top of page
ค้นหา

การปฏิเสธกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะส่งผลอย่างไรได้บ้างในมุมจิตวิทยา

รูปภาพนักเขียน: Psychologist ChairPsychologist Chair

.

จริงๆแล้วการบอกปัดกฎหมายสมรสสำหรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับผมโดยตรงเลย แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่ผมจะต้องละเลยประเด็นเหล่านี้เลย ที่สำคัญ เมื่อเห็นว่าเมื่อมีคนที่กำลังเรียกร้องกฎหมาย 'สมรสเท่าเทียม' ให้เกิดขึ้น มันควรทำให้เราตั้งคำถามถึง 'ความไม่เท่าเทียม' ที่มีอยู่มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ

.

ผมไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมายมากนัก แต่ก็ได้ลองคิดเล่นๆ ดูว่าถ้ากฎหมายสมรสเท่าเทียมถูกปฏิเสธจริงๆ มันจะมีปัญหายังไงในมุมทางด้านจิตวิทยา ซึ่งก็พอจะสรุปได้ดังนี้

.

1. ความรู้สึกไม่มั่นคงในความสัมพันธ์

ประเด็นนี้คงเป็นประเด็นที่ดูจะยิบย่อยมากที่สุด และคงถูกโต้แย้งได้มากที่สุด เพราะมันเป็นปัญหาที่มีความเฉพาะตัว ขึ้นอยู่กับปัจเจก แต่ละคนอาจจะไม่ได้ประสบกับความรู้สึกไม่มั่นคงในความสัมพันธ์นี้จนก่อให้เกิดความยุ่งยากในความสัมพันธ์ก็ได้ เพราะมันก็เหมือนกับข้อโต้แย้งทั่วไปว่า 'การไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็ไม่ได้หมายความคุณจะแต่งงานหรืออยู่กินด้วยกันไม่ได้!'

.

เอาเข้าจริง ผมคิดว่าเราควรมองในมุมกลับกัน ถ้าหากกฎหมายที่มีอยู่เป็นกฎหมายสมรสสำหรับคนเพศเดียวกันเท่านั้นล่ะ แล้วคุณเกิดเป็นคนที่ชอบคนเพศตรงข้ามและตัดสินใจคบหากัน จริงอยู่ว่าคุณสามารถที่จะอยู่กินด้วยกันได้ไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่อะไรจะเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวพวกคุณทั้งคู่ไว้ด้วยคล้ายกับการมีสัญญาร่วมกัน


การให้เหตุผลนี้อาจจะดูแปลก เพราะมันเหมือนกับว่าผมมองเรื่องกฎหมายสมรสเป็นเหมือนข้อผูกมัดไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหนีไปไหน แต่ในทางจิตวิทยาเรากลับสามารถมองได้ว่า การมีอยู่ของ 'ข้อตกลงที่ชัดเจน' เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมากในการรักษาความสัมพันธ์ (และคุณจะเห็นว่ามันมีอีกหลายเหตุผลมากกว่านั้นเมื่อคุณอ่านในข้อถัดๆ ไป)

.

ความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนที่ยึดเหนี่ยวกันไว้ด้วยสิ่งที่เรียกว่า 'ความรัก' มีหลากหลายปัจจัยที่ทำให้ความสัมพันธ์ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือความเชื่อใจหรือเชื่อมั่นในตัวอีกฝ่าย แต่ความเชื่อใจ (trust) มันไม่ได้สร้างและรักษากันได้ง่ายขนาดนั้น


เราสามารถมองเรื่องนี้ผ่านกรณีของคนที่มีบาดแผลทางใจ (trauma) ที่มักจะเกิดความไม่ไว้ใจคนอื่นได้ กล่าวคือ คนที่มีความรู้สึกไม่ไว้วางใจคนอื่นจากบาดแผลทางใจไม่ใช่เพราะพวกเขาถูกทำลายความเชื่อใจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะคนเรามีสัญชาตญาณของความไม่ไว้วางใจโดยกำเนิดอยู่แล้วต่างหาก เราจึงต้องเรียนรู้ทัศนคติของความไว้วางใจหรือความเชื่อใจที่เป็นส่วนสำคัญของการมีความรักจากผู้เลี้ยงดูหลัก (พ่อ แม่ ผู้ปกครอง) ในช่วงวัยแรกของชีวิต และทัศนคติเหล่านั้นก็จะกลายเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาจนถึงปัจจุบันในการสร้างความสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า

.

ยังไงก็ตาม สัญชาตญาณของความไม่ไว้วางใจของเราไม่เคยหายไปไหน คนเรามักจะต้องมีการคิดและกังวลเสมอเมื่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับใครซักคนหนึ่ง การมี 'ข้อตกลงร่วมกัน' หรือ 'สัญญาใจร่วมกัน' จึงเป็นสิ่งที่ช่วยเราในเรื่องนี้ได้


ทั้งนี้ ผมคงต้องบอกว่าจิตใจของคนเรามันไม่ได้มีหน้าที่มาทำตามความต้องการของเรา ต่อให้เราตั้งมั่นกับสัญญาปากเปล่ามากแค่ไหน แต่ด้วยจิตใจของเราที่สนใจแค่เรื่องเอาตัวรอดจากความกังวลไม่ว่าจะใกล้ชิดหรือห่างกันในความสัมพันธ์ การถดถอยเข้าสู่ความรู้สึกสงสัยใคร่รู้คล้ายวัยแรกเริ่มของชีวิตจึงเกิดขึ้นเสมอเพื่อทดสอบความรักความผูกพันในปัจจุบันว่ามันจะไม่พังทลายลงไปเมื่อเราเรียกร้องมากเกินไปในบางเวลา (เหมือนเวลาที่มีคนบอกว่า 'การมีความรักทำให้เรารู้สึกเหมือนกลับไปเป็นเด็ก' และ 'ความรักนั่นก็ทำให้เราหน้ามืดตามัว')

.

สัญญาใจต้องกลายมาเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากขึ้น เหมือนเวลาที่คุณไปเดตแรกแล้วยังจดจำสถานที่นั้นไว้ร่วมกัน หรือมีชื่อเรียกกันและกันแบบประหลาดๆ เพื่อให้มันมีความพิเศษให้กันอยู่เสมอ แน่นอน มันคือสิ่งที่ทำให้คุณทั้งคู่มั่นใจได้ว่าคุณยังคงรักกัน


เหนือสิ่งอื่นใด อะไรจะดีไปกว่าการมีสัญญาใจที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดและได้รับการยอมรับจากคนในสังคมไปพร้อมกันมากที่สุดว่าคุณทั้งคู่รักกัน? และนั่นคือ 'กฎหมายสมรส' เพื่อประกาศอย่างเป็นทางการถึงความสัมพันธ์ของคุณทั้งคู่


จริงอยู่ว่าการสมรสตามกฎหมายอาจไม่ได้การันตีในเรื่องความรักความสัมพันธ์ของคู่สมรส แต่มันก็เพียงพอจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ใครบางคนรู้สึกมั่นคงในการมีความสัมพันธ์ได้มากขึ้น

.


2. ความรู้สึกว่าไม่ได้รับการยอมรับ

ในประเด็นที่สองเป็นเรื่องที่ขยายต่อออกมาจากประเด็นแรก โดยในประเด็นแรกนั้นผมได้บอกไปแล้วว่ากฎหมายสมรสนั้นเป็นข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับการที่สังคมจะยอมรับการเป็นคู่ครองอย่างเป็นทางการของคนทั้งคู่ด้วย คราวนี้ลองนึกภาพว่าหากกฎหมายการสมรสของคนที่มีความหลากหลายทางเพศถูกปฏิเสธ (จริงๆ ตอนนี้ก็แทบจะเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว) นั้นก็หมายความว่าสังคมกำลังไม่ให้การยอมรับความสัมพันธ์ของคนกลุ่มนี้เท่าที่ควร

.

การไม่ยอมรับในความสัมพันธ์ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ใช่เพียงการไม่ยอมรับในการคบหากันของพวกเขาเท่านั้น แต่มันยังรวมไปถึงการไม่ยอมรับในตังตนของพวกเขาด้วย กล่าวคือ ถ้าคุณไม่ยอมรับให้คนที่ประกาศตัวว่าเป็นเกย์คบหากับคนเพศเดียวกันอย่างเป็นทางการ เขาก็จะรู้สึกว่าการที่เขาเป็นเกย์หรือรู้สึกชอบพอคนเพศเดียวกันขึ้นมา มันหมายถึงความผิดปกติ ความประหลาด ไม่เข้าพวก และไม่ใช่สิ่งที่ควรมีอยู่ในกลุ่ม


และนั่นก็ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาไม่แยกแยะ แต่เพราะสัญชาตญาณในเรื่องความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มในจิตใจเรามันมักจะทำงานแบบนี้ เหมือนกับในประเด็นแรกที่ผมบอกว่าต่อให้เรามีสัญญาใจแต่เราก็ยังคงต้องการอะไรที่มันเป็นรูปธรรมมากพอให้จับต้อง ดังนั้นเมื่อตัวตนของคนที่มีความหลากหลายทางเพศถูกปฏิเสธ มันก็มีโอกาสที่จิตใจของพวกเขาจะมองหาเหตุผลของการถูกปฏิเสธนั้นเพื่อบรรเทาจิตใจของตัวเองจากความรู้สึกว่าไม่ได้รับการยอมรับ รวมทั้งอาจพยายามทำให้ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มมากที่สุดถึงแม้ว่านั่นจะหมายถึงการที่พวกเขาต้องปฏิเสธตัวตนของตัวเองก็ตาม

.

การปฏิเสธตัวตนของตัวเองที่มากขึ้นอาจนำมาสู่การมีความคิดที่วิพากษ์วิจารณ์ตัวเองตลอดเวลา มันแทบไม่ต่างอะไรกับคนที่มีอาการซึมเศร้าที่ติดอยู่กับความคิดและทัศนคติในแง่ลบ การมองไม่เห็นว่าตัวเองจะได้รับการยอมรับในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่แตกต่างจากคนอื่นอย่างไรอาจนำมาสู่ความรู้สึกสิ้นหวัง รู้สึกด้อย ความภาคภูมิใจในตัวเองตกต่ำ จนถึงขั้นอาจมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเองได้เช่นกัน


ในตำราการบำบัดรักษาคนที่มีอาการซึมเศร้าอาจบอกเราว่าความคิดในแง่ลบของพวกเขาเองที่มีปัญหา (โดยเฉพาะความคิดที่วิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง) แต่ในการปฏิบัติจริงหลายครั้งเรา (ผมและเพื่อนๆ) กลับพบว่า การแก้ไขความคิดของคนที่มีอาการซึมเศร้าอย่างเดียวไม่เคยพอ และกรณีที่ส่อเค้ายากลำบากในการจัดการที่สุดคือการที่ผู้รับบริการต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คนรอบข้างดูเหมือนจะไม่ให้การยอมรับในตัวพวกเขาเลย อีกทั้งยังสุมไฟด้วยคำพูดดูถูกเหยียดหยามตลอดเวลาอีกต่างหาก

.

การพูดถึงประเด็นนี้อาจดูเหมือนว่ามันเป็นปัญหาที่มาจากทัศนคติของคนในสังคมเพียงอย่างเดียวมากจนดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมาย แต่อย่าลืมว่ากฎหมายนั้นก็ควรเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นจากข้อตกลงร่วมกันของคนในสังคม ดังนั้นมันจึงสะท้อนถึงทัศนคติของคนส่วนใหญ่ในสังคมเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ ได้ เว้นเสียแต่ว่าจะเป็นการปกครองแบบเผด็จการ


ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายยังมีส่วนที่เป็นเหมือนหลักยึดให้คนปฏิบัติคล้ายการร่วมก่อสร้างทัศนคติต่อประเด็นต่างๆ ให้กับคนในสังคมไปพร้อมกันด้วย ซึ่งผมจะพูดถึงในข้อถัดไป

.


3. การส่งเสริมทัศนคติแบบเหยียดเพศในทางอ้อมให้กับกลุ่มคน และอาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ

จากประเด็นก่อนหน้าจะเห็นได้ว่ากฎหมายอาจมีความสัมพันธ์กับคนในสังคมแบบสองทิศทาง มันถูกสร้างขึ้นจากทัศนคติของคนในสังคม แต่ในขณะเดียวกันมันก็กำหนดรูปแบบการคิดเรื่องที่ถูกหรือผิดให้กับคนในสังคมด้วย

.

คุณอาจเคยได้ยินว่า 'ถ้ากฎหมายไม่ได้บอกว่าผิด มันก็แปลว่าไม่ผิด' นั่นเป็นคำพูดที่จริงใช้ได้ แต่ถ้าเราพูดถึงเหตุผลในทางตรงข้าม 'ถ้ากฎหมายบอกว่าอะไรถูก สิ่งที่ไม่ได้ถูกเขียนไว้จะผิดในทันทีใช่หรือไม่?'

.

ผมได้อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในประเด็น ม.1448 ของวันที่ 17 พย 64 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมไม่ขอพูดถึงรายละเอียดมากเพราะไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายเท่าที่ควร แต่หลังจากที่ได้อ่านก็ทำให้ฉุกคิดถึงเหตุผลในทางตรงข้ามที่กล่าวข้างต้นขึ้นมาทันที


กฎหมายสมรสในปัจจุบันระบุอย่างชัดเจนว่าคู่สมรสประกอบด้วย 'ชายและหญิง' ซึ่งแน่นอนว่ามันทำให้คนที่มีความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นและคนที่ไม่ต้องการระบุตัวเองเข้ากับคำจำกัดเพศทั้งสองนี้ไม่พอใจด้วยเหตุผลว่านี่เป็นการเหยียดเพศอย่างชัดเจน

.

ในมุมมองของผมเห็นว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวอาจมีทัศนคติเชิงเหยียดเพศรวมอยู่จริง แต่ส่วนหนึ่งนั่นอาจเพราะตัวกฎหมายที่มันถูกเขียนไว้แบบนั้นตั้งแต่แรก (ซึ่งจริงๆ แล้วในทัศนะของผู้ใช้กฎหมายน่าจะแสดงความเห็นเปลี่ยนแปลงได้) ดังนั้นเมื่อลองคิดไปว่าถ้ากฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่เกิดขึ้น (การสมรสยังคงจำกัดอยู่เฉพาะชาย-หญิงเช่นเดิม) มันอาจส่งผลที่ตามมาคือ การส่งเสริมทัศนคติแบบเหยียดเพศในทางอ้อมให้กับคนในสังคมต่อไป

.

ถ้าไล่มาตั้งแต่ประเด็นที่ 2 จนถึงประเด็นที่ 3 จะเห็นได้ว่ามันคือเรื่องของการยอมรับทัศนคติเรื่องเพศที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งหากการสมรสระหว่างคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่สามารถเกิดขึ้นได้ นั่นก็หมายถึงการที่สังคม (ที่กำลังถูกแทนด้วยกฎหมาย) ไม่ยอมรับการมีอยู่ของคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเป็นทางการ ในขณะเดียวกัน มันก็ได้สร้างทัศนคติ ค่านิยม และสำนึกในผิดชอบชั่วดีให้กับคนในสังคมไปพร้อมกันด้วยว่า ความต้องการมีคู่ครองด้วยคนเพศเดียวกันหรือไม่คู่ระหว่างชาย-หญิงคือสิ่งที่ผิดแปลกไปจากกลุ่ม


ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มคนบางกลุ่มที่ไม่ได้มีความสามารถในการอดทนอดกลั้นหรือเปิดใจยอมรับความแตกต่างได้มากพอเป็นทุนเดิม เมื่อพวกเขาเผชิญกับสิ่งที่แปลกประหลาดหรือไม่เข้าพวก สัญชาตญาณเอาตัวรอดพื้นฐานที่สุดของพวกเขาอย่างเช่นการสู้ (fight) หรือถอยหนี (flight) ก็ถูกกระตุ้นอย่างง่ายดาย โดยอย่างน้อยสุดคงเป็นการออกห่าง ไม่ยุ่งเกี่ยว แต่หนักเข้าก็อาจนำมาสู่การหาทางทำลายสิ่งที่ไม่เข้าพวกเหล่านี้

.

ยังไงก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกแบบใด แต่หากมันเกิดกระบวนการในลักษณะนี้ขึ้น ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าทัศนคติที่ถูกสร้างขึ้นเหล่านี้อาจนำมาสู่ 'การเลือกปฏิบัติ' ที่มีต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งมาจากกฎหมายที่กำหนดความถูกต้องที่สุดให้กับสังคมมากเกินไป จนมันอาจกลายเป็นอุดมคติ (ideal) เกี่ยวกับเรื่องความรักความสัมพันธ์ให้กับคนบางกลุ่มจนถึงขั้นกีดกันคนอีกกลุ่มออกไปได้ในทันทีเมื่อคนเหล่านั้นขัดกับอุดมคติหรือค่านิยมเหล่านี้


และเมื่อเราย้อนกลับไปที่ข้อ 2 คงไม่ต้องบอกว่าในบางกรณีมันก็อาจกลายเป็นอุดมคติหรือค่านิยมที่ย้อนกลับมาทำให้คนบางคนปฏิเสธตัวตนของตนเองไปเลยเช่นกัน ซึ่งเราอาจเจอกรณีนี้ได้ในกลุ่มคนที่มีลักษณะของ latent homosexual (รักร่วมเพศแบบแฝง) มากเกินไปจนกลายเป็น homophobia หรือคนที่มีอาการหวาดกลัวจนถึงขั้นเกลียดคนรักร่วมเพศอย่างมาก

(โดยปกติจิตใจของคนเราจะประกอบด้วยทั้งลักษณะของความเป็นชายและความเป็นหญิง ซึ่งอาจเกิดความรู้สึกถูกดึงดูดหรือตื่นตัวกับคนเพศเดียวกันได้ในบางครั้ง แต่ประสบการณ์ของแต่ละคนจะมีส่วนช่วยกำหนดการดึงดูดทางเพศเหล่านี้จนส่งผลให้ทัศนคติต่อคนเพศเดียวกันหรือต่างเพศอยู่ในลักษณะแฝงที่จะปรากฏขึ้นมาบางครั้ง คนที่เคร่งครัดมากเกินไปเกี่ยวกับกรอบทางเพศจึงอาจเกิดความรู้สึกรับไม่ได้เมื่อมีบางสิ่งผิดแปลกไปจากกรอบเรื่องเพศของตน และอาจพัฒนาขึ้นมากลายเป็นความหวาดกลัวและเกลียดชังคนรักร่วมเพศในเวลาต่อมา)

.


4. การสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมอื่นๆ ของสังคม และอาจนำมาสู่ปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ ตามมา

นี่เป็นประเด็นสุดท้าย ซึ่งเป็นการพูดถึงปัญหาในมุมกว้างมากที่สุด และอาจเป็นการพูดถึงผลกระทบที่ตามมาในแง่มุมที่ห่างไกลจากสิ่งที่สังเกตเห็นได้รอบๆ ตัวมากที่สุด เพราะในประเด็นนี้เป็นการพูดถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น (หรืออาจเกิดขึ้นไปแล้วและกำลังเกิดขึ้นอยู่) ในระดับสังคมขนาดใหญ่


จากประเด็นในข้อ 1, 2, และ 3 รวมกัน จะสามารถทำให้เราต่อยอดมาถึงประเด็นที่ 4 นี้ได้ เนื่องจากในข้อต่างๆ ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามันแทบเกี่ยวข้องกับปัญหาหรือความขัดแย้งในใจคนเพียง 1 หรือ 2 คนเท่านั้น แต่ถ้าผมจะบอกว่าแทบทุกปัญหาอาชญกรรมมันมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาหรือความขัดแย้งในใจของคนเพียงคนเดียวล่ะ? และกลุ่มคนเหล่านั้นก็มักจะเป็นคนที่ถูกกีดกันจากคนในสังคมอีกกลุ่มหนึ่งที่เอารัดเอาเปรียบพวกเขาอีกด้วย

.

การที่เราเห็นว่ามีคนกำลังเรียกร้อง 'การสมรสเท่าเทียม' กันอยู่ มันก็หมายความว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในตอนนี้คือ 'การสมรสไม่เท่าเทียม' ยังไงล่ะ!

.

จริงอยู่ บางครั้งมันอาจทำให้เราต้องถกเถียงกันว่าความเท่าเทียมคืออะไรกันแน่ จนสุดท้ายก็คงจะต่างอ้างกันว่า 'ความเท่าเทียมของฉันคือแบบนี้' ซึ่งแทบไม่ต่างอะไรกับปัญหาความไม่เท่าเทียมในประเด็นอื่นๆ เลย


แต่ผมก็คิดว่านั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เพียงพอในการจะมองข้ามความรู้สึกของคนที่กำลังป่าวประกาศว่าพวกเขาได้รับความไม่เป็นธรรมหรือถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ อย่างไร

.

ผมมองว่าประเด็นการสมรสเท่าเทียม/ไม่เท่าเทียมนี้ก็เป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนของความไม่เท่าเทียมในประเด็นอื่นๆ เพราะจริงๆ แล้วคนที่ถูกเลือกปฏิบัติจากกฎหมายสมรสในปัจจุบันนี้ (สมรสชาย-หญิง) พวกเขาไม่ได้เพียงถูกกีดกันจากการมีสัญญาใจอย่างเป็นทางการในความสัมพันธ์เท่านั้น แต่มันยังรวมไปถึงการถูกกีดกันจากโอกาสอื่นๆ ที่อาจเป็นไปได้หลังจากได้รับการสมรสด้วย

.

ผมนึกภาพถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาและสวัสดิการ มันมักมีคนที่ได้ประโยชน์มากกว่า/น้อยกว่าเสมอ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวพวกเขาเองส่วนหนึ่งว่าจะขวนขวายได้มากน้อยแค่ไหน แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่สามารถมองข้ามเรื่องความเหลื่อมล้ำที่มากเกินไปจนกีดกันคนบางกลุ่มออกซะจนตกขอบไปได้


การถูกกีดกันจนไม่มีที่ยืนเหล่านี้อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพจิตของพวกเขา และปัญหาสุขภาพจิตเหล่านี้มักส่งผลต่อปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมายกว่าเราจะจินตนาการได้ เช่น ปัญหาแรงงาน ปัญหาคนติดยาเสพติด และปัญหาอาชญกรรม เป็นต้น

.

จริงอยู่ว่าประเด็นเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมอาจไม่รุนแรงขนาดนั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลยโดยเฉพาะปัญหาอาชญกรรม กล่าวคือ ความรู้สึกไม่มั่นคง ไม่ได้รับการยอมรับ และทัศนคติเหยียดเพศที่ผมกล่าวถึงก่อนหน้าสามารถนำมาสู่ปัญหาอาชญกรรมได้ทั้งสิ้น

.

ตัวอย่างเช่น


ความรู้สึกไม่มั่นคงในความสัมพันธ์อาจนำมาสู่ปัญหาการเปลี่ยนคู่นอนไปเรื่อยๆ ซึ่งก่อให้เกิดการติดต่อโรคทางเพศสัมพันธ์ได้ง่าย หรือในบางกรณีก็อาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความหึงหวงรุนแรงเรื่องจากความหวาดระแวงในคู่ของตน


เช่นเดียวกัน ความรู้สึกว่าไม่ได้รับการยอมรับก็อาจนำมาสู่ปัญหาทางจิตบางอย่าง ซึ่งบางคนอาจหันไปพึ่งพาสารเสพติด หรือใช้ความรุนแรงกับคนที่แสดงออกด้านเพศอย่างเปิดเผยได้ในกรณีที่มีลักษณะของ homophobia เกิดขึ้น


สุดท้าย ทัศนคติแบบเหยียดเพศที่นำมาสู่การเลือกปฏิบัติก็อาจทำให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่ได้รับการคุ้มครองในบางกรณีได้ ผลที่ตามมาจึงอาจเกี่ยวเนื่องกับปัญหาการถูกหลอกใช้หรือถูกทารุณกรรมแต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือเนื่องจาใช้อยู่ชีวิตอยู่ในสังคมโดยไม่ต่างกับคนนอก และในทางกลับกัน คนที่มีความหลากหลายทางเพศก็อาจเป็นคนที่ก่ออาชญกรรมซะเองเนื่องจากถูกกีดกันตั้งแต่แรก

.


เจษฎา กลิ่นพูล

เพจ K.Therapeutist



ดู 7 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page