“ความรัก คืออะไร?”
“ความรัก หน้าตาประมาณไหน?”
“ความรัก ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?”
“แบบนี้คือ ความรัก รึเปล่า?”
.
ผมเชื่อว่าหลายๆคน คงอาจจะเคยได้ยิน หรือมีคำถามเหล่านี้ผ่านเข้ามา
มีความสงสัย และสับสนว่า “ความรัก” มันเป็นยังไง ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
วันนี้ผมจึงมีทฤษฏีเกี่ยวกับความรักที่ผมเองก็สนใจมานำเสนอครับ
ว่าด้วยเรื่อง “องค์ประกอบของความรัก” และ “รูปแบบของความรัก”
โดยชื่อของทฤษฏีนี้คือ Triangular theory of love (ทฤษฏีสามเหลี่ยมแห่งความรัก)
.
.
Triangular theory of love (ทฤษฏีสามเหลี่ยมแห่งความรัก)
ทฤษฏีนี้ได้ถูกคิดค้นโดย Sternberg ในปี 1986
โดยทฤษฏีนี้ยังคงมีการพูดถึงในปัจจุบันเหมือนกัน
ซึ่งในทฤษฏีนี้เป็นการอธิบายถึงองค์ประกอบและรูปแบบของความรัก
.
โดยทฤษฏีนี้ได้อธิบายถึงองค์ประกอบของความรัก 3 อย่าง
ก่อให้เกิดความรักทั้งหมด 8 แบบ
.
โดยเริ่มต้นผมขอพูดถึงองค์ประกอบของความรักทั้ง 3 อย่าง
โดยในทฤษฏีนี้มีองค์ประกอบสำคัญทั้งหมด 3 อย่าง ประกอบไปด้วย
- ความใกล้ชิด (Intimacy) คือความผูกพันธ์ ความคุ้นเคย ความใกล้ชิด มีความไว้วางใจเชื่อใจกัน มีความเข้าใจในการสื่อสารกันได้ดีในความสัมพันธ์ เป็นองค์ประกอบทางด้านอารมณ์
- ความเสน่หา (Passion) คือแรงขับ แรงผลักดันทางด้านร่างกาย หรือความรู้สึกถูกกระตุ้นในด้านสรีระ ความรู้สึกกระตุ้นที่ให้เกิดการหลงใหล เป็นองค์ประกอบทางด้านแรงจูงใจ
- ความผูกมัด (Commitment) คือ การวางจุดมุ่งหมายในความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นในระยะยาว หรือระยะสั้น การมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน การร่วมสร้างเป้าหมาย และทำให้เป้าหมายสำเร็จไปด้วยกัน
.
.
โดยการอ้างอิงจากทฤษฏีสามเหลี่ยมแห่งความรักของ Sternberg นี้
ที่มีองค์ประกอบค์หลักทั้งหมด 3 อย่างนี้เป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดความรักได้
โดยองค์ประกอบ 3 อย่างนี้สามารถทำให้เกิดความรักทั้งหมด 8 แบบด้วยกัน ดังนี้
1. ไม่มีความรัก (Non-love):
ความรักอันแรกที่จะกล่าวถึงคือการที่ไม่มีองค์ประกอบทั้ง 3 อย่างเลยคือการที่ไม่ได้เกิดความรักใดๆ เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นได้ปกติ ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น ช่วยเปิดประตูให้ เดินผ่านแล้วทักทายกัน
2. ความชอบ (Liking):
ความรักที่มีองค์ประกอบเดียวคือ ความใกล้ชิด โดยความรักนี้เกิดขึ้นได้จากการที่มีความสัมพันธ์ที่มีความใกล้ชิด มีความผูกพันธ์ เช่น เพื่อน กลุ่มคนรู้จัก
3. รักแบบหลงใหล (Infatuated Love):
ความรักที่มีองค์ประกอบเดียวคือ ความเสน่หา เกิดขึ้นได้จากความรู้สึกถึงตัณหา หรือการหลงใหลในสรีระ หรือแม้แต่กลิ่นที่ทำให้เกิดความหลงใหลได้ ความรักแบบนี้เกิดขึ้นได้ทั่วไป เช่น รักแรกพบ หรือความอยากได้
4. ความรักที่ว่างเปล่า (Empty Love):
ความรักที่มีองค์ประกอบเดียวคือ ความผูกมัด เกิดขึ้นได้จากความสัมพันธ์ที่ต้องอยู่ร่วมกันเนื่องจากมีจุดมุ่งหมาย มีเป้าหมายที่ต้องทำร่วมกัน เช่นการคลุมถุงชน หรือรวมไปถึงคู่รักที่ต้องอยู่ด้วยกันถึงแม้จะไม่มีความรู้สึกรักแล้วก็ตาม
5. รักแบบโรแมนติก (Romantic Love):
ความรักนี้มีองค์ประกอบคือ ความใกล้ชิด และ ความเสน่หา ความสัมพันธ์แบบนี้มักจะเกิดจากมีความใกล้ชิดกัน และมีความปราถนาที่ต้องการจะอยู่ใกล้กันและกัน แต่ไม่ได้มีข้อผูกมัด หรือจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนในความสัมพันธ์มากเท่าไรนัก
6. รักอย่างมิตรภาพ (Companionate Love):
ความรักนี้มีองค์ประกองคือ ความใกล้ชิด และความผูกมัด เป็นความสัมพันธ์ที่มีความใกล้ชิด ความเชื่อใจ ความเข้าใจกันและกัน พร้อมที่จะสร้างจุดมุ่งหมายไปด้วย มีเป้าหมายร่วมกัน พึ่งพิงซึ่งกันและกันได้ เช่นเพื่อนสนิท หรือคู่รักที่ใช้ชีวิตร่วมกันเป็นเวลานาน
7. รักแบบไร้สติ (Fatuous Love):
ความรักนี้มีองค์ประกอบคือ ความเสน่หา และความผูกมัด โดยความสัมพันธ์ มักจะเริ่มจากความใคร่ และเสน่หา ทำให้เกิดความผูกมัดอย่างเร่งรีบ เช่น คู่รักที่เพิ่งรู้จักกันแล้วแต่งงานกันต่อมาในเวลาไม่นาน หรือมีข้อผูกมัดที่ไม่สมเหตุสมผลเกิดขึ้น
8. รักสมบูรณ์แบบ (Consummate Love):
ความรักที่มีองค์ประกอบครบทั้ง 3 อย่าง โดยความสัมพันธ์นี้เป็นรูปแบบความรักความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์แบบ ที่เกิดขึ้นได้จากมีความไว้ใจซึ่งกันและกัน มีข้อผูกมัดที่ชัดเจน ร่วมกันสร้างเป้าหมาย และมีความเสน่หา ความปราถนาซึ่งกันและกันด้วย
.
.
ซึ่งแน่นอนว่า หลายๆคน อาจจะเคยประสบกับความรักใน 8 อย่างนี้ ไม่มากก็น้อย
หรือแม้กระทั่ง อาจจะรู้สึกว่ามีความรักที่นอกเหนือจากทฤษฏีนี้
แน่นอนว่าในองค์ประกอบของความรักนั้นในยุคปัจจุบันมีเพิ่มมากขึ้น
แต่ที่ผมนำทฤษฏีนี้มาพูดถึง เพราะค่อนข้างเข้าใจง่าย และไม่ซับซ้อนมากเท่าไรนัก
แล้วเพื่อนๆล่ะครับ เคยมีประสบการณ์ความรักแบบ 8 อย่างนี้อันไหนบ้างไหมครับ?
.
เก้าอี้ตัว W
วงศธรณ์ ทุมกิจจ์
.
Ref.
Sternberg, R. J. (1986). A triangular theory of love. Psychological Review, 93(2), 119–135. https://doi.org/10.1037/0033-295X.93.2.119
Sternberg, R. J. (1988). The triangle of love. New York: Basic.
Deverich, S. (2009). Love unveiled: Teenage love within the context of Sternberg’s triangular theory of love. Intuition, 5, 21-25.
Sternberg RJ. Liking versus loving: A comparative evaluation of theories. Psychol Bull.
Comments