เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยได้ยินคนบอกกันว่า “ถ้าเศร้า ให้ฝืนไปออกกำลังกาย ออกไปเจอคน เจอเพื่อน หรือหากิจกรรมอะไรที่ชอบทำเช่น วาดรูป ปั้นดิน เป็นต้น” บางคนอาจจะคิดว่าทำไปทำไม เวลาเศร้าก็ไม่ได้อยากจะทำอะไรสักหน่อย
.
ในทางจิตวิทยามีคำเรียกสิ่งนี้ว่า Behavioural Activation (BA) หรือ เทคนิคการกระตุ้นเชิงพฤติกรรม
ซึ่งอยู่บนฐานแนวคิดที่ว่า การทำกิจกรรมดังกล่าว แม้ในขณะที่ทำจะไม่มีอารมณ์ทำ หรือฝืนๆ ทำไปบ้าง แต่พฤติกรรมจะส่งผลโดยตรงต่ออารมณ์ ความรู้สึกและมุมมองต่อตนเองของบุคคลนั้น จนถึงขั้นว่าเป็นการบ้านอย่างหนึ่งที่นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ มักมอบให้กับผู้ที่มารับการรักษา โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า
.
Dimidjian และคณะ (2011) กล่าวถึง เทคนิคการกระตุ้นเชิงพฤติกรรมไว้ว่า เป็นกิจกรรมทางกายที่เป็นสิ่งที่ทำแล้ว1) เกิดประโยชน์และทำให้เจ้าตัวนั้นเกิดความรู้สึกดีและรู้สึกว่าสามารถควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองได้มากขึ้น 2) ลดปริมาณการทำกิจกรรมที่ไม่เกิดประโยชน์ เช่น การนอนไม่ทำอะไรของผู้ที่มีอาการซึมเศร้า 3) ลดความเป็นไปได้ของการเกิดปัญหาที่จะทำให้อาการแย่ลง หรือนำไปสู่ความรู้สึกที่ไม่ดีมากขึ้น
.
ความรู้สึกดีที่เป็นผลพวงมาจากการทำกิจกรรมต่างๆ นั้นจะทำให้ วงจรของความรู้สึกซึมเศร้าหายไป
ยกตัวอย่างเช่น
A เป็นศิลปินหญิงที่มีอาการซึมเศร้า A ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากออกไปไหนหรือเจอใคร สิ่งเดียวที่Aอยากทำคือนอนอยู่คนเดียวเงียบๆ แต่เมื่อAนอนอยู่คนเดียวเงียบๆ ทั้งวันติดต่อกันมาหลายวัน Aจะเริ่มรู้สึกแย่กับตนเอง รู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า และเกิดความคิดว่าตนเองจะไม่สามารถทำอะไรสำเร็จได้เลยในชีวิตเนื่องจากAเอาแต่นอน ถึงแม้ว่าAจะเป็นคนที่วาดรูปเก่งและมีคนที่ติดตามผลงานเธอมากมาย แต่เธอก็ไม่สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆออกมา เมื่อนึกถึงผลงานที่ไม่มีออกมา Aก็ยิ่งรู้สึกแย่กับตนเอง รู้สึกว่าเธอไม่สามารถควบคุมตนเองได้ และยิ่งไม่อยากทำอะไรมากขึ้น จนกลายเป็นวงจรซึมเศร้าเช่นนี้วนไปไม่รู้จบ
.
ในเวลาต่อมา เมื่อAได้ฝืนทำตามคำแนะนำของเพื่อนโดยการฝืนตนเองวาดรูปทุกวัน ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับเธอ แต่เมื่อเธอเห็นผลงานที่เธอเป็นคนสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง ทำให้เธอมีพลังในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นอื่นๆ ออกมาเพิ่ม และรู้สึกดีต่อตนเอง รู้สึกว่าเธอนั้นยังมีประโยชน์ และเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง เมื่อระยะเวลาผ่านไป เธอรู้สึกดีขึ้นกับตัวเอง และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ดังเดิม
.
หากเผชิญกับภาวะซึมเศร้า อารมณ์ความรู้สึกทางลบ หรือเรื่องกังวลใจต่างๆ การออกไปทำกิจกรรมต่างๆเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมตัวเองเป็นวิธีที่ได้ผล สามารถทำได้โดยง่ายไม่ต้องลงทุนอะไรมาก และมีหลากหลายกิจกรรมให้เลือก เช่น การรดน้ำต้นไม้ เดินรอบสวน ไปซื้อของ เอาผ้าไปซัก
โดยหลักการในการเลือกกิจกรรมที่ทำนั้นให้เป็นกิจกรรมที่ตัวเราสามารถทำได้จริง และควรกำหนดเวลาให้ชัดเจน เพื่อจะได้ลดความเสี่ยงในการไม่ทำกิจกรรมนั้น เช่นรดน้ำต้นไม้รอบๆบ้าน วันจันทร์ พุธ ศุกร์ ตอน5โมงเย็น ซึ่งจะชัดเจนและมีความเป็นไปได้มากกว่า กิจกรรมเช่น การวิ่ง5กิโลที่สวนแถวบ้านตอนเย็น ที่จะยิ่งเพิ่มแรงกดดัน
.
Ekers และคณะ (2014) รวบรวมและวิเคราะห์งานวิจัยที่มีเกี่ยวกับการบำบัดแบบกระตุ้นพฤติกรรม พบว่าการกระตุ้นพฤติกรรมมีส่วนช่วยให้ภาวะซึมเศร้าดีขึ้นได้ นอกจากนี้ Moradveisi และคณะ (2013) ยังพบว่าการบำบัดแบบกระตุ้นพฤติกรรมสามารถลดอาการของภาวะซึมเศร้าได้ เช่นความรู้สึกไร้ค่า ความรู้สึกผิด และภาวการณ์นอนไม่หลับ ได้ดีกว่าการรักษาแบบปกติ (treatment as usual) ซึ่งในที่นี้คือการทานยาลดอาการซึมเศร้า เช่น SSRI
.
ในณะที่เราทุกคนต่างมีสิ่งต่างๆ มากมายในใจของเราตลอดเวลา แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะใส่ใจในการแสดงออกของเราที่มีต่อคนที่เรารัก สิ่งสำคัญของการกระตุ้นเชิงพฤติกรรม (BA) คือ การเสริมแรงทางบวก โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมทางสังคมทั้งจากคนในครอบครัวและเพื่อนฝูง ซึ่งหมายความว่าสิ่งที่เราตอบสนองกับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าจะส่งผลกระทบต่ออารมณ์และสุขภาพของพวกเขาอาจเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยให้พวกเขาฟื้นตัวขึ้นมาจากความรู้สึกไม่ดีต่างๆ
.
K.
.
References
Dimidjian, S., Barrera, M., Martell, C., Muñoz, R.F., Lewinsohn, P.M. (2011). The origins and current status of behavioral activation treatments for depression. Annual Review of Clinical Psychology, 7(1), 1-38. doi:10.1146/annurev-clinpsy-032210-104535
Ekers, D., Webster, L., Van Straten, A., Cuijpers, P., Richards, D., & Gilbody, S. (2014). Behavioural activation for depression; an update of meta-analysis of effectiveness and sub group analysis. PloS one, 9(6).
Moradveisi, L., Huibers, M. J., Renner, F., Arasteh, M., & Arntz, A. (2013). Behavioural activation v. antidepressant medication for treating depression in Iran: randomised trial. The British Journal of Psychiatry, 202(3), 204-211.
Selva, J. (2019, November 19). Behavioural activation: Behavioral therapy for depression treatment. Retrieved from https://positivepsychology.com/behavioural-activation-therapy-treating-depression/
Comments