.
Weight stigma หรือ การสร้างตราบาปต่อน้ำหนักตัว เป็นสิ่งที่ฟังดูอาจจะงงๆ กันหน่อยในบ้านเรา เนื่องจากวัฒนธรรมของเราคงเคยชินกับการวิจารณ์และตัดสินรูปร่างของคนอื่นๆ เป็นเรื่องปกติ
แต่ Dr. Candice Seti ผู้เขียนบทความต้นฉบับชื่อว่า “How to deal with weight stigma” ที่ผมจะนำมาเล่าให้ฟังก็กำชับไว้เลยว่า ถึงแม้เราจะต้องยอมรับว่ามันมีอยู่คล้ายความจริงที่ช่วยไม่ได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความการสร้างตราบาปทางสังคมเหล่านี้เป็นเรื่องที่โอเค
.
ความหมายของ Weight stigma สามารถถูกเข้าใจได้ว่ามันเป็นอคติต่อรูปร่างของคนอื่นในรูปแบบหนึ่ง โดยหมายความถึงการที่คนเรามีมุมมองในแง่ลบกับการมีน้ำหนักตัวมาก (บางครั้งก็น้อย) และมีท่าทีต่อคนที่น้ำหนักตัวมาก/น้อยเหล่านั้นในแง่ลบเช่นกัน
.
ยกตัวอย่างเช่น การมีมุมมองว่าคนที่น้ำหนักตัวมากจะต้องเป็นคนขี้เกียจ สกปรก ไม่น่าดึงดูด ฉลาดน้อย รวมไปถึงการมองว่าคนเหล่านี้มีศีลธรรมที่น้อยกว่าคนอื่นๆ
.
มุมมองเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่ไม่ต่างกับการแบ่งแยกทางเชื้อชาติหรือศาสนา เนื่องจากมันสามารถนำมาสู่การที่คนเราจะปฏิบัติกับคนเหล่านั้นตามมุมมองที่เรามีต่อพวกเขาด้วย เช่น การล้อเลียนเรื่องรูปร่าง การนำมาสู่ข้ออ้างในการล่วงละเมิด หรือการด้อยค่าความสามารถ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้หลายๆ คนจึงมักเผชิญกับความรู้สึกเจ็บปวดกับอคติเช่นนี้ และรู้สึกได้ว่ามีค่านิยมบางอย่างกำลังกดทับพวกเขา
.
การมีอยู่ของ weight stigma ไม่ได้เห็นเพียงในความสัมพันธ์กับคนรอบๆ ตัวเท่านั้น แต่มันยังสามารถมีอยู่ในประเด็นทางด้านการศึกษาและโรงเรียน ชีวิตการทำงาน ระบบสาธารณสุข รวมถึงสื่อโซเชี่ยล
.
Weight stigma สามารถกลายเป็นเหตุผลหนึ่งของการกล่าวโทษเหยื่อ (victimization) ของการถูกกระทำหรือกลั่นแกล้งได้ ซึ่งในสถานศึกษาอาจพบได้ว่ามันเริ่มมาจากครูผู้สอนที่มีกรอบอคติเหล่านี้อยู่
ยิ่งไปกว่านั้น มันยังอาจส่งผลต่อการศึกษาของเด็กนักเรียนได้ในเวลาต่อมา เนื่องจากเด็กที่ถูกตีตรามีโอกาสจะได้รับการยอมรับจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย หรือได้รับการการสนับสนุนทุนการศึกษาได้น้อยกว่าเด็กที่มีน้ำหนักตัวในเกณฑ์เฉลี่ย
.
ในสังคมการทำงาน การแบ่งแยกคนด้วยเรื่องน้ำหนักตัวอาจอยู่ในแทบทุกแง่มุมของชีวิตทำงานตั้งแต่การหางาน การสัมภาษณ์ การกำหนดเงินเดือน และการเลื่อนขั้น โดยคนที่มีน้ำหนักตัวมากอาจถูกกำหนดให้ทำงานในตำแหน่งที่ไม่ต้องออกหน้ามากกว่า และมีโอกาสที่จะได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าแม้จะทำงานในตำแหน่งเดียวกันอีกด้วย
.
คนที่มีน้ำหนักตัวมากยังอาจต้องเผชิญกับ weight stigma เหล่านี้ในประเด็นด้านสาธารณสุขอีกด้วย โดยหมอ นักโภชนาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลัง และนักวิทยาศาสตร์การออกกำลัง อาจมีทัศนคติต่อคนที่น้ำหนักตัวมากว่าเป็นคนขี้เกียจ ไร้ความมุ่งมั่น และไม่ค่อยจะเชื่อฟัง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่บุคคลเหล่านี้จะให้ความเคารพในตัวคนไข้ที่น้ำหนักตัวมากน้อยกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวในเกณฑ์เฉลี่ย รวมทั้งอาจให้เวลากับคนไข้เหล่านี้น้อยกว่าอีกด้วย
การศึกษาหนึ่งพบว่า 53% ของคนที่น้ำหนักตัวมากรายงานว่ามักได้รับความคิดเห็นแย่ๆ จากหมอเกี่ยวกับน้ำหนักตัว
.
ความลำเอียงในเรื่องน้ำหนักตัวยังปรากฏให้เห็นในแทบทุกสื่อ เด็กที่น้ำหนักตัวมากอาจถูกแสดงให้เห็นในแง่มุมที่สกปรก ซุ่มซ่าม ขี้เกียจ และไม่มีเพื่อน รวมถึงในบางครั้งคนที่น้ำหนักตัวมากยังถูกตำหนิจากสังคมว่ามีส่วนให้โลกและใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองจากสื่อได้อีกด้วย
.
ในทางตรงข้าม คนที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ยังมีโอกาสถูกนำเสนอในแง่มุมที่ดีมากกว่า โดยเฉพาะในการกำหนดมาตรฐานความสวยของผู้หญิง และนำมาสู่การโปรโมตสินค้าลดน้ำหนักจำนวนมาก ซึ่งเน้นย้ำกับการกำหนดรูปร่างด้วยมือเรามากจนเกินไป (กรรมพันธุ์และโรคประจำตัวบางอย่างเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กำหนดรูปร่างของเราเช่นเดียวกันเรื่องความสูง)
.
Dr. Candice Seti กล่าวว่าแท้จริงแล้วการมองเห็นภาพของคนที่ผอมกว่าในทีวีอาจไม่ได้กระตุ้นในคนเรารู้สึกอยากผอมเพียงอย่างเดียว แต่มันกลับสามารถกระตุ้นให้เรากินอาหารมากขึ้นสำหรับบางคนได้อีกด้วย เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นการกระตุ้นอารมณ์ของผู้ชมที่สามารถกลายเป็นแหล่งที่มาของภาวะการกินผิดปกติได้ในเวลาต่อมา
.
Dr. Candice Seti ยังกล่าวเสริมอีกว่า ในความจริงแล้วการมีน้ำหนักตัวมากเกินไปอาจเป็นผลเนื่องมาจากวัฒนธรรมการลดน้ำหนักด้วยซ้ำ เนื่องจากการบอกให้คนดำรงชีวิตด้วยเครื่องดื่มโปรตีนและจำกัดปริมาณแคลอรี่จนคล้ายกับการอดอาหารอาจทำให้คนเข้าสู่วิถีของการกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น ดังนั้นมันจะดีกว่าหากคนเราได้รับการสอนเกี่ยวกับโภชนาการมากขึ้นพร้อมๆ กับการพัฒนาความสัมพันธ์ดีๆ กับอาหารการกินของตนเอง
.
“ไม่ใช่ฉัน แต่เป็นเธอ” (It’s not me; it’s you)
คือสิ่งที่ Dr. Candice Seti เขียนเพื่อบอกว่าการมีน้ำหนักตัวมากไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่คนที่ยึดติดอยู่กับ weight stigma ต่างหากที่อาจมีบางอย่างผิดแปลกไปในชีวิตพวกเขา การใช้น้ำหนักตัวของคนอื่นเพื่อสร้างการตัดสินหรือออกความเห็นเป็นสิ่งที่ดูจะไม่ใช่พฤติกรรมที่น่าเคารพและขาดความเข้าใจเรื่องมารยาท
.
ยังไงก็ตาม Dr. Candice Seti ยังคงเห็นว่า มันก็ยังคงเป็นความจริงอันโหดร้ายเนื่องจาก weight stigma ยังมีอยู่แทบทุกหนแห่งไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม แต่ Dr. Candice Seti ก็นำเสนอหนทางที่อาจสามารถช่วยในการรับมือกับเรื่องเหล่านี้ได้
.
ในระดับบุคคล การสัญญากับตนเองก่อนว่าจะไม่ตัดสินคนจากรูปร่างของพวกเขาดูจะเป็นการเริ่มต้นที่ในคำแนะนำของ Dr. Candice Seti โดยเธอบอกว่าสิ่งเหล่านี้ควรถูกมองเป็นการเรียนรู้ของชีวิต โดยมันสามารถมีเหตุผลได้จำนวนมากว่าทำไมคนคนหนึ่งจึงมีน้ำหนักตัวที่มากกว่าคนอื่นเล็กน้อย และจริงๆ แล้วทั้งหมดนั่นก็ไม่ใช่เรื่องของคุณ
.
ในระดับที่ใหญ่ขึ้นเราอาจต้องมองว่าการพยายามสร้างความเชื่อผิดๆ ว่าบุคลิกภาพของคนคนหนึ่งเกิดจากน้ำหนักตัวของพวกเขาเป็นสิ่งที่ผิด ทุกๆ คนควรปฏิบัติต่อกันเช่นเดียวกับที่อยากให้คนอื่นปฏิบัติกับตนเอง และคำแนะนำเหล่านี้อาจควรถูกสอนตั้งแต่เด็กๆ
.
การสร้างตราบาปต่อน้ำหนักตัวไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาใดๆ แต่มันกลับสร้างปัญหามากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือปัญหาด้านสุขภาพจิตด้วย
.
สำหรับผมเมื่ออ่านบทความของ Dr. Candice Seti จนจบ ผมไม่คิดว่านี่เป็นเพียงบทความที่ต้องการจะบอกกับคนที่ถูกทำร้ายด้วย weight stigma เท่านั้น แต่คนทุกคนควรที่จะตระหนักถึงเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย
.
เก้าอี้ตัว J
เจษฎา กลิ่นพูล
.
Reference
https://www.worldobesity.org/what-we-do/our-policy-priorities/weight-stigma
.
Comentários