.
แม้การปรึกษาเชิงจิตวิทยาและการทำจิตบำบัดจะมีความสอดคล้องกันตรงที่พื้นฐานของกระบวนการเป็นไปเพื่อบรรเทาความทุกข์และเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีของบุคคลด้วยความรู้ในศาสตร์จิตวิทยา รวมถึงผู้ที่สามารถให้การช่วยเหลือตามกระบวนการเหล่านี้ได้ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมมาเป็นอย่างดีแล้ว แต่จริงๆ ทั้สองกระบวนการนี้กลับมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควรโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เข้ารับบริการ ระยะเวลาการเข้ารับบริการ ความแตกต่างของประเด็นปัญหา รวมถึงสถานที่ในการเข้ารับบริการด้วย
.
จากรูปประกอบข้างล่างนี้ผมได้จำแนกความแตกต่างของทั้งสองกระบวนการไว้แล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าการปรึกษาเชิงจิตวิทยามักเกี่ยวข้องกับปัญหาระดับทั่วไปมากกว่า ความลึกของปัญหานั้นไม่มากเกินไป และผู้ที่เข้ารับบริการที่เหมาะสมคือบุคคลที่ยังสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ เพียงแต่ประสบพบเจอกับปัญหาบางอย่างทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้า และปัญหาดังกล่าวคงอยู่ในเวลาที่ไม่นานเกินไป
.
ในขณะที่การทำจิตบำบัดมักเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการแพทย์เป็นหลัก มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของการวินิจฉัยความผิดปกติทางจิต และบุคคลที่เข้ารับบริการเหล่านี้อาจต้องได้รับการกำกับดูแลเป็นพิเศษเนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเป็นปัญหาเรื้อรังหรือส่งผลร้ายแรงมากจนไม่สามารถดูแลตัวเองได้ แต่นั่นก็ไม่ทั้งหมด บางคนอาจจะยังคงสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ปัญหาที่เรื้อรังนั้นอยู่ในระดับลึกมากจนต้องใช้เทคนิควิธีการเฉพาะในการช่วยเหลือเพิ่มเติม เป็นต้น
.
สำหรับการตัดสินใจว่าควรเข้ารับบริการแบบใด เราสามารถสังเกตตัวเองได้คร่าวๆ ดังนี้
.
::เมื่อไรควรรับการปรึกษาเชิงจิตวิทยา?::
เมื่อประสบปัญหาชีวิตบางอย่างที่ทำให้รู้สึกหยุดชะงัก ไม่สามารถก้าวต่อไปได้ และต้องการความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเครียดความวิตกกังวลในการปรับตัวต่างๆ เช่น ความเครียดจากการเรียนหรือการทำงาน, การพัฒนาความสัมพันธ์, การรับมือกับความสูญเสีย เป็นต้น โดยยังคงรู้สึกว่าตนเองสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจปัญหาได้ในระดับหนึ่ง
::เมื่อไรควรรับการทำจิตบำบัด?::
เมื่อปัญหาที่พบเจอเกี่ยวข้องกับเหตุการสะเทือนใจในอดีตหรือเป็นปัญหาเรื้อรังจนถึงปัจจุบัน หรือรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถผ่านพ้นปัญหาไปได้แม้จะเข้ารับการปรึกษาอื่นๆ มาแล้วก็ตาม ที่สำคัญคือ รู้สึกว่าไม่สามารถกำกับดูแลตนเองได้อย่างเป็นปกติ สูญเสียฟังก์ชั่นในชีวิตการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เนื่องจากความผิดปกติบางอย่างทางการแพทย์ที่ส่งผลต่อกระบวนการคิด สภาวะทางอารมณ์ และพฤติกรรมที่ผิดปกติ ซึ่งต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาความผิดปกติที่รบกวนการดำเนินชีวิต
::::::: ความคิดเห็นของผู้เขียน :::::::
ก่อนอื่นต้องขอเกริ่มก่อนว่า สำหรับจุดยืนของผมเองอยู่ในฐานะของ “นักจิตวิทยาการปรึกษา" และให้บริการ “ปรึกษาเชิงจิตวิทยา” เป็นหลัก โดยรายละเอียดสำหรับการระบุจุดยืนของผมเองจะขอแยกประเด็นออกเป็น 3 ประเด็น ดังต่อไปนี้
.
1) ด้านมุมมองที่มีต่อกระบวนการช่วยเหลือ
ความแตกต่างระหว่างกระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและการทำจิตบำบัดมีส่วนหนึ่งที่น่าสังเกตว่า “อะไรคือความผิดปกติทางจิต?” และ “อะไรคือคนทั่วไป?” ซึ่งการระบุว่าสิ่งใดคือ “ความผิดปกติ” ในมุมมองของผมเป็นสิ่งที่ไม่ได้ง่ายเท่าไรนัก เพราะการตั้งต้นในใจว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ถือว่าเป็นความผิดปกติทางจิต อาจทำให้เกิดการจำแนกคนออกเป็นสองจำพวกคือคนปกติและผิดปกติอย่างชัดเจนจนเกินไป และอาจมีความเสี่ยงบางอย่างในการปฏิบัติต่อผู้รับบริการที่แตกต่างกันไปด้วย สำหรับในมุมมองของผมที่มีต่อกระบวนการเชื่อว่าเป็นการช่วยเหลือหรือบรรเทาความทุกข์ใจของบุคคลมากกว่าการรักษาความผิดปกติใดๆ ดังนั้น ผมเองจึงคิดว่าตนเองอยู่ในจุดยืนของการปรึกษาเชิงจิตวิทยา
.
2) ด้านความเหมาะสมของแนวทางการทำงานกับผู้รับบริการ
จากข้อแรกอาจทำให้บางคนเข้าใจผิดว่าผมปฏิเสธเรื่องการระบุว่าสิ่งใดถือว่าเป็นความผิดปกติหรือไม่? ดังนั้นในรายละเอียดข้อที่สองนี้จึงอาจเป็นข้อสนับสนุนที่ชัดเจนมากกว่าข้อแรก นั่นคือการพูดถึงความเหมาะสมของแนวทางการทำงานของผมและผู้รับบริการเนื่องจากแนวทางการทำงานของผมเน้นการช่วยเหลือโดยการพูดคุย และนั่นอาจเหมาะสำหรับผู้รับบริการที่สามารถสื่อสารได้อย่างปกติ และมีความสามารถในการกำกับดูแลตนเองได้พอสมควร ดังนั้น ผมเองจึงไม่ได้ปฏิเสธอาการทางจิตที่ถือว่า “ผิดปกติ” ไปโดยสิ้นเชิง และยังคงเชื่อว่าผู้รับบริการที่มีความทุกข์ทรมานใจระดับรุนแรงจนถึงขั้นที่ไม่สามารถกำกับตัวเองได้ หรือมีอาการทางจิตที่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยทางคลินิกนั้นควรเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมอย่างเป็นระบบอย่างแน่นอน
.
3) ด้านการฝึกอบรมและมาตรฐานวิชาชีพ
แม้กระบวนการของทั้งสองอย่างนี้จะไม่ได้แยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิงหรือแทบแยกได้ยากเมื่ออยู่ในบริบทของการปฏิบัติจริง แต่ในด้านการฝึกอบรมและมาตรฐานของวิชาชีพจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเชี่ยวชาญได้ดีที่สุดในตอนนี้
สำหรับในบ้านเรา (ประเทศไทย) การใช้คำว่า “จิตบำบัด” นั้นจะทำได้เฉพาะผู้ที่ได้รับการอบรมในฐานะของจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาคลินิกเท่านั้น ในขณะที่การปรึกษาเชิงจิตวิทยาหรือนักจิตวิทยาการปรึกษายังคงไม่ได้มีมาตรฐานวิชาชีพที่ชัดเจนนัก (ยังไม่มีใบประกอบโรคศิลป์) นักจิตวิทยการปรึกษาที่ดูเหมือนจะมีมาตรฐานทางวิชาชีพในตอนนี้อาจจะต้องดูจากการฝึกอบรมของนักวิชาชีพคนนั้นๆ ไปสำหรับผมเอง แม้จะเคยฝึกภาคปฏิบัติในด้านจิตวิทยาคลินิกมาบ้าง แต่ยังไม่ได้ผ่านการอบรมเพื่อเป็นนักจิตวิทยาคลินิกอย่างเป็นทางการ จึงไม่สามารถให้บริการการทำจิตบำบัดได้ในขณะนี้ ดังนั้น ผมจึงให้บริการในด้านการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเท่านั้น
.
เจษฎา กลิ่นพูล
K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา
.
Reference
Embogama. (2018, June 28). difference between counselling and psychotherapy. PEDIAA. Retrieved from https://pediaa.com/difference-between-counselling-and.../
Schimelpfening, N. (2019, April 3). Visiting a counselor vs. psychotherapist: Similarities, differences, and how to choose. Verywell Mind. Retrieved from https://www.verywellmind.com/counselor-or-psychotherapist...
תגובות