top of page
ค้นหา

The 5 Love Languages (ภาษารักทั้ง 5)

รูปภาพนักเขียน: Psychologist ChairPsychologist Chair

สวัสดีทุกท่าน ในช่วงเดือนแห่งความรักนะครับ ❤ . ผมเชื่อว่าหลายๆคน น่าจะรู้จักความรักไม่มากก็น้อยในระดับหนึ่งใช่ไหมครับ รู้ไหมครับว่า ความรักนั้น มีภาษาของมันด้วยนะครับ โดยภาษารักที่ผมหมายถึงคือ The 5 Love Languages (ภาษารักทั้ง 5) นั่นเอง


. The 5 Love Languages หรือ ภาษารักทั้ง 5 นั้นได้มีการกล่าวถึงครั้งแรกโดย Dr.Gary Chapman(1992) โดยภาษารักทั้ง 5 นั้นหมายถึงการที่เราแสดงความรัก และรับความรักในบริบท พฤติกรรม หรือภาษานั้นๆ ซึ่งภาษารักทั้ง 5 นั้น มีดังนี้ 1.การใส่ใจทางคำพูด (Words of Affirmation)

ถ้าหากคุณรู้สึกว่า การที่คู่ของคุณเอ่ยคำชื่นชม คำบอกรัก ให้คำสัญญากับคุณ รวมไปถึงถ้าคำขอโทษด้วย แล้วคุณรู้สึกว่ามันมีความหมาย ทำให้รู้สึกว่าตัวคุณมีคุณค่า และรู้สึกมีความสุขกับประโยคเหล่านั้นที่ได้ยิน รวมไปถึงคุณรู้สึกยินดี และพร้อมที่จะให้คำพูด คำชื่นชม คำบอกรักเหล่านั้นกับคู่รักของคุณอยู่เสมอ นั่นหมายถึงหนึ่งในภาษารักทั้ง 5 ของคุณ อาจจะเป็น การใส่ใจทางคำพูด (Words of Affirmation) ก็เป็นไปได้ 2.การแสดงความใส่ใจ (Act of Service)

คุณค้นพบว่าเมื่อคู่ของคุณได้แบ่งเบาภาระให้คุณ แสดงถึงความใส่ใจให้เห็นออกมาเป็นพฤติกรรม ช่วยให้คุณรู้สึกสบายขึ้น เครียดน้อยลง เช่นไปรับ ไปส่ง ช่วยทำงานบ้าน ช่วยคุณถือของ ช่วยแบ่งเบาภาระที่คุณกำลังเผชิญอยู่อย่างเห็นได้ชัด รวมไปถึงคุณพร้อมที่จะช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของคู่ของคุณ พร้อมช่วยเหลือเรื่องงานทั่วไป งานบ้าน หรือทำให้คลายเครียด นั่นหมายถึง การแสดงความใส่ใจ (Act of Service) อาจจะเป็นหนึ่งในภาษารักทั้ง 5 ของคุณ 3.การรับและให้ของขวัญ (Give/Receiving Gifts)

การที่คู่ของคุณได้พบของขวัญเล็กๆน้อยๆ และได้ซื้อมาให้คุณพร้อมกับบอกว่า เห็นแล้วนึกถึงคุณ พร้อมให้ของขวัญในช่วงโอกาสพิเศษต่างๆ หรือให้ของชิ้นเล็กๆน้อย เพื่อการแสดงออกถึงความรัก ทำให้คุณรู้สึกว่า ของชิ้นนั้นมีความหมาย และสิ่งที่คู่ของคุณทำนั้นมีคุณค่า และทำให้คุณมีความสุข การรับและให้ของขวัญ (Give/Receiving Gifts) อาจจะเป็นหนึ่งในภาษารักทั้ง 5 ของคุณ 4.การได้ใช้เวลาร่วมกัน (Quality Time)

คุณพบว่าในช่วงเวลาหนึ่งคู่ของคุณได้ให้ความสนใจที่คุณคนเดียว ในช่วงเวลานั้นๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยที่คู่ของคุณไม่มีท่าทีว่าจะสนใจในเรื่องอื่น หรือหลุดโฟกัสไปที่อื่นในช่วงเวลานั้น ทำให้คุณรู้สึกว่าช่วงเวลานั้นมีแค่คุณกับคู่ของคุณ ทำให้คุณรู้สึกว่ามันเป็นช่วงเวลาที่มีความหมาย ช่วงเวลาที่มีความสุขสำหรับคุณ นั่นหมายถึง การได้ใช้เวลาร่วมกัน (Quality Time) อาจจะเป็นหนึ่งในภาษารักทั้ง 5 ของคุณ 5.การสัมผัสทางกาย (Physical Tough)

ถ้าหากคุณรู้สึกว่า การที่คู่ของมีการแสดงออกถึงความรักผ่านการสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการจับมือ หอมแก้ม จูบ การลูบหัว การแสดงออกถึงการสกินชิพ ทำให้คุณรู้สึกอบอุ่น เหมือนถูกห้อมล้อมไปด้วยความรัก และทำให้คุณรู้สึกว่าคุณได้รับความรัก และคุณค่าผ่านการสัมผัสเหล่านั้น หนึ่งในภาษารักทั้ง 5 ของคุณอาจจะเป็น การสัมผัสทางกาย (Physical Touch) . โดยแต่ละบุคคลนั้นก็จะมีภาษารักที่แตกต่างกันไป แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีแค่ภาษาเดียว กล่าวได้ว่า ในบุคคลนั้นก็จะมีภาษารักหลัก และภาษารักรองลงมา เช่น ภาษารักหลัก เป็น การใส่ใจทางคำพูด และ การได้ใช้เวลาร่วมกัน และภาษารักรอง ก็คือ การสัมผัสทางกาย และ การแสดงความใส่ใจ . Dr.Gary ได้กล่าวว่าคู่ความสัมพันธ์ที่มีภาษารักที่ใกล้เคียงกันนั้นจะมีแนวโน้มค่อนข้างสูงที่จะทำให้ความสัมพันธ์ที่มีอยู่นั้น เป็นความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างราบรื่น และแนวโน้มพัฒนาไปในทางที่ดีได้ง่าย . จากการศึกษาของ Mostova(2022) พบว่าในคู่ของความสัมพันธ์นั้นถ้าหากทั้งคู่มีภาษารักทั้ง 5 ที่คล้ายกันทั้งการให้และการรับที่ตรงกันจะทำให้ความสัมพันธ์นั้นสร้างความเชื่อใจ และความเข้าใจกันได้ง่ายขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากคู่ของความสัมพันธ์นั้นมีภาษารักทั้ง 5 ที่แตกต่างกันมาก จะมีแนวโน้มทำให้ความสัมพันธ์นั้นสร้างความเชื่อใจ สร้างความมั่นคงได้ค่อนข้างลำบากกว่ามาก . . ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาที่กล่าวว่าภาษารักทั้ง 5 ของคู่ความสัมพันธ์มีความตรงกัน ก็จะสามารถผ่านไปได้ราบรื่นมากกว่า แต่ในขณะเดียวกันการศึกษาของ Polk & Egbert(2013) ได้พบว่า ถึงแม้ว่าหลายคู่จะมีภาษารักทั้ง 5 ไม่ได้ใกล้เคียงกันเลย แต่ก็ยังสามารถทำให้ความสัมพันธ์ไปได้ด้วยดี และราบรื่นได้เหมือนกัน ซึ่งการศึกษาดังกล่าวได้พบว่า ปัจจัยสำคัญของความสัมพันธ์หลักที่ขาดไม่ได้ของความสัมพันธ์นั่นก็คือ “ความเห็นอกเห็นใจ” และ “การร่วมมือไปด้วยกัน” นั่นเอง ทั้งนี้ Polk & Egbert ยังได้กล่าวอีกว่า ต่อให้ภาษารักทั้ง 5 ตรงกันมากขนาดไหน แต่ถ้าหากคู่รักนั้นขาด “ความเห็นอกเห็นใจ” และ “การร่วมมือไปด้วยกัน” ก็จะทำให้ความสัมพันธ์นั้นเป็นไปด้วยความลำบากเหมือนกัน . . กล่าวได้ว่าในความสัมพันธ์ที่มีภาษารักทั้ง 5 ที่คล้ายกันนั้น มีแนวโน้มที่ความสัมพันธ์นั้นจะเป็นไปได้ด้วยความราบรื่น และพัฒนาไปในทางที่ดีได้ง่าย แต่แน่นอนว่าในความสัมพันธ์นั้นยังคงมีอีกหลายปัจจัยที่ซับซ้อนมากกว่าภาษารักทั้ง 5 ที่ตรงกัน หรือคล้ายกัน . . บางครั้งความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น อาจเกิดความไม่เข้าใจ หรือขัดแย้งกันซึ่งเป็นเรื่องปกติ จึงต้องมีการปรับความเข้าใจ มีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน รวมไปถึงพร้อมที่จะร่วมมือไปด้วยกันนั่นเอง ซึ่งบางครั้งความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งกัน หรือเข้ากันไม่ได้ อาจจะทำได้ยาก แต่ไม่ได้หมายความทำไม่ได้ . การเดินทางไปด้วยกันแน่นอนว่า ความเร็วในการเดินของแต่บุคคลนั้นอาจจะแตกต่างกันไปบ้าง เหมือนภาษารักทั้ง 5 ที่มีความแตกต่างกัน หรือไม่เป็นจังหวะเดียวกัน อาจจะมีสะดุด หรือบางครั้งอาจจะเผลอทำให้อีกฝ่ายบาดเจ็บ โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ การปรับความเข้าใจ การสื่อสารด้วยกันจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ บางครั้งอาจจะไม่สามารถพูดคุย หรือสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ในความสัมพันธ์นั้นได้ด้วยตนเอง ซึ่งอาจจะต้องยอมรับว่า อาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่น หรือผู้เชี่ยวชาญเช่น จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาในด้าน Couple Therapy (การบำบัดชีวิตคู่) ด้วยนั่นเอง . แล้วเพื่อนๆ แต่ละคนล่ะครับ คิดว่าตนเองมีภาษารักทั้ง 5 ภาษาใดเป็นภาษารอง ภาษาหลักกันบ้างครับ หรือถ้าหากคนไหนไม่แน่ใจว่าภาษารักตัวเองเป็นแบบใด สามารถทำแบบสอบถามได้ที่ลิงค์นี้นะครับ(ภาษาอังกฤษ) https://5lovelanguages.com/quizzes/love-language . เก้าอี้ตัว W วงศธรณ์ ทุมกิจจ์ References. Egbert, N., & Polk, D. (2006). Speaking the language of relational maintenance: A validity test of Chapman’s (1992) five love languages. Communication Research Reports, 23(1), 19–26. https://doi-org.ezproxy.monmouth.edu/.../17464090500535822 Mostova O, Stolarski M, & Matthews, G. (2022) I love the way you love me: Responding to partner’s love language preferences boosts satisfaction in romantic heterosexual couples. PLoS ONE 17(6): e0269429. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0269429 https://www.verywellmind.com/can-the-five-love-languages.... https://www.psychologytoday.com/.../what-are-the-5-love...

ดู 152 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page