top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนPsychologist Chair

White Lies หรือ คำโกหกสีขาว - เรื่องดีหรือแย่ในความสัมพันธ์?

“การโกหก”

เมื่อพูดถึงคำนี้เพื่อนๆทุกคนคงรู้สึกอึดอัด และไม่สบายใจใช่ไหมครับ

“การโกหก” ฟังดูเห็นแก่ตัว และเหมือนเป็นการปกปิดความผิดของตัวเองเพื่อให้ตัวเองได้รับความสบายใจ และพ้นความผิดได้

แต่รู้ไหมครับ ว่ายังมี “การโกหก” อีกแบบเพื่อทำให้อีกฝ่ายได้รับความสบายใจ นั่นก็คือ White Lies (คำโกหกสีขาว)

.

.

White Lies คือ การโกหกเพื่อหวังให้อีกฝ่ายได้รู้สึกสบายใจ ทำให้ความสัมพันธ์นั้นราบรื่น หรือรวมไปถึงเพื่อให้เกิดเรื่องราวดีๆ

.

อาจกล่าวได้ว่า White Lies นั้นคือการโกหกเพื่อเป็นการหวังดีนั่นเอง โดย "คำโกหกสีขาว" นั้นจะแตกต่างจากโกหกปกติ ที่จะเป็นการโกหกเพื่อตนเอง ซึ่งคำโกหกสีขาวนั้นจะเป็นการโกหกเพื่อคาดหวังให้เกิดประโยชน์กับอีกฝ่ายมากกว่า เช่น เมื่อแฟนคุณถามว่า “คิดยังไงกับชุดอันนี้” แต่คุณรู้สึกไม่ชอบชุดนั้นเสียเลย แต่คุณคิดว่าถ้าพูดความจริงออกไป มันคงจะทำให้อีกฝ่ายเสียความรู้สึกแน่ๆ และอาจจะเกิดความไม่สบายใจกันแน่ๆ คุณเลยโกหกไปว่า “มันสวย และดูดีมากๆเลย”

.

แน่นอนว่า White Lies ไม่ได้มีเพียงแค่ในความสัมพันธ์แบบเพื่อนหรือคู่รักอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงความสัมพันธ์แบบครอบครัว และที่ทำงานอีกด้วย

เช่น เมื่อหัวหน้ามอบหมายงานให้คุณและถามว่า “ทำทั้งหมดไหวไหม” คุณที่มีงานอยู่ และไม่แน่ใจว่าจะทำงานทั้งหมดไหวไหม แต่ก็เกรงกลัวว่าถ้าบอกหัวหน้าไป กังวลว่าเขาจะมองว่าคุณจัดการงานไม่เก่งไหม จึงได้โกหกไปว่า “ทำได้สบายมากครับ”

.

.

อาจกล่าวได้ว่า White Lies นั้น เป็นการโกหกเพื่อ ต้องการทำให้อีกฝ่ายสบายใจ และเป็นการที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในความสัมพันธ์ รวมถึงเพื่อเป็นการทำให้สถานการณ์ที่เผชิญอยู่ดีขึ้นด้วย

.

. .

เมื่ออ่านถึงบทความข้างต้น ผมเชื่อว่าอาจจะมีหลายคนที่เชื่อว่า White Lies หรือ คำโกหกสีขาว ก็ไม่แย่เท่าไหร่ เพราะก็เป็นการโกหกเพื่อทำให้อีกฝ่ายสบายใจหรือทำให้อะไรหลายๆอย่างนั้นราบรื่นขึ้น

แต่ทราบไหมครับ ว่ามีการศึกษาว่า White Lies นั้นมีผลกระทบมากกว่าที่คุณคิด

.


White Lies อาจนำไปสู่การโกหกที่มากขึ้นเรื่อยๆได้

กล่าวได้ว่า คำโกหกที่เล็กน้อย ถ้าหากมีมากเรื่อยๆก็สามารถนำไปสู่การโกหกเรื่องอื่นๆได้เหมือนกัน

การศึกษาของ Nature Neuroscience (2016) ได้กล่าวว่า การโกหกเล็กน้อยไปเรื่อยๆ
ทำให้สมองปรับตัว ที่จะยอมรับว่าการโกหกเป็นเรื่องปกติ และจะส่งผลให้พฤติกรรมของเรานั้นโกหกมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงในเรื่องที่โกหกก็จะใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆอีกด้วย

.

White Lies ต่อให้เป็นการโกหกเพื่อให้ผู้อื่นสบายใจขึ้น แต่เมื่อผู้อื่นได้รับรู้ว่า คุณโกหก หรือไม่ซื่อสัตย์ จะส่งผลความน่าเชื่อถือในตัวคุณลดลงอย่างมาก แน่นอนคุณอาจจะคิดว่าเป็นการโกหกเพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้นแต่ในหลายครั้ง ผู้อื่นก็ยังมองว่ามันเป็นการที่คุณไม่ซื่อสัตย์และมองว่าความน่าเชื่อถือของคุณลดลงอยู่ดี

.

ผู้ที่ถูกโกหกถึงแม้ว่าจะเป็น White Lies ก็ตาม จะส่งผลให้รับรู้ว่าตนเองไม่มีความน่าเชื่อใจว่าตนเป็นคนที่ไม่สามารถยอมรับความจริงได้ อาจทำให้เกิดความสับสน และไม่มั่นใจในตัวเองได้

.

.


นอกจากนี้ยังมีการศึกษาอีกว่า จริงๆแล้ว White Lies ไม่ได้ช่วยทำให้อีกฝ่ายสบายใจขึ้น หรือทำให้สถานการณ์ดีขึ้นจริงๆ เพราะจริงๆ แล้วมันคือการโกหกเพื่อทำให้คุณรู้สึกว่ามันสะดวกสบายมากขึ้น

กล่าวได้ว่า White Lies ก็คือการโกหกเพื่อตัวของคุณเอง เพื่อให้คุณได้รู้สึกว่าคุณจะสามารถรับมือสถานการณ์ที่ราบรื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ลำบากที่จะเกิดขึ้น

.


แต่แน่นอนว่า White Lies ก็ยังมีประโยชน์เหมือนกัน ในกรณีที่เป็นการโกหกเพื่อปกป้องความปลอดภัยของตนเองและคนที่คุณรัก เช่น การโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงจากการโดนทำร้าย หรือ การโกหกเพื่อป้องกันไม่ให้เขาทำร้ายตนเอง และอื่นๆ

.

.

แล้วถ้าไม่อยากโกหก หรือใช้ White Lies มีแนวทางไหนอีกบ้าง

การเรียนรู้รากฐานของความสัมพันธ์ และมีปฏิสัมพันธ์อย่างซื่อสัตย์เพื่อเป็นการเรียนรู้การพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์อย่างสรางสรรค์เป็นสิ่งสำคัญ


เราสามารถเรียนรู้และฝึกวิธีพูดเพื่อถนอมน้ำใจ หลีกเลี่ยงการทำร้ายอีกฝ่ายโดยไม่จำเป็นต้องโกหก โดยเน้นเป็นการถามถึงความคิด และความรู้สึกของอีกฝ่ายมากกว่าตนเองได้ รวมไปถึงการฝึกเรื่องน้ำเสียงในการพูดด้วย


หรือบางครั้ง เราก็อาจใช้วิธีการอื่นเพื่อแสดงออกถึงการใส่ใจความรู้สึกอีกฝ่ายไปพร้อมกันได้ เช่น เมื่อถูกถามว่า “ชุดนี้สวยไหม” แต่คุณรู้สึกว่าไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ อาจจะเป็นการถามถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายแทนเพื่อเปิดโอกาสให้เข้าใจความปรารถนาของอีกฝ่ายแบบไม่ต้องคาดเดาไปเอง ได้แก่ การถามว่า“แล้วรู้สึกอย่างไรเวลาคุณได้ใส่ชุดนี้” หรือบอกไปตามตรงว่า “ความคิดเห็นของฉันอาจจะไม่สำคัญเท่ากับความรู้สึกของคุณที่ได้ใส่ชุดนี้นะ”

. การเรียนรู้ที่จะยอมรับผลกระทบจากการซื่อสัตย์ และรับมือกับผลกระทบเหล่านั้นก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญ แน่นอนว่าการพูดความจริงไป อาจจะมีการกระทบกระทั่งกันเป็นเรื่องปกติ แต่การซื่อสัตย์ และเรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ สามารถทำให้ความสัมพันธ์ และสถานการณ์ดีขึ้นได้มากกว่าการโกหกอย่างแน่นอน

.

.

อาจจะเห็นได้ว่า White Lies นั้นต่อให้เป็นการโกหกเพื่อจุดประสงค์ที่ดี แน่นอนว่า อาจจะช่วยให้สถานการณ์นั้นดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงนั้นอาจช่วยให้ดีขึ้นในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น ในระยะยาวอาจจะส่งผลกระทบในด้านลบมากกว่า ดังนั้น แทนที่จะใช้การโกหก อาจจะหาวิธีการสื่อสารเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจ ที่ก็ยังสามารถถนอมน้ำใจได้อาจจะดีกว่า White Lies ถึงแม้จะเป็นการโกหกที่เจตนาและจุดประสงค์ดีก็ตาม

แล้วเพื่อนๆล่ะครับ มีความคิดเห็นยังไงกับ White Lies บ้างครับ

.

.

เก้าอี้ตัว W

วงศธรณ์ ทุมกิจจ์

.


References

Garrett N, Lazzaro SC, Ariely D, Sharot T. The brain adapts to dishonesty. Nat Neurosci. 2016;19(12):1727-1732.

ดู 383 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page