“คุณลองนึกภาพเด็กเพิ่งหัดเดิน เซไป เซมา จนดูเหมือนว่าจะล้มได้ทุกเมื่อ
เด็กที่เพิ่งจะใช้มือหยิบจับบล็อกไม้ เพื่อใส่เข้าไปในช่องที่มีรูปร่างเดียวกัน
เด็กที่เหมือนใช้มือในการหยิบอาหารเข้าปากถนัดกว่าการใช้ช้อนส้อม
เด็กที่ยังไม่สามารถขว้างลูกบอลได้อย่างแม่นยำ” .
การเคลื่อนไหวนั้นสำคัญกับเด็กมาก ไม่ใช่เพียงแค่ในแง่ของพัฒนาการทางกายเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นฐานของพัฒนาการทางสมอง (cognitive development) และความสามารถในการพึ่งพาตนเองของเด็กอีกด้วย (independency)
. ในแง่ของพัฒนาการทางสมอง เมื่อเด็กสัมผัสและเคลื่อนไหว เขาจะเรียนรู้สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว เช่น ความนุ่ม ความแข็ง ความเปียก ความแห้ง ความหยาบ ความเรียบ นอกจากนี้ในระดับที่ลึกลงไป เด็กจะต้องวางแผนเพื่อแก้ปัญหา เมื่ออยากได้สิ่งของนั้นๆ ในขณะที่มันอยู่ไกลเกินเอื้อม หรือมันคอยจะกลิ้งหนีอยู่เรื่อย และนี่ยังหมายถึงการฝึกพัฒนาการมือตาสัมพันธ์ เพราะยังต้องคอยจับตามองสิ่งที่ต้องการ ขณะกำลังเอื้อมมือคว้าสิ่งนั้น . ขณะเดียวกัน ในด้านการพึ่งพาตนเองของเด็ก (independency) เมื่อเด็กไม่ถูกจำกัดด้วยพัฒนาการทางกล้ามเนื้อของตนเอง เด็กก็จะเรียนรู้จนสามารถใช้มือหยิบจับหรือใช้ช้อนส้อมตักอาหารกินเองได้ โดยที่ไม่ต้องรอให้ใครป้อน สามารถเดินไปใช้ห้องน้ำเองได้ หรือแต่งตัวเองได้ . พัฒนาการทางกายของเด็ก สามารถแบ่งได้เป็น 2แบบคือ พัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็ก และพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ . กล้ามเนื้อมัดเล็ก (Fine Motor Skills) ประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อตั้งแต่บริเวณปลายนิ้วมือไล่ลงมายังบริเวณฝ่ามือ และข้อมือ ทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็กเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของบริเวณมือ การพัฒนากล้ามเนื้อส่วนนี้สำคัญในการสร้างรากฐานสำหรับเด็กในการจับช้อนส้อม การจับดินสอบังคับทิศทางของดินสอ ผูกเชือกรองเท้า เล่นดนตรีอย่างเปียโนหรือดีดกีตาร์ และการทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยนิ้วมือ . กล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross Motor Skills) คือกล้ามเนื้อบริเวณลำตัว แขน ขา และทำงานรวมกันของกล้ามเนื้อเหล่านี้ เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหว หรือท่าทางอริยาบทต่างๆ ทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่มีส่วนช่วยให้เด็กๆ สามารถทรงตัว รักษาสมดุล มีความคล้องแคล้วในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การปีนป่าย กระโดด ยื่นขาเดียว และการเล่นกีฬาเป็นต้น . สิ่งที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของกล้ามเนื้อ คือการทำกิจกรรม และการเล่น กิจกรรมที่สามารถช่วยในการพัฒนากล้ามเนื้อมันใหญ่ได้ เช่นการวิ่ง การเดินตามเส้น การปีน การกระโดด ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สามารถนำมาสร้างสรรค์ เป็นเกม เพื่อเพิ่มความสนุกได้ เช่นการกระโดดเหมือนกระต่ายเพื่อไปหยิบแครอทมาใส่ตระกร้า ในส่วนของกล้ามเนื้อมัดเล็ก หรือบังคับกล้ามเนื้อนิ้วมือและอุ้งมือนั้น สามารถพัฒนาด้วยกิจกรรมเช่น การเล่นปั้นดินน้ำมันหรือแป้งโดว์ การหยอดเหรียญใส่กระปุก การร้อยเชือก ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สามารถปรับได้ตามวัยเช่น ในตอนแรกเริ่มนั้นให้หยิบลูกแก้วมาใส่ในถาดน้ำแข็ง(ที่มีหลายช่อง) ทีละลูก เมื่อเด็กโตขึ้นกิจกรรมสามารถปรับเปลี่ยนเป็นการใช้ช้อนตัก หรือใช้ที่คีบๆลูกแก้วใส่ในช่องได้ และสิ่งที่จะทำให้เด็กๆสนุกขึ้น คือการที่ผู้ใหญ่ร่วมทำกิจกรรมกับเขาเพราะจะทำให้เขาไม่รู้สึกเหมือนโดนบังคับ โดยที่มีความเข้าใจ และใจที่พร้อมจะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เช่น การให้เด็กกำหนดสี หรือจำนวนของลูกแก้วที่ผู้ใหญ่จะหยิบ . ในช่วงแรกของการทำกิจกรรม ฝึกฝนกล้ามเนื้อ ความใจเย็นเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวอาจเป็นสิ่งใหม่สำหรับเด็กๆ (ลองนึกถึงตอนที่ ทำอะไรครั้งแรกบ้างเช่น โยนโบวลิ่ง ขับรถครั้งแรก) เมื่อทำซ้ำๆหลายๆรอบ เกิดการเรียนรู้ เกิดความคุ้นชิน พัฒนาการก็เกิดขึ้น จากเด็กที่เดินเซไปเซมา กลายเป็นเด็กที่วิ่งไล่จับ ปีนป่ายกับเพื่อนได้ . K . Reference https://pathways.org/topics-of-development/motor-skills/ Diamond, A. (2000). Close interrelation of motor development and cognitive development and of the cerebellum and prefrontal cortex. Child development, 71(1), 44-56.
Comments