top of page
ค้นหา

ข้ออ้างของโรคซึมเศร้า? หรือจริงๆ แล้วการร้องขอให้คนอื่นเข้าใจตัวเราแทบจะเป็นไปไม่ได้อย่างสมบูรณ์?

รูปภาพนักเขียน: Psychologist ChairPsychologist Chair

.

เรื่องนึงที่น่าสนใจจนผมอยากจะเขียนถึงขึ้นมาคือประเด็นที่เพิ่งผ่านตาไปหลายวันก่อนในหน้าฟีดของผมเอง นั่นคือประเด็นที่แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งกันของคนในสังคมที่ฝ่ายหนึ่งมองว่าเราควรเข้าใจคนที่เป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวชอื่นๆ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็เสนอว่าการเป็นโรคซึมเศร้าไม่ควรถูกนำมาใช้เป็น “ข้ออ้าง” ในการทำสิ่งที่ผิดหรือไม่คำนึงถึงความรู้สึกคนอื่นๆ เช่นกัน

.

ข้อถกเถียงนี้มีมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง และผมก็ได้ฉุกคิดว่า มันมีความผิดพลาดตรงไหนของการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตในสังคมกันแน่? อะไรที่ทำให้โรคซึมเศร้าถูกใช้เป็นข้ออ้าง? และ เราจะสามารถเข้าใจคนที่เป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวชอื่นๆ ได้มากน้อยแค่ไหน?

.


ผมอยากจะเขียนออกมาทั้งในสองมุมมอง แต่ผมจะไม่เขียนมุมมองที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจโรคซึมเศร้ามากนัก นั่นเพราะผมคิดว่าในทุกวันนี้คุณสามารถหาข้อมูลเหล่านั้นได้จากอินเตอร์เน็ตเนื่องจากมีนักวิชาชีพหลายคนที่พยายามพูดถึงเรื่องนี้ และ “ขอให้คนในสังคมเข้าใจคนที่เป็นโรคซึมเศร้า”

.


ผมคิดว่าการร้องขอให้คนในสังคม “เข้าใจคนที่เป็นโรคซึมเศร้า” อาจจะเป็นที่มาของความผิดพลาดในเรื่องนี้ เพราะหากเราพบเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมจริงๆ แล้ว การร้องขอให้ใครซักคนนึงทำบางสิ่งที่พวกเขาไม่เคยทำอาจเปรียบเหมือนการขอให้พวกเขาเปลี่ยนจากสิ่งที่พวกเขาเคยเป็นอยู่มาโดยตลอด และยิ่งเมื่อเป็นการร้องขอให้คนอื่นเกิดความ “เข้าอกเข้าใจกัน” (Empathy) นั่นก็กลับกลายเป็นสิ่งที่ยากมากขึ้นเมื่อเราไม่ได้เข้าใจว่ากระบวนการของการเข้าอกเข้าใจกันระหว่างมนุษย์มีหน้าตาเป็นอย่างไร และละเลยว่าธรรมชาติของมนุษย์เป็นอย่างไร

ผมไม่ได้กำลังบอกว่าการเข้าอกเข้าใจคนอื่นนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ผมต้องการเสนออีกหนึ่งมุมมองที่จะทำให้เห็นความซับซ้อนของการเข้าอกเข้าใจคนอื่นเพิ่มเติม และจะนำไปสู่ข้อสรุปที่ผมคาดไว้ว่า “การร้องขอให้คนอื่นเข้าใจตัวเรานั้นแทบจะเป็นไม่ไม่ได้อย่างสมบูรณ์”

.

.

.


ก่อนหน้านี้ คำว่า “โรคซึมเศร้า” ยังถือเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ คนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าโรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวชต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร มีอาการอย่างไร หรือต้องทำอย่างไรหากมีอาการ (ผมคาดว่าในเวลานั้นหลายคนไม่ได้ต้องการสนใจเรื่องพวกนี้ด้วยซ้ำ) และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้โรคทางจิตเวชอย่างโรคซึมเศร้าได้รับความสนใจขึ้นมานอกเหนือจากข่าวการฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้น ก็เพราะหลายคนเริ่มประกาศตัวออกมาว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้า

.


ณ เวลาที่คนบางกลุ่มเริ่มประกาศตัวว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้า คนในสังคมที่ไม่เคยให้ความสนใจกับเรื่องพวกนี้มาก่อนก็อาจเกิดความประหลาดใจและสงสัยถึงธรรมชาติของมัน ซึ่งเมื่อมองไปที่สาเหตุของการประกาศตัวของคนที่ถูกวินิจฉัยเป็นโรคซึมเศร้าในช่วงเวลาก่อนที่นักวิชาชีพหลายคนจะออกมาให้สัมภาษณ์กันอย่างแพร่หลายแล้ว ณ เวลานั้นการออกมาประกาศตัวอาจเทียบได้กับการพยายามส่งเสียงของกลุ่มคนบางกลุ่มในสังคม และเป็นความพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงในความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ด้วยเช่นกัน


ผมคิดว่านี่สามารถถูกมองภาพได้คล้ายกับการที่พวกเขาออกมาแสดงให้เห็นว่าพวกเขาตกเป็นเหยื่อของสังคมอย่างไรบ้าง เพราะโรคซึมเศร้ามักสัมพันธ์กับประสบการณ์ด้านความสัมพันธ์ของคนที่ถูกวินิจฉัยโรคด้วย

.


ผลที่ตามคือ คนในสังคมเริ่มให้ความสนใจกับโรคเหล่านี้ และมีนักวิชาชีพหลายคนที่เริ่มอธิบายถึงลักษณะอาการของโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชอื่นๆ เพื่อให้คนในสังคมเกิดความเข้าใจกันมากขึ้น แต่ผลลัพธ์อีกด้านในขณะที่สังคมเริ่มรู้จักโรคเหล่านี้มากขึ้นแล้ว ธรรมชาติของกระบวนการทำร้ายเหยื่อก็ยิ่งสลับซับซ้อนมากขึ้นไปอีกขั้น หรืออาจเป็นเพียงแค่การแสดงให้เห็นว่า กระบวนการของการตกเป็นเหยื่อและผู้กระทำมีความเด่นชัดมากขึ้นไปอีก

.


คนที่มีอาการของโรคซึมเศร้าและมีความยากลำบากในความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง มักสัมพันธ์กับการเกิดความรู้สึกว่าตนเอง “ถูกกระทำ” บางอย่างจากคนรอบข้างเหล่านั้น นี่เป็นภาวะของการตกเป็นเหยื่อที่ผมกำลังพูดถึง


แต่เมื่อมีการพยายามสร้างความเข้าใจว่าโรคซึมเศร้าเป็นอย่างไร และคนรอบตัวควรจะเข้าใจบุคคลเหล่านี้ นั่นกลับทำให้กระบวนการของการตกเป็นเหยื่อมีความย้อนแย้งหรือสลับบทบาทกันไปมาเกิดขึ้น และที่เห็นได้ชัดนั่นคือ การที่คนที่ถูกวินิจฉัยเป็นโรคซึมเศร้าสามารถหยิบยกคำว่า “ขอให้เข้าใจ” ออกมาเป็นเหตุผลในการกระทำของตนเองได้

.

การยกเอาคำว่า “ขอให้เข้าใจ” มาใช้ในความสัมพันธ์มักนำมาซึ่งสิ่งที่นอกเหนือจากการร้องขอเพียงอย่างเดียว เพราะขณะเดียวกันก็อาจนำมาซึ่งการทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าตนเองตกเป็นเหยื่อด้วยเช่นกัน


กล่าวคือ จากเดิมที่คนคนนึงไม่ได้จำเป็นต้องเข้าใจคนที่เป็นโรคซึมเศร้า เขากลับต้องมาเข้าใจคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากไม่สามารถเข้าใจและยอมรับพฤติกรรมของคนที่เป็นโรคซึมเศร้าได้ ก็อาจเกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นฝ่ายที่ผิดเนื่องจากไม่สามารถทำตามสิ่งที่อีกคนหนึ่งร้องขอ (รวมไปถึงไม่สามารถทำตามสิ่งที่คนในสังคมร้องขอด้วยคือการเข้าใจผู้ป่วย) ณ เวลาดังกล่าวจึงเป็นการสลับบทบาทกันของความรู้สึกตกเป็นเหยื่อ และสามารถพลิกผันกันไปมาได้หลังจากเวลานั้น จนนำไปสู่ความขัดแยงที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น

.


แล้วถ้าอย่างนั้นทางออกของปัญหาเหล่านี้จะเป็นไปได้ยังไงล่ะ?


ผมคิดว่านั่นอาจทำให้เราต้องย้อนกลับไปที่กระบวนการของการเข้าอกเข้าใจกันก่อนว่ามันมีหน้าตาเป็นอย่างไรกันแน่

.

.

.


การเข้าอกเข้าใจกันของมนุษย์เป็นคุณสมบัติที่ติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิด การศึกษาทางประสาทวิทยาบอกเราว่าคนเรามีเซลล์ประสาทที่เรียกกันว่า mirror neuron ซึ่งเป็นเซลล์ประสาทที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ความรู้สึกของคนอื่น หรือเป็นการเลียนแบบความรู้สึกของคนอื่นภายในตัวเรา นั่นเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าคนทุกคนมีความสามารถนี้อยู่ แต่แล้วทำไมการเข้าอกความเข้าใจคนอื่นถึงเป็นสิ่งที่ยากนัก? และ เพราะอะไรคนเราถึงละเลยที่จะใช้ความสามารถเหล่านี้?

.


สิ่งที่จะพอบอกเรื่องนี้ได้คือเรื่องของความซับซ้อนของจิตใจคนเรา เวลาที่เราจะเกิดความรู้สึกเข้าอกเข้าใจคนอื่นได้อย่างลึกซึ้งจะเกิดขึ้นเมื่อเราสามารถเกิดจินตภาพได้ว่า “ถ้าฉันเป็นเขา/เธอจะรู้สึกยังไง?” นั่นคือภาวะที่เราพยายามนึกภาพตัวเองที่อยู่ในประสบการณ์หรือเรื่องราวของคนอื่น มันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความรู้สึกของคนอื่นอยู่ที่ตัวเรา แต่เป็นความรู้สึกของเราเองที่เกิดขึ้นเมื่อมีการผสานตัวตนของเราเข้ากับประสบการณ์ของคนอื่น (เช่นเดียวกับกระแสประสาท mirror neuron ที่ยังไงก็อยู่ในตัวเรา แล้วเราเลียนแบบความรู้สึกของคนอื่น)


แต่ในกรณีของความรู้สึกของคนที่เป็นโรคซึมเศร้านั้น กลับกลายเป็นเรื่องยากอย่างชัดเจน นั่นเพราะในการเผชิญความรู้สึกซึมเศร้า ความรู้สึกเศร้า หรือความรู้สึกแง่ลบต่างๆ นั้นหมายถึงการเผชิญหน้ากับความรู้สึกเปราะบาง ความอ่อนแอ ความรู้สึกด้อย ไร้ซึ่งพลังอำนาจ ฯลฯ ซึ่งการเผชิญหน้าความรู้สึกเหล่านี้มักทำให้คนเรารู้สึกเจ็บปวด ไม่สบายอกสบายใจ อยากที่จะหลีกหนีออกจากความรู้สึกเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด ดังนั้นคนเราจึงเรียนรู้ที่จะแยกตัวเองออกจากปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์ และเมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็ไม่สามารถที่จะเข้าอกเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นได้

.


นักจิตบำบัดอย่าง Sommerbeck ได้บอกไว้ว่า เวลาที่พบเจอกับคนไข้ที่ยาก หรือคนไข้ที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์อย่างเข้มข้น นักจิตบำบัดอาจเกิดความรู้สึกแปลกแยกทางอารมณ์ คือไม่สามารถเข้าใจกระบวนการทางจิตใจภายในของคนไข้ได้

.


คำกล่าวของ Sommerbeck จึงได้บอกเราว่า การเข้าอกเข้าใจความรู้สึกที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ก็เพราะเราไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกนั้นๆ ได้จริงๆ นอกจากนี้ การเผชิญหน้ากับความรู้สึกซึมเศร้ายังนำมาซึ่งความรู้สึกหมดหวังและหมดหนทางเมื่อได้ฟังอีก

.


นักจิตวิทยาบางคนยังบอกอีกว่า (ผมจำได้ลางๆ ว่ามาจากบทความของอาจารย์คนนึงของผม) ในการเข้าอกเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นหลายครั้งก็ใช้การสะท้อนกับประสบการณ์ของตัวเอง ถึงแม้ว่าประสบการณ์นั้นอาจไม่ได้เหมือนกันซะทีเดียว หรือเป็นเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเหตุการณ์ดังกล่าวก็มีความสอดคล้องและความคลึงกับความรู้สึกที่คนไข้รู้สึกอยู่ได้

.


จากทั้งสองมุมมองนี้กำลังบอกเราว่า การเข้าอกเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นนั้นจะเป็นสิ่งที่ยากมากหากเราไม่เคยมีประสบการณ์ทางความรู้สึกนั้น และความรู้สึกที่เราต้องเข้าอกเข้าใจนั้นเป็นความรู้สึกที่ทำให้เรารู้สึกแย่ไปด้วย


ผมเองที่เป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาแล้ว ยังรู้สึกลังเลในหลายครั้งที่จะบอกว่าผมสามารถเข้าใจความรู้สึกของผู้รับบริการได้จริงๆ (แม้ผมจะบอกพวกเขาว่าผมเข้่าใจเพราะเป็นคำที่พวกเขาอยากได้ยินก็ตาม) ความรู้สึกที่ผมสามารถรู้สึกได้ในการทำงานร่วมกับพวกเขามักเกิดขึ้นมาจากการจินตนาการภาพตามสองลักษณะนี้ที่ผมบอก คือการเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของตัวเอง หรือผสานตัวตนของตัวเองในเรื่องราวของพวกเขา (เช่นคำกล่าวที่ว่า ไปยืนอยู่ในรองเท้า (ตำแหน่ง) ของเขา) แต่ผมก็ไม่ยืนยันว่าผมเข้าใจพวกเขาได้ทั้งหมดอยู่ดี

.


ยังไงก็ตาม การที่เราจะสามารถเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นได้ทั้งหมดหรือไม่อาจไม่ใช่สิ่งที่สำคัญ แต่ผมคิดว่ามันสำคัญกว่าในการที่เราจะเข้าใจว่ามุมมองของเราที่มีต่อความเปราะบางของความเป็นมนุษย์นั้นเป็นอย่างไร


แทนที่เราจะต้องพยายามเข้าใจคนที่เป็นโรคซึมเศร้า เราควรที่จะเข้าใจความเศร้าหรือความรู้สึกซึมเศร้าของเราเองมากกว่า และหาทางจัดการกับให้ได้อย่างเหมาะสม แม้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยเรื่องราวของคนอื่น

.


ผมขอยกกล่าวของ D.W. Winnicott มาเพื่อสนับสนุนเรื่องนี้

“คนไข้ซึมเศร้าต้องการให้นักบำบัดของเขาเข้าใจว่า งานบำบัดของเขาคือการขยายขอบเขตความสามารถในการพยายามจัดการกับความรู้สึกซึมเศร้าของนักบำบัดเอง หรือผมอาจพูดได้ว่า เป็นการจัดการความรู้สึกผิดและความโศรกเศร้าอาลัยที่เป็นผลมาจากส่วนที่ชอบทำลายภายในความรักของนักบำบัดเอง” (1945, p.138)

ผมคิดว่าการร้องขอให้คนอื่นๆ เข้าใจคนที่เป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวชอื่นๆ อาจเป็นคำร้องขอที่แทบจะมากเกินไป เพราะผมคิดว่าไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะเข้าอกเข้าใจความรู้สึกเหล่านั้นได้ ในเมื่อพวกเขายังไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกของตัวเองได้ด้วยซ้ำ


ดังนั้น แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เราอาจชวนกันมาเรียนรู้ความเปราะบางที่มีอยู่ในใจของเราแต่ละคนกันดีกว่า เพราะนั่นอาจจะนำไปสู่การมีความอ่อนโยนมากยิ่งขึ้นทั้งกับตัวเองและคนอื่นๆ

.


สุดท้าย ผมอยากเสริมอีกว่าในสิ่งที่ผมคิดออก ณ ตอนนี้คือ ความปรารถนาให้ใครซักคนเข้าใจตัวเรานั้นอาจไม่ใช่ความปรารถนาที่แท้จริงตั้งแต่แรก เพราะจากประสบการณ์ของผม ผู้รับบริการหลายคนมักมองเห็นความจริงอยู่ว่าคนอื่นไม่สามารถเข้าใจพวกเขาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ (แม้ในตอนแรกพวกเขาจะดึงดันมากแค่ไหนก็ตาม) แต่สิ่งที่หลายๆ คนอาจจะต้องการจริงๆ มากกว่าคือ "การยอมรับ" และนั่นทำให้ผมนึกถึงประโยคหนึ่งที่ผมชื่นชอบมาก และได้ฟังมาจากการให้สัมภาษณ์ของคู่รัก LGBT+ คู่หนึ่งเมื่อนานมาแล้ว แม้จะไม่เป๊ะมาก แต่คือประโยคที่ว่า


“ถ้ารักเขา ก็ให้เข้าใจเขาว่าเขาไม่เข้าใจ”


.

เจษฎา กลิ่นพูล

K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา

.

อ้างอิง

Bonaminio, V. (2012). On Winnicott’s clinical innovations in the analysis of adults. The International Journal of Psychoanalysis, 93(6), 1475-1485.

Sommerbeck, L. (2015). Therapist limits in person-centered therapy. Pccs Books.



ดู 93 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page