หนึ่งในสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกทึ่งกับศาสตร์จิตวิทยา ก็คือการที่นักจิตวิทยาสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน (ที่ส่วนมากเรามักจะมองข้ามไป) และไปศึกษามันอย่างจริงจังพร้อมทั้งตั้งชื่อให้กับพฤติกรรมนั้น . เคยสังเกตมั้ยว่าเวลาเราคุยกับเด็กเบบี๋นั้น เราจะใช้คำที่น้อยกว่าปกติ มีการเน้นเสียงสูงต่ำที่ชัดเจน มีการพูดซ้ำ หรือยืดคำให้ยาวกว่าปกติ จังหวะการพูดมีความช้าลง โทนเสียงจะสูงขึ้น มีการใช้สีหน้า หรือ facial expression มาก และอาจถึงขั้นที่เวอร์เกินกว่าการพูดปกติเข้ามาประกอบด้วย เช่น เมื่อเจอเด็กที่เหมือนเป็นเด็กผู้ชาย เราก็อาจจะพูดว่า สะ-หวัด-ดี-ค้าบบบบ โดยที่แยกแต่ละคำออกมอย่างชัดเจน เน้นเสียงในทุกๆพยางค์ที่พูด และอาจจะมีการทำหน้าทำตาตามคำพูดนั้นๆ ด้วย . พฤติกรรมนี้เกิดขึ้นกับหลายๆคนที่พูดคุยกับเด็ก และไม่ได้จำกัดอยู่แค่ที่พ่อหรือแม่เท่านั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเลยด้วยซ้ำ . นักจิตวิทยาสนใจพฤติกรรมนี้มาตั้งแต่ปี 1964 (Ferguson, 1964; Garnica & Khul, 1988) และตั้งชื่อให้พฤติกรรมนี้ว่า Motherese หรือ baby-talk มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า infant-directed speech โดยที่พฤติกรรมนี้จะถูกใช้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงสองขวบเลยทีเดียว . สาเหตุที่การพูดเป็นไปในลักษณะนี้ก็เพราะ การที่ใช้เสียงสูงสามารถดึงดูดความสนใจของเด็กได้มากกว่าโทนเสียงต่ำ และการที่เราพูดในจังหวะที่ช้าลงเนื่องจากเราเข้าใจว่าทักษะการฟัง การเรียนรู้คำศัพท์ หรือความสามารถในการรับรู้ (cognitive capacity) ของเด็กนั้นยังไม่ดี ดังนั้นเราจึง พูดช้าๆ เพื่อที่จะช่วยให้เด็กเข้าใจสิ่งที่เรากำลังสื่อสารให้ได้มากที่สุด . Pegg และ Werker (1992) พบว่าเด็กอายุ 7 สัปดาห์ มีความสนใจในคำพูดแบบ Infant-directed speech มากกว่าการพูดแบบปกติหรือ Adult-directed speech โดยที่เพศของผู้พูดนั้นไม่ได้ส่งผลต่อความสนใจมากเท่ารูปแบบการพูด
.
นอกจากนี้ Infant-directed speech ยังมีส่วนช่วยในการเรียนภาษาของเด็ก เช่น การพูดคำเดิมๆซ้ำๆด้วยจังหวะที่ช้าลง ทำให้เด็กมีเวลาที่จะเข้าใจการออกเสียง และจับคู่คำกับความหมายมากขึ้น
.
ยกตัวอย่างที่จะทำให้เห็นภาพชัดขึ้น เมื่อเด็กเห็นลิ้นจี่แล้วผู้ใหญ่พูดว่า ลิ้นนนน จี่ เด็กที่ยังเล็กมากๆ ยังไม่สามารถพูดคำที่มีหลายพยางค์ได้จะพูดออกมาแค่คำว่า จี่ และจับคู่ความหมายของคำว่าจี่กับลูกสีแดงๆที่เขาเห็น
.
K. . >>> ตัวอย่างของ Infant-direct speech https://www.youtube.com/watch?v=F9qS_AZCdgM . อ้างอิง Ferguson, C. A. (1964). Baby talk in six languages. American anthropologist, 66, 103-114.
Grieser, D. L., & Kuhl, P. K. (1988). Maternal speech to infants in a tonal language: Support for universal prosodic features in motherese. Developmental psychology, 24(1), 14.
Kutner, L. (2016). The Purpose of Baby Talk. Psych Central. Retrieved on June 14, 2018, from https://psychcentral.com/lib/the-purpose-of-baby-talk/
Pegg, J. E., Werker, J. F., & McLeod, P. J. (1992). Preference for infant-directed over adult-directed speech: Evidence from 7-week-old infants. Infant behavior and development, 15(3), 325-345.
ความคิดเห็น