้ อาจเกิดความรู้สึกกลัวตายขึ้นบ่อยๆ มีความวิตกกังวลและความกลัวเกิดขึ้นทันทีที่พูดถึงความตายหรือวิธีการตาย มีอาการแพนิคเกิดขึ้นทำให้รู้สึกวิงเวียน เหงื่อออก อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ นำไปสู่การที่มักจะหลีกหนีจากสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยและความตาย มีความเพลิดเพลินกับชีวิตลดลง และความคิดเกี่ยวกับความตายเริ่มเข้ามาขัดขวางการใช้ชีวิตประจำวันของตน ในทางจิตวิทยาหลายๆครั้งพบว่าความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตายไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่มักมาพร้อมกับปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ เช่น ซึมเศร้า ความวิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ PTSD เป็นต้น

.

การรับมือและการจัดการกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตาย


แน่นอนว่าการรับมือกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตายของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะเกิดความกลัวตายเกิดขึ้นมากกว่าปกติในบางครั้ง แต่ก็สามารถหาหนทางในการรับมือและจัดการได้ด้วยตัวเอง ด้วยการพูดคุยกับบุคคลที่ไว้วางใจ มองความตายด้วยมุมมองความเชื่อตามวัฒนธรรมของตน หรือการใช้ชีวิตให้เต็มที่และมีความหมายก่อนที่จะตาย แต่สำหรับคนที่ไม่สามารถรับมือและจัดการกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตายได้ด้วยตัวเอง การไปพบกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก็เป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถช่วยเหลือได้ ซึ่ง จิตบำบัดแนวความคิดและพฤติกรรมนิยม หรือ CBT (Cognitive Behavioral Therapy) เป็นจิตบำบัด/การให้การปรึกษาที่เน้นไปที่การจัดการกับความคิดและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้เราสามารถจัดการและรับมือกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตายที่นำไปสู่ความกลัวตายได้ โดย 6 ขั้นตอนที่ (Furer & Walker, 2008) แนะนำได้แก่

.

1.การเผชิญกับความกลัว ทั้งในสถานการณ์จริงและจินตนาการ เพื่อให้ค่อยๆลดความกลัวเกี่ยวกับความตายที่เกิดขึ้น

2.ลดพฤติกรรมการแสวงหาความมั่นใจเกี่ยวกับความตายของตน เช่น หมกมุ่นในการสำรวจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของร่างกาย พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ พฤติกรรมด้านสุขภาพที่ผิดปกติ (เช่น การกินอาหารเสริมและการเชื่อเรื่องโชคลาง)

3.ทบทวนประสบการณ์ในชีวิตเกี่ยวกับความตายของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ส่วนตัว หรือการเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความตายของบุคคลอันเป็นที่รักเพื่อช่วยให้สามารถก้าวข้ามและจัดการกับความรู้สึกได้อย่างสมดุล

4.หันเหความสนใจเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินในชีวิต ตั้งเป้าหมายระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อให้สนใจกับเป้าหมายในชีวิต

5.พัฒนารูปแบบการใช้ชีวิตที่มีสุขภาวะที่ดี ลดรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสมที่จะส่งผลต่อความรู้สึกกลัวความตาย

6.วางแผนป้องกันการกลับมาเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตายซ้ำ ด้วยการพัฒนาและเรียนรู้วิธีในการจัดการกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตาย

.

.

.

อ้างอิง

Furer, P., & Walker, J. R. (2008). Death anxiety: A cognitive-behavioral approach. Journal of

Cognitive Psychotherapy, 22(2), 167.

Maria, S. (2017). Death anxiety: The fear that drives us?. Retrived January 10, 2020, from https://www.medicalnewstoday.com/articles/318895.php#1

Timothy, J. L. (2018) What to know about the fear of death. Retrived January 10, 2020, from https://www.medicalnewstoday.com/articles/321939.php

ดู 20 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page