top of page
ค้นหา

“การุณยฆาต” ว่าด้วยเรื่องการตายอันแสนสุขในมุมมองนักจิตบำบัด: การแบ่งเบาภาระทางใจภายใต้ความขัดแย้ง

รูปภาพนักเขียน: Psychologist ChairPsychologist Chair

อัปเดตเมื่อ 25 มิ.ย. 2566

(หมายเหตุ: บทความนี้ยาวและอาจยากต่อความเข้าใจในบางประเด็น)

.


การุณยฆาต หรือ Euthanasia เป็นคำที่มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ ’eu’ แปลว่า ดี และ ‘thanatos’ แปลว่า ความตาย ซึ่งแปลรวมกันอย่างสั้นๆ ได้ว่าเป็นการตายดีหรือตายสงบ แต่ที่มักพูดถึงกันจะสื่อถึง การร้องขอเพื่อจบชีวิตด้วยตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แทนที่จะเป็นการตายจากอุบัติเหตุ โรคร้าย หรือการแก่ชรา


ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า การนิยามความหมายของการุณยฆาตนั้นแตกต่างจากการฆ่าตัวตาย (suicide) แม้เป็นความตั้งใจจบชีวิตด้วยตนเองในแบบเดียวกัน โดยการทำการุณยฆาตจะเป็นการร้องขอความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์เพื่อยุติความทรมานของชีวิตแทนที่จะทำด้วยตัวเอง


ยังไงก็ตาม ประเด็นการุณยฆาตถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจในด้านการถกเถียงเนื่องจากสร้างความลำบากใจไม่น้อยให้กับนักวิชาชีพที่ปกติจะคอยให้การช่วยเหลือคนอื่น (ผมเองก็คนหนึ่งแหละ) แม้ว่านั่นจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนาเลย (ไม่ใช่เรื่องบาปกรรม)


แต่การช่วยให้คนหนึ่งต้องเดินไปบนเส้นทางที่ไม่อาจย้อนกลับได้ เป็นเรื่องที่ต้องเช็คจนแน่ใจแล้ว

.


ในเนเธอแลนด์ มีเกณฑ์สำหรับการทำการุณยฆาต อยู่ว่า

1. ผู้ป่วยต้องเป็นฝ่ายอาสา โดยมีความอดทนต่อบางสิ่ง (โรค) มาเป็นระยะเวลานานและพิจารณามาเป็นอย่างดีแล้ว

2. ความเจ็บป่วยของผู้ป่วยจะต้องไม่มีทางรักษาหายขาดและไม่สามารถอดทนต่อไปได้

3. ผู้ป่วยจะต้องได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ของตน และอนาคตที่คาดหวังได้ อย่างดีเพียงพอแล้ว

4. ทุกๆ ทางเลือกเพื่อช่วยเหลือดูแล จะต้องหมดสิ้นหนทาง หรือถูกปฏิเสธจากผู้ป่วย


ข้อกำหนดเหล่านี้ ก็เพื่อให้มองได้ว่าเป็น ‘การฆ่าตัวตายอย่างมีเหตุผล’ (rational suicide)’ ที่สุด


อย่างไรก็ดี หากเราดูจากเกณฑ์เหล่านี้แล้ว ก็เหมือนจะฟังขึ้นว่า “การช่วยให้คนคนหนึ่งได้จากไปอย่างสงบอาจดีกว่าให้พวกเขาเหล่านั้นต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างทรมาน” โดยเฉพาะสำหรับคนที่ป่วยโรคร้ายแรงและอาจเสียชีวิตเมื่อไรก็ได้


แต่ในบทความนี้ ผมจะมาพูดถึงเรื่องการทำการุณยฆาตในกรณีของผู้ป่วยจิตเวชหรือคนที่มีปัญหาทางจิตใจมากกว่า เพราะการร้องขอเพื่อทำการุณยฆาตในกรณีของผู้ป่วยจิตเวชดูจะเป็นเรื่องยากพอสมควรในการหาข้อสรุป แต่สำหรับคนที่มีอาการซึมเศร้าแบบเรื้อรัง ก็อาจจะหันมาสนใจเรื่องการทำการุณยฆาตได้เพราะรู้สึกอย่างแรงกล้าว่าต้องทุกข์ทรมานกับการดำรงอยู่ในแต่ละวัน

.


ยังไงก็ตาม เมื่อเราพูดถึงในกรณีขอปัญหาทางด้านจิตใจแล้ว กลับพบว่ามันมีโอกาสมากกว่าครึ่งที่แม้แต่ผู้ป่วยใกล้ตายจากโรคร้ายแรง จะเกิดการเปลี่ยนใจเมื่อเริ่มมองเห็นว่าอาการของพวกเขาค่อยๆ ดีขึ้น และได้รับการซัพพอร์ตทางจิตใจ


ขณะเดียวกัน คนที่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จก็มีโอกาสจะรู้สึกยินดี/ดีใจ ที่การพยายามฆ่าตัวตายของพวกเขาล้มเหลวหลังจากผ่านพ้นช่วงเวลานั้นไปได้


ขณะเดียวกัน ผมก็ได้ไปเจอบทสัมภาษณ์ของ นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้า ซึ่งเขาเคยแสดงความกังวลในบทสัมภาษณ์ของ The Matter คล้ายๆ กันว่า

1) การทำการุณยฆาตอาจไม่ใช่สิ่งที่ผู้ป่วยต้องการอย่างแท้จริง แต่เป็นสิ่งที่พวกเขาคิดขึ้นมาเพราะยังไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอต่างหาก

2) การุณยฆาตอาจเกิดจากปัจจัยอื่น เช่น ผู้ป่วยรู้สึกว่าเป็นภาระของคนอื่น ซึ่งอาจไม่ตรงตามวัตถุประสงค์หลักของการุณยฆาตตั้งแต่แรก และ

3) สังคมอาจเกิดสภาวะ slippery slope หรือการที่หมอเริ่มลดข้อจำกัดของผู้ป่วยที่สมควรทำการุณยฆาตลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นสภาวะที่ ‘หยุดไม่อยู่’ ก็ได้


พอมองจากความน่ากังวลเหล่านี้แล้ว ก็ถือได้ว่าการทำการุณยฆาตยังคงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันอยู่มากจริงๆ

.


ยังไงก็ตาม คราวนี้ถ้าพูดถึงในมุมมองของนักจิตบำบัดต่อการทำการุณยฆาต ก็อาจพบได้ว่าปัจจัยทางจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ได้แก่

1. ความกลัวที่จะต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่น

2. ความรู้สึกสูญเสียความสามารถในการพึ่งพาตัวเองไป

3. ความรู้สึกเสียศักดิ์ศรีหรือเกียรติยศในตัวเอง

4. ความรู้สึกว่าการมีชีวิตอยู่ของตนเป็นภาระสำหรับคนอื่น

5. ความรู้สึกห่างเหินจากสังคม

6. ความรู้สึกสูญเสียการควบคุมในชีวิต


โดยเมื่อเราดูจากปัจจัยทางจิตวิทยาเหล่านี้ อาจฟังดูเหมือนง่ายที่จะตัดสินใจเพื่อหาทางบรรเทาความรู้สึกต่างๆ เช่น ความกลัวที่จะต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่น ซึ่งความหมายรวมไปถึงความกลัวที่จะต้องรับความช่วยเหลือดูแลจากคนรอบข้าง แต่ในปัจจัยทางจิตวิทยาเหล่านี้อาจมีความขัดแย้งในระดับจิตไร้สำนึก (unconscious) อยู่ไม่มากก็น้อย จนสามารถถูกบดบังด้วยเหตุผลมากมายที่ฟังขึ้นของการเลือกจบชีวิตตัวเองเสียดีกว่าจะทำให้คนอื่นต้องมาลำบากดูแลตน

.


เพื่อให้เข้าใจได้ว่า ความตั้งใจร้องขอเพื่อทำการุณยฆาตอาจมีแรงจูงใจที่มาเป็นอย่างไร และจะสามารถช่วยเหลือผู้ที่กำลังคิดถึงทางออกนี้ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนยังไงได้บ้าง ในมุมมองของนักจิตบำบัดก็อาจต้องวิเคราะห์กระบวนการทางจิตใจของคนที่อยากตายเสียก่อน ซึ่งรวมไปถึงคนที่คิดฆ่าตัวตายด้วย


พอเราพูดว่า “ใครซักคนหนึ่งอยากที่จะตายมากกว่าอยากจะมีชีวิต” แล้วรู้สึกว่ามันเป็นประโยคที่ดูขัดๆ กันกับความรู้สึกของเรา นั่นก็อาจเพราะในทางจิตวิทยาแล้วมันมีความขัดแย้งของเรื่องนี้มาโดยตลอด เพียงแต่การใคร่ครวญถึงความหมายของชีวิตและความตายนั้นห่างไกลออกไปจากการรับรู้ของเราจนกว่าจะถึงเวลาให้ย้อนกลับมาคิดถึง เช่น เมื่อเผชิญความทรมานอย่างแสนสาหัสจนเกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับการดำรงอยู่อย่างทรมานก็อาจอดไม่ได้ที่จะคิดถึงความตายขึ้นมาอีกครั้งว่าอาจเป็นหนทางแห่งความสงบ เป็นต้น


ยังไงก็ตาม การคิดที่จะจบชีวิตตัวเองนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายที่คิดแล้วทำได้เลย เพราะในทฤษฎีจิตวิเคราะห์เชื่อว่า คนเรามีความขัดแย้งทางจิตใจกันอยู่ในเรื่องของสัญชาตญาณแห่งชีวิตและสัญชาตญาณที่มุ่งหาความตาย และด้วยความขัดแย้งทางจิตใจนี้ ก็นำมาสู่ความวิตกกังวลพื้นฐานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับชีวิต คือ “ความกลัวตาย” (fear of death)


นักจิตเคราะห์ทั้ง Sigmund Freud, Melanie Klein หรือ Wilfred Bion เชื่อว่า ความกลัวของเราที่มีต่อความตายเหล่านี้ มักเป็นต้นกำเนิดของความวิตกกังวลทางจิตใจต่างๆ และเราก็หาทางที่จะต่อสู้กับมันด้วยการปกป้องตัวเองทางจิต ตัวอย่างเช่น มีโอกาสอย่างมากที่เราจะคิดว่าตัวเองมีชีวิตยืนยาวหรือเป็นอมตะ, รู้สึกว่าตนเองมีอำนาจควบคุมสิ่งต่างๆ ในชีวิต, หรือไม่ก็ จินตนาการถึง “พระผู้ช่วยผู้ยิ่งใหญ่” หรือ “พระเจ้า” (an ultimate rescuer) ที่มาโปรดให้บรรเทาจากความกลัวตายในจิตไร้สำนึก


ทั้งหมดนี้เป็นการยืนยันสมมติฐานว่า ความกลัวตายเป็นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่ เพื่อรับมือกับความขัดแย้งทางจิตใจที่อยากตายในบางครั้ง แต่ก็ต้องประหลาดใจว่าทำไมเราจึงยังคงหาทางมีชีวิตอยู่ต่อไปมากกว่าจะเชื่อฟังสัญชาตญาณแห่งความตายในทันที ซึ่งจิตใจของเราก็บรรเทาความกลัวตายเหล่านั้นด้วยการปฏิเสธ ไม่คิดถึง หรือมองข้ามความตายไป และบางครั้งก็เป็นการจินตนาการถึงโลกหลังความตายแทนเนื้อหาสาระของการตายด้วย

.


ยังไงก็ตาม การคิดฆ่าตัวตายและการทำการุณยฆาตก็อาจจะไม่ได้รับมือกับประเด็นของความตายและความกลัวตายในรูปแบบเดียวกันนี้อีกต่อไป แต่อาจใช้การปกป้องตัวเองด้วยแนวทางอื่นแทนที่จะบอกปัดสาระของความตายที่ปกติแล้วคงทำให้เรารู้สึกกลัว (ผมขอสรุปว่า แทนที่เราจะต่อสู้กับความตาย กลายเป็นการต่อสู้กับความกลัวตายแทน)


Felix Deutsch (1936) นักจิตวิเคราะห์คนหนึ่งได้เสนอมุมมองว่า จริงๆ แล้วแม้แต่การคิดถึงคอนเซปของการุณยฆาตนี้ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งการปกป้องตัวเองทางจิตของมนุษย์จากความกลัวตายขั้นพื้นฐานด้วยเหมือนกัน


โดยมันหมายความว่า ในขณะที่เราอาจมีความกลัวตายอยู่ลึกๆ เป็นพื้นฐานของจิตใจและสัญชาตญาณ แต่จิตใจของเรากลับรับมือกับความขัดแย้งระหว่างการเลือกมีชีวิตอยู่หรือเลือกความตาย ด้วยการมองหา “ความตายที่เป็นสุข” หรือ การ “ตายดี” ขึ้นมา เพื่อรับมือกับสัญชาตญาณของความกลัวตายนั่นเอง


Deutsch กล่าวว่า “การุณยฆาต (การคิดถึงความตายที่เป็นสุข) ปรากฏตัวขึ้น เมื่อความก้าวร้าวทั้งหมดสงบลง เมื่อความกลัวตายถูกปฏิเสธ และเมื่อไม่มีเหตุผลที่จะถามหาความรู้สึกผิดอีกต่อไป”


โดยในความหมายของเขาคือการแสดงให้เห็นว่า


มันมีการต่อสู้กันเองภายในจิตใจของคนที่อยากตาย ซึ่งตามปกติแล้วสัญชาตญาณของความตายจะพ่วงมาด้วยแรงขับของความก้าวร้าว (เพื่อให้ออกแรงกระทำ) ที่หันเข้าใส่คนอื่น (เพื่อฆ่า) หรือตัวเอง (เพื่อทำร้ายตัวเอง) และยังมีองค์ประกอบของความรู้สึกผิด (ต่อคนอื่นและตัวเอง) รวมทั้งความกลัวต่อประเด็นตายเกิดขึ้นอยู่เสมอ (เพราะขัดแย้งกับเจตจำนงของการมีชีวิตและให้ชีวิต)


แต่สำหรับคนที่อยากตายจนสามารถคิดถึง “ความตายที่เป็นสุข” ได้นั้น แรงขับของความก้าวร้าวที่ควรมีอยู่อาจถูกทำให้สงบลงหรือไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาในใจอีกแล้วว่ามีอยู่ (ไม่อยากทำร้ายใครทั้งนั้น) และการคิดว่าจะต้องมารู้สึกผิดกับใครหรืออะไรก็ไม่ใช่สาระสำคัญอีกต่อไป รวมทั้งความกลัวตายตามสัญชาตญาณพื้นฐาน ก็อาจถูกปฏิเสธออกไปจากการรับรู้เพื่อปกป้องตัวเองอีกด้วย

(จิตใจของคนคนนั้นกำลังปกป้องตัวเองจากอารมณ์พื้นฐานอย่างเช่นความโกรธเกลียด ความก้าวร้าว ความรู้สึกผิด และความกลัว ด้วยการไม่เผชิญหน้าหรือยอมรับอารมณ์เหล่านั้นที่สร้างความทรมานให้กับจิตใจ)


ดังนั้นสำหรับ Deutsch แล้ว การร้องขอการทำการุณยฆาตจึงเปรียบเสมือนการปกป้องตัวเองจากความปวดร้าวของความตาย จากการส่งต่อความก้าวร้าวไปยังคนอื่นและตัวเอง และจากการรู้สึกผิดที่จะฆ่าตัวตายด้วย

.


นอกจากนี้ เนื่องจากการที่เรามักพบว่าคนที่อยากตายอาจมีความกลัวต่อการรู้สึกเป็นภาระให้กับคนอื่น กลัวที่จะต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่น หรือแม้แต่คิดที่จะใช้ความตายเป็นสัญลักษณ์ของการลงโทษคนอื่น เราเลยอาจบอกได้ว่า


ความกลัวตายยังคงมีความหมายในตัวมันอย่างหนึ่ง คือ “ความกลัวการสูญเสียบุคคลที่รัก” และ “กลัวการสูญหายไปของตัวเอง” ซึ่งในทางจิตเคราะห์มองว่านี่เป็นหนึ่งในภาพสะท้อนของความปรารถนาพื้นฐานอีกอย่าง คือ “ความปรารถนาในการมีสัมพันธ์กับคน/สิ่งอื่น” แม้ในขณะที่ต้องเผชิญหน้ากับความตาย (ความปรารถนาที่มาจากสัญชาตญาณแห่งชีวิตที่แฝงตัวอยู่ - ความอยากมีชีวิตอยู่เพื่อตัวเองและคนอื่น)


อาจกล่าวได้ว่า แม้การทำการุณยฆาตหรือการฆ่าตัวตาย จะดูเหมือนความปรารถนาในการหลีกหนีจากความเจ็บปวดและต่อสู้กับความกลัวตายของตนเอง แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยพื้นฐานสัญชาตญาณของมนุษย์เรา การคิดฆ่าตัวตายหรือการทำการุณยฆาต ก็สะท้อนถึงความปรารถนาในส่วนลึกของการมีสัมพันธ์กับบุคคลที่รักอยู่ด้วย (คิดถึงคนอื่นเหมือนกัน)


ดังเช่นหากเราคิดตามคำกล่าวของ Wittenberg ว่า

“ในขณะที่เผชิญการเสื่อมถอยและความตาย มันเป็นช่วงเวลาง่ายมากที่จะนำพาเราไปสู่ความต้องการความสนใจจากบุคคลอื่น ต้องการที่จะตำหนิพวกเขาที่ไม่แคร์เรามากพอ หรือไม่แสดงออกมากพอถึงความรัก และถ้าหากเราไม่หันหลังให้กับพวกเขา ลงโทษพวกเขา หรือปล้นอิสรภาพและความสุขของพวกเขาเหล่านั้น ความตั้งใจในการโจมตีพวกเขาเหล่านี้ก็อาจถูกโยนเขาไปในพื้นที่ของความเกลียดชังและการประหัดประหารภายในตัวเรา ต้องตกอยู่ภายใต้ความสิ้นหวัง บ้าคลั่ง ไม่สามารถแยกแยะดี/ชั่ว ไม่แยกแยะความจริงจากคำลวง รู้สึกโกรธแค้นต่อโชคชะตา หรือไม่ก็รู้สึกถึงการลงโทษตัวเองด้วยวิธีการอื่นๆ”

(ผมคิดว่าน่าจะหมายถึง หากไม่คิดทำร้ายตัวเองเพื่อลงโทษคนอื่นก็อาจจจะต้องทุกข์ทรมานกับการเกลียดชังตัวเองที่ทำร้ายตัวเองแทน)

.


ในมุมมองของนักจิตบำบัด การที่เรามองเห็นว่าภายในใจของคนที่อยากตายและคนที่ร้องขอการทำการุณยฆาตมีกระบวนการทางจิตใจที่ขัดแย้งกัน (ความอยากมีชีวิต vs ความอยากตาย, ความอยากมีสัมพันธ์กับคนอื่น vs ความต้องการลงโทษคนอื่น, ความต้องการพึ่งพาคนอื่น vs ความกลัวการสูญเสียตัวตนของตนเอง) จนส่งผลให้เกิดความทรมานใจในการมีชีวิตอยู่ภายใต้ความขัดแย้งทางใจจนไม่สามารถอดทนต่อไปได้แบบนี้


การบรรเทาความเข้มข้นของอารมณ์ความรู้สึกและประนีประนอมความขัดแย้งทางใจที่เกิดขึ้นในใจของพวกเขาจึงอาจเป็นกุญแจสำคัญ


แต่ยังไงก็ตาม ในกรณีของการทำการุณยฆาตอาจมีความพิเศษบางอย่างของกลไกในจิตไร้สำนึกที่สัมพันธ์กับเรื่องความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นของผู้รับบริการ เพราะการ “ร้องขอคนอื่น” เพื่อให้จบชีวิตตัวเอง มีความพิเศษในแง่ของการ “ถ่ายโอน” (transference) ความรู้สึกและความขัดแย้งในใจนั้นออกมาไม่ใช่แค่การเก็บความรู้สึกและความขัดแย้งในใจนั้นไว้กับตัวเองเพียงฝ่ายเดียว


ขณะเดียวกัน คนที่ “ถูกร้องขอ” (เช่น แพทย์หรือแม้แต่นักจิตบำบัดที่ต้องอนุญาตให้ผู้รับบริการเลือกจบชีวิต) ก็อาจต้องลำบากใจกับความรู้สึกและความขัดแย้งในใจที่ถูกถ่ายโอนมานี้เช่นกัน ผู้ที่ช่วยเหลือจึงมีโอกาสสูงมากในการเกิดภาวะของ “การถ่ายโอนย้อนกลับ” (countertransference) เหมือนรีแอกชั่นต่อคำร้องของผู้รับบริการที่ทำให้ต้องลำบากใจ


ด้วยเหตุนี้ เมื่อพูดถึงในมุมมองของนักจิตบำบัดในประเด็นการทำการุณยฆาตแล้ว ผมจึงบอกว่าเป็นประเด็นที่สร้างความลำบากใจพอสมควร ในเรื่องของการให้สิทธิ์ของผู้รับบริการ หรือจะเลือก ปกป้องชีวิตของพวกเขา ที่อาจต้องทรมานต่อไป ยังไงก็ตาม ความลำบากใจนี้เองที่เป็นภาพสะท้อนของความขัดแย้งในใจของผู้รับบริการที่ถูกทำให้เห็นเป็นรูปธรรมขึ้นมา และนักจิตบำบัดก็สามารถแบ่งเบาภาระทางใจนี้ได้นั่นเอง

.


เพื่อให้เข้าใจว่านักจิตบำบัดจะสามารถแบ่งเบาภาระทางใจของผู้รับบริการที่ร้องขอการทำการุณยฆาตได้อย่างไรบ้าง ก็อาจต้องเข้าใจความขัดแย้งทางใจของคนที่อยากจบชีวิตของตัวเองเสียก่อน


โดยสำหรับคนที่อยากตาย อาจมีเหตุผลจากความขัดแย้งในใจที่รับมือไม่ได้อยู่ 2 อย่าง คือ

  1. ความขัดแย้งในด้านความรู้สึกรักและเกลียด

  2. ความขัดแย้งในด้านความต้องการพึ่งพาคนอื่นและความกลัวเสียศักดิ์ศรีหรือรู้สึกเป็นภาระ


ซึ่งการรับมือกับความขัดแย้งทางใจเช่นนี้ มีเป้าหมายอยู่ที่การอดทนอดกลั้นต่อ “ภาวะสองจิตสองใจ” หรือ “Ambivalent” ให้ได้

.


คนที่คิดฆ่าตัวตาย อาจเผชิญกับความยากลำบากทางใจในการรับมือกับความสองจิตสองใจด้านความรู้สึกรักและเกลียดที่ไม่สามารถทนอยู่ในเวลาเดียวกันได้


โดยความรู้สึกนั้นอาจเกิดขึ้นกับทั้งคนอื่นและตนเอง ยกตัวอย่างเช่น หากรู้สึกรักคนอื่นแล้ว การอดรนทนไม่ได้ที่จะทั้งรักและเกลียดบุคคลอื่นในเวลาเดียวกันก็จะตาม จนกระทั่งส่งผลให้เราหันเหความรู้สึกเกลียดชัง (ความโกรธ) เหล่านั้นกลับมาสู่ตนเอง และไม่สามารถรักตัวเองได้


สำหรับคนที่รับมือกับความขัดแย้งทางใจนี้ได้ก็จะตกอยู่ในภาวะสองจิตสองใจ หรือ ambivalent ซึ่งควรเกิดแก่การมองโลกที่ไม่ใช่เพียงขาวกับดำ ดีกับชั่ว และ รักกับเกลียด แต่สามารถผาสุขไปกับความไม่บริสุทธิ์ของความรู้สึกด้านใดด้านหนึ่งได้


แต่สำหรับคนที่คิดฆ่าตัวตาย การอดทนอดกลั้นอยู่ในภาวะสองจิตสองใจนี้เป็นเรื่องยากลำบาก และสร้างความเข้มข้นทางอารมณ์ที่รุนแรงอย่างมาก เนื่องจากตัวตนที่มีความขัดแย้งกันมากเกินไป (พื้นฐานจิตใจเรามีภาวะตัวตนที่แยกกันออกเป็นส่วนๆ และเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละสถานการณ์ แต่หากมีความแตกต่างกันไม่มากนักหรือสอดคล้องกันอยู่ ความขัดแย้งในตัวตนก็จะไม่มากเกินไปจนก่อให้เกิดความทรมาน เช่น ไม่ได้มีการตัดสินว่าด้านใดด้านหนึ่งเป็นความดีหรือชั่วแบบสุดโต่ง)


ดังนั้น การป้องกันตัวเองทางจิตจึงอาจกำหนดเป้าหมายของความเกลียดชังเป็นตัวเองแทนที่จะแบ่งเบาไปยังบุคคลอื่น และโจมตีตัวเองในท้ายที่สุด จนสรุปได้ว่า ‘การฆ่าตัวตายเป็นการฆาตกรรมบุคคลอื่นที่แฝงอยู่ในใจของตนเองด้วยฆ่าตัวเองตายในโลกความเป็นจริง’


ขณะเดียวกัน ถ้าย้อนกลับไปในตอนแรกว่า “การฆ่าตัวตายนั้นสัมพันธ์กับการคิดถึงคนอื่น” ด้วย ก็จะสะท้อนได้ว่า ความขัดแย้งในเรื่องการฆ่าตัวหรือแม้แต่การทำการุณยฆาตนั้นก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโยนความรู้สึกที่จัดการไม่ได้ให้คนอื่นในโลกแห่งความเป็นจริงเกิดขึ้นได้อีกเช่นกัน กล่าวคือ แม้การฆ่าตัวตายจะเป็นการทำร้ายตัวเอง แต่มันก็เป็นสิ่งที่ทำเพื่อส่งผลต่อจิตใจของคนอื่น และปรารถนาต่อการดูแลที่ดีจากคนอื่นอยู่ลึกๆ ซึ่งสิ่งนี้เองก็เป็นภาพสะท้อนแบบเดียวกันในการร้องขอการทำการุณยฆาตที่สร้างความลำบากใจให้กับนักจิตบำบัด


ยิ่งไปกว่านั้น ความขัดแย้งทางใจที่เป็นไปได้อีกอย่างสำหรับคนที่คิดฆ่าตัวตายและร้องขอการทำการุณยฆาต คือ การที่พวกเขาอาจไม่สามารถหาทางประนีประนอมกับความขัดแย้งระหว่างความต้องการของตัวเองที่มีอยู่มากกับความรู้สึกว่าจะเป็นภาระให้คนอื่นหรือเสียเกียรติได้ ดังนั้น การฆ่าตัวตายจึงอาจถูกมองได้ว่าเป็นหนทางเดียวที่พวกเขาจะหลงเหลือหรือรักษาศักดิ์ศรีของพวกเขาเอาไว้ด้วยการเลือกหนทางตายด้วยตัวเอง


และโดยส่วนตัวผมคิดว่า ความขัดแย้งทางใจในข้อที่ 2 อาจเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อการทำงานของนักจิตบำบัดมากกว่าข้อแรกด้วยซ้ำ โดยเฉพาะหากเป็นการพูดคุยในเรื่องการขอทำการุณยฆาต


ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?


ก็เพราะว่าในข้อแรกเราสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ความขัดแย้งในใจระหว่างความรักและเกลียดชังนั้นสามารถบรรเทาได้ด้วยการระบายความรู้สึกและค่อยๆ ปรับเปลี่ยนมุมมองทีละน้อยผ่านการพูดคุยอย่างลึกซึ้ง ซึ่งอาจมีบ้างที่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่แข็งแรงหรือทำงานกับการถ่ายโอนและการถ่ายโอนย้อนกลับในการบำบัด (ผู้รับบริการอาจมีภาพของนักจิตบำบัดเป็นตัวแทนของคนที่ชื่นชอบหรือเกลียดชังให้ระบายหรือแสดงออกถึงอารมณ์และความต้องการที่เก็บซ่อนในจิตไร้สำนึกไว้ได้จนกระทั่งเกิดกระบวนการที่ความรู้สึกทั้งสองถูกแบ่งเบาพอจะสามารถอดทนอดกลั้นหรือเข้าสู่ภาวะสองจิตสองใจในท้ายที่สุด)


แต่สำหรับการร้องขอการทำการุณยฆาตนั้น เป็นการพูดคุยที่ชัดเจนถึงการ “ขออนุญาตตาย” กับนักจิตบำบัดหรือนักวิชาชีพอื่นๆ ซึ่งการพูดคุยในลักษณะนี้ก็ส่งผลต่อสภาวะจิตใจหรือมุมมองของนักจิตบำบัดเช่นกัน

.


ขออธิบายซะหน่อยว่า จิตบำบัดอาจสามารถช่วยเหลือคนที่กำลังคิดถึงการทำการุณยฆาตได้ (อย่างน้อยก็ช่วยยื้อเวลาเพื่อหาความหมายบางอย่างของการมีชีวิตและความตาย) แต่นั่นก็อาจไม่ได้หมายถึงการปฏิเสธความปรารถนาที่จะตายแต่บรรเทาความขัดแย้งในใจที่มีอยู่ก่อนหน้านั้นเพื่อให้มองเห็นภาพของ “การตายอย่างมีความหมาย”


ในแนวทางการทำจิตบำบัดตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์เชื่อว่า การทำความเข้าใจการถ่ายโอนและการถ่ายโอนย้อนกลับ (transference & countertransference) จะเป็นกุญแจสำคัญในการทำงานกับประเด็นนี้ เนื่องจากเวลาที่เราพูดถึงความตาย การฆ่าตัวตาย หรือแม้แต่การทำการุณยฆาต ความกลัวตายและการสูญเสียของนักจิตบำบัดเองก็จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการพูดคุยในประเด็นเหล่านี้ด้วย (นักจิตบำบัดก็มีความรู้สึกเหมือนกัน!)


นักจิตบำบัดจะมีการถ่ายโอนย้อนกลับที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่อย่างหนึ่ง (แต่หากเข้าใจตนเองจะสามารถทำงานต่อได้) คือ “การถ่ายโอนย้อนกลับแบบต่อต้าน” (countertransference resistence) เวลาที่ต้องเผชิญกับเรื่องราวที่นักบำบัดไม่สามารถยอมรับได้จากผู้มาปรึกษา


โดยในกรณีของการฆ่าตัวตายสามารถเกิดสถานการณ์แบบนี้ในการบำบัดได้ โดยสามารถสรุปความรู้สึกของนักจิตบำบัดที่จะเกิดขึ้นนี้ได้ว่า “มันคือแหล่งที่มาของความลำบากใจที่ต้องอนุญาตให้คนอื่นตายไปด้วยเจตจำนงของพวกเขาเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องตกอยู่ภายใต้ความเป็นจริงที่ว่า เราไม่อยากให้พวกเขาตายไปเพราะความตายของพวกเขาก็จะส่งผลต่อใจของเราด้วย”

.


เพื่อให้นักจิตบำบัดทำงานต่อไปได้ และช่วยเหลือผู้มาปรึกษาได้จริงๆ นักจิตบำบัดจึงต้องเข้าใจกระบวนการของ projective identification ที่เกิดขึ้นของผู้มาปรึกษา กล่าวคือ ภายใต้ความหวาดกลัวหรือความลำบากใจที่นักจิตบำบัดรู้สึก นั่นก็เป็นสิ่งเดียวกับที่ผู้มาปรึกษารู้สึกและส่งต่อความรู้สึกเหล่านั้นมาให้กับนักจิตบำบัดในระดับจิตไร้สำนึก (ความอยากตายแต่ก็กลัวตาย)


และในการทำงานของนักจิตบำบัดกับผู้รับบริการ จึงเป็นการพูดคุยกันเกี่ยวกับความรู้สึกของผู้รับบริการที่มีอยู่ทั้งในระดับจิตสำนึกและจิตไร้สำนึก ได้แก่ ความโกรธ ความสิ้นหวัง ความอัดอั้นตันใจ และความรู้สึกที่ผู้รับบริการส่งต่อมาให้นักจิตบำบัด ซึ่งการพูดคุยในประเด็นเหล่ากับนักจิตบำบัดจะเป็นการแบ่งเบาภาระทางความรู้สึกของผู้รับบริการให้ด้มากที่สุดนั่นเอง

.


คราวนี้ ย้อนกลับมาที่ความขัดแย้งทางใจข้อที่ 2 หรือ ความขัดแย้งในด้านความต้องการพึ่งพาคนอื่นและความกลัวเสียศักดิ์ศรีหรือรู้สึกเป็นภาระ ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำจิตบำบัดอย่างไร และสามารถแบ่งเบาภาระทางใจได้เพียงการพูดคุยอย่างไม่มีจุดหมายได้อย่างไร


ถ้าดูจากความแตกต่างของความขัดแย้งทางใจข้อแรกและข้อที่สองแล้ว ความขัดแย้งทางใจข้อแรกดูเหมือนจะเป็นเรื่องของมุมมองส่วนตัวของผู้รับบริการซะเยอะ (แม้จะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของผู้รับบริการกับนักจิตบำบัดอยู่บ้างในฐานะตัวแทนรองรับอารมณ์) และไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ผู้รับบริการปฏิเสธการบำบัดมากนัก


กลับกัน ในความขัดแย้งทางใจข้อที่ 2 อาจส่งผลต่อการที่ผู้รับบริการจะปฏิเสธการบำบัดมากกว่า และหากลองนึกภาพว่าเป็นกรณีของผู้ที่ร้องขอการทำการุณยฆาตแล้วด้วย ความรู้สึกว่าตนเองอาจเป็นภาระต่อคนอื่นอาจก่อให้เกิดความลำบากใจไม่ใช่แค่ทั้งผู้รับบริการแต่กับคนที่เข้ามมาคอยช่วยเหลือเช่นกัน (เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ที่มาคอยช่วยเหลือหรือแม้แต่นักจิตบำบัดก็รู้สึกว่าการดูแลหรือให้ผู้รับบริการพึ่งพาก็เป็นภาระหน้าที่ที่หนักหน่วงอยู่เหมือนกัน และด้วยความจริงข้อนี้ ก็ยิ่งส่งเสริมความทรมานของความอดรนทนไม่ได้ต่อความขัดแย้งในใจของผู้รับบริการสูงขึ้น)

.


ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพของการทำจิตบำบัดกับผู้ที่ประสงค์จะทำการุณยฆาต และเป็นตัวอย่างของความขัดแย้งในใจข้อที่ 2 (และข้อแรกแบบชัดขึ้นด้วย) ในบทความวิชาการของ Briggs และคณะ (2022) จึงได้เล่ากรณีศึกษาของ “Mrs. W” ให้เราฟัง ซึ่งผมคิดว่าจะทำให้พอเห็นภาพของการทำจิตบำบัดเพื่อแบ่งเบาภาระทางใจของผู้รับบริการที่อยากตายได้มากยิ่งขึ้น


“Mrs. W เป็นหญิงแก่อายุ 94 ปี อาศัยอยู่คนเดียวในบ้านพักที่มีการดูแล ซึ่งเธอมีอาการเจ็บป่วยจากการล้มหลายต่อหลายครั้ง กระดูกต้นแขนร้าว มีโรคลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดปอด จอประสาทตาเสื่อม และคลื่นไส้กับอาเจียนบ่อยๆ โดย Mrs. W นี้เองที่เป็นผู้ป่วยที่ร้องขอการทำการุณยฆาต และได้รับการพูดคุยกับจิตแพทย์จนกระทั่งวันสุดท้ายที่เธอเสียชีวิตอย่างสงบ”


“ในการทำจิตบำบัดกับ Mrs. W ตามที่ Briggs และทีมของเขาเล่า คือ ในขณะที่ Mrs. W ขอการกินยาเพื่อตายอย่างสงบ จิตแพทย์ก็เลือกที่จะเข้าใจพื้นเพของ Mrs. W ก่อนด้วยการพูดคุยเป็นระยะเวลานาน โดยพูดคุยตั้งแต่ชีวิตของเธอที่เคยเป็นนักข่าว และมีชีวิตวัยเด็กที่ดี แต่ก็เผยในภายหลังว่าเธอมีปัญหาความสัมพันธ์กับพ่อที่เข้มงวดมากเหมือนกัน จึงทำให้เธอขาดความรอบรู้ในโลกใบนี้ โดยเฉพาะเรื่องทางเพศ จนกระทั่งตอนวัยรุ่น อายุได้ประมาณ 20 ปีเธอก็กลายเป็นแม่คน แต่ก็ต้องแยกทางกับพ่อเด็กเพราะเข้ากันไม่ได้


จิตแพทย์ที่คุยด้วยบ่อยๆ ก็เลยเริ่มเข้าใจว่าเธอมีปัญหาความสัมพันธ์ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยเธอแต่งงานใหม่ทันทีหลังจากหย่าสามีคนแรก แต่ก็กลายเป็นว่าต้องพบกับสามีที่ใช้ความรุนแรงและติดเหล้า รวมทั้งยังไม่ช่วยเรื่องการเงินในบ้าน Mrs. W จึงหนีออกมาพร้อมกับลูกชายและกลายเป็นคนไร้บ้านในเวลานั้น ก่อนที่จะแต่งงานกับสามีคนที่ 3 ซึ่งรักกันดีแต่ก็ต้องจากไปด้วยโรคถุงลมโป่งพองหลังจากแต่งงานกันได้ 7 ปี”


“จิตแพทย์เริ่มพูดคุยกับ Mrs. W สัปดาห์ละครั้ง (เริ่มจาก 4 สัปดาห์ในโรงพยาบาล) การพบกันแต่ละครั้งใช้เวลา 50 นาที ซึ่งหลังจากผ่านไปซักระยะ ก็เริ่มเห็นแพทเทิร์น (pattern) ของเธอว่า เธอมักจะมองหาความอุดมคติ (idealize) ในบุคคลอื่น ซึ่งมักเป็นภาพของผู้ชายที่โดดเด่น และเป็นเหมือน “เทวดา” สำหรับเธอ ยังไงก็ตาม การที่ Mrs. W มักคาดหวังแบบนั้น ก็ทำให้เธอรู้สึกหมดสิ้นหนทางกับตัวเองเวลาที่ได้รับความเมตตาจากผู้ชายเหล่านั้นในเวลาเดียวกัน


แม้แต่กับจิตแพทย์ที่เธอพูดคุยด้วย Mrs. W ก็เริ่มมีภาพของจิตแพทย์ในอุดมคติว่าเขาเป็น “ผู้ฟังที่แสนวิเศษ” และทำให้จิตแพทย์ตีความ transference ของเธอว่า ในความสิ้นหวังกับความสัมพันธ์แสนโรแมนติกของเธอและประสบการสิ้นหวังแบบเดียวกันในตอนนี้ บางทีอาจหมายความว่า Mrs. W กำลังกลัวว่าจะถูกปฏิบัติไม่ดีจากชายอีกคนที่เธอรู้สึกว่าเขามีอำนาจเหนือตัวเธอ (จิตแพทย์ที่ตัดสินใจเรื่องการุณยฆาตแทนเธอได้)


หลังจากจิตแพทย์ตีความแบบนั้น Mrs. W ก็เริ่มเปิดใจมากขึ้นในการพูดถึงความต้องการที่จะตาย เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเองอ่อนแอ ถูกละเลย และเอาแต่พึ่งพาคนอื่นที่เธอกลัวว่าพวกเขาจะปฏิบัติกับเธอไม่ดีได้ ทำให้จิตแพทย์ได้บอกเธอว่าเขาเข้าใจความสิ้นหวังที่เป็นเรื่องยากสำหรับเธอ และเข้าใจจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของเธอด้วย จากนั้นจึงบอกเธอว่าช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตเธอกำลัง “เริ่มต้น” เพื่อยอมรับความจริงในการพูดคุยเรื่องความตาย และทำให้ Mrs. W ตกลงพูดคุยกับจิตแพทย์ต่ออย่างจริงจังมากขึ้น”


[เริ่มจากตรงนี้จะเห็นได้ว่า ในการทำจิตบำบัดเพื่อแบ่งเบาภาระทางใจและรับมือกับความขัดแย้งทางใจของ Mrs. W จิตแพทย์จะต้องเข้าใจถึงการถ่ายโอนของ Mrs. W เสียก่อนว่า เธอกลัวที่จะต้องพึ่งพาเขาเช่นเดียวกับกลัวที่จะต้องพึ่งพาคนอื่น จนทำให้ไม่สามารถพูดคุยถึงเรื่องความรู้สึกลึกๆ และระบายความรู้สึกเหล่านั้นออกมากับจิตแพทย์ได้ว่าเธอรู้สึกว่าตัวเองอ่อนแอและเสียศักดิ์ศรีแค่ไหนที่ต้องคอยพึ่งพาอาศัยคนอื่นในเวลาแบบนี้ ซึ่งการแบกรับความรู้สึกเหล่านี้ไว้คนเดียวก็เป็นบ่อเกิดของความทรมานทางความรู้สึกที่ทำให้อดทนต่อภาวะสองจิตสองใจหรือ ambivalent ไม่ได้]


“การทำจิตบำบัดของ Mrs. W ดำเนินต่อไปทุกสัปดาห์หลังออกจากโรงพยาบาล ซึ่งในรายงานที่ Briggs และทีมของเขาเล่าคือ จิตแพทย์จะคุยกับ Mrs. W ในเรื่องทั่วๆ ไปและเรื่องที่เธอกังวล รวมไปถึงการพูดคุยเรื่องการมองโลกในแง่ดีเกินไปของเธอสลับกับการเผชิญหน้ากับความจริง และการแสดงความก้าวร้าว (ไม่พอใจ) ของเธอต่อ staff พยาบาล แทนที่จะหันเหความก้าวร้าวนั้นใส่ตัวเอง (แบ่งเบาภาระทางใจจากความขัดแย้งในด้านความรู้สึกรักและเกลียด)

ในท้ายที่สุด ขณะที่เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิตสำหรับ Mrs. W แม้จิตแพทย์จะพบว่าเธอไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกครั้งในตอนที่เธอเพิ่งจะล้มจนกระดูกสะโพกแตกและต้องผ่าตัด พร้อมทั้งประสบภาวะหายใจลำบากในตอนที่นอนอยู่บนเตียง เธอก็ตั้งคำถามเหมือนกันว่าทำไมตัวเองยังมีชีวิตอยู่ จิตแพทย์ก็ตอบไม่ได้ และได้เพียงแสดงความเข้าใจความอยากตายของเธอด้วยการบอกว่า ‘หากเธอไม่กินอะไรหรือดื่มน้ำเลยเธอก็จะตายในอีก 14 วัน’ แต่เมื่อ Mrs. W หยิบน้ำส้มในแก้วมาดื่ม จิตแพทย์กลับพูดว่า ท้ายสุดแล้วก็ยังคงมีบางสิ่งที่ผูกพันกับเธอให้อยากมีชีวิต และเมื่อ Mrs.W ได้ยินแบบนั้น เธอก็บอกลาจิตแพทย์และจากไปอย่างสงบในไม่กี่วันถัดมา”


[ฺBriggs และคณะ ตั้งข้อสังเกตว่า ถึงแม้ Mrs. W จะตั้งคำถามในแบบเดียวกันว่า “ทำไมฉันถึงยังมีชีวิตอยู่?” ทั้งก่อนหน้าที่ร้องขอการทำการุณยฆาตและหลังจากเลิกคิดถึงเรื่องการทำการุณยฆาตไปซักระยะแล้ว แต่โทนของคำถามและจุดประสงค์ก็ดูแตกต่างกันในแง่ของการให้ความหมายว่า ตอนแรกคำถามนั้นยังคงเต็มไปด้วยความอึดอัดใจและอดรนทนไม่ได้กับความขัดแย้งทางความรู้สึก แต่ในภายหลังเมื่อได้รับการแบ่งเบาความรู้สึกและพูดคุยกับจิตแพทย์แล้ว คำถามนั้นกลับเป็นโทนของความประหลาดใจกับความสามารถของตัวเองในการเลือกที่จะมีชีวิต รู้สึกสงบ และเพรียบพร้อมสำหรับการกล่าวคำลา]

.


ท้ายที่สุด ผมคิดว่าจากเรื่องราวของ Mrs. W อาจทำให้พอเห็นภาพของบทบาทของนักจิตบำบัดต่อผู้รับบริการที่ประสงค์การทำการุณยฆาตได้มากขึ้น (รวมไปถึงคนที่คิดฆ่าตัวตาย)


ยังไงก็ตาม Briggs และคณะ ก็ยังคงสรุปเป้าหมายของการทำจิตบำบัดสำหรับผู้ที่ต้องการจบชีวิตตัวเองไว้ให้มีความชัดเจนมากขึ้นด้วยว่า

1.เพื่อทำความเข้าใจความหมายของการขอจบชีวิตและการร้องขอให้ช่วยฆ่าตัวตายทั้งในระดับจิตสำนึกและจิตไร้สำนึก

2.เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้รับบริการได้ทำความเข้าใจปัจจัยจากจิตไร้สำนึก ความวิตกกังวล การปกป้องตัวเอง และแพทเทิร์นความสัมพันธ์ภายในจิตใจ ที่มีอิทธิพลต่อการร้องขอจบชีวิต (

3.เพื่อแก้ไขความขัดแย้งในจิตใจด้วยการแสดงความเข้าอกเข้าใจและทำงานผ่านการถ่ายโอนและการถ่ายโอนย้อนกลับ (transference and countertransference)

4.เพื่อแก้ไขความขัดแย้งในใจของการฆ่าตัวตาย และส่งเสริมความสามารถในการอดทนอดกลั้นต่อภาวะสองจิตสองใจ (aambivalence) โดยช่วยเอื้อให้ผู้รับบริการทำความเข้าใจความคิดฆ่าตัวตายของตนในรูปแบบไดนามิกความขัดแย้งในจิตใจ ตระหนักถึงความกลัวในแต่ละบุคคล และความต้องการคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรี

5.เพื่อให้ผู้รับบริการได้สัมผัสประสบการณ์ของการแบ่งเบาภาระทางอารมณ์ที่รุนแรงและความวิตกกังวลภายใต้ความขัดแย้งเกี่ยวกับการคิดถึงเรื่องความตาย ความหมดหวัง การพึ่งพาคนอื่น การสูญเสียความสามารถในการพึ่งพาตนเอง และอารมณ์ความรู้สึกจำพวกความละอายใจและความโกรธ ซึ่งอาจนำไปสู่การเข้าใจว่าอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้สัมพันธ์กับแพทเทิร์นความสัมพันธ์ในใจและการสัมพันธ์กับบุคคลหรือสิ่งอื่นในชีวิตอย่างไร


จะเห็นได้ว่า บทบาทของนักจิตบำบัดในประเด็นการุณยฆาตไม่ได้มีการพูดถึงการหักห้ามหรือบอกปัดเจตจำนงของผู้รับบริการอยู่เลย แต่การทำความเข้าใจสาระสำคัญที่จะต้องแบ่งเบาภาระทางใจของผู้รับบริการอย่างไรบ้างกลับเป็นกุญแจสำคัญ


เพราะเป้าหมายของนักจิตบำบัดไม่ใช่การเลือกวิธีการ แต่เป็นการสำรวจแง่มุมของทางเลือกของผู้รับบริการให้แจ่มชัดทั้งในด้านความคิดและความรู้สึกนั่นเอง

.


เก้าอี้ตัว J

เจษฎา กลิ่นพูล

นักจิตวิทยาการปรึกษา


อ้างอิง

Briggs, S., Lindner, R., Goldblatt, M. J., Kapusta, N., & Teising, M. (2022). Psychoanalytic understanding of the request for assisted suicide. The International Journal of Psychoanalysis, 103(1), 71-88. https://doi.org/10.1080/00207578.2021.1999773

Chonticha Taksinawet. (2022, 25 August). เลือกเกิดไม่ได้ ขอเลือกจากไปด้วย ‘การุณยฆาต’ ได้ไหม? หลายความเห็นเรื่อง Euthanasia. https://thematter.co/social/euthanasia/183524




ดู 100 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentários


bottom of page