เมื่อไม่กี่วันก่อนได้ฟัง podcast ซึ่งมีตอนหนึ่งที่แขกรับเชิญซึ่งเป็น perfectionist พูดว่า “ฉันเลี่ยงที่จะทำสิ่งต่างๆ ที่คิดว่าจะทำออกมาได้ไม่สมบูรณ์แบบ” (“I avoided doing things that I might not be amazing at.”)
. สำหรับคำว่า “Perfectionist” นั้น ก็คือ “คนที่แสวงหาความสมบูรณ์แบบ” ซึ่งหมายถึง คนที่ต้องการจะมีความสมบูรณ์แบบ หรือแสดงออกให้คนอื่นเห็นว่าตนเองนั้นสมบูรณ์แบบ หลายๆ คนอาจจะคิดว่าการแสวงหาความสมบูรณ์แบบนั้นเป็นเรื่องดีที่จะทำให้ผลงานออกมาดีมีคุณภาพ แต่ในทางกลับกันการแสวงหาความสมบูรณ์แบบยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยทางจิต ซึ่งจะนำไปสู่อาการซึมเศร้า อาการย้ำคิดย้ำทำ อาการผิดปกติทางการกิน จนอาจถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้
. ความกังวลว่าตนเองจะทำพลาด กลัวจะไม่ประสบความสำเร็จ หรือการตั้งมาตรฐานกับตัวเองสูงเกินไปเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ Perfectionist ไม่ลองทำอะไรใหม่ๆ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยยืนยันว่า จริงแล้วๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ส่วนใหญ่มักจะไม่ใช่คนที่มีบุคลิกภาพแบบแสวงหาความสมบูรณ์แบบตลอดเวลา เนื่องจากพวกเขาไม่กลัวที่จะเผชิญกับความไม่รู้ ความไม่แน่นอน และความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม คนที่แสวงหาความสมบูรณ์แบบ (perfectionist) สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ คนที่มีความต้องการความสมบูรณ์แบบ “ปรับตัวได้” (adaptive/healthy) และ “ปรับตัวไม่ได้” (maladaptive/unhealthy)
. สำหรับ “คนที่มีความต้องการความสมบูรณ์แบบ แบบปรับตัวได้” จะมุ่งความสนใจและมีความสุขไปกับการทำสิ่งต่างๆ ให้ออกมาดีที่สุด แทนที่จะกังวลหรือกลัวกับความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น พวกเขาจะยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่าการกลับไปคิดว่าถ้ามันเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบแล้วผลจะเป็นอย่างไร
.
ในทางตรงกันข้าม “คนที่มีความต้องการความสมบูรณ์แบบ แบบปรับตัวไม่ได้” จะเต็มไปด้วยความกังวลว่าจะทำพลาด, มีความสงสัยในสิ่งที่ทำ, มีความรู้สึกขัดแย้งกันระหว่างความคาดหวังกับความเป็นจริง, มีการตำหนิตัวเอง, กลัวจะทำไม่ได้ตามที่คาดหวัง และมักจะคาดหวังกับคนอื่นสูง
.
บุคคลเหล่านี้จะมีความคิดแบบขาว-ดำ (black and white thinking หรือ all or nothing thinking) ก็คือ ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งในงานมีข้อบกพร่อง แม้จะเป็นจุดเล็กๆ ก็จะคิดว่างานนั้นล้มเหลว หรือไม่ได้เรื่อง และบุคคลเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวลสูง (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/psychologistschairs/posts/2047763752163617)
. นอกจากนี้มีงานวิจัย พบว่า ปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวสำคัญในการลดผลกระทบด้านลบของ Perfectionism ก็คือ “self-compassion หรือความเมตตากรุณาต่อตนเอง” (อ่านเพิ่มเติมได้ที่www.facebook.com/psychologistschairs/posts/2023499921256667) ซึ่งนักจิตวิทยาเสนอว่าการนำแนวคิดของความเมตตากรุณาต่อตนเองเข้ามาใช้นั้นมีประโยชน์ในระยะยาวมากกว่าการพยายามกำจัดความต้องการความสมบูรณ์แบบแบบปรับตัวไม่ได้ (unhealthy perfectionism)
. ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผลงานที่ทำนั้นไม่ได้ออกมาสมบูรณ์แบบอย่างที่คาดหวังไว้ แทนที่จะโทษตัวเอง หรือเกลียดตัวเองที่ทำออกมาได้ไม่สมบูรณ์แบบและคิดว่าตนล้มเหลว ให้หันกลับมามีความเมตตากรุณาต่อตนเอง รับรู้และอยู่กับความคิดความรู้สึกที่เกิดขึ้นด้วยความอ่อนโยน และเข้าใจว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติของการเป็นมนุษย์ ดังนั้นการนำหลักของความเมตตากรุณาต่อตนเองเข้ามาใช้นั้นไม่ใช่การลืมความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แต่เป็นการอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเมตตาและอ่อนโยน
. และท้ายที่สุดแล้ว การอยู่แต่กับความกลัวว่าจะผิดพลาด กลัวว่าจะไม่สมบูรณ์แบบ อาจจะทำให้เราไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย ให้โอกาสตัวเองได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ บ้าง แน่นอนว่าอาจจะมีความเสี่ยง มีความผิดพลาด หรือความไม่สมบูรณ์แบบในครั้งแรกที่ทำ เราก็เรียนรู้จากมัน และพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ดังที่แขกรับเชิญคนเดิมได้กล่าวปิดท้ายว่า เขาได้เรียนรู้ที่จะให้โอกาสตัวเองในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ซึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะไม่สมบูรณ์แบบ และมีความผิดพลาดเกิดขึ้น แต่เมื่อยอมปล่อยวางความสมบูรณ์แบบ กระบวนการเรียนรู้ก็เกิดขึ้น (A willingness to embrace the learning process, which means you have to let go of being perfect.)
. N & K
.
. Reference: Dunkley, D. M., Blankstein, K. R., Masheb, R. M., & Grilo, C. M. (2006). Personal standards and evaluative concerns dimensions of “clinical” perfectionism: A reply to Shafran et al.(2002, 2003) and Hewitt et al.(2003). Behaviour research and therapy, 44(1), 63-84. Ferrari, M., Yap, K., Scott, N., Einstein, D. A., & Ciarrochi, J. (2018). Self-compassion moderates the perfectionism and depression link in both adolescence and adulthood. PloS one, 13(2), e0192022. Flett, G. L., Blankstein, K. R., Hewitt, P. L., & Koledin, S. (1992). Components of perfectionism and procrastination in college students. Social Behavior and Personality: an international journal, 20(2), 85-94. Shafran, R., Cooper, Z., & Fairburn, C. G. (2002). Clinical perfectionism: A cognitive–behavioural analysis. Behaviour research and therapy, 40(7), 773-791. Stumpf, H., & Parker, W. D. (2000). A hierarchical structural analysis of perfectionism and its relation to other personality characteristics. Personality and individual differences, 28(5), 837-852. Thomas, L. (2018, January 12). Body image, self compassion & ‘food addiction’. Laura Thomas PhD. Podcast retrieved from http://www.laurathomasphd.co.uk/podcast/ep70-body-image-self-compassion-food-addiction-w-marci-evans-marci-rd/
Comments