top of page
ค้นหา

การเสียใจทีหลัง และความรู้สึกผิดเมื่อพบกับการสูญเสีย: การรับมือกับความสูญเสียของ “ดิว”

รูปภาพนักเขียน: Psychologist ChairPsychologist Chair

การรับมือกับความสูญเสียของ “ดิว” จาก Music video “ถ้าเธอรักฉันจริง - Three man down”



.

ในช่วงวันหยุดที่ผ่านมาเพลงที่ติดหูผมพอสมควรคือเพลง “ถ้าเธอรักฉันจริง” ของวง Three man down ด้วยทั้งเนื้อหาของเพลงที่สื่อให้เห็นถึงความรู้สึก “กลัวที่จะรักและถูกรัก” อันแฝงอยู่ลึกๆ และปรากฏออกมาในรูปของท่อนฮุกที่ว่า “ถ้าเธอรักฉันจริง ได้โปรดทิ้งฉันไป ได้โปรดเดินหนี ฉันไปให้ไกล อย่ากอดฉันไว้เลย อย่าอยู่กับฉันเลย คนที่ลืมแฟนเก่าไม่ได้แบบฉัน ไม่ควร ได้รับความรักจากใคร” ซึ่งผมคิดว่าบทเพลงนี้คงกินใจหลายๆ คนไม่น้อย

.

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมากพอๆ กับเนื้อหาของเพลงคือ Music Video ที่ปรากฏเรื่องราวสั้นๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ของตัวละครหลักคือ “ต้น”, “ดิว” และ “เบลล์” โดยที่กลุ่มเพื่อนเหล่านี้ต้องพบเจอกับการสูญเสีย “เบลล์” ไป และส่งผลต่อท่าทีในความสัมพันธ์ของ “ต้น” และ “ดิว” มากที่สุด

(รับชม Music Video ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=JBAuRoIRAs8)

.

ท่าทีของ “ต้น” และ “ดิว” ที่เปลี่ยนไปอย่างมากที่สุดคงเป็นอย่างที่หลายคนเข้าใจว่า “ดิวหลงรักต้น” แต่ “ต้นหลงรักเบลล์” และ “เบลล์ก็ (อาจจะ) หลงรักต้น แต่ไม่อยากผิดใจกับดิวจึงพยายามช่วยให้ดิวได้สมหวังกับต้น” แต่เมื่อเบลล์เสียชีวิตลงทั้งที่ความสัมพันธ์ของทั้งสามคนยังไม่ชัดเจนมากพอ ต้นที่รู้สึกเสียใจมากก็เซื่องซึมไปและไม่หัวเราะอีกเลย ในขณะที่ดิวเริ่ม “ทำตัวประหลาด” คือการทำตัวคล้ายเป็นคนตลกในกลุ่มเพื่อนแทนที่ที่เบลล์เคยทำ จนต้นสังเกตเห็นและเริ่มคิดว่าดิวอาจหลงรักตัวเองก็ได้

.

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเรื่องราวของ “ดิว” คือ เมื่อต้นเริ่มคิดว่าดิวหลงรักตนเอง ดิวกลับเลือกที่จะปฏิเสธ และบอกว่าเบลล์ต่างหากที่หลงรักต้น นั่นคล้ายกับการพยายามปิดโอกาสที่ดิวเคยหวังมาตลอดจะให้ต้นรู้ว่าตนเองแอบชอบ และอาจรวมไปถึงการปิดโอกาสที่จะได้สมหวังกับต้นไปด้วย ซึ่งผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ดูจะไม่สมเหตุสมผลเท่าไรหากจะมองเพียงว่าการที่ “ดิว" เลียนแบบพฤติกรรมของ “เบลล์” นั้นมีเพียงจุดประสงค์เดียวคือหวังให้ต้นหันมามองตัวเองแทน เพราะไม่เช่นนั้นคงเป็นการที่ “ดิวพยายามแทนที่เบลล์อย่างตั้งใจเกินไป” และดิวคงไม่เลือกที่จะปฏิเสธว่าตนเองแอบรักต้นมาโดยตลอด ดังนั้น ผมจึงมองว่านี่อาจเป็นภาพสะท้อนหนึ่งที่เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ “การรับมือกับความสูญเสียของดิว” ในความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกเสียใจทีหลัง (regret) และความรู้สึกผิด (guilty) เมื่อพบกับการสูญเสีย

.

เมื่อพูดถึงการสูญเสีย สิ่งที่เราพอจะนึกถึงได้คือ “ความรู้สึกเสียใจทีหลัง” หรือ “Regret” ซึ่งในบางครั้งแปลได้ว่าเป็น “ความรู้สึกเสียดาย” แต่ผมคิดว่านั่นอาจไม่ครอบคลุมเท่าไรเมื่อจริงๆ แล้วมันหมายความถึง "ความเสียใจที่มีให้กับความผิดพลาดที่ผ่านไปแล้ว หรือเรื่องน่าเศร้าที่แก้ไขไม่ได้แต่หวังให้มันดีกว่าที่เป็นอยู่” ดังนั้นเมื่อเกิดความสูญเสียขึ้นเราอาจต่างรู้สึกถึงความเสียใจทีหลังเหล่านี้ราวกับมีบางสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจ และเสียดายที่ไม่ได้ลองทำจนกระทั่งไม่มีโอกาสแล้ว

.

“ดิว” อาจเป็นคนหนึ่งที่ต้องรับมือกับความสูญเสียนี้ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเสียใจทีหลังได้พอสมควรเมื่อความสัมพันธ์ของ “ดิว-เบลล์-ต้น” ยังคงค้างคาอยู่ในใจ หรือไม่ชัดเจนพอว่าสรุปแล้วความสัมพันธ์ของทั้งสามคนจะลงเอยอย่างไรกันแน่หากเบลล์ยังอยู่

.

แต่การรับมือกับความสูญเสียของดิวอาจไม่ได้ง่ายดายเพียงแค่ความรู้สึกเสียใจทีหลังที่เกิดขึ้นในการสูญเสียเท่านั้น แต่อาจปะปนมาพร้อมกับ “ความรู้สึกผิด” หรือ “Guilt” ที่มีต่อความสัมพันธ์ของเบลล์และต้น เนื่องจากดิวเองอาจมีความเชื่อได้ว่าตนเองเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นและเบลล์ไม่ได้สมหวังในความรักด้วยกัน ซึ่งสัญญาณที่ย้ำเตือนดิวเสมอว่าเบลล์และต้นเหมาะสมกันคือการที่ต้นมักมีเสียงหัวเราะจากพฤติกรรมของเบลล์เสมอ และชัดเจนมากขึ้นเมื่อเบลล์จากไปต้นก็ไม่หัวเราะอีกเลย

.

ถึงแม้ความรู้สึกผิดจะดูเหมือนความรู้สึก แต่จริงๆ มันเป็นเหมือนความคิดหรือความเชื่อมากกว่า เนื่องจากมันสัมพันธ์กับมุมมองของเราว่าอะไรผิด/ถูก เช่นในกรณีของดิว เธออาจมีมุมมองต่อการได้สมหวังกับต้นเป็นเรื่องที่ผิดอย่างมากหากว่ามันเกิดขึ้นหลังเบลล์จากไปแล้ว ดังนั้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็น “ความกลัว” และ “ความโกรธ” ที่สัมพันธ์กับความรู้สึกผิดที่ลงโทษเธออยู่เสมอ (punitive guilt) เมื่อคาดหวังว่าตนเองจะได้สมหวังในความรักกับต้น

.

เมื่อทั้งความรู้สึกเสียใจทีหลัง และความรู้สึกกลัวที่จะรักและถูกรัก (หรือรู้สึกผิดที่จะรัก) เข้ามาผสมปนเปกันยิ่งก่อให้เกิดความตึงเครียดทางจิตใจอย่างหนัก ดิวอาจไม่รู้ว่าตนเองจะรักต้นต่อไปได้อย่างไร และอาจยิ่งรู้สึกเจ็บปวดเมื่อตนเองจะสัมผัสกับความรักที่มีให้กับต้นทั้งที่รู้ว่าต้นไม่ได้รักตนเอง และเชื่อว่าเบลล์ควรจะได้สมหวังในความรักกับต้นมากกว่าตน พูดง่ายๆ ได้ว่า ดิวอาจรูัสึกว่าตนเองไม่สมควรได้รับความรักเช่นเดียวกับในเนื้อหาของเพลงนี้

.

เมื่อมาถึงประเด็นนี้ว่าเป็นการรับมือกับความสูญเสียของดิวเป็นส่วนใหญ่ พฤติกรรมเลียนแบบของดิวจึงดูเหมือนจะไม่ได้เป็นการทำไปเพื่อให้ต้นมารักตนเองแทนเบลล์ แต่เป็นการที่ดิว (หรือ ego ของดิว) รับมือกับความตึงเครียดอันมาจากความขัดแย้งภายในจิตใจ (ความรักที่มีให้กับต้น - ความรักที่มีให้กับเบลล์ - ความรู้สึกผิดที่จะได้สมหวังกับต้น - ความรู้สึกเศร้าอาลัยจากการสูญเสียเบลล์ - ความรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์มันชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่) ด้วยการใช้กลไกทางจิตเพื่อพยายามเก็บกด (suppression) ใช้การเลียนแบบ (identification) และทำสิ่งที่ตรงข้ามกับความปรารถนา (reaction formation) ทั้งสิ้น

.

ดิวรับมือกับความขัดแย้งทางจิตที่เกิดขึ้นด้วยการพยายามเก็บกดความปรารถนาที่จะรักและได้รับความรักของตนเองเอาไว้ และพยายามเลียนแบบพฤติกรรมของเบลล์เพื่อให้ต้นกลับมาหัวเราะได้อีกครั้ง ซึ่งในขณะเดียวกัน หากต้นกลับมาหัวเราะได้ตามที่ดิวต้องการ “แต่นั่นก็เป็นเพราะตัวตนของเบลล์ ไม่ใช่เพราะตัวตนของดิว” (external world จะสอดคล้องกับแฟนตาซีของดิว และการพยายามเก็บกดของเธอก็จะสมบูรณ์) ซึ่งเป็นการประนีประนอมเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างความปรารถนาของ id (love) และศีลธรรมของ superego (guilt) ไม่ให้ดิวเกิดความรู้สึกเจ็บปวดจนเกินไป

.

ยังไงก็ตาม การรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยกลไกทางจิตของดิวไม่สมบูรณ์ เนื่องจากต้นสังเกตเห็นถึงความ “ประหลาด” ของดิว อันเรียกได้ว่าคือความไม่จริงแท้ (non-genuine) หรือไม่สอดคล้องกัน (incongruence) ในตัวตนของดิว และก็นำมาสู่สถานการณ์ที่ต้นขอให้ดิว "เลิกทำตัวตลก” (หรือเลิกทำตัวเหมือนเบลล์) ซึ่งถือได้ว่าเป็นการท้าทายการกลไกทางจิตด้วยการเลียนแบบของดิว และถึงแม้ว่าดิวจะพยายามปฏิเสธความรู้สึกของตัวเองแต่นั่นก็ทำให้เธอต้องสัมผัสกับความรู้สึกที่พยายามเก็บกดไว้อีกครั้ง (รัก-กลัว-โกรธ-เสียใจ)

.

ท้ายที่สุดผมคิดว่าเราคงไม่รู้ว่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของดิวกับต้นจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่เราได้เห็นภาพรวมของการยอมรับการจากไปของเบลล์ในทั้งสองคนได้อีกครั้ง ทั้งคู่ต่างยอมให้ตัวเองได้สัมผัสกับความเศร้าอาลัย (grief) ได้ในที่สุด (ดิวได้ร้องไห้อย่างพรั่งพรูไปพร้อมกับต้น และไม่ทำตัวตลกๆ ขณะที่ซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซต์ของต้นอีก)

.

เจษฎา กลิ่นพูล

K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา

ดู 12 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page