top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนJessada Klinpull

What is Psychoanalysis?: จิตวิเคราะห์คืออะไร?

.

ในช่วงเวลานี้ ความคิดที่แวบเข้ามาในหัวบ่อยครั้งคือการคิดถึงการที่เราจะสามารถอธิบายความหมายของจิตวิเคราะห์ หรือ Psychoanalysis ว่าคืออะไรให้คนอื่นๆ เข้าใจได้อย่างไร? สิ่งเหล่านี้นำพาผมเองไปฟังสิ่งที่ psychoanalyst หลายๆ อธิบายใน Youtube ในประเด็น What is psychoanalysis? ประมาณ 2-3 คน คำตอบส่วนใหญ่มักอ้างอิงไปกับทฤษฎีของฟรอยด์ ได้แก่ unconscious และ transference แต่ผมกลับรู้สึกว่านั่นไม่ใช่คำตอบที่แน่ชัดเท่าไรนักในการตอบคำถามนี้ ซึ่งนั่นทำให้ผมอยากจะเขียนความหมายของ psychoanalysis ของตัวผมเองโดยแยกออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่

1. Psychoanalysis is not Freud.

2. Psychoanalysis core principle

3. Countertransference ใน psychoanalysis

.

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


ในประเด็นแรก Psychoanalysis is not Freud ผมอยากที่จะกล่าวถึงว่าทฤษฎีจิตวิเคราะห์นั้นไม่ใช่สิ่งที่ยึดโยงกับสิ่งที่ Freud เป็นคนคิดค้นขึ้นเสมอไป Alessandra Lemma (2016) บอกกับเราว่า “Freud is dead” ซึ่งสิ่งที่เธอพยายามนำเสนอให้เราเห็นอย่างตรงไปตรงมาที่สุดคือการปล่อยให้ Freud ตายอย่างสงบต่อไป และยอมรับว่าเขาไม่ใช่ father-figure ที่สมบูรณ์แบบอย่างที่เราพยายามทำให้เขาเป็น ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นนักทฤษฎีที่เก่งกาจก็ตาม

.

Freud เป็นเพียงผู้ริเริ่มให้เราหันกลับมาสังเกตและทำความเข้าใจจิตใจของพวกเราในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านที่ถูกมองเห็นว่าเป็นเหมือนสิ่งต้องห้าม สิ่งที่สกปรก หรือชั่วร้าย ผมคิดว่านี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนภายนอกมองว่าจิตวิเคราะห์นั้นไม่ต่างกับศาสตร์มืดในโลกเวทมนต์ แม้แต่ตัวผมเองก็รู้สึกเช่นเดียวกันในแรกเริ่มของการเรียนวิชาจิตวิทยาพื้นฐานเมื่อ 6 ปีก่อน นี่คงไม่ใช่สิ่งที่ผมรู้สึกไปเองคนเดียวก็ได้ เพราะท่าทีของหลายคนที่ผมเคยประสบพบเจอมาต่างก็เป็นการยืนยันในทัศนคติเหล่านี้ แม้แต่ Lemma เธอเองก็เคยเกิดความรู้สึกเหล่านี้เช่นกัน

.

เธอเขียนไว้ในหนังสือของตัวเองอย่างชัดเจนว่า แรกเริ่มก่อนที่เธอจะเกิดความสนใจกับจิตวิเคราะห์ได้นั้น เธอก็มีทัศนคติที่ไม่แตกต่างจากคนคนที่ต่อต้านแนวคิดของ Freud แต่เธอเห็นว่านั่นเป็นเพราะเธอเกิดความรู้สึกกลัวในการยอมรับสิ่งไม่พึงปรารถนาในตนเอง จิตวิเคราะห์และแนวคิดเรื่อง unconscious จึงเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ และเธอก็ปกป้องตัวเองด้วยการอยู่ภายใต้ข้อโต้แย้งทางวิชาการแบบพื้นๆ และตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับ Freud ต่อไปเหมือนที่คนอื่นๆ ทำ

.

ผมตระหนักว่าส่วนนึงในตัวผมเองก็รู้สึกแบบนั้น แม้ผมเองจะมีความสนใจในแนวคิดของ Freud แต่ผมก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งของตัวผมเองก็ได้รับอิทธิพลจากสังคมภายนอกให้เกิดการมองว่าสิ่งที่ผมสนใจดูราวกับ Shadow part ของ Reality แต่สิ่งที่ทำให้ผมต้องกลับมาตระหนักว่า Psychoanalysis is not Freud อย่างแท้จริงกลับเป็นงานเขียนของ Freud เอง

.

ถึงแม้ Freud จะเน้นย้ำทฤษฎีของเขาเองในเรื่อง Psychic apparatus (id, ego & superego) และ Drive instinct แต่เขาเองก็ได้บอกเราด้วยว่า psychonalysis ในมุมมองของการบำบัดเป็นการทำให้บุคคลเกิด self-knowlegde (Freud, 1926) นั่นทำให้เราคงต้องย้อนกลับมาคิดกันใหม่ว่า Psychoanalysis คืออะไรกันแน่

.

การที่บุคคลจะเกิด self-knowledge ได้ในมุมมองของ Freud นั้นอิงไปกับกระบวนการของจิตวิเคราะห์ที่เขาเองได้เน้นย้ำ นั่นคือการทำ free association หรือ การเชื่อมโยงเสรี ที่หมายถึงการปล่อยให้ตัวเราล่องลอยไปกับความคิดความรู้สึกที่ผ่านเข้ามาเพื่อที่จะหาความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ เหล่านั้นกับประสบการณ์ของบุคคล ซึ่งหมายถึงการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ psyche ของบุคคลคนนั้นด้วยตัวเอง ซึ่งถึงแม้จะมีนักจิตวิเคราะห์อยู่ ณ ที่แห่งนั้นเพื่อช่วยในการสร้างความเข้าใจด้วยก็ตาม

.

การสร้างความเข้าใจใน psyche ของบุคคล หรือการทำให้บุคคลเกิด self-knowlegde ตามเป้าหมายของ psychoanalysis นั้นทำให้ผมคิดว่าแท้ที่จริงแล้ว psychoanalysis คือ “theory of mind/psyche” และการที่เราจะยึดโยง psychoanalysis กับ Freud จึงตกไปในทันที นั่นเพราะเราคงต้องกลับมาสังเกตว่าสิ่งที่ Freud คิดขึ้นมาสามารถแสดงให้เห็นถึงการนำไปสู่ theory of mind ของบุคคลได้จริงหรือไม่? และถ้าหากว่าไม่ นั่นคงขัดกับสิ่งที่เขาพยายามนำเสนอเรื่อง self psychology อีกด้วย

.

Benjamin Wolstein (1988) ได้บอกเราเช่นกันว่า Freud มีความขัดแย้งกันอยู่ในเรื่องของการสร้างทฤษฎีของเขากับสิ่งที่เขาทำจริงๆ ในการบำบัด กล่าวคือ ในการสร้างทฤษฎีของเขาได้เน้นย้ำเรื่องของ self-knowlegde อย่างที่ผมได้กล่าวถึงข้างต้น แต่ในการบำบัดที่เขาทำ กลับเป็นการนำเอาสิ่งที่เขาคิดขึ้นมาใช้ในการทำงานกับคนไข้ด้วยการเอาแนวคิดเหล่านี้มาใช้ในการสร้าง self-knowlegde ของคนไข้ตลอดเวลา ผมไม่สามารถบอกได้ว่าการทำงานของ Freud จริงๆ เป็นอย่างไร แต่จากสิ่งที่ Wolstein พยายามนำเสนอให้เห็นคือในกลุ่มของผู้ติดตาม Freud หรือที่มักถูกเรียกกันว่า Classical Freudians มีการพยายามกีดกันต่อผู้ที่ไม่เชื่อในแนวคิด libido ของ Freud จนต้องแยกตัวออกมาเป็น school ต่างๆ ของตัวเอง อีกทั้งยังรวมไปถึงแนวคิดเกี่ยวกับ countertransference ที่ผู้ศึกษาแนวคิดของ Freud แบบ literaly ก็กำลังมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในกระบวนการ โดยไม่ได้ตระหนักว่าแนวคิดของ Freud ที่เกิดขึ้นนั้นก็มาจาก countertransferecne ของเขาเองเช่นเดียวกัน! (ผมจะกล่าวถึงเรื่องนี้อีกครั้งในประเด็น Countertransference in psychoanalysis)

.

เมื่อกล่าวมาถึงจุดนี้ ผมคิดว่าเราคงต้องพิจารณากันอย่างชัดเจนว่า Psychoanalysis is not Freud อย่างแท้จริง และ Freud เป็นเพียงผู้ริเริ่มวางแนวทางในการสำรวจ psyche ของบุคคลเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แนวคิดของ Freud บางอย่างก็ยังถือว่าเป็นหลักการสำคัญของ psychoanalysis ที่มีร่วมกันอยู่ ซึ่งนี่จะโยงเราไปยังประเด็นที่สอง นั่นคือ Psychoanalysis core principle

. ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ในประเด็นที่สอง ผมคิดว่าเมื่อเราสามารถเข้าใจในประเด็นแรกได้มากขึ้นแล้ว แต่ในขณะเดียวกันนั่นก็อาจทำให้เราหลงทางไปว่า psychoanalysis จะแตกต่างกับแนวคิดอื่นๆ ได้อย่างไร? ผมจึงคิดว่า psychoanalysis ยังคงมีแก่นสาระสำคัญที่มีร่วมกันอยู่ ถึงแม้จะแตกต่างออกไปในหลากหลาย school ก็ตาม

.

แก่นสาระสำคัญของ psychoanalysis คือสิ่งที่นักวิชาชีพที่ผมเห็นในยูทูปหลายคนพูดถึง นั่นคือเรื่องของความเชื่อเกี่ยวกับ Unconscious และ Transference

.

ถึงแม้ว่า psychoanalysis จะแยกออกไปเป็น school ย่อยที่แตกต่างกันมากมาย แต่จุดร่วมเดียวกันที่ยังมีอยู่นั่นคือความเชื่อในการมีอยู่ของ Unconscious ถึงแม้การทำความเข้าใจ Unconscious หรือมุมมองที่มีต่อธรรมชาติ Unconscious จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละ school แต่ในทุกๆ school ได้แสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องกันว่ามันหมายถึงสิ่งที่เรายังไม่สามารถตระหนักรู้หรือเข้าใจได้ของ psyche ยิ่งไปกว่านั้น การที่จะเข้าใจสิ่งที่อยู่ใน unconscious ได้ก็ต้องอาศัยกระบวนการ free association เช่นเดียวกับที่ Freud ได้วางรากฐานไว้

.

ถึงแม้เรื่องของ Unconscious และ Free association จะอ้างอิงไปกับ Freud แต่นั่นไม่ได้เป็นการยืนยันว่าสิ่งที่ Freud คิดนั้นถูกต้อง เพราะถึงแม้ Unconscious จะเป็นสิ่งที่ Freud ให้ความสำคัญในการอธิบายระดับของ psyche แต่ Unconscious ไม่ได้มีจุดกำเนิดแรกเริ่มโดย Freud แต่เขาได้รับแนวคิดนี้มาจากอาจารย์ที่สอนการสะกดจิตบำบัดให้กับเขาอย่าง Jean-Martin Charcot และนั่นทำให้ Unconscious ที่ยังคงเป็นเหมือนพื้นที่ลึกลับยังคงเป็นพื้นที่ลึกลับต่อไป ซึ่งนักจิตวิเคราะห์หลายคน (รวมถึงคนไข้) สามารถที่จะเดินทางเพื่อสำรวจ Unconscious เหล่านี้ในแง่มุมไหนก็ได้

.

เช่นเดียวกัน หลักการ Free association ที่ถึงแม้จะถูกมองว่าเป็นแนวทางในการเข้าถึง Unconscious ได้ แต่ก็ไม่ได้ยืนยันว่า Freud คิดถูกทั้งหมด นั่นเพราะ Freud ไม่ได้คิดว่าหลักการดังกล่าวจะสามารถใช้กับเด็กได้ เพราะเขาเองยึดโยงหลักการนี้อยู่กับการพูดคุย ดังนั้นเด็กที่ไม่สามารถพูดคุยได้ การทำ free association จึงเป็นไปไม่ได้ แต่เขาต้องคิดผิด เมื่อลูกสาวของเขาเอง Anna Freud กลับสนใจในการทำงานกับเด็ก และเชื่อว่าเด็กสามารถ free association ได้ แต่อยู่ในรูปแบบของพฤติกรรมการเล่นของเด็กแทนการพูดคุย นี่จึงสะท้อนให้เห็นว่าแม้ Freud จะเป็นนักทฤษฎีที่เก่งกาจเพียงใด แต่เขาเองก็ไม่ได้ถูกต้องไปซะทั้งหมด และหลายคนสามารถหักล้างในสิ่งที่เขาคิดค้นขึ้นมาได้!

.

อีกหนึ่งความเชื่อที่เป็นแก่นสาระสำคัญของ Psychoanalysis นั้นคือเรื่องของ Transference โดยความเชื่อนี้ก็ยึดโยงกับแนวคิดของ Unconscious เช่นกัน นั่นเพราะ transference เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในระดับ unconscious หรือเกิดขึ้นโดยที่เราอาจไม่รู้ตัวเลย

.

Transference เกี่ยวข้องกับความเชื่อของการถ่ายโอน (transfer) พลังงานทางจิต ซึ่งยึดโยงกับประสบการณ์ของบุคคล โดยเป็นความเชื่อที่บอกเราว่าพลังงานทางจิตหรือความปรารถนาที่ไม่ได้รับการตอบสนองนั้นจะยังคงอยู่ใน unconscious ของ psyche ในรูปแบบของ repression หรือ การเก็บกด ซึ่งสามารถแสดงออกมาในปัจจุบันได้เมื่อถูกกระตุ้นอย่างเหมาะสม แนวคิดนี้จึงเกี่ยวข้องกับความเชื่อประสบการณ์ในอดีตที่ส่งผลต่อพฤติกรรมในปัจจุบันของบุคคล การที่สามารถทำความเข้าใจจนเกิดการตระหนักรู้ และนำไปสู่การเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอันมาจากกระบวนการเหล่านี้ได้จึงกลายเป็นเป้าหมายหนึ่งของการบำบัดแบบ psychoanalysis

.

แก่นสาระสำคัญของ Psychoanalysis ที่ผมพูดถึงนี้ไม่ได้เป็นเพียงการแสดงเห็นจุดร่วมของแต่ละ school เพียงอย่างเดียว แต่มันยังโยงไปถึงการศึกษาด้านประสาทวิทยาด้วย กล่าวคือ มีการศึกษาทางประสาทวิทยาได้แสดงให้เราเห็นว่ากลไกทางสมองของเราส่วนใหญ่ทำงานในระดับ unconscious และในแนวคิดเกี่ยวกับ transferecne ก็สัมพันธ์กันกับการค้นพบว่าสมองของเรามีการลงรหัสความทรงจำและการคาดเดาประสบการณ์อย่างอัตโนมัติ ซึ่งสามารถเกิดความผิดพลาดได้ (Solm, 2018/ 2020)

.

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


ถึงแม้ในประเด็นที่สองจะกำลังแสดงให้เห็นว่า Psychoanalysis จะสัมพันธ์กับแนวคิดของ Freud อย่างมาก แต่อย่างที่ผมกล่าวในประเด็นแรกแล้วว่า Psychoanalysis is not Freud แม้แต่ Mark Solms ผู้ที่พยายามศึกษา Neuropsychoanalysis ซึ่งผมกล่าวถึงข้างต้นจะยึดโยงไปสู่แนวคิดของ Freud อย่างมาเช่นกัน แต่เขาก็ได้บอกเราเช่นกันว่า “...we had to start somewhere” (Solms, 2020)

.

ผมคิดว่าการก้าวข้ามจาก psychoanalysis ของ Freud ไปสู่แนวทางร่วมสมัยมากขึ้นอาจจะต้องย้อนกลับไปที่มุมมองเกี่ยวกับ countertransference ซึ่งจะนำเราไปสู่ประเด็นที่สาม นั่นคือ Countertransference ใน psychoanalysis ซึ่ง countertransference ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแค่สิ่งที่เกิดขึ้นในการบำบัดเท่านั้น แต่รวมไปถึงตั้งแต่แรกเริ่มการประกอบสร้างทฤษฎีอีกด้วย

.

แนวคิดดั้งเดิมเกี่ยวกับ countertransference ของ Freud นั้นดูราวกับว่า countertransference เป็นสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในฐานะของนักวิชาชีพ โดย countertransference ในมุมมองของ Freud นั้นเป็นสิ่งเดียวกันกับ transference ของคนไข้ นั่นทำให้เขาพูดถึงแนวคิดนี้ในเชิง nuerotic เช่นเดียวกัน

.

การกล่าวถึง countertransference ในแง่มุม neurotic สัมพันธ์กันกับความเชื่อของ Freud ในการบำบัดรักษาและการสร้างทฤษฎีของเขาที่ต้องการให้นักจิตวิเคราะห์มีความเป็นกลางหรือ blank screen ดังนั้น countertransference ที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่จะเข้ามารบกวนความเป็นกลางดังกล่าวของนักจิตวิเคราะห์ Freud และผู้ติดตามของเขาจึงเน้นย้ำเช่นกันว่านักจิตวิเคราะห์ต้องขจัด countertransference ของตัวเองออกไป แต่นั่นอาจทำให้เราละเลยที่จะมองธรรมชาติของ countertransference ไปเลย

.

Wolstein (1988) ได้เตือนเรากันอีกครั้งว่า มุุมมองแบบ Classical Freudian หรือคนที่ศึกษา Freud แบบ literaly อาจหลงลืมอะไรไปบางอย่างในเรื่องนี้ นั่นคือสิ่งที่ผมกล่าวถึงไปก่อนหน้านี้แล้วว่า แนวคิดของ Freud ก็เกิดขึ้นนั้นก็มาจาก countertransferecne ของเขาเองเช่นเดียวกัน!

.

Psychoanalysis ของ Freud นั้นสัมพันธ์กับการทำ self-analysis ของเขา เขาจึงไม่ได้รับอิทธิพลจาก countertransference ของคนอื่น แต่มันมาจากตัวเขาเอง แนวคิดที่ของ Freud จึงมาจากการวิธีการตีความส่วนบุคคลของเขา เช่น biology of instinct, libido และ id เป็นต้น สิ่งเหล่านี้มาจากพื้นฐานความเข้าใจของตัวเขาเองทั้งสิ้น ดังนั้น ผู้ติดตามหรือศึกษางานของ Freud แบบตีความตามตัวอักษรตรงๆ ที่ไม่ทันได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ และเห็นด้วยกับการกีดกันความสนใจ countertransference จึงอาจหมายถึงการเบี่ยงเบนไปจากความตั้งใจในการสร้าง self-knowledge ของบุคคล แต่กลับยึดโยงอยู่กับ countertransference ของ Freud ที่อยู่ในทฤษฎีที่พวกเขายึดถือ

.

ผมได้มีโอกาสนั่งดูคลิปวิดีโอของ Don Carveth (2019) และผมค่อนข้างเห็นด้วยกับเขาว่า การฝึกฝนจิตวิเคราะห์ที่ดีที่สุดคือการทำความคุ้นเคยกับหลายๆ school ของ psychoanalysis การยึดโยงอยู่แต่กลับแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง เช่นการยึดโยงอยู่แต่กับแนวคิดของ Freud อาจส่งผลกระทบต่อการเข้าใจ psychoanalysis ที่บิดเบือนไปอย่างมาก และการไม่พูดถึง countertransference ของนักจิตวิเคราะห์กลับกลายเป็นการทำให้นักจิตวิเคราะห์เองพยายาม repress, dissociate และ splitting it off (Wolstein, 1988)

.

การหันกลับมาให้ความสนใจกับ countertransference ใน psychoanalysis สัมพันธ์กันกับการพยายามสร้างทฤษฎีเพื่อทำความเข้าใจการต่อต้านหรือ resistance ของบุคคลใหม่อีกครั้ง จากเดิมที่มองว่านั่นสัมพันธ์กับ transference ของคนไข้เพียงอย่างเดียว นักจิตวิเคราะห์ในยุคถัดมากลับมีมุมองต่อการต่อต้านที่ต่างออกไป นั่นคือการทำความเข้าใจว่า การต่อต้าน หรือ resistance ที่เกิดขึ้นเป็นการปกป้องตัวเองของบุคคล และเรียกการต่อต้านนั้นใหม่ด้วยคำว่า character armor, defense mechanism หรือ security operation เป็นต้น

.

แต่ไม่ว่าการต่อต้านจะถูกเรียกว่าอย่างไรก็ตาม แต่การสร้างความเข้าใจใหม่นี้กลับมีจุดร่วมเดียวกันคือการมองเห็นว่า resistance นั้นสัมพันธ์กับกระบวนการปรับตัวของบุคคล โดยคนไข้นั้นจะสังเกตเห็นการตอบสนองของนักจิตวิเคราะห์อันสะท้อนไปถึง counter-response, counter-anxiety หรือ counter-transference ของนักจิตวิเคราะห์ โดยการตอบสนองเหล่านี้ในมุมมองของ interpersonal view นั้นหมายถึงการที่คนไข้ก็จะเกิดการ consensual validation หรือเป็นการตรวจสอบประสบการณ์ของตนเองกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันขณะ โดยมีนักจิตวิเคราะห์เองก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่กำลังทำความเข้าใจประสบการณ์ทางจิตนั้นร่วมไปด้วย

.

จากข้างต้น นักจิตวิเคราะห์ร่วมสมัย หรือ Contemporary psychoanalysis ที่มีอยู่หลากหลาย school จึงเกิดการตระหนักว่า psychoanalysis นั้นเป็นการสังเกตปรากฎการณ์ทางจิตร่วมกันของ participant (คนไข้ และนักจิตวิเคราะห์) และก้าวเข้าสู่การหันกลับมาสังเกต countertransference ของนักจิตวิเคราะห์เองด้วยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการปรับตัวของบุคคลทั้งสองอย่างไรได้บ้าง

.

Wolstein (1988) จึงได้บอกเราว่าการเปลี่ยนผ่านนี้เป็นเหมือนการเปลี่ยนจากมุมมอง absolutism of interpretative ซึ่งยึดโยงอยู่แต่กับแนวคิดของ Freud ว่าถูกต้องที่สุด ไปสู่การตรวจสอบประสบการณ์ทางจิตของบุคคลหรือ psychic experience ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเขายังได้เน้นย้ำว่า การที่เราจะสามารถเข้าใจ transference ของคนไข้ได้ก็ต้องเข้าใจ countertransference ของตัวเองด้วย

.

ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงในความเข้าใจเกี่ยวกับ countertransference เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการเข้าใจว่า Psychoanalysis คืออะไรกันแน่ และมันสามารถทำให้เกิดการสอดคล้องกับจุดประสงค์ของการสร้าง self-knowledge ได้ กล่าวคือ มันเปิดโอกาสให้ทั้งนักจิตวิเคราะห์และคนไข้สามารถทำความเข้าใจประสบการณ์ทางจิตหรือ psychic experience ของตนเองได้มากขึ้นกว่าเดิม และนี่ทำให้ Psychoanalysis กลายเป็น Theory of mind/psyche อย่างที่ผมได้กล่าวถึงในตอนแรก

.

ท้ายที่สุดนี้ ในความตั้งใจของผมสำหรับการเขียนบทความนี้ออกมาก็เพื่อทำให้หลายๆ คนที่สนใจในศาสตร์ของจิตวิเคราะห์อย่างไม่มากก็น้อยได้หันกลับมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดจิตวิเคราะห์หรือ psychoanalysis ที่ตนเองมีอยู่กันอีกครั้ง และหากนั่นนำไปสู่การเกิดคำถามข้อสงสัยอื่นๆ ที่ตามมาอีกมากมาย ผมคิดว่าบทความนี้ได้ทำให้เกิดหลักการสำคัญสำหรับการศึกษาจิตวิเคราะห์ที่ผมเชื่อมั่นแล้ว นั่นคือ ความสงสัยใคร่รู้ (curiosity)

.

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


เจษฎา กลิ่นพูล (K. Therapeutist นักจิตวิทยาการปรึกษา)

.

Reference

Carveth, D. (2019, July 6). Best Practice [Video file]. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=aa_mulORB94&t=279s

Freud, S. (2005). The question of lay analysis: Conversations with an impartial person (J. Strachey, Trans.). Vintage. (Original work publish 1926).

Lemma, A. (2016). Introduction: Is Freud dead. Introduction to the practice of psychoanalytic psychotherapy (2nd, pp.1-5). UK: John Wiley & Sons.

Solms, M. (2018). The scientific standing of psychoanalysis. BJPsych international, 15(1), 5-8.

Solms, M. (2020, April 27). How to do psychoanalysis. Therapy Route. Retrieved from https://www.therapyroute.com/.../how-to-do-psychoanalysis...

Wolstein, B. (1988). [Introduction]. Essential papers on countertransference (pp. 1-15). New York, NY: New York University.



ดู 49 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page