.
ผมเคยถกเถียงกับผู้มาปรึกษาคนหนึ่ง (จริงๆ แล้วก็หลายครั้งหลายคน)
ว่าการตัดสินใจในทางเลือกใดๆ 2 ชีวิตนั้นมีเพียง 2 หนทางหลักๆ เท่านั้น
นั่นคือการ "ยอมรับ" หรือ "ไม่ยอมรับ"
แม้ทางเลือกจะมีมากมาย และทางเลือกจะถูกสร้างขึ้นมาได้อีกมากกว่าที่เราคิด
แต่ปลายทางของทุกทางเลือกต้องผ่านการตัดสินใจเช่นนี้ทุกครั้ง
และท้ายที่สุดของการ "ยอมรับ" ทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง นั่นคือความ "รับผิดชอบ"
.
มีผู้ปรึกษาบางส่วนพูดถึงหลักการของการ "งดออกเสียง"
เหตุผลนั้นเรียบง่ายว่า การงดออกเสียงเป็นสิทธิ์ส่วนบุคคลที่พึงกระทำได้
แต่การพูดคุยกันของเรากลับนำไปสู่จุดที่สรุปได้ว่า
การงดออกเสียงนั้นอาจถูกต้องตามหลักการหรือทฤษฎี
แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นเรื่องพึงระวังและไร้ประสิทธิภาพ
ที่ผมต้องสรุปแบบนั้น
เพราะการ "งดออกเลือก" หรือ "ไม่เลือก" เป็นการตัดสินใจที่นำไปสู่หนทางของการ "ยอมรับ" หรือ "ไม่ยอมรับ" ในทางอ้อม
แต่หลายคนกลับมองไม่เห็นถึงจุดนี้ และใช้การบดบังสายตาของตัวเองเป็นเกราะป้องกันจากความรับผิดชอบที่ควรมีอยู่
เราคงบอกได้ว่า
คนที่ไม่ยอมรับว่า "การไม่เลือกก็เป็นการตัดสินใจเลือกไปแล้ว" ก็อาจเป็นคนที่ไม่มีทางมองเห็นว่าตนเองมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการตัดสินใจใดๆ
หรือไม่ ก็อาจบอกได้ว่า
คนที่งดออกเสียง ก็คือคนที่แสดงออกอย่างอ้อมๆ ว่าพวกเขา "ยอมรับ" หรือ "ไม่ยอมรับ" ทางเลือกนั้นๆ แม้พวกเขาจะโยนความรับผิดชอบนี้ให้อยู่ในการตัดสินใจของคนอื่น แต่ความรับผิดชอบก็จะย้อนกลับมาตกที่พวกเขาอยู่ดี
.
เพื่อลดความซับซ้อนของความเข้าใจนี้
ผมคงบอกได้ว่า
"คงไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะอ้างได้ว่า 'ฉันไม่ได้เลือกสิ่งนี้ ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ' จะกลายเป็นสิ่งที่ดูเข้าท่า ในเมื่อ ณ เวลาหนึ่ง เรามีความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจเลือกอย่างชัดเจน"
.
เก้าอี้ตัว J
เจษฎา กลิ่นพูล
Comments