เคยสังเกตตัวเองไหมว่าบางครั้งเราก็มีกรอบความคิดที่ไม่กล้าก้าวข้ามออกไป อย่างเช่น กลัวในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน กลัวว่าจะเล่นดนตรีได้ไม่ดี แต่ถ้าลองมองย้อนกลับไปสังเกตตัวเองในอดีตจะพบว่าก็มีบางครั้งที่เราสามารถก้าวข้ามกรอบความคิดที่จำกัดได้ อย่างเช่น การหัดขี่จักรยานในตอนเด็ก ในตอนนั้นการขี่จักรยานสองล้อเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ไม่ว่าจะขี่จักรยานล้มไปไม่รู้กี่รอบ แต่ก็ไม่เคยล้มเลิกความพยายามที่จะขี่จักรยานให้เป็น จนในที่สุดเราก็สามารถขี่จักรยานได้ หรือจะเป็นตอนที่เพิ่งเริ่มเล่นดนตรีสักอย่างหนึ่ง ในตอนแรกก็เล่นได้ไม่ค่อยดี ตรงจุดนี้บางคนก็ยอมแพ้และเลิกเล่นไปเลย แต่บางคนก็ไม่ยอมแพ้ พยายามฝึกฝนทุกวัน จนสามารถเล่นดนตรีได้ดี จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าคนมีความแตกต่างกันแม้จะเป็นเรื่องเดียวกันก็ตาม ซึ่งส่วนหนึ่งที่ทำให้แตกต่างก็คือ mindset หรือ กรอบความคิดนั่นเอง
.
กรอบความคิด (mindset) คือ มุมมองที่มีต่อตนเอง (self-perception) เป็นกรอบความคิด หรือวิธีคิดที่ส่งผลต่อพฤติกรรม มุมมอง และทัศนคติ” ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดย Carol Dweck ผู้คิดค้นทฤษฎีเรื่อง Mindset ได้แบ่ง Mindset เป็น 2 แบบ คือ Fixed Mindset และ Growth Mindset
.
Fixed Mindset หรือกรอบความคิดแบบยึดติด จะเชื่อว่าความฉลาดและทักษะความสามารถเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ คนที่มีกรอบความคิดแบบนี้จะให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของตนเอง เช่น ต้องดูเป็นคนฉลาดและดูเป็นคนเก่ง จึงมักหลีกเลี่ยงงานที่ท้าทายหรือปัญหายากๆ เพราะกลัวว่าจะล้มเหลว กลัวว่าทำไม่ได้แล้วคนอื่นจะมองว่าไม่ฉลาดหรือไม่เก่ง ทำให้หลายครั้งพลาดโอกาสที่จะพัฒนาตนเองไป
.
Growth Mindset หรือกรอบความคิดแบบเติบโต จะเชื่อว่าความฉลาดและทักษะความสามารถพัฒนาหรือสร้างได้ตลอดชีวิต ด้วยการเรียนรู้และฝึกฝน คนที่มีกรอบความคิดแบบนี้จะให้ความสำคัญกับความพยายาม เพราะเข้าใจว่าแม้แต่คนฉลาดหรือคนเก่งๆยังต้องทำงานและฝึกฝนอย่างหนักเพื่อที่จะพัฒนาความสามารถให้ดีขึ้นเลย และคนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตก็ชอบปัญหาและความท้าทาย มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนา
.
จากการศึกษาในเด็กพบว่า เด็กที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต (growth mindset) จะประสบความสำเร็จในการศึกษามากกว่ากลุ่มที่มีกรอบความคิดแบบยึดติด (fixed mindset) ดังนั้นจึงควรที่จะพัฒนาให้เด็กมีกรอบความคิดแบบเติบโต (growth mindset) ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ คุณครู หรือใครก็ตามสามารถช่วยเสริมสร้าง growth mindset ได้
.
โดยอย่างแรก คือ การเน้นความสำคัญไปที่ความท้าทายแทนความสำเร็จ เป็นการแสดงให้เห็นว่างานที่ยากและท้าทายเป็นสิ่งที่น่าสนุกและน่าตื่นเต้น ส่วนงานง่ายๆ เป็นงานที่น่าเบื่อและไม่เกิดการพัฒนา เมื่อเริ่มทำงานที่ยากและท้าทายแล้วล้มเหลวหรือติดขัดก็จะเป็นโอกาสที่จะเข้าไปสอนและแนะนำให้เด็กๆ ลองทำวิธีใหม่ๆ ให้เด็กเห็นว่าอะไรที่ทำให้ติดอยู่ตรงนี้แล้วลองหาวิธีทางอื่นต่อไป เมื่อเด็กสามารถแก้ปัญหานั้นได้สำเร็จ ให้ชมเด็กที่ความพยายามแทนความสำเร็จ เช่น “พยายามได้ดีมากเลย” “เก่งมากเลยที่พยายามทำ พยายามลองหาวิธีจนเจอวิธีที่ได้ผล”
.
อย่างต่อมาคือ เปลี่ยนคำว่า “ทำไม่ได้” เป็น “ยังทำไม่ได้” เช่นในโรงเรียนแห่งหนึ่งในชิคาโกไม่ได้ประเมินผลการเรียนโดยให้เกรดว่า ผ่าน หรือ ตก แต่ให้เกรดเป็น ผ่าน หรือ “ยังไม่ผ่าน” เพราะเชื่อว่าถ้าเด็กขยันกว่านี้เขาจะสามารถผ่านการประเมินได้ ซึ่งเด็กในโรงเรียนนี้ก็จะไม่อายกับเกรดของตัวเอง เพราะเชื่อว่าถ้าครั้งแรกยังไม่ผ่าน ก็พยายามครั้งต่อๆไปได้อีก จะเห็นว่า คำว่า “ยัง” มีความสำคัญและควรนำไปใช้ เช่น เมื่อเด็กบอกว่า “หนูไม่เก่งเลข” หรือ “หนูทำไม่ได้” ให้เพิ่มคำว่า “ยัง” เข้าไป เป็น “หนูยังไม่เก่งเลข หรือ ยังทำไม่ได้ในตอนนี้” ซึ่งแค่คำว่า “ยัง” ก็สามารถช่วยให้ความสามารถและแรงจูงใจของเด็กสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้
.
ไม่ว่าคุณจะมีกรอบความคิดแบบยึดติด กรอบความคิดแบบเติบโต หรือทั้งสองแบบผสมกัน ก็สามารถที่จะพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตให้มากขึ้นได้ ด้วยวิธีคิดดังตัวอย่างข้างต้นก็คือ การให้ความสำคัญที่ความท้าทายมากกว่าความสำเร็จ และการให้ความสำคัญกับความพยายามด้วยการบอกตัวเองว่า “เราแค่ยังทำไม่ได้ในตอนนี้” ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำไม่ได้ตลอดไป สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ว่า คนเราพัฒนาได้ไม่มีขีดจำกัด แต่กรอบความคิดของเรานี่แหละที่จะจำกัดตัวเราเอง
.
เก้าอี้ตัว G
ลักษณ์พร ภาณุเกษมสิน
.
อ้างอิง
Dweck, C. (2015). Carol Dweck revisits the growth mindset. Education Week, 35(5), 20-24.
Dweck, C. S. (2010). Even geniuses work hard. Educational Leadership, 68(1), 16-20.
Dweck, C. S. (2009). Mindsets: Developing talent through a growth mindset. Olympic Coach, 21(1), 4-7.
Comentários