.
นักจิตวิทยาหลายคนพยายามนิยามถึงการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและการทำจิตบำบัดของตัวเองว่าเป็นรักษาด้วยความรัก มันเป็นความรู้สึกที่ปรารถนาให้ผู้รับบริการชีวิตที่ดีขึ้น หลายๆ คนจึงต่างบอกราวกับว่า หากคุณรักและห่วงใยผู้รับบริการมากพอ (และพวกเขารับรู้ได้) การมองเห็นหนทางออกจากปัญหาที่เผชิญอยู่ก็จะตามมาเอง แต่สำหรับผมเองมักตั้งข้อสงสัยในเรื่องนี้มาเสมอว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าความรักของนักจิตวิทยาเป็นความรักจริงๆ?
.
ความรักมีนิยามที่หลากหลายรูปแบบมาก มันเป็นสิ่งที่ลึกลับซับซ้อน และความซับซ้อนของมันทำให้เรายากที่จะบอกได้ว่าจริงๆ แล้วความรักคืออะไร? ยิ่งไปกว่านั้น บางคนกลับต้องพบเจอกับความทุกข์เพราะความรักด้วยซ้ำไป โดยอาจเป็นได้ทั้งการทุ่มเทสิ่งต่างๆ เพื่อใครซักคนแล้วบอกว่า “ทำไปเพราะรัก” หรือในทางกลับกัน ก็คือเจ็บปวดจากการที่ความรักของคนใกล้ตัวได้สร้างกรอบให้เราต้องปฏิบัติตัวอยู่ในลู่ทางที่พวกเขาก็บอกว่าทำไปเพราะรักเช่นกัน
.
ผมมักคิดว่าความรักที่ทำให้เกิดความทุกข์นั้นเป็น "ความรักที่บิดเบี้ยว"
(คุณอาจไม่เรียกเช่นนั้นก็ได้ ผมเพียงไม่รู้จะเรียกมันว่าอะไรดีจึงขอใช้คำนี้ที่มาจากผู้รับบริการคนหนึ่งของผม)
.
การพูดถึงความรักที่บิดเบี้ยวนี้อาจดูเหมือนว่าผมพยายามจะจำแนกความรักออกเป็นความรักที่แท้จริงและความรักที่บิดเบือนไป แต่หากคุณอ่านจนจบคุณจะเห็นได้ว่าผมไม่ได้พยายามแยกมันออกจากกันเลยแม้แต่น้อย
.
ความรักนั้นยังคงเป็นสิ่งที่ลึกลับซับซ้อนเกินไป หลายครั้งผมมักเกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้นจนแทบจะพูดออกมาเลยว่าผมรักผู้รับบริการของผม (จริงๆ ผมก็พูดกับตัวเองในใจอย่างนั้นแหละ) แต่สิ่งที่หยุดผมทุกครั้งคือการย้อนกลับมาถามตัวเองว่า แล้วผมจะรู้ได้อย่างไรว่าความรักของผมไม่ใช่ความรักที่บิดเบี้ยว? ไม่ใช่ความรักที่เหมือนกับที่ผู้รับบริการเคยพบเจอและเป็นสาเหตุให้พวกเขาต้องมาพบกับผมในวันนี้? และรู้ได้อย่างไรว่าความรักของผมที่มีให้กับพวกเขาคือความรักที่แท้จริง?
.
ความซับซ้อนของความรักเป็นสิ่งที่ทำให้ความรักนั้นเจือปนไปด้วยหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวัง เงื่อนไข ความกดดัน ความวิตกกังวลเกินกว่าเหตุ ความอาลัยอาวรณ์ หรือแม้แต่ความหวาดกลัวเล็กๆ จนบางคนเลือกจะหลีกหนีมัน ผมคิดว่านั่นมันเป็นเรื่องปกติมากสำหรับความเจือปนเหล่านี้ในความรัก และผมคิดว่านักจิตวิทยาเองก็มีความเจือปนเหล่านี้ไม่ต่างกัน ความรักของนักจิตวิทยาอาจเป็นความรักที่บิดเบี้ยวก็ได้ และนั่นคงส่งผลร้ายต่อผู้รับบริการมากกว่าเดิมแน่หากนักจิตวิทยาไม่สามารถจัดการใจของตัวเองได้ดีพอ
.
นักจิตวิทยาหลายคนอาจคิดว่าสิ่งที่ตัวเองให้กับผู้รับบริการคือความรักและความปรารถนาดี แต่สิ่งหนึ่งที่เราอาจต้องคำนึงไว้เสมอคือความรักที่บิดเบี้ยวของเราเอง เพราะบางที “รักอาจเป็นการให้สิ่งที่ตัวเราไม่มีกับคนที่ไม่ต้องการ” เพราะเราคิดว่าหากพวกเขาได้รับจะต้องรู้สึกดีเหมือนกันกับเรา (“Love is giving something you don't have to someone who doesn't want it.” - Lacan)
.
พูดมาถึงตรงนี้คุณอาจมองเห็นแล้วว่าผมไม่ได้พยายามแยกความรักที่แท้จริงออกมาให้คุณเห็นเลย
ใช่ครับ เพราะมันยังคงเป็นสิ่งที่ลึกลับเกินกว่าเราจะบอกได้ว่าความรักที่แท้คืออะไรและอะไรไม่ใช่ นักจิตวิทยาหลายคนมองเห็นถึงข้อจำกัดนี้รวมถึงตัวผมเองด้วย มันจึงนำไปสู่จุดสุดท้ายที่เหมือนการวนกลับไปยังจุดเริ่มต้นที่ว่า "ยังไม่มีคำตอบเรื่องนิยามของความรัก" และที่ผมหมายถึงในที่นี้คือ ความรักที่เกิดขึ้นในการปรึกษาเชิงจิตวิทยา
.
ในมุมมองของนักจิตวิทยาบางคนจึงมองว่า การปรึกษาเชิงจิตวิทยากลับเป็นเหมือนการที่ "เรามานั่งถกกันถึงความรักอันไร้ซึ่งคำตอบไปเรื่อยๆ" เราปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับมันและสำรวจไปพร้อมกันว่าส่วนไหนที่เข้ามาเจือปนบ้าง แต่กลับบอกไม่ได้ว่าส่วนไหนที่จริงแท้ นักจิตวิทยาจึงอาจไม่ได้มีคำตอบในเรื่องนี้ให้คุณ แต่มันเป็นการที่ได้มาสำรวจและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันภายใต้ความสับสนอลม่านในเรื่องนี้
.
ผมเองก็ยังไม่คิดว่ามันจะมีคำตอบที่ชัดเจนเลยแม้แต่น้อย การหยุดตัวเองที่จะโพล่งออกไปว่าผมกำลังมอบความรักให้กับผู้รับบริการคือการกลับมาคิดทบทวนถึงข้อจำกัดเหล่านี้ และย้อนกลับไปยังประโยชน์สูงสุดของผู้รับบริการที่เป็นส่วนนึงของจรรยาบรรณวิชาชีพเป็นตัวนำทางเพียงเท่านั้น (นี่รวมถึงการจัดการใจของนักจิตวิทยาด้วยวิธีอื่นๆ ด้วย) แล้วในท้ายที่สุดแล้ว ผมเรียกความรู้สึกของผมเองที่มีต่อผู้รับบริการได้หรือไม่? ผมคิดว่าผมไม่ควรตอบคำถามนี้ แต่ควรให้ผู้รับบริการตัดสินมันด้วยมุมมองของพวกเขาเอง
.
เจษฎา กลิ่นพูล
K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา
Comments