ผมเพิ่งได้อ่านนิยายเรื่อง ‘A Happy Death’ ของ Albert Camus จบเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ก่อน ในตอนที่อ่านจบ ผมได้แต่ติดอยู่กับความสงสัยและพยายามวิเคราะห์ถึงสิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ ในขณะเดียวกันก็นึกไปถึงบุคคลที่ผมรู้จักซึ่งสนใจเกี่ยวกับเรื่องสิทธิ์ของการตาย รวมทั้ง นึกถึงผู้ที่ประสบกับความทุกข์ทรมานของโรคซึมเศร้าหลายๆ คน ที่มักคิดถึงการฆ่าตัวตายเพื่อหลีกหนีจากความโหดร้ายของโลกใบนี้ จนขนาดที่ว่า บางคนอาจเกิดการหลอมตัวเองเข้ากับคอนเซปของ ‘ความตายอันแสนสุข’ เพื่อต่อสู้กับการมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้อย่างหม่นหมองไปแล้ว
.
เรื่องราวในหนังสือ A Happy Death เป็นการบอกเล่าเรื่องราวที่แบ่งออกเป็น 2 พาร์ท โดยในพาร์ทแรก ตัวละครเอกเดินทางไปช่วยฆ่าคนพิการคนหนึ่งที่มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่เพราะเขาเป็นคนพิการจนไม่สามารถมีความสุขได้อีกต่อไปแม้จะมีเงินมากแค่ไหน เขาจึงขอให้ตัวเอกฆ่าเขาและเอาเงินไปใช้
.
ในพาร์ทที่สอง ตัวเอกใช้เงินที่ได้ไปกับการเดินทางและเที่ยวผู้หญิงเพื่อตามหาความสุขของชีวิต แต่แล้วเขาก็ไม่พบความสุขที่ว่านั่นจากสิ่งเหล่านี้ และกลับกลายเป็นว่าเขาได้พบความสุขจากชีวิตทั่วๆ ไปของตัวเองอย่างการปีนเขา ว่ายน้ำ และแต่งงานกับคนที่เขาไม่ได้รัก หรือแม้กระทั่งในตอนสุดท้ายที่เขาป่วยใกล้ตายก็ยังคงอยากมีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาในช่วงที่กำลังจะหมดลมหายใจ
.
สิ่งที่ติดอยู่ในหัวผมคือ ‘ความตายอันแสนสุข’ จากชื่อหนังสือของ Camus คือความตายแบบไหน? เช่นเดียวกับความสงสัยว่า ทำไมเขาถึงตั้งชื่อพาร์ทแรกว่า Natural Death และพาร์ทหลังว่า Counscious Death ในเมื่อมันช่างไม่เข้ากันเลยกับความตายของคนพิการในพาร์ทแรกที่เป็นความตั้งใจด้วยจิตสำนึก (conscious) ของเขาที่จะตาย ในขณะที่การตายของตัวละครเอกกลับเป็นความตายตามธรรมชาติจากความเจ็บป่วยมากกว่า?
.
ในที่สุดผมตระหนักได้ว่าบางทีตัวผมเองอาจมีมุมมองต่อความตายที่คล้ายกันกับคนอื่นๆ ทั่วไป ซึ่งบางส่วนก็ทำให้ความเชื่อของคนที่อยากตายมีเหตุผลขึ้นมาด้วย
.
บางที ‘ความตายอันแสนสุข’ นั้นอาจหมายถึงความตายทั้งสอง ขึ้นอยู่กับมุมมองของเราเอง
.
มุมมองต่อความตายของคนพิการในพาร์ทแรกคงไม่ต่างจากคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนที่เริ่มรู้สึกว่าการมีชีวิตอยู่มันทรมานมากเกินไป ดังนั้น ‘ความตายอันแสนสุข’ เหล่านี้จึงเหมือนความตายในอนาคตหรือการมองความตายเป็นเป้าหมายของชีวิต เพราะงั้นมันจึงถูกเรียกว่า ‘Natural Death’ เพราะส่วนใหญ่เราต่างมองความตายแบบนั้นว่า ความตายคือการพัก การสิ้นสุดจากความทุกข์ จนถึงอาจเป็นหนทางของความสุขสำหรับบางคน
.
ยังไงก็ตาม ความตายในมุมมองแบบนี้แหละที่อาจยิ่งสนับสนุนให้คอนเซปต์ของความตายในหัวของคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหลายๆ คน และในขณะเดียวกัน ผมก็นึกไปถึงเทคนิคที่นักจิตวิทยาหลายคนรวมถึงตัวผมเองที่ต่างใช้เพื่อ ‘ท้าทาย’ (challenge) ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าและเริ่มมีคอนเซปต์แบบนี้ว่า ‘เราจะรู้ได้ยังไงว่าหลังจากตายไปแล้วจะเป็นอย่างที่เราคิด?’
.
ในทางตรงข้าม ความตายในพาร์ทที่สองกลับเป็น ‘ความตายอันแสนสุข’ ที่เราต่างไม่เคยคิดถึง เพราะเราต่างหวาดกลัวความตายพอๆ กับการเชื่อว่ามันคือหนทางของความสุข
.
เราต่างคิดถึงความสุขในโลกหลังความตาย แต่เรากลับไม่ค่อยให้ความสำคัญกับช่วงเวลาของการตายเช่นตัวละครเอกในเรื่อง เพราะมันดูเป็นอะไรที่น่าหวาดกลัวและเจ็บปวด
.
แต่ ‘ความตายอันแสนสุข’ ในพาร์ทที่สองคือความสุขของตัวละครเอกที่เปิดรับประสบการณ์อย่างมีสติแม้กระทั่งในขณะที่จะต้องตายดังเช่นชื่อของพาร์ทนี้ที่ว่า ‘Conscious Death’ ดังนั้น ความสุขในพาร์ทนี้จึงไม่ใช่สิ่งเดียวกับความตาย แต่ดูเหมือนจะเป็นมุมมองที่เราต่อประสบการณ์ชีวิตในปัจจุบันมากกว่า และเป็นสิ่งที่ Camus ตั้งใจนำเสนอด้วยว่าความสุขของคนเราอาจอยู่ที่ความหมายที่เราให้กับตัวมันเอง
.
เช่นเดียวกัน ความสุขในพาร์ทที่สองนี้ก็ทำให้ผมนึกถึงเทคนิคการช่วยเหลือผู้ที่พบกับความซึมเศร้าและวิตกกังวลที่เหล่านักจิตวิทยาต่างทำกัน นั่นคือการให้คนเหล่านั้นมีจิตสำนึก (conscious) หรือเอาใจมาจดจ่ออยู่กับปัจจุบันขณะทั้งสถานที่และเวลา (here & now) นั่นเพราะเราต่างเข้าใจกันดีว่าความซึมเศร้าและวิตกกังวลนั้นสัมพันธ์กับการที่ใจของเราลอยไปจดจ่ออยู่กับอดีตและอนาคต รวมไปถึงความคิดและจินตนาการของเราเอง
.
จิตสำนึก (conscious) ในที่นี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกับการรู้คิด เพราะเราอาจรู้ดีว่าความคิดของเรานั้นเหมือนดาบสองคมที่ทั้งช่วยให้เราเข้าใจสิ่งต่างๆ แต่ขณะเดียวกันก็กักขังเราจากความรู้ที่เราได้รับ อีกทั้ง นักประสาทจิตวิเคราะห์อย่าง Mark Solm ก็เคยทำให้เราเห็นแล้วในงานวิจัยของเขาว่า ‘Id conscious’ หรือก็คือต่อให้เราไม่มีการรู้คิดแบบเชิงเหตุผล แต่เราก็ยังคงมีจิตสำนึก (conscious) ต่อการดำรงอยู่ของตัวเอง
.
สุดท้ายแล้วการตายเป็นหนทางของความสุขมั้ย? ผมคิดว่าถ้าหมายนั่นถึงความตายในอนาคตผมตอบไม่ได้เหมือนกัน แต่หนทางของความสุขอาจอยู่ที่มุมมองต่อปัจจุบันของเราก็ได้
.
_____________________________________________________
'เก้าอี้นักจิต’เปิดให้บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาสำหรับบุคคลทั่วไปผ่านทางออนไลน์ (online counseling service)
.
รายละเอียดการบริการ
.
การให้บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาโดยนักจิตวิทยาการปรึกษา เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปที่ประสบกับปัญหาในการจัดการอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม รวมไปถึงผู้ที่มีความเครียด วิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ไม่มีเป้าหมายในชีวิต หรือพบความยากลำบากในความสัมพันธ์กับทั้งเพื่อน คนรัก หรือครอบครัว
(สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับนักจิตวิทยาผู้ให้บริการได้ที่ https://www.facebook.com/media/set/...)
Comments