top of page
ค้นหา

When she hates her mom, she becomes a red panda

รูปภาพนักเขียน: Psychologist ChairPsychologist Chair

ความแปลกแยกภายในและภายนอกที่สะท้อนในภาพยนตร์เรื่อง ‘Turning Red’


.


ผมได้ดูหนังเรื่อง ‘Turnning Red’ ใน Disney+ จบมาซักพัก แต่เพิ่งจะมีเวลามาเขียนบทความเกี่ยวกับประเด็นที่ผมสังเกตเห็นในเรื่องนี้ โดยประเด็นที่ผมอยากจะพูดถึงและแจ่มชัดในใจผมที่สุดระหว่างที่ดูคือเรื่องของ ‘ความรู้สึกแปลกแยก’ (alienation) ภายในใจของตัวละครต่างๆ ในเรื่อง


สำหรับหนังเรื่องนี้เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของ Mei Lee เด็กสาวชาวจีนวัย 13 ปีที่กำลังเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น จนกระทั่งวันหนึ่ง Mei Lee ต้องพบว่าตัวเองจะกลายร่างเป็นแพนด้าแดงเมื่อรู้สึกตื่นเต้นถึงขีดสุด และนั่นก็กลายเป็นที่มาของความวุ่นวายทั้งหมดในเรื่องนี้

.


[เกริ่นนำ]


สิ่งที่น่าสนใจคือความแปลกแยกของตัวละครในหนังเรื่องนี้ถูกแสดงให้เห็นเชิงสัญลักษณ์ได้แทบตลอดทั้งเรื่อง หากสังเกตดีๆ จะพบว่าครอบครัวของ Mei Lee แทบจะเป็นครอบครัวเดียวในเรื่องที่เป็นชาวเอเชียในสังคมอเมริกัน ซึ่งนี่เป็นความแปลกแยกภายนอกที่เราเห็นได้ชัดมากตั้งแต่แรก ซ้ำร้าย เมื่อ Mei Lee กลายร่างเป็นแพนด้าแดงตัวใหญ่ ราวกับว่าหนังพยายามตอกย้ำความแปลกแยกของตัวละครตัวนี้มากขึ้น รีแอ็คชั่นแรกๆ ของทุกคนที่พบเห็นแพนด้าแดงตัวยักษ์วิ่งไปมาในเมืองคือการย้ำว่า Mei Lee คือ ‘ตัวประหลาด’


การเป็นตัวประหลาดและความแปลกแยกไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับ Mei Lee เพียงคนเดียว แต่มันรวมไปถึงครอบครัวของเธอด้วย อย่างที่บอกว่าครอบครัวของเธอเป็นครอบครัวเอเชียเพียงครอบครัวเดียวในสังคมอเมริกัน เมื่อ Mei Lee ไปโรงเรียนหรือทำอะไรก็ตาม เธอยังคงมีความแปลกประหลาดมากกว่าเพื่อนไปอีกเมื่อแม่ของเธอ (Ming Lee) กำกับชีวิตเธอได้เป็นอย่างมาก แถมยังมีการตามไปแอบส่อง Mei Lee ที่โรงเรียนจนเพื่อนในห้องหัวเราะเยาะได้อีกด้วย


ความเป็นครอบครัวเอเชียในสังคมอเมริกันสะท้อนความแปลกแยกและความเป็นตัวประหลาดชัดเจนมากที่สุดในเรื่องนี้ ขนาดที่ว่าเมื่อเราสังเกตเพื่อนๆ ของ Mei Lee แต่ละคนแล้ว เพื่อนกลุ่มนี้ต่างก็ถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่บางครั้งถูกเรียกว่า ‘Weirdo’ หรือพวกที่ทำตัวประหลาดได้เลย ทั้งเพื่อนผิวขาวที่ชอบฮิปฮอป เต้นท่าประหลาดๆ และบีทซ์บ็อก, เพื่อนร่างท้วมที่ดูไฮเปอร์จนเกินเหตุ, และเพื่อนผิวสีที่พูดน้อยรวมทั้งมีความสนใจแปลกกว่าชาวบ้าน แต่ยังไงก็ตาม เพื่อนๆ ของ Mei Lee กลับดูปกติไปเลยเมื่ออยู่ในหนังเรื่องนี้ที่มีแค่ครอบครัวของ Mei Lee เพียงครอบครัวเดียวที่เป็นชาวเอเชียผู้เคร่งครัด

.


[เรื่องของสีแดง]


‘สีแดงเป็นสีแห่งความโชคดีนะรู้มั้ย?’


คำที่พ่อของ Mei Lee พูดดูจะมีความหมายมากกว่าการปลอบใจว่าแพนด้าแดงที่ Mei Lee กลายร่างเป็นไม่ได้น่าเกลียด แต่มันกลับทำให้ผมคิดไปว่าทำไมต้องเป็นสีแดงด้วยล่ะ!?


สำหรับชาวเอเชียโดยเฉพาะคนจีน เราต่างรู้ดีว่าสีแดงเป็นเหมือนสีนำโชคและแทบจะเป็นสีประจำตัวของพวกเขา แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ประหลาดดีที่ชาวจีนเลือกสีที่สะท้อนถึงอารมณ์รุนแรงเป็นสีประจำตัวของพวกเขาทั้งที่ชาวจีนอย่างครอบครัว Mei Lee กลับพยายามปฏิเสธการมีอารมณ์ที่รุนแรง


สีแดงเป็นสีที่มีความหมายถึงอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงเสมอ บางครั้งมันก็แสดงให้เห็นถึงความโกรธ ความเกลียด และขณะเดียวกันก็เป็นสีของความรักอย่างลุ่มหลง


ด้วยเหตุนี้ผมจึงรู้สึกว่ามันน่าสนใจมากที่หนังเรื่องนี้เลือกใช้สัญลักษณ์เป็นแพนด้าแดงเพื่อเป็นตัวแทนของอารมณ์ที่พลุ่งพล่านแทนที่จะเลือกแพนด้าสีขาว-ดำนั่งกินใบไผ่

.


[ความแปลกแยกที่สังเกตเห็นได้]


เรื่องราวของสีแดงกับครอบครัวของ Mei Lee ที่ผมอยากจะพูดถึงยังไม่จบ แต่อยากจะขอพักเบรกกลับไปเชื่อมโยงกับเรื่องความแปลกแยกซักหน่อย


เราจะเห็นได้ว่าความเป็นชาวเอเชียของครอบครัว Mei Lee และการเป็นครอบครัวต้องสาปที่กลายร่างเป็นแพนด้าแดงตัวยักษ์ใหญ่ เป็นภาพสะท้อนของความแปลกแยกในสังคมแบบอเมริกันในหนังเรื่องนี้ และนั่นเป็นความแปลกแยกที่เราสังเกตเห็นได้จากภายนอก


แต่ในขณะเดียวกัน ครอบครัวของ Mei Lee กลับมีความแปลกแยกภายในรวมอยู่ในตัวของมันเองด้วย


Ming Lee (แม่ของ Mei Lee) เป็นแม่ชาวเอเชียที่หนีจากครอบครัวเดิมของตัวเองมาอาศัยอยู่อเมริกากับครอบครัวใหม่ของตน แต่เธอก็ยังคงไม่ทิ้งรากเหง้าความเป็นชาวเอเชียของตัวเอง ซึ่งมันไม่ใช่แค่ด้านวัฒนธรรมประเพณีแต่รวมไปถึงลักษณะนิสัยของเธอด้วย ยังไงก็ตาม เธอยังรู้สึกถึงความแปลกแยกจากครอบครัวชาวจีนดั้งเดิมของเธอได้แม้เธอจะพยายามยึดมั่นในวิถีชีวิตชาวเอเชียดั้งเดิมของเธอมากก็ตาม


ในฉากที่ญาติๆ ของ Mei Lee มาที่บ้าน เราพอเดาได้ว่าแม่ของ Mei Lee อย่าง Ming Lee น่าจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวประหลาดในบ้านไม่ต่างกันกับที่ลูกสาวของเธอจะรู้สึก เพราะทุกคนต่างบอกว่าเวลาที่ Ming Lee กลายร่างเป็นแพนด้าแดงนั้นช่างน่าเกลียด (น่ากลัว) ขณะเดียวกัน ในท้ายเรื่องเราจะได้เห็นว่า Ming Lee รู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอกับครอบครัวของตนมาตั้งแต่ตอนเป็นสาวๆ แล้ว (ในฉากสุดท้ายที่ย้อนวัยเธอเป็นเด็กสาวนั่งร้องไห้ในป่าไผ่)


สำหรับผมเองเลยมองเห็นชัดว่าจริงๆ แล้วคนที่น่าจะรู้สึกถึงความแปลกแยกมากที่สุดในเรื่องอาจเป็น Ming Lee ด้วยซ้ำ เนื่องจากเธอรู้สึกไม่ fit in กับครอบครัวของตัวเองและครอบครัวใหม่ (ลูกสาว) ที่เธอสร้างขึ้นเลย ในทางตรงข้าม ลูกสาวเธออย่าง Mei Lee แม้จะรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกจากเพื่อนคนอื่นๆ อยู่บ้างเพราะมีแม่นิสัยชอบบงการ ทำตัวน่าอาย และต้องมากลายเป็นแพนด้าแดงตัวใหญ่ แต่ Mei Lee กลับไม่ได้ตัวคนเดียวแม้แต่น้อย อย่างที่เห็นได้ว่าเพื่อนๆ ของ Mei Lee เป็นตัวแปรสำคัญมากที่ทำให้ Mei Lee รู้สึกว่าตัวเองมีพื้นที่ปลอดภัย ได้รับการยอมรับ และสามารถควบคุมการแปลงร่างของตัวเองได้ ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อนที่โรงเรียนทุกคนต่างชื่นชอบแพนด้าแดงขนนุ่มฟูตัวใหญ่นี้!

.


[ความแปลกแยกภายใน และ Object relation]


ยังไงก็ตาม ในมุมมองที่ลึกมากยิ่งขึ้นแบบจิตวิเคราะห์ ผมคิดว่าความแปลกแยกในครอบครัวอาจเป็นความแปลกแยกภายในแบบตื้นๆ เท่านั้น เพราะเมื่อเราย้อนกลับมาที่เรื่องความสัมพันธ์ของอารมณ์ สีแดง และการกลายเป็นแพนด้าแดงอีกครั้งอาจพบได้ว่า


‘ครอบครัวของ Mei Lee ไม่ได้แค่รู้สึกแปลกแยกจากสังคมและรากเหง้าครอบครัวเดิมของตัวเองเท่านั้น แต่พวกเขาต่างรู้สึกแปลกแยกกับอารมณ์ของตัวเอง!’


ในที่นี้ผมขอขยายความการวิเคราะห์ของตัวเองว่า ขณะที่เราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์ที่รุนแรงและการกลายเป็นแพนด้าแดงของคนในครอบครัว Mei Lee เป็นที่แน่ชัดแล้ว เราจึงบอกได้เลยว่าพวกเขาต่างพยายามปฏิเสธหรือเก็บกดมันลงไปอย่างถึงที่สุด


จริงๆ คงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่เราจะประสบกับตัวเองได้ว่าครอบครัวคนจีนมีแนวโน้มมากกว่าครอบครัวเชื้อสายอื่นๆ ที่จะเก็บกดและไม่แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกมากนัก ราวกับว่าสิ่งเหล่านี้คือความอ่อนแอ ในขณะเดียวกัน มันก็อาจหมายถึงสิ่งที่น่ากลัวหรือยากจะรับมือ ตัวอย่างเช่น อารมณ์โกรธเกลียด และ ความลุ่มหลง


ความรู้สึกเดียวที่ Mei Lee สามารถมีกับแม่ได้คือความรัก เธอต้องเป็นลูกที่ดี เชื่อฟังแม่ และยังคงต้องรักแม่แม้จะขัดใจที่แม่ไม่ยอมให้อิสระเธอ จนกระทั่งในวันที่ Mei Lee ต้องกลายเป็นแพนด้าแดงครั้งแรก มันคือวันที่เธอรู้สึกอับอายอย่างมากจากการกระทำของแม่ แต่ที่อาจจะอยู่ลึกไปกว่านั้นคือ ความรู้สึกในจิตไร้สำนึกของเธอที่เธอแตะความเกลียดแม่ของตนเข้าให้แล้วแต่ก็กลับไม่สามารถแสดงมันออกมาได้


หากเราตั้งคำถามมากขึ้นอาจพบได้ว่า การที่ต้องเก็บกดอารมณ์ของคนในครอบครัว Mei Lee มันไม่ได้จำกัดอยู่แค่การกลายเป็นแพนด้าแดงเท่านั้น แม่ของ Meil Lee และญาติคนอื่นๆ ต่างคิดแบบนั้นก็เพราะเชื่อว่าแพนด้าแดงคือตัวร้ายของเรื่องนี้เพียงอย่างเดียว แต่แพนด้าแดงเป็นเพียง Object (สิ่ง) ตัวแทนของผู้ร้ายในสมการของเรื่องนี้เท่านั้น


“ถ้าหากว่าครอบครัวของ Mei Lee ต้องควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ให้กลายเป็นแพนด้าแดง แล้วทำไมเมื่อพวกเขาขังแพนด้าแดงไว้ในสิ่งของต่างๆ จึงยังทำให้พวกเขาปฏิเสธการแสดงออกทางอารมณ์หรือต้องควบคุมอารมณ์ตัวเองอย่างมากกันล่ะ?”


เมื่อมาถึงจุดนี้จะเห็นได้ว่ามันมีความคล้ายกับ Object อื่นๆ นอกจากเรื่องแพนด้าแดงเสียด้วยซ้ำ และมันสะท้อนให้เห็นถึงไดนามิกของการปฏิเสธอารมณ์ของคนเชื้อสายจีนที่เลือกใช้สีแดงหรือสิ่งของสีแดงเป็นสีนำโชค ทั้งที่มันคือสีแห่งอารมณ์ที่รุนแรงที่พวกเขาปฏิเสธมันตั้งแต่แรก


ผมมองว่ามันเป็นกระบวนการของ projection ที่พวกเขาเลือกสิ่งของสีแดงเพื่อถ่ายโอนสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการอย่างอารมณ์ไปใส่ไว้กับมัน แต่แน่นอนว่ามันไม่ได้ผลชะงัก เพราะนี่เป็นการทำงานของจิตไร้สำนึกที่ขัดกับความเป็นจริงว่าเราไม่สามารถตัดขาดอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นพื้นฐานแต่กำเนิดของเราได้ และเมื่อมันถูกเก็บกดไว้ก็จะเผยออกมาในรูปแบบที่น่าเกลียดกว่าเดิมดังเช่นที่ Freud กล่าว (คำว่าน่าเกลียดในที่นี้คือมันถูกแสดงออกมาแบบอ้อมๆ จนเราต้องตีความถึงจะเข้าใจได้ เช่น การแสดงออกว่าโกรธแต่ใช้การเงียบไม่พูด หรือ การรู้สึกเสียใจซึมเศร้าที่กลายมาเป็นอาการป่วยทางร่างกายอย่างไม่รู้สาเหตุ ฯลฯ)


ท้ายที่สุด Mei Lee กลายเป็นตัวแทนของการยอมรับอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้น การกระทำที่กล้าหาญของเธอในการปฏิเสธเสียงของแม่และญาติฝั่งแม่ทำให้ทุกอย่างเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น เธอยอมรับว่าเธอเกลียดแม่แต่ก็ไม่ได้ทำร้ายแม่โดยตรง เพียงแต่เธอกล่าวขอโทษที่ต้องขัดขืนและเดินต่อไปในทางที่ตัวเองเลือก ในขณะเดียวกันเมื่อ Mei Lee แสดงให้เห็นว่าเธอสามารถควบคุมมัน (อารมณ์ตัวเอง) ได้ รวมทั้งใช้มันในทางที่ดี (ช่วยเหลือแม่) ก็ทำให้ญาติฝั่งแม่คนอื่นๆ ยอมกลายเป็นแพนด้าแดงด้วยตัวเองเพื่อใช้มันในทางที่ดีเช่นกัน


ยังไงก็ตาม อย่างที่ผมกล่าวว่าแพนด้าแดงเป็นเพียงสัญลักษณ์หรือ Object ตัวแทนที่ถูกป้ายสีเท่านั้น เพราะอารมณ์ความรู้สึกของพวกเขาเองต่างหากที่เป็นสิ่งที่พวกเขาเลือกปฏิเสธมัน เมื่อยายของ Mei Lee และญาติฝั่งแม่คนอื่นๆ เห็นว่า Mei Lee ยอมรับแพนด้าแดงได้ พวกเขาก็ยอมรับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ว่าจริงๆ แล้วการรู้สึกรักและการบอกรักมันไม่ได้น่ากลัวหรือเป็นความอ่อนแอแม้แต่น้อย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ จริงอยู่ที่พวกเขาผนึกแพนด้าแดงลงไปอีกครั้ง แต่พวกเขาก็ใจกว้างมากขึ้นกับทั้งการกอด การบอกรักกัน การอนุญาตให้คนอื่นเป็นอย่างที่พวกเขาเป็น และการใช้ชีวิตแบบไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบมากเกินไป (เลข 4 ที่โชคร้ายกลายเป็นเหมือนมุขตลกมากกว่าจะมารู้สึกซีเรียสกับมัน)

.


[ทิ้งท้าย]


สุดท้ายเมื่อเราย้อนกลับมาที่ความรู้สึกแปลกแยกอันเป็นตัวตั้งต้นของบทความนี้อีกครั้ง ความแปลกแยกกลับกลายเป็นสิ่งที่เราจะไม่ได้ใส่ใจกับมันมากเท่าเดิมอีกต่อไปแล้ว แต่นั่นไม่ใช่เพราะมันไม่มีอยู่ เพราะหากเราอ้างถึงในมุมมองแบบ Lacan แล้ว ความแปลกแยกอาจเป็นที่สิ่งที่ทุกคนต้องพบเจอมันตั้งแต่เกิด และเราไม่สามารถอยู่เหนือมันได้จริงๆ

(เรามองคนอื่นและเอาสิ่งที่ได้มาหลอมรวมเป็นตัวเราจนหลายครั้งอาจรู้สึกราวกับว่า ‘ฉันคือคนอื่น’ [I is an other] มากๆ แต่เมื่อพบจุดที่แตกต่างซึ่งควรเป็นเรื่องปกติเพียงเล็กน้อย เราก็เกิดความรู้สึกแปลกแยกได้อย่างง่ายดาย)


เช่นเดียวกับในหนังเรื่อง Turning Red ที่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้มีใครเปลี่ยนไปจากเดิมแบบ 100% พวกเขาต่างเป็นตัวเองที่แปลกแยกจากโลกภายนอกอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ความรู้สึกภายในใจของความแปลกแยกอาจมีอยู่บ้างแต่เมื่อเห็นตัวเองและคนอื่นๆ ที่มีอยู่ในตัวเองชัดขึ้น ความรู้สึกทรมานจากมัน (ความแปลกแยก) ก็ลดน้อยลง จนเราอาจกล่าวได้ว่า ‘ในขณะที่ทุกคนมีความแตกต่างกัน สิ่งเดียวที่เหมือนกันกลับเป็นความไม่สมบูรณ์แบบ’

.


เจษฎา กลิ่นพูล

K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา

ดู 70 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page