top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนPsychologist Chair

การปกครองแบบเผด็จการที่สะท้อนค่านิยมของความรุนแรงในครอบครัว: ชวนดูซีรี่ย์สารคดีเรื่อง ‘เส้นทางทรราช’

ชวนดูซีรี่ย์สารคดีเรื่อง ‘เส้นทางทรราช’ และ ชวนตระหนักถึงความสำคัญของการปกครองที่ไม่ขึ้นกับตัวบุคคล

.



.

นี่เป็นเหมือนบทความที่ผมเชิญชวนทุกคนมาลองดูซีรี่ย์สารคดีใน Netflix เรื่องหนึ่งชื่อ ‘เส้นทางทรราช’ (How to become a tyrant) ซึ่งเป็นซีรี่ย์สารคดีสั้นๆ (ไม่เกิน 30 นาที) ที่เล่าประวัติศาสตร์ของการขึ้นสู่อำนาจและการรักษาตำแหน่งของผู้นำเผด็จการทั้ง 6 คน (6 ตอน) ผ่าน ‘บทเรียนการเป็นทรราช’ ตั้งแต่การยึดอำนาจ การกำจัดศัตรู การใช้ความกลัวครอบงำผู้คน การผูกขาดความจริง การสร้างสังคมใหม่ที่ตามอุดมคติของตัวเอง และการตั้งตนเป็นพระเจ้า

โดยถ้าให้ผมจะสรุปสั้นๆ เกี่ยวกับสารคดีชุดนี้คงบอกได้ว่า


‘คุณจะได้เรียนรู้เทคนิคและกลยุทธ์ของการเป็นผู้นำเผด็จการที่ใครก็สามารถเป็นได้!’


.


ยังไงก็ตาม สิ่งที่ผมจะเขียนถึงในบทความนี้ไม่ใช่แค่การมาชวนดูซีรี่ย์เท่านั้น แต่เป็นความน่าสนใจเกี่ยวกับมุมมองด้านจิตวิทยาของกลุ่มคนที่เราควรตระหนักว่าบุคคลที่ขึ้นชื่อว่าเป็นทรราชเหล่านี้ไม่ได้ขึ้นสู่อำนาจและรักษาอำนาจไว้ด้วยตัวเองเพียงคนเดียว แต่ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะประชาชนของพวกเขาต่างหากที่สนับสนุนบุคคลเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว

.


เผด็จการอาจใช้ความเชื่อแบบหลงผิดอย่างง่ายๆ ว่า

‘มนุษย์เราอยากถูกควบคุมมากกว่าที่คิด’

ซึ่งถ้าฟังเผินๆ ก็คงจะเมกเซ้นส์อยู่บ้าง เพราะการมีอิสระมักทำให้เราเกิดความทุกข์เมื่อไม่รู้ว่าจะเดินไปทิศทางไหน บางครั้งเราจึงต้องการถูกชี้นำด้วยเส้นทางที่แน่ชัดจากคนอื่นๆ แต่นี่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด และเปรียบได้กับการใช้ประโยชน์จากการตีความเข้าข้างความหลงตัวเองและความปรารถนาอำนาจที่มากเกินไป

.


แท้จริงแล้วความทุกข์จากการมีอิสระ (burden of freedom) ไม่ได้นำพาเรามาสู่ความต้องการถูกควบคุมหรือต้องการถูกจำกัดกรอบอย่างเช่นในความเชื่อข้างต้น


หากคุณลองนึกภาพถึงเด็กคนหนึ่งที่เติบโตมาและต้องใช้ชีวิตในสังคมที่ไร้กฎเกณฑ์ สิ่งที่ตามมาคือการถูกกระตุ้นความหวาดกลัวตลอดเวลาเพราะพวกเขายังเด็กเกินกว่าจะช่วยเหลือตัวเองได้ ดังนั้นสิ่งที่เด็กๆ เหล่านี้ปรารถนาจากผู้ที่มีอำนาจมากกว่า (authority) จริงๆ แล้วควรเป็นการ ‘ถูกปกป้อง’


แต่การควบคุมกลับเกิดขึ้นจากผู้ที่มี ‘อำนาจ’ หรือก็คือตัวแทนของผู้ใหญ่ในเรื่องนี้ โดยเหรียญด้านหนึ่งของมันคือความปรารถนาดีในการลดความโกลาหลและลดโอกาสเกิดอันตรายจากการอยู่รวมกันของคนมากหน้าหลายตา ในขณะที่อีกด้านหนึ่งอาจมาจากความวิตกจริตมากเกินไปขณะเผชิญสิ่งที่ควบคุมไม่ได้


(ทั้งความปรารถนาดีและความวิตกจริตนี้อยู่บนสเปกตรัมเดียวกัน คือ ความพยายามของอีโก้ที่จะรับมือกับความวิตกกังวล ในด้านหนึ่งคือแรงจูงใจที่มาจากความสำนึกดีโดยสัญชาตญาณหรือ conscience ในขณะที่อีกด้านหนึ่งคือแรงจูงใจจาก superego หรืออีโก้ที่พัฒนามุมมองเชิงศีลธรรมหรือกฎเกณฑ์ตามประสบการณ์ส่วนบุคคลจนอาจพบได้ว่าบางครั้งกลับเป็นศีลธรรมที่ล้าหลังกว่าความเป็นจริงในปัจจุบัน นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบางครั้งพ่อแม่ที่ควบคุมลูกมากจนเกินไปจึงมักแสดงออกถึงทัศนคติว่า ‘หวังดี’ เพราะคนเรามักแยกไม่ออกระหว่าง conscience และ superego รวมทั้งปฏิเสธที่จะยอมรับความรู้สึกกลัวหรือวิตกกังวลในระดับจิตไร้สำนึก)

.


บางคนอาจประหลาดใจที่ผมเลือกใช้การเปรียบเทียบผู้ใหญ่กับเด็กที่ควรจะมีความแตกต่างกันในด้านวุฒิภาวะ แต่ผมคิดว่าคุณคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความเป็นเด็กของคนเรานั้นไม่เคยหายไปไหน จนถึงขนาดมีคำพูดที่มักใช้กันบ่อยว่า ‘ผู้ใหญ่บางคนก็ไม่รู้จักโต’

.


ในมุมมองจิตวิเคราะห์ที่มองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างประสบการณ์ในวัยเด็กและการเติบโตเป็นผู้ใหญ่จึงแสดงให้เห็นความเชื่อคล้ายว่า ผู้ใหญ่อาจต่างจากเด็กเพียงแค่การรู้สึกถึงอำนาจ (power) ที่มาจากคุณลักษณะทางร่างกายที่โตขึ้นเท่านั้น แต่ในด้านจิตใจของผู้ใหญ่กับเด็กนั้นแทบไม่แตกต่างกัน


และถึงแม้ในชีวิตจริงอำนาจของผู้ใหญ่จะมีมากกว่าอำนาจทางร่างกาย เช่น เงินทอง ชื่อเสียง ฯลฯ แต่นั่นเป็นอำนาจที่ถูกประกอบสร้างขึ้นระหว่างผู้ใหญ่ด้วยกันและถูกทำให้สูญสลายได้ง่ายเมื่อมีการรื้อถอนระบบสัญลักษณ์เหล่านี้

.


นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการใช้ความรุนแรงจึงกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในท้ายที่สุดของการพยายาม ‘ควบคุม’ ผู้คนด้วยกัน เพราะมันเห็นผลชัดเจนว่าสร้างความรู้สึกหวาดกลัวให้ผู้คนเกิดหยุดชะงักจากการทำพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดของผู้มีอำนาจได้มากกว่าสิ่งใด


(เว้นแต่ว่าความกลัวนั้นนำมาสู่การสู้มากกว่าหนี อำนาจทางกายจึงหมดประโยชน์ได้เพราะแทนที่จะสร้างความกลัวกลับก่อให้เกิดความกล้า)

.


ประโยคที่น่าสนใจในสารคดีชุดนี้คือการบอกว่า


‘เราไม่เก่งเรื่องการแยกแยะความกลัวออกจากความรู้สึกตื่นตัวทั่วไป และในการปกครองแบบเผด็จการสิ่งนี้สามารถชักนำให้คิดไปได้ว่า อารมณ์ที่พลุ่งพล่านนี้คือความรู้สึกที่คุณมีต่อเผด็จการคนนั้น…

และความรู้สึกนั้นอาจไม่ต่างจาก ความรัก…

มันไม่ต่างจากความสัมพันธ์ที่มีการทารุณกรรมเช่นในครอบครัว หรือในแก๊ง หรือในลัทธิ ที่พวกเขาพบวิธีปรับสภาพจิตใจให้เข้ากับผู้กดขี่”

.


หากเราลองคิดตามแล้วจะเห็นว่าสอดคล้องกับสิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดอย่างไร นั่นคือถึงแม้เราจะโตขึ้นมากแค่ไหน แต่เมื่อเราเผชิญหน้ากับความกลัว เราก็อาจไม่ต่างจากเด็กคนหนึ่งที่รู้สึกไม่ปลอดภัยได้เสมอ และจิตใจของเราก็พยายามหาวิธีรับมือกับความรู้สึกกลัวเหล่านี้ ซึ่งสำหรับบางคนนั่นหมายถึงการหลอกตัวเองให้รักผู้ที่กระทำเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ

.


ผมขอยกตัวอย่างนักจิตวิเคราะห์อย่าง Sandor Ferenczi ที่เคยเสนอไว้ว่าเด็กมีการปรับตัวเข้ากับพ่อแม่ที่ทารุณกรรมพวกเขาได้อย่างไร


โดยนั่นอาจเป็นเพราะสัญชาตญาณหนึ่งตั้งแต่เกิดของเรามีความก้าวร้าวที่ไม่ได้มาจากความต้องการทำลายสิ่งอื่นเท่านั้น แต่ความก้าวร้าวของเด็กอาจมาจากความปรารถนาด้านความรักที่ไร้ปราณีจนอยากจะครอบครองอีกด้วย ส่งผลให้เด็กต้องได้รับการสั่งสอนเกี่ยวกับทัศนคติความรักที่เหมาะสมและไม่ทำอันตรายผู้อื่นจากผู้ใหญ่


แต่หากเด็กเติบโตมาในครอบครัวที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นปกติ (ไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ) เด็กก็อาจมีแนวโน้มที่จะตีความการแสดงออกถึงความรุนแรงเข้ากับทัศนคติด้านความรักของตนโดยมีความปรารถนาด้านความรู้สึกผูกพันและความปลอดภัยของพวกเขาเป็นแรงจูงใจหนึ่ง (การปกป้องคนที่รักจึงกลายเป็นการควบคุมในเวลาต่อมา และต่อให้ต้องใช้ความรุนแรงเพื่อควบคุมก็จะทำ)


นี่จึงกลายเป็นเหตุผลว่าทำไมคนที่เคยถูกกระทำในตอนเด็กมักกลายเป็นผู้กระทำซะเองเมื่อโตขึ้น และสิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นเช่นเดียวกันในการถูกปกครองด้วยผู้นำเผด็จการที่ต่อให้ใช้ความกลัวครอบงำผู้คน แต่จิตใจของคนเรามักหาวิธีหลบเลี่ยงให้ตัวเองรู้สึกรักผู้ที่กดขี่เราได้เสมอ

.


มุมมองของ Ferenczi เป็นอะไรที่ผมคิดว่าตอบโจทย์ในเรื่องการการปรับตัวของจิตใจเข้ากับผู้ใหญ่ที่กดขี่เด็กๆ ได้เป็นอย่างดี แต่ผมคิดว่าสำหรับบางคนนั่นอาจไม่เพียงต่อการเชื่อมโยงว่าการพูดถึงค่านิยมความรุนแรงในครอบครัวสอดคล้องกับเรื่องการปกครองแบบเผด็จการอย่างไร

.


ในมุมมองจิตวิเคราะห์เชื่อว่าการอยู่รวมเป็นกลุ่มมักก่อให้เราเกิดภาวะของการถดถอย (regression) กลับสู่ความเป็นเด็กที่ต้องการได้รับความรู้สึกปลอดภัยและตอบสนองความรู้สึกผูกพันไปพร้อมกัน (การได้รู้สึกเป็นหนึ่งของกลุ่มและมีผู้นำที่ไว้วางใจได้) ซึ่งกลุ่มที่ขาดโครงสร้าง (unstructure) อย่างชัดเจนและกำลังเผชิญหน้ากับความรู้สึกว่ากำลังจะมีอันตรายเกิดขึ้นมักกระตุ้นให้เกิดการถดถอยของคนในกลุ่มได้อย่างมาก

.


โดยหากลองสังเกตกันว่าผู้นำเผด็จการเหล่านี้ขึ้นสู่อำนาจได้อย่างไร สิ่งหนึ่งที่คล้ายกันคือการอาศัยจังหวะหรือช่องทางที่พวกเขาสามารถเข้ามาเป็น ‘ผู้ช่วยเหลือในยามวิกฤติ’ และนั่นกลายเป็นการเปิดเวทีให้เหล่าผู้นำได้แสดงวิสัยทัศน์อันหมายถึงการเข้าไปอยู่ในใจของผู้คนได้อย่างไม่ยากเย็น

.


แต่อย่างที่บอกว่าผู้นำไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยตัวคนเดียว ในเวลาที่กลุ่มเกิดความสับสนวุ่นวายจากการสูญเสียโครงสร้างซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะถูกผูกติดไว้กับผู้นำคนก่อน (เป็นได้ทั้งการสูญเสียผู้นำจริงๆ และการสูญเสียความน่าไว้วางใจของผู้นำ) มักนำมาสู่การถดถอยของคนในกลุ่ม

.


Wifred Bion นักจิตวิเคราะห์ที่ศึกษาทฤษฎีกลุ่มพบว่าเมื่อผู้นำกลุ่มซึ่งควรจะกำหนดทิศทางของกลุ่มไม่ทำหน้าที่ของตนหรือหายไปจากกลุ่ม กลุ่มจะเกิดการถดถอยเข้าสู่การพึ่งพิงสมมติฐานแบบง่ายๆ (basic assumption) เพื่อรับมือกับความรู้สึกสูญเสียพื้นที่ปลอดภัย


สิ่งที่ตามมาภายใต้ภาวะของการถดถอยเหล่านี้คือคนในกลุ่มจะใช้สมมติฐานที่คล้ายกับเด็ก ซึ่งคาดหวังต่อผู้นำคนใหม่ที่จะเข้ามาเป็นผู้ช่วยเหลือราวพระผู้มาโปรด โดยลืมไปว่า ‘คนทุกคนล้วนเป็นสีเทา’

ดังนั้น การเลือกผู้นำคนใหม่เช่นนี้จึงไม่ต่างกับการฝากชีวิตไว้กับคนที่ดูเหมือนจะควบคุมสถานการณ์ได้ดีที่สุด แต่แท้จริงแล้วผู้นำเหล่านั้นต่างก็ควบคุมตัวเองอยู่ด้วยเช่นกัน

.


ผลลัพธ์ร้ายแรงที่สุดที่ตามมาคือการที่คุณอาจได้ผู้นำคนใหม่ที่มีความวิตกจริตมากเกินควรภายใต้ฉากหน้าของการเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ที่ดี แต่นั่นยังไม่เลวร้ายที่สุดหากโครงสร้างของกลุ่มไม่ได้ขึ้นกับคนใดคนหนึ่งเพียงอย่างเดียว ซึ่งแน่นอนว่าการปกครองแบบเผด็จการทำให้เกิดความเลวร้ายที่สุดที่ว่านั่นได้อย่างไม่ยากเย็น

.


การปกครองแบบเผด็จการมักใช้ประโยชน์จากช่องว่างของสมมติฐานแบบง่ายๆ เหล่านี้เพื่อผูกติดตัวเองเข้ากับโครงสร้างของกลุ่ม ส่งผลให้กลุ่มจะดำเนินไปทิศทางไหนก็ขึ้นอยู่กับการชี้ขาดของผู้นำกลุ่มเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และนั่นรวมไปถึงการที่ผู้ใต้การปกครองอาจไม่ทันได้รู้ตัวว่าจิตไร้สำนึกของเรากำลังฝากชีวิตไว้กับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้มากที่สุดเป็นที่เรียบร้อย นั่นคือ มนุษย์คนหนึ่งที่อาจมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ไม่มั่นคงนัก

.


คราวนี้ย้อนกลับมาว่านี่คล้ายกับการอยู่ในครอบครัวที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นปกติอย่างไร

ประการแรก คือ การวางตัวของผู้นำเผด็จการนั้นไม่ต่างจากการวางตัวในบทบาทของพ่อหรือแม่ โดยเป็นการทำให้สมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่มรู้สึกถึงการเลือกเกิดไม่ได้อีกครั้ง


ประการที่สอง คือ การควบคุมผู้คนด้วยความกลัวที่หนีไม่ได้นั้นไม่ต่างกับการทารุณกรรมในครอบครัวพร้อมบอกว่าทำไปเพราะหวังดี และสิ่งเดียวที่เด็กทำได้คือเชื่อว่านั่นคือความจริง

.


ผมคิดว่านี่คงพอทำให้เห็นว่าการปกครองแบบเผด็จการสอดคล้องกับความรุนแรงในครอบครัวอย่างไรบ้าง และในมุมมองของผมคิดว่านี่เป็นประเด็นที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมบ้านเรามากพอสมควร เพราะเรามักคุ้นชินกับวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความกตัญญูต่อพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดโดยไม่สนใจปัจจัยอื่นๆ ที่อาจรวมไปถึงการกระทำของพ่อแม่ที่ทารุณลูกของตัวเองซึ่งมีให้เห็นหลายกรณี

.


โดยปกติแล้วในด้านสถานการณ์ครอบครัวเราคงพอจะมีคำพูดง่ายๆ เพื่อแก้ปัญหานี้ว่า ‘พ่อแม่ทุกคนไม่ได้สมบูรณ์แบบ’ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะยอมรับและมองเห็นว่าตนสามารถมีชีวิตที่ไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองได้เช่นกัน

.


แต่ในกรณีของการเมืองการปกครองเช่นนี้ ผมคิดว่ามันยากมากที่เราจะแก้ปัญหาได้ด้วยการยอมรับว่าผู้นำของเราไม่สมบูรณ์แบบ เพราะหากผู้นำเหล่านั้นสามารถกำหนดความเป็นอยู่ในชีวิตของคุณได้ คุณก็ไม่อาจที่จะหลีกหนีจากความรู้สึกไม่ปลอดภัยได้อยู่ดี

.


ผมคิดว่าในท้ายที่สุดสิ่งที่เราควรเรียนรู้ได้จากทฤษฎีกลุ่มคือโครงสร้างของกลุ่มไม่ควรถูกยึดโยงอยู่กับตัวบุคคล แต่ควรเป็นสิ่งที่เหนือกว่านั้นดังเช่นกฎหมายที่เป็นธรรมต่อทุกคน และนั่นเป็นการเปิดโอกาสให้คนในกลุ่มกลายเป็นสมาชิกที่มีวุฒิภาวะ (mature) ได้ นั่นคือการที่สมาชิกเกิดความสงสัยและแคลงใจผู้นำกลุ่มได้แทนที่จะเป็นการไว้วางใจผู้นำกลุ่มเพียงอย่างเดียว


(การเลือกจะเชื่อหรือไว้วางใจผู้นำกลุ่มอาจก่อให้เกิดการซึมซับ (introject) เอาทัศนคติของผู้นำกลุ่มมายัง superego ของตนเองได้ ซึ่งกลายเป็นที่มาของการยึดกฎระเบียบที่เคร่งครัดเกินไป และมีทัศนคติแบบเหยียดคนคิดต่างที่อาจนำมาสู่การใช้ความรุนแรง)

.


ท้ายสุด ต่อให้เราอาจเอาชนะจิตไร้สำนึกที่ทำงานแบบออโต้ไม่ได้ในหลายครั้ง แต่ผมขอยกคำพูดของ Don Carveth มาให้ทุกคนได้ฉุกคิดกันซักหน่อยว่า


“ดังนั้นถ้าครั้งหน้าคุณอยู่ในสถานการณ์ที่ผู้มีอำนาจที่มีเหตุมีผลหายไปหรือดูเหมือนจะล้มเหลว และคุณพบว่าตัวเองถูกดึงดูดด้วยผู้นำคนใหม่ที่จะเข้ามาแทน ถามตัวคุณเองซักนิดว่า ‘นี่ฉันกำลังเริ่มที่จะมอบความไว้วางใจให้กับคนที่อารมณ์แปรปรวนมากที่สุดในกลุ่มหรือเปล่า?’”


("So the next time you're in the situation where rational authority is absent or appears to have failed, and you find yourself drawn to substitute leader, ask yourself the question 'Am I beginning to put my trust in the most emotionally deranged person in the group?'")

.


เจษฎา กลิ่นพูล

K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา

ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page