“มันไม่ควรจะมีอะไรก่อนอะไรหลัง เมื่อเราเริ่มเปลี่ยนตัวเองแล้ว ตอนนั้นก็คือเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมแล้ว”
.
นี่เป็นคำที่ผมสรุปมาจากคำพูดของคุณสมภพ แจ่มจันทร์ นักจิตวิทยาการปรึกษา ที่กล่าวตอบคำถาม ณ งานประชุมวิชาการสมาคมจิตวิทยาการปรึกษา ในหัวข้อ “ก้าวผ่านม่านหมอกบางๆ ของความซึมเศร้าสู่ความเป็นจริงที่งดงามของโลกและชีวิต” เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา ในประเด็นที่ว่า “การเปลี่ยนแปลงสังคม เริ่มต้นที่ตัวเราเองใช่หรือไม่?”
.
ในคำตอบของคุณสมภพนั้นเรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง ลึกซึ้งซะจนผมอดคิดไม่ได้ว่าบางคนอาจนึกภาพไม่ออกว่า “การเปลี่ยนแปลงตัวเองของเรานั้นส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของคนรอบข้างได้อย่างไรกันแน่?”
.
พื้นฐานที่สุดแล้วอย่าลืมว่า ตัวเรานั้นก็คือส่วนหนึ่งของสังคมที่เราอยู่ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเราเอง นั่นก็คือเกิดการเปลี่ยนแปลงเล็กของสังคมขึ้นมา แต่การเปลี่ยนแปลงของตัวเราเองนี้อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของคนรอบข้างได้ด้วยแนวคิดที่ว่า การกระทำของคนคนหนึ่งจะเป็นตัวแบบของการกระทำของคนอื่นๆ
.
การเลียนแบบในบางครั้งเป็นการเกิดขึ้นระดับที่เราไม่รู้ตัว หรือเรียกได้ว่ามันเกิดขึ้นในโลกที่ไร้ซึ่งขอบเขตจิตสำนึกของตัวเรา ในทางจิตวิทยาเรียกกระบวนการเลียนแบบในระดับจิตใต้สำนึกนี้ว่า “กระบวนการนิยามตัวตน” (identification)
.
กระบวนการนิยามตัวตนหรือการเลียนแบบในระดับของจิตใต้สำนึกนี้ โดยทั่วไปมองภาพได้ง่ายกว่าเมื่อเราพูดถึงเด็กเล็กๆ ที่เลียนแบบพฤติกรรม ทัศนคติ ความคิด ความฝัน การจัดระเบียบอารมณ์ความรู้สึก การสื่อสาร ทักษะทางสังคม ฯลฯ จากผู้ที่เลี้ยงดูตนเอง เด็กจึงมักมีบุคลิกภาพที่คล้ายคลึงกับผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดูมาในบางส่วนโดยไม่รู้ตัว (และบางครั้งเมื่อเด็กโตขึ้นอาจเกิดความขัดแย้งในจิตใจเรื่องความพยายามมองหาอัตลักษณ์ของตัวเอง)
.
แต่ในตอนนี้เราคงมองเห็นภาพเพียงแค่กระบวนการนิยามตัวตนแบบเดียว นั่นคือการเลียนแบบที่สังเกตเห็นและรับเอาเข้ามาจากคนอื่นๆ เสมือนว่า กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติอย่างไม่สามารถควบคุมได้ ถ้าคนรอบข้างเราโน้มเอียงไปทางใด เราก็คงจะโน้มเอียงไปทางนั้นแน่ๆ
.
แต่ในมุมมองของนักจิตวิเคราะห์อย่าง Melanie Klein กลับพบว่า กระบวนการนิยามตัวตนแบบนึงเกิดขึ้นเหมือนกลไกการป้องกันตัวเองทางจิต นั่นคือ การนิยามตัวตนแบบโยนออก (projective identification) พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ เป็นการโยนเอาคุณลักษณะหรืออารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ต้องการของตัวเองไปใส่ให้คนรอบข้าง และเมื่อคนที่รับเอาไปนั้นเกิดความรู้สึกหรือมีปฏิกิริยาบางอย่างที่ตรงกับสิ่งที่ถูกโยนไปให้ก็ถือว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิดกันโดยสมบูรณ์ว่านี่เป็นคุณลักษณะที่ไม่พึงประสงค์อย่างแท้จริง
.
ยังไงก็ตาม กระบวนการนิยามตัวตนแบบโยนออกนี้มีรายละเอียดที่ซับซ้อนพอสมควรในการอธิบาย แต่ในการนำมาใช้เพื่ออธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงของตัวเราเองส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมยังไงได้บ้าง ผมจึงขอยกข้อสรุปของนักจิตวิเคราะห์ Roger Money-Kyrle มาอธิบายได้ว่า กระบวนการนิยามตัวตนหรือการเลียนแบบนั้น เป็นกระบวนการที่มีทั้งการรับเข้า (introjective) และโยนออก (projective) เพราะฉะนั้น เมื่อคนคนหนึ่งพูด อีกคนหนึ่งก็จะเกิดกระบวนการรับเข้า และท่าทีของคนที่รับฟังนั้นก็จะเป็นกระบวนการที่โยนออกอีกครั้ง ดังนั้น กระบวนการนิยามตัวตนหรือการเลียนแบบจึงเป็นกระบวนการที่มีลักษณะแบบโยนรับกันไปมาเพื่อเรียนรู้ว่าอีกฝ่ายจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อความรู้สึกที่ไม่พึงปรารถนาเหล่านั้น
.
ตัวอย่างให้เห็นชัดที่สุดในเรื่องนี้ ผมขอยกเป็นเรื่องของความเกลียดชังหรือความโกรธแค้น เพราะคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและส่งผลร้ายแรงมากที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปนานเกินเยียวยาได้
.
ความเกลียดชังหรือความโกรธแค้นเป็นความรู้สึกเชิงลบที่รุนแรงและคนส่วนใหญ่ไม่พึงปรารถนาอย่างมากที่จะมีอยู่ในจิตใจ รวมทั้งเราต่างก็ยากที่จะรู้ได้ว่าจะต้องจัดการความรู้สึกเหล่านี้อย่างไร เราจึงสามารถเห็นการโยนรับของความเกลียดชังได้ผ่านการสื่อสารในชีวิตประจำวัน เมื่อคนหนึ่งมีความโกรธเกลียดเกิดขึ้นในใจและไม่สามารถอดทนอดกลั้นได้ ก็จะเกิดการเหนี่ยวนำ(โยน)ให้คนรอบข้างเกิดความรู้สึกเช่นเดียวกันด้วยเพื่อสังเกตว่าคนเหล่านั้นจะมีพฤติกรรมอย่างไรต่อความเกลียดชังนี้ (อาจเป็นการด่าทอที่มีเป้าหมายเดียวกัน หรืออาจเป็นการด่าทอสร้างความเป็นศัตรูกันก็ได้ ในกรณีหลังคือเกิดความรู้สึกเดียวกันแม้เป้าหมายต่างกัน)
.
ประเด็นสำคัญสำหรับการทำลายวงจรการโยนรับความรู้สึกที่ตัวเองไม่ต้องการนี้จึงเป็นเหมือนข้อสรุปว่า สุดท้ายแล้วใครจะอดทนอดกลั้น กักเก็บ (contain) และยอมรับความรู้สึกเหล่านี้ได้มากกว่า และนั่นคือการกลับมาที่การเปลี่ยนแปลงตัวเอง (อย่าลืมว่าเมื่อคุณเปลี่ยน การกระทำของคุณก็จะเป็นตัวแบบให้คนอื่นๆ แม้จะไม่รวดเร็วนัก)
.
ผมคงไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนนักว่าการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองมีขั้นตอนทางลัดอย่างไร เพราะสำหรับแง่มุมทางจิตวิทยาแล้วเป้าหมายสำคัญคือความมีสติรู้ตัวมากกว่าว่า ในขณะนั้นคุณกำลังรู้สึกอย่างไร? คิดอะไร? และจะตัดสินใจยังไง? หากคุณสามารถตระหนักรู้หรือตั้งสติได้อย่างรวดเร็วว่าคุณกำลังถูกกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกหรือมีพฤติกรรมบางอย่างที่คุณไม่พึงปรารถนาอย่างไร มันก็เสมือนว่าคุณสามารถกำหนดทางเลือกของตัวเองได้ว่าอยากให้สิ่งที่อยู่ตรงหน้ามันออกมาแบบไหนเมื่อคุณได้พยายามทำความเข้าใจมัน (บางทีนี่คงเหมือนการเรียนรู้ที่จะปล่อยวางในปลายทางสุดท้าย)
.
.
Reference
Casement, P. (2013). On learning from the patient . New York, NY: Routledge.
Comentários