top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนPsychologist Chair

Theory of mind หรือจริงๆเราก็รู้ว่าคนอื่นคิดอะไรอยู่นะ

. ในห้องครัว น้องพิมกินช็อกโกแล็ตไปครึ่งแท่ง แล้ววางไว้บนโต๊ะ ก่อนที่จะออกไปเล่นกับเพื่อนข้างนอกบ้าน เมื่อแม่เข้ามาที่ห้องครัวเห็นช็อกโกแล็ตวางอยู่บนโต๊ะ ด้วยความที่อากาศร้อน เลยเอาเข้าตู้เย็นไว้ก่อน เมื่อพิมกลับเข้ามาในครัว คิดว่าพิมจะหาช็อกโกแล็ตที่ไหน? . คำตอบสำหรับคำถามนี้อาจจะดูชัดเจนอยู่แล้ว นั่นก็คือพิมจะไปหาที่โต๊ะที่พิมวางทิ้งไว้ เนื่องจากว่าพิมไม่รู้ว่าแม่เอาไปเก็บในตู้เย็นแล้ว เกือบทุกคนคงจะตอบคำถามนี้ได้ไม่ยาก เนื่องจากทุกคนมีสิ่งที่นักจิตวิทยาเรียกว่า Theory of mind ซึ่งก็คือการรับรู้ว่าคนอื่นมีมุมมองที่ไม่เหมือนกับตัวเอง สามารถรับรู้ได้ว่าคนอื่นสามารถรู้หรือไม่รู้ในสิ่งที่ตัวเรารู้ เช่น เรารับรู้ว่าพิมจะไม่รู้ว่าช็อคโกแล็ตอยู่ในตู้เย็น . แต่เชื่อหรือไม่ว่า จากงานวิจัยพบว่าเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4-5 ปี จะตอบว่าพิมจะไปหาช็อกโกแล็ตในตู้เย็น เนื่องจากเด็กในวัยนี้คิดว่าคนอื่นจะรู้ทุกอย่างเหมือนกับที่ตัวเองรู้ . เด็กวัยก่อน 4-5 ขวบยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Theory of Mind นั่นเอง และตัวอย่างเรื่องราวของพิมก็ถูกดัดแปลงมาจาก Sally Ann false-belief task (Baron-Cohen, Leslie & Frith, 1985) เรื่องราวที่ใช้ทดสอบ Theory of mind ในเด็กจริงๆ . อย่างไรก็ตามนักจิตวิทยาบางคนเชื่อว่าในการที่จะตอบคำถามนี้ถูก เด็กต้องมีทักษะอื่นๆ นอกเหนือจากความเข้าใจในเรื่อง Theory of mind เช่น ความเข้าใจในภาษา การมีความเอาใจใส่ (attention) มากพอที่จะฟังเรื่องราวได้ทั้งหมด มีความสามารถทางการรู้คิด (cognitive capacity) มากพอที่จะจำเรื่องราวได้ ซึ่งด้วยข้อจำกัดนี้เอง ทำให้นักจิตวิทยาหลายๆคนเชื่อว่าการที่จะวัด Theory of mind ด้วยวิธีการนี้ เป็นวิธีการที่ไม่ละเอียดพอที่จะวัด theory of mind ได้ (เช่น Freeman, Lewis & Doherty,1991) และนั่นหมายถึงเด็กอาจจะมีTheory of mind ก่อนอายุ 4-5ปีก็เป็นได้ . ถึงอย่างนั้นนักจิตวิทยาบางคนเสนอว่าถึงแม้ว่า Sally Ann false-belief task อาจจะไม่สามารถวัด Theory of mind ได้ทั้งหมด แต่ก็ยังสามารถใช้ในการวัดคอนเซ็ปต์ต่างๆได้ เช่น การเข้าใจและรับรู้คำถามของเด็ก . ย้อนกลับมาที่เรื่อง Theory of mind ซึ่งถ้าพูดง่ายๆคือทักษะการอนุมานสิ่งที่คนอื่นคิดหรือรับรู้เบื้องต้น ทักษะนี้มีความสำคัญกับวิวัฒนาการของมนุษย์ เช่น ถ้าเราเห็นงูอยู่หลังพุ่มไม้ ถ้าเพื่อนของเรากำลังเข้าใกล้พุ่มไม้เราก็จะเตือนเพื่อนเรื่องงู แต่ถ้าคนที่เป็นศัตรู เดินเข้าใกล้พุ่มไม้เราก็อาจจะไม่บอกคนนั้นถึงเรื่องงู ดังนั้นจึงสามารถพูดได้ว่าความรู้เรื่อง Theory of mind เป็นพื้นฐานของการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเจตนาว่าจะใช้ทักษะนี้ทางไหน .

นอกจากนี้ การที่คนเราสามารถแยกแยะได้ระหว่างการรับรู้ของตนและการรับรู้ของผู้อื่น หรือมี Theory of mind นั้นเป็นพื้นฐานสำคัญ ในการเข้าอกเข้าใจ รับรู้ความรู้สึก ความคิดของผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง (empathy) โดยที่ยังสามารถแยกแยะได้ว่าความรู้สึกของใครเป็นของใคร ไม่ได้หลงไปมีอารมณ์ร่วมตาม

.

การมี empathy ถือว่าเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เช่น เมื่อรู้ว่าการเล่นเสียงดังของเรากำลังทำให้คนอื่นที่อยู่ที่กินข้าวอยู่โต๊ะข้างๆหงุดหงิด เราก็หยุดการเล่นลง เมื่อลูกร้อง ทำให้แม่รับรู้ว่าลูกหิวนม ก็จะป้อนนมให้ลูก เมื่อเพื่อนโดนลูกบอลอัดหัว ทำให้เรารับรู้ว่าเพื่อนเจ็บจึงพยุงออกนอกสนามก่อนพาไปหาหมอ . ดังนั้นจึงพูดได้ว่าทักษะการอนุมานสิ่งที่คนอื่นคิดหรือรับรู้ ที่ทุกคนเหมือนจะมีติดตัวอยู่แล้วนั้น เป็นทักษะที่หลายๆคนอาจมองข้ามไป แต่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการอยู่ร่วมกันในสังคม การดูแล เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน

.

K. . ถ้าสนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ตามอ้างอิงนี้เลยย Baron-Cohen, S., Leslie, A. M., & Frith, U. (1985). Does the autistic child have a “theory of mind”?. Cognition, 21(1), 37-46.

Bloom, P., & German, T. P. (2000). Two reasons to abandon the false belief task as a test of theory of mind. Cognition, 77(1), B25-B31.

Decety, J. (2011). The neuroevolution of empathy. Annals of the New York Academy of Sciences, 1231(1), 35-45.

Freeman, N. H., Lewis, C., & Doherty, M. J. (1991). Preschoolers' grasp of a desire for knowledge in false-belief prediction: Practical intelligence and verbal report. British Journal of Developmental Psychology, 9(1), 139-157.

Frith, C., & Frith, U. (2005). Theory of mind. Current Biology, 15(17), R644-R645.

Hoffman, M. L. (2008). Empathy and prosocial behavior. Handbook of emotions, 3, 440-455.



ดู 5 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page