top of page
ค้นหา

การทบทวนประเด็น Groupthink และ ba group

รูปภาพนักเขียน: Psychologist ChairPsychologist Chair

. ในบทความนี้ ผมพยายามทบทวนความเข้าใจเรื่องการคิดของกลุ่ม หรือ Groupthink โดยผมพยายามรวบรวมปรากฏการณ์และทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ผมพยายามเข้าใจประเด็นนี้เพื่อจุดมุ่งหมายสองประการด้วยกัน ได้แก่ 1) เพื่อนั่งครุ่นคิดทบทวนเกี่ยวกับ groupthink และ ba group 2) เพื่อถ่ายทอดความเข้าใจนั้นเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจต่อทั้งตัวผมเอง และผู้อื่นในสังคมไทยด้วยกัน . โดยประเด็นที่ผมจะถ่ายทอดต่อไปนี้ มีการตีความผ่านทฤษฎีค่อนข้างสูง และอาจมีการคิดที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ในบางส่วน ดังนั้นจึงขอให้ผู้อ่านมองบทความนี้เป็นเพียง thinking piece ที่พยายามเล่าเรื่องให้คุณฟัง มากกว่าที่จะอ่านเพื่อเชื่อและนำไปใช้โจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง กล่าวคือ ผมเขียนบทความนี้เพื่อให้ตัวผมเอง (และหวังว่าจะมีผู้อ่านบางส่วน) นำความรู้เหล่านี้ไปตรวจสอบความเข้าใจโลกของตนเอง ไม่ว่าคุณจะอยู่ใน “กลุ่ม” ที่มีความคิดแบบใดก็ตาม . เรื่องราวเริ่มขึ้นในวันที่ 28 มกราคม ปี ค.ศ. 1986 ผู้คนจำนวนมากนั่งชมถ่ายทอดสดอย่างตื่นตาตื่นใจกับความสำเร็จอีกครั้งในด้านเทคโนโลยีทางอวกาศของ NASA ก่อนจะเปลี่ยนไปเป็นความตื่นตระหนกเมื่อมองเห็นกระสวยอวกาศระเบิดไปต่อหน้าต่อตา และร่วงลงมหาสมุทรพร้อมชีวิตของนักบินอวกาศทั้ง 7 คน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างทั้งความเศร้าสลด และความแปลกใจของประชาชนในขณะนั้นมาก พวกเขาแปลกใจเนื่องจากองค์กรชั้นนำอย่าง NASA ในสายตาของพวกเขาแล้ว ไม่น่าจะวางแผนงานได้ผิดพลาดขนาดที่ Challenger จะระเบิดก่อนที่จะขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศเสียด้วยซ้ำ

เมื่อเกิดการตรวจสอบกระบวนการทำงานของทีมเทคนิคภาคพื้นดิน กลับพบรายงานว่าวิศวกรจากบริษัท Thiokol ที่มีส่วนร่วมในทีม ได้แจ้งในการประชุมล่วงหน้าแล้วถึง 2 วันถึงโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุในเครื่องยนต์ จึงเกิดคำถามขึ้นว่า “ทำไมไม่มีใครฟังวิศวกรท่านนั้น?” และ “รู้ก่อนล่วงหน้าว่าจะพลาด แล้วทำไปทำไม?” . การค้นพบทางจิตวิทยาของ Irving Janis (1991) ต่อกรณีโศกนาฏกรรม Challenger กลับพบว่าเป็นเพราะเกิดการคิดแบบกลุ่ม (Groupthink) ในทีมเทคนิคนั่นเอง . นิยามของ Groupthink ในที่นี้ คือ “วิธีคิดของผู้คนที่ผูกพันกับกลุ่มที่มีความเหนียวแน่นสูง เมื่อสมาชิกกลุ่มมุ่งเน้นหาเอกฉันท์มากกว่าการกระทำที่เป็นไปได้จริง หรือหาทางเลือกอื่น” ซึ่ง Groupthink จะเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มมีความเหนียมแน่นสูง (high cohesiveness) และสมาชิกกลุ่มมุ่งเน้นไปที่การรักษาความสัมพันธ์ภายในกลุ่ม หรือ “รักษาความสามัคคีภายในกลุ่ม” ไม่ว่าจะต้องจ่ายราคาแพงเท่าใดก็ตาม (Janis, 1991) .

ซึ่ง Janis ได้รวบรวมเหตุการณ์ก่อนการระเบิดของ Challenger ที่มีอาการ (Symptom) ของ Groupthink ไว้ ซึ่งผมจะยกมาเพียงบางตัวเท่านั้นเพื่อให้คุณเห็นภาพ และโปรดอย่านำ checklist symptom เหล่านี้ไปใช้เพื่อประเมินคนรู้จักของคุณ หรือเหตุการณ์บ้านเมือง เพราะผมยกมาเพียงส่วนเล็กๆของอาการทั้งหมดเท่านั้น . เมื่อวิศวกรรายงานถึงความเป็นไปได้ที่เครื่องยนต์จะมีความผิดพลาด ผู้จัดการโปรเจคต์ตอบกลับด้วยความมั่นใจว่า “มีความเสี่ยงแบบนี้ในทุกไฟลท์ที่เราเคยเจอ” เนื่องจาก NASA ไม่เคยประสบอุบัติเหตุที่ร้ายแรงมาก่อน และเชื่อว่า NASA จะไม่ผิดพลาดด้วยเหตุผลที่ Janis นิยามว่าเป็นเหตุผลประเภท “พวกเราเป็นคนกลุ่มพิเศษ” (Symptom 1: Illusion of invulnerability) และเมื่อเกิด Groupthink แล้ว สมาชิกที่ “รู้สึก” ว่ากลุ่มถูกแล้วที่จะไม่ตรวจสอบเครื่องยนต์ กลับกลายเป็นว่าหลักของ “ความถูก” ของทีมเทคนิคที่ควรจะตรวจสอบความปลอดภัย กลับถูกเปลี่ยนสลับหัวสลับหาง (Symptom 2: Belief in Inherent Morality of the Group) .

ที่น่าตกใจที่สุด คือวิศวกรจากบริษัท Thiokol ที่เป็นผู้เตือนทุกคนในกลุ่มตั้งแต่ต้น กลับ censor ความเห็นในฐานะมืออาชีพของตนเอง และพูดอ้อมๆแทน (Symptom 5: Self-Censorship) และพบว่าความเชื่อในกลุ่มสามารถถูกผลักไปได้มากกว่านั้น เนื่องจากในการยื่นอนุมัติการออกกระสวย Challenger ต่อระดับผู้บังคับบัญชานั้น ผู้จัดการโปรเจ็คต์ไม่ได้รายงานความเห็นของวิศวกรจาก Thiokol อีกทั้งยังเชื่อว่าการที่ผู้บังคับบัญชาเงียบและไม่ตอบนั้นเป็นสัญญาณของการอนุมัติ (Symptom 6: Illusion of Unanimity) และที่เหลือเชื่อกว่านั้น คือกลุ่มจะปกป้องผู้นำจาก “ความคิดที่มีปัญหา” เนื่องจากเมื่อวิศวกรจาก Thiokol (ผู้เชี่ยวชาญด้านอะไหล่ที่มีปัญหาใน Challenger) จะออกความเห็นของเขา คนในกลุ่มคนอื่นจะปกป้องหัวหน้าทีม (Symptom 8: Self-Appointed Mindguard) โดยที่วิศวกรท่านนี้ได้เปิดเผยในภายหลังว่า ไม่มีใครเรียกเขาไปออกความเห็นในการประชุมสุดท้ายก่อนการปล่อยกระสวยเสียด้วยซ้ำ . ในกรณีศึกษาแรกนี้ จะเห็นความยึดโยงระหว่าง ผู้นำ-สมาชิก-กลุ่ม ในกลุ่มที่มีความเหนียวแน่นสูง (high cohesiveness) ว่าความเห็นของผู้นำแม้จะขัดแย้งกับสมาชิก หลักฐานเชิงประจักษ์ หรือผู้เชี่ยวชาญ สมาชิกส่วนใหญ่จะเลือกที่จะค้นหาเอกฉันท์เพื่อรักษาความสัมพันธ์ และปกป้องผู้นำเป็นหลัก ซึ่งกรณีศึกษานี้ชี้ให้เห็นถึง “พลังของความสัมพันธ์ต่อกลุ่ม” ว่ามันสามารถเปลี่ยนความจริง หรือทำให้สมาชิกต้องบิดเบือนความคิดของตนเองที่ไม่ตรงกับกลุ่มเสียก่อน . แม้ทฤษฎี Groupthink ตามทรรศนะของ Janis จะไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิทยาศาสตร์อย่างหมดจด แต่เขาเคยออกความเห็นว่า เขาเองก็ต้องการให้ทฤษฎีนี้ถูกตรวจสอบในห้องทดลองเหมือนกัน “หากเป็นไปได้”

แน่นอนว่ากรณีศึกษาของ Janis ไม่สามารถนำไปใช้ตัดสินกลุ่มอื่นๆได้ เพราะด้วยความที่ทฤษฎียังไม่ถูกพิสูจน์ให้แน่ชัด รวมถึงตัว Janis เองก็มองว่าไม่มีประโยชน์ที่จะพยายามแปะป้ายผู้คนในสังคมว่ากำลังกระทำการ Groupthink รวมถึง Groupthink ก็ไม่ได้นำพาไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด (defective decision making) เสมอไป . เมื่อพิจารณาตามข้อมูลแล้ว จุดสังเกตหนึ่งของการเกิด Groupthink แล้ว จะเห็นการเริ่มต้นที่ว่ามีผู้นำ (leader) ที่เชื่อว่าตนอยู่ฝั่งเดียวกับความถูกต้อง (moral) ก่อนจะบอกว่าสมาชิกคนอื่นไม่ได้อยู่ในฝั่งเดียวกับความถูกต้อง

จากการศึกษาเกี่ยวกับ Groupthink จะพบว่าสมาชิกกลุ่มบางคนไม่ได้เชื่อกลุ่มไปเสียทั้งหมด เพียงแต่รู้สึกไม่ดีที่ตนอยู่ใน “ฝั่งตรงข้ามกับความถูกต้อง” จึงเริ่มตามกระแสของกลุ่มด้วยความไม่อยากเป็นผู้ผิด

ทุกอย่างเริ่มมาจากการที่มีคนหนึ่งคนเชื่อว่าตัวเองยืนอยู่ข้างเดียวกับความถูกต้อง และสมาชิกคนอื่นไม่อยากเป็นผู้ผิด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งถูกและผิด ไม่เกี่ยวข้องใดๆกับสิ่งที่ปรากฏขึ้นในโลกภายนอก (external reality) ซึ่งที่ผมใช้คำว่า external reality นี้ เพราะไม่อยากใช้คำว่า “ความจริง” และปรากฏการณ์ของ groupthink มักเกิดการตัดขาดกับโลกภายนอกเสมอ . ในการสังเกตการณ์กลุ่ม นักจิตวิทยาบางท่านอย่าง Bion ได้ตั้งข้อสังเกตการณ์ว่า ในบางเวลา ผู้คนที่อยู่ในกลุ่มสามารถตกอยู่ในภาวะ psychotic ร่วมกันชั่วคราว ซึ่งการตกอยู่ในภาวะ psychotic นี้ไม่ได้หมายถึงว่าพวกเขากลายเป็นโรคจิต แต่หมายถึงภาวะ psychotic ตามนิยามที่ว่าพวกเขา “ไม่สามารถแยกแยะโลกภายใน และโลกภายนอกออกจากกันได้” การอยู่ในภาวะนี้หมายถึงการไม่สามารถบอกได้ว่า external reality แตกต่างกับอารมณ์ความรู้สึก และความเชื่อ ที่อยู่ในโลกภายในของตน ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร (Bain & Lawrence & Laurence, 1996) . ประเด็นปัญหาของการแยก “ภายใน-ภายนอก” นี้เองที่นำพาไปสู่ความสำคัญของ boundary ระหว่าง สมาชิก-กลุ่ม-ผู้นำ เนื่องจาก Bion พบว่ากลุ่มที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีสุขภาวะนั้นมีการแยกแยะระหว่าง ตัวฉัน-กลุ่ม-ผู้นำ ออกจากกัน แม้จะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันไว้ด้วยกลุ่มก็ตาม ซึ่ง Bion เรียกกลุ่มประเภทนี้ว่า Work group หรือ W group . Bion มองหาองค์ประกอบที่ทำให้กลุ่มกลายเป็น W Group ที่ทำงานร่วมกันได้อย่างมีเป้าหมาย และสมาชิกสามารถกำหนด boundary ระหว่าง “ตัวฉัน-ผู้นำ-กลุ่ม” ได้จากองค์ประกอบสำคัญที่ดูเหมือนเรื่องเล็กๆในชีวิตประจำวัน นั่นคือการ “รับรู้ถึงจุดมุ่งหมายของกลุ่ม” เสียก่อน และร่วมมือกันเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมาย (Bain & Lawrence & Laurence, 1996) . W Group สามารถแยกแยะได้ตั้งแต่แรกว่าตนเองมีจุดมุ่งหมายเดียวกับกลุ่มหรือไม่ และจุดมุ่งหมายของกลุ่มมีส่วนที่สอดคล้องกับความต้องการของตนอย่างไร ก่อนจะร่วมมือกัน รวมถึงหัวหน้าของกลุ่ม W Group ก็เข้าใจตนเองและจุดมุ่งหมายของกลุ่มและพยายามพากลุ่มไปยังจุดหมายนั้น .

เป็นเหตุให้เราสามารถมองเห็นภาพจางๆได้ว่า การเกิด Groupthink จากกรณีศึกษาแรกนั้น ผู้นำแสดงออกขัดกับจุดมุ่งหมายของกลุ่ม (ที่มีอยู่เพื่อตรวจสอบไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ) ด้วยความเชื่อต่อกลุ่ม และสมาชิกที่รับอารมณ์ความเชื่อของผู้นำก็เชื่อต่อกลุ่ม (“พวกเราเป็นกลุ่มที่พิเศษ”) โดยที่สมาชิกที่ยังมองเห็นจุดมุ่งหมายของกลุ่ม รวมถึงสังเกตเห็น external reality (อะไหล่ที่ผิดพลาด) แต่ถูกอิทธิพลของกลุ่มที่ทำให้เขาไม่อยากเป็น “ฝ่ายตรงข้ามกับความถูกต้อง” จนต้องยอม censor ตนเอง เราจะเห็นว่ากระบวนการนี้เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับ W Group โดยสิ้นเชิง เพราะสมาชิกและผู้นำล้วนทิ้งจุดมุ่งหมายของกลุ่มไปโดยสิ้นเชิง .

สมาชิกใน W Group ทำงานผ่านการอยู่กับประสบการณ์ในปัจจุบัน ร่วมกันค้นหาความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ มีการทดสอบคำตอบที่กลุ่มได้กับโลกความจริงก่อนที่จะเชื่อ และเรียนรู้ร่วมกันว่า external reality หรือ “โลกความจริง” ของพวกเขามีหน้าตาเป็นอย่างไร กล่าวคือเป็นการเรียนรู้จาก “ในไปสู่นอก” จากโลกของภายในกลุ่มไปสู่การหาความรู้ จากการทดสอบสมมติฐานไปสู่การมองสภาพแวดล้อม ส่วนการเรียนรู้แบบ Groupthink จะเป็นการนำข้อมูลในสภาพแวดล้อมทั้งหมดไปกองรวมไว้กับอคติเดิมที่มีอยู่ในโลกภายใน . ก่อนอื่นต้องขอปูเรื่องว่า Bion รวบรวมข้อมูลปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ใน group setting จากการทำกลุ่มบำบัด และรวบรวมข้อมูลมาทำวิจัยอีกทีหนึ่ง โดยทำงานด้วยการให้อยู่กับประสบการณ์ในปัจจุบัน (here and now experience) ให้มากที่สุดร่วมกัน และนักจิตวิทยามีบทบาทร่วมให้น้อยที่สุด ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการพูดถึง W Group นั้น ได้ค้นพบ Basic Assumption Group (หรือ ba Group) ก่อน . ความเข้าใจเรื่อง ba group เริ่มขึ้นเมื่อ ตัว Bion เองไม่พูดกับสมาชิกกลุ่มเลยเป็นระยะเวลานานจนเกิดพลวัตกลุ่ม (group dynamic) แบบที่คล้ายคลึงกับวัฒนธรรมในสังคมจริงๆขึ้นมา กรณีที่โด่งดังที่สุดก็คือกรณีของการทำกลุ่มกับทหารผ่านศึก ที่สมาชิกกลุ่มในช่วงแรกรู้สึกดีกับ Bion และรู้สึกอยากพึ่งพาเขาในทางใจ และเริ่มแสดงออกความเห็น ความรู้สึกด้านดีต่อ Bion (dependency) และต่อมา กลุ่มจึงเริ่มรู้สึกว่า Bion ผู้ไม่พูดอะไรเลยไม่ควรเป็นผู้นำพวกเขา สมาชิกกลุ่มเริ่มใช้ความโกรธต่อว่า Bion (fight-flight) และเริ่มมีการเลือกหัวหน้ากลุ่ม ใหม่มาทำหน้าที่แทนนักจิตวิทยา และโจมตีว่านักจิตวิทยาสมควรจะทำหน้าที่ได้ดีกว่านี้ หลังจากนั้นไม่นาน สมาชิกในกลุ่มเริ่มมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันจนมีการจับคู่สนิทสนมกัน (Pairing) รวมไปจนถึงที่กลุ่มแสดงออกอย่างยินดีเมื่อมีสมาชิกเปิดใจว่าเริ่มสนิทกับคู่ของตนเอง

ซึ่ง Bion เขียนข้อสังเกตไว้ว่า “ราวกับว่าพวกเขายินดีกับ Messiah ที่กำลังจะมาเกิด” กล่าวคือ Bion ได้มองเห็นการเกิดขึ้นของสังคมตั้งแต่ความรู้สึกถูกทอดทิ้งและต้องการผู้นำ ไปจนถึงความโกรธต่อคนที่ควรจะเป็นผู้นำ ไปจนถึงการหาผู้นำใหม่ และเฉลิมฉลองเมื่อมาการจับคู่ระหว่างสมาชิกในสังคม . ผมเล็งเห็นว่ามีจุดร่วมบางอย่างระหว่างปรากฏการณ์การเกิด ba group กับการเกิด groupthink ด้วยความที่ทั้งสองปรากฏการณ์ ล้วนเกิดจากการที่กลุ่ม (ไม่ว่าจะสมาชิกจะ consciously หรือ unconsciously) ละเลย external reality in favor of relationship or dependency กล่าวคือเป็นการพึ่งพิงความสัมพันธ์ในกลุ่มมากกว่าจะร่วมมือกันทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมนั่นเอง . อีกหนึ่งข้อสังเกตที่ผมอยากชี้ให้เห็น นั่นคือในกรณีศึกษาของ Janis นั้น การเกิด groupthink กระทำเพื่อรักษาความสัมพันธ์ภายในกลุ่ม แต่หากสังเกตในกรณีศึกษา ba group แล้ว จะเห็นว่ากลุ่มหวาดระแวง (paranoid) และใช้ fight-flight เพื่อโจมตี “ศัตรู” ของกลุ่ม รวมถึงแสดงออกถึงความรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อไม่มีหัวหน้ามาตอบสนอง dependency ดังนั้น เราสามารถสกัดประเด็นออกมาได้ ดังนี้ 1) กลุ่มตกอยู่ในภาวะ groupthink เมื่อต้องการรักษาความสัมพันธ์ภายในกลุ่ม (in-group) 2) เมื่อ ba group หวังกับผู้นำให้ “นำพาพวกเราออกจากภัยพิบัติ” พวกเขาเชื่อว่าการรวมตัวกันของกลุ่มสามารถช่วยพวกเขาได้ แม้ไม่ต้องแก้ปัญหาใดๆใน external reality หรือพยายามเรียนรู้มันใหม่ร่วมกัน 3) เมื่อ ba group รู้สึกว่าหัวหน้าถูกคุกคาม จะเกิดการโจมตี “ศัตรู” ของกลุ่มเพื่อปกป้องผู้นำ และกลุ่ม (between-group) 4) ทั้งสองกรณีศึกษา ชี้ให้เห็นถึงการพึ่งพิง (dependency) กับความสัมพันธ์ in-group และการละเลยการเรียนรู้โลกที่นอกเหนือไปจากโลกของกลุ่ม . หากเราย้อนกลับไปดูข้อคิดของ Freud (1921) เกี่ยวกับกรณีกลุ่มแล้ว Freud มีมุมมองว่าสมาชิกกลุ่มที่เชื่อผู้นำนั้น มักรับ (introjection) ความรู้สึกของผู้นำมาเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นการ “ละทิ้งการควบคุมตนเอง” (surrender self-regulation) ให้ผู้นำ ซึ่ง Freud ให้ข้อสังเกต (จากประสบการณ์เขาที่เคยเรียนสะกดจิตบำบัดมา) ว่าสมาชิกที่มองไม่เห็นอารมณ์ของตน และรู้สึกเหมือนกับผู้นำนั้น อยู่ในภวังค์คล้ายคลึงกับการถูกสะกดจิตโดยนักสะกดจิต (Freud, 1921) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ Freud มองเห็นคือ สมาชิกจะต้องละทิ้ง self-regulation ของตนเองเสียก่อน จึงจะสามารถรับ projected content จากผู้นำ โดยไม่สามารถแยกแยะได้อีกต่อไปว่าอารมณ์ความรู้สึก หรือความเชื่อที่มีในปัจจุบันนั้น เป็นของตนเองจริงหรือไม่ . ก่อนที่จะไปยังบทสรุป แบบฝึกหัดเล็กๆ ที่ไม่มีเฉลยมาให้ทุกคนได้เล่นกันครับ (ตอบในใจ หรือจดใส่สมุดบันทึกก็ได้ครับ) ค่อยๆคิด ค่อยๆทบทวนจากประสบการณ์ส่วนตัว ไม่ต้องรีบตอบนะครับ 1) คุณเคย “ตามน้ำ” ไปกับความคิดที่คุณรู้สึกไม่เห็นด้วย แต่กลัวจะกลายเป็นคน “ผิด” ไหม 2) ถ้าเคย คุณพอนึกออกไหมว่าเมื่อเห็นด้วยกับกลุ่มแล้ว คุณรู้สึกอย่างไร? 3) ความรู้สึกรัก ความต้องการพึ่งพิงทางใจ และเคารพผู้นำของคุณสอดคล้องกับประสบการณ์ชีวิตของคุณอย่างไรบ้าง? 4) คุณเข้าใจจุดมุ่งหมายของกลุ่ม หรือผู้นำของคุณว่าอย่างไร และสิ่งเหล่านั้นสอดคล้องกับประสบการณ์ชีวิตของคุณอย่างไร? 5) คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อกลุ่มของคุณยกข้อเสียของกลุ่มอื่นมาเล่าให้ฟัง? 6) คุณเคยรู้สึกหรือไม่ว่ากลุ่มของตนพิเศษกว่ากลุ่มอื่น และยืนอยู่ข้างเดียวกับความถูกต้อง แม้จะมีหลักฐานจากสภาพแวดล้อมมาแย้งเท่าใดก็ตาม 7) ระหว่างที่อ่านบทความนี้ของผม คุณรู้สึกว่าผมกำลังพยายามโจมตีฝั่งตรงข้ามของคุณ และเข้าข้างคุณหรือไม่ และคุณรู้สึกอย่างนั้นได้อย่างไร? 8) หากข้อ 7 ตอบว่า “ไม่” แล้ว คุณรู้สึกว่าผมกำลังพยายามโจมตีฝั่งของคุณ และเข้าข้างฝั่งตรงข้ามหรือไม่ และคุณรู้สึกอย่างนั้นได้อย่างไร? . หลังจากที่คุณผู้อ่านได้ทบทวนตนเองกับข้อคำถามเหล่านี้ไปแล้ว คุณพอจะสามารถแยกจุดมุ่งหมายของตัวคุณเองออกจากกลุ่ม หรือสามารถมองเห็นว่าตนเองกำลังอยู่ในกระบวนการ groupthink ของกลุ่มใดบ้างไหมครับ? โดยเฉพาะหากคุณตีความว่าบทความนี้ของผมกำลังเข้าข้างกลุ่มของคุณอยู่ ก็มีความเป็นไปได้ครับว่าคุณอาจตีความว่าความเงียบกำลังเข้าข้างคุณเหมือนกัน และนั่นคือพลังของ groupthink นั่นเอง หรือไม่คุณอาจรู้สึกบางอย่างกับบทความชิ้นนี้โดยส่วนตัว และไม่ได้ตกอยู่ในภวังค์ของกลุ่มใดเลยก็ได้ อันนี้ผมมองว่าอยากให้ลองคิดกับตัวเองก่อน ถ้าไม่เชื่อผมและคิดถกเถียงไปในหัวด้วยจะดีมาก .

ดังนั้น ผมอยากให้คุณนึกภาพว่ามีกลุ่มคนสองกลุ่ม ที่ต่างขับเคลื่อนด้วย groupthink ทั้งคู่ และให้นึกต่อไปว่า ทั้งสองกลุ่มมีความเชื่อต่อ object เดียวกันใน external reality ที่ขัดแย้งกันเองอยู่ หากนึกภาพตามสถานการณ์นี้แล้ว คุณอาจเริ่มเห็นภาพ และเข้าใจว่าการเกิด polarization ในสมการดังกล่าวนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด เนื่องจากกลุ่มทั้งสองกลุ่มไม่สามารถเรียนรู้ถึง external reality ได้ใน in-group และในขณะเดียวกันก็ต้องจัดการกับความรู้สึกขัดแย้ง และโจมตี between-group ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งการมองเห็นภาพนี้จะนำพาไปสู่ความเข้าใจการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาครั้งก่อน หรือ “The Trump Effect” (หากสนใจ สามารถหาบทวิเคราะห์ประเด็นนี้อ่านกันได้นะครับ) . ในการคิดทบทวนถึง polarization ระหว่างสองกลุ่มที่พยายามรักษาความสัมพันธ์ in-group, หวาดระแวงกับภัยจาก “ศัตรู” จากภายนอก, การโจมตีศัตรูด้วยความหวาดระแวง และการตัดขาดจาก external reality นี้ อาจช่วยให้เราทำความเข้าใจถึงความโหดร้ายของอดีตที่เราอาจได้เรียนรู้ผ่านประวัติศาสตร์ก็เป็นได้ และช่วยให้เราพยายามรู้เท่าทนตนเองมิให้ตกอยู่ในภวังค์ของผู้นำ หรือกลุ่มจนสูญเสียการควบคุมตนเองไป (“surrender self-regulation”) . สุดท้ายนี้ ผมอยากจบบทความนี้ไว้ด้วยที่ว่างให้ทุกคนตีความข้อมูลทั้งหมดด้วยประสบการณ์ชีวิตของตนเอง และครุ่นคิดกับคำถามที่ไม่มีเฉลยเหล่านี้ด้วยตัวเอง ตัวอักษรเหล่านี้เป็นเพียงข้อมูลและตะกอนความคิดของผมเท่านั้น มันเป็นเพียงการตั้งคำถามง่ายๆขึ้นมาว่าความคิด และความรู้สึกของผมในขณะนี้ ยังเป็นของผมอยู่หรือไม่ และอยากชวนทุกคนให้ลองมาคิดด้วยกันเท่านั้น

หากไม่รู้ก็ไม่เป็นไรครับ เรามาอยู่กับความไม่รู้กันก่อน แล้วค่อยๆเรียนรู้โลกภายนอกกันไปตามแบบฉบับของเรา . Note เพิ่มเติมสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาต่อ: ทั้งโมเดลของ groupthink, ba group และ w group เป็นโมเดลที่ค่อนข้างตีความข้างเดียว และถูกนำมาพัฒนาต่อยอดอยู่เรื่อยๆโดยนักวิจัยสมัยใหม่ให้มีความยืดหยุ่นขึ้น เช่น depressive groupthink-paranoid groupthink position (bipolar groupthink) รวมไปถึงยังมีนักวิจัยอีกจำนวนหนึ่งที่พยายาม balance ให้ w group และ ba group ถูกพูดถึงอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นกลางมากขึ้น . อีกประเด็นคือ อัลบั้มใหม่ผมออกแล้วนะครับ ไปฟังหรือซื้อกันได้ที่ https://distrokid.com/hyperfollow/kawinkornthong/eros-2... . เก้าอี้ตัว KK กวิน ก้อนทอง . Reference Bain, A., Lawrence, W. G., & Gould, L. (1996). The fifth basic assumption. Free Associations, 6. doi:https://livelihoods.net.in/.../The-Fifth-Basic-Assumption... Freud, S. (1921). Group Psychology and the Analysis of the Ego. The Standard Edition of the Complete Psychological Works of Sigmund Freud, Volume XVIII (1920-1922): Beyond the Pleasure Principle, Group Psychology and Other Works, 65-144 Janis, I. (1991). Groupthink. In E. Griffin (Ed.) A First Look at Communication Theory (pp. 235 - 246). New York: McGrawHill.



ดู 8 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page