top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนPsychologist Chair

“Anhedonia"(แอนฮีโดเนีย) หรือ “ภาวะสิ้นยินดี”

“คุณเคยรู้สึกว่างเปล่าไหม?”

“คุณเคยรู้สึก เหนื่อย เฉยชา ไปกับทุกอย่างไหม?”

“คุณเคยรู้สึก ทุกอย่างเริ่มมีความหมายกับคุณน้อยลงไหม?”

“คุณเคยรู้สึก ทุกอย่างที่คุณชอบทำ เริ่มทำให้คุณรู้สึกมีความสุขกับมันน้อยลงไหม?”

.

.


หากคำกล่าวเบื้องต้นคุณอาจจะรู้สึกคุ้นเคย

หรือกำลังประสบอยู่

คุณอาจจะเคยหรือกำลังประสบกับ


“Anhedonia" (แอนฮีโดเนีย) หรือ “ภาวะสิ้นยินดี”


.


โดยผู้ที่ประสบกับภาวะนี้จะมีสภาวะอารมณ์ที่ว่างเปล่า ไม่สามารถอธิบายได้ว่ารู้สึกอย่างไร

แต่ที่มั่นใจได้คือ ไม่ได้รู้สึกว่ามีความสุข แต่ก็ไม่ได้ถึงกับเรียกว่ามีความทุกข์ หรือเศร้าใจอยู่

ในขณะที่ร่างกายสามารถทำงาน กินนอน ได้ค่อนข้างปกติ แต่จิตใจ และความรู้สึกข้างในเหมือนได้ตายไปแล้วจึงอาจทำให้เรียกภาวะนี้ได้อีกชื่อคือ

“Dead Inside” นั่นเอง

.

.


โดยการศึกษาที่ผ่านมานั้นได้มีการแบ่งประเภทของ ภาวะสิ้นยินดี ได้ทั้งหมด 3 ประเภทได้แก่


1. Sexual Anhedonia (ภาวะสิ้นยินดีทางเพศ)

คือ ภาวะที่ไม่รู้สึกมีความสุขกับการถึงจุดสุดยอด กล่าวได้ว่าสามารถที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้ปกติ แต่อาจจะไม่ได้รู้สึกมีความสุข หรือเพลิดเพลินไปกับมันเท่าที่ควร


2. Social Anhedonia (ภาวะสิ้นยินดีทางสังคม)

คือ ภาวะที่รู้สึกว่าการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมนั้นทำได้ยาก หรือไม่ค่อยมีความหมายกับตนเอง เพราะการพูดคุย การกอด การจับมือหรืออื่นๆ โดยการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมนั้นไม่ได้ทำให้รู้สึกยินดี หรือมีความรู้สึกสนุก หรือยินดีไปกับการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเลย


3. Musical Anhedonia (ภาวะสิ้นยินดีทางดนตรี)

คือ ภาวะที่รู้สึกว่าการรับฟังดนตรี หรือสื่อบันเทิงไม่ได้รู้สึกเพลิดเพลินไปกับมัน หรือรู้สึกมีความสุขน้อยลงเรื่อย ๆ จนบางทีเหมือนเป็นเสียงที่ค่อยๆหายไปในพื้นหลัง ไม่ได้รับรู้และอินไปกับดนตรี เนื้อเพลง หรือสิ่งใด ๆเพราะไม่ได้รู้สึกสนุกสนาน หรือเพลิดเพลินไปกับมัน

.

.


จะสังเกตุได้ว่าผลกระทบของ ภาวะสิ้นยินดี

ที่เห็นได้ชัดคือ เริ่มรู้สึกเฉยชา ไม่มีความสุข ไม่เพลิดเพลินไปกับกิจกรรมที่ตนเองชอบ

มีความรู้สึก และรับรู้ว่าไม่ว่าจะพยายามทำอะไร ก็เริ่มไม่มีความหมาย รู้สึกว่าทำแล้วไม่ได้อะไร

ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าวได้

-แยกตัวออกจากสังคม ไม่ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ครอบครัว หรือแม้แต่คนรัก

-ไม่สนใจในการรับฟัง หรือไม่มีความเห็นอกเห็นใจกับผู้อื่น

-เลิกทำกิจกรรมที่ตนเองชอบ ล้มเลิกที่จะหาเป้าหมายในการทำงาน หรือกิจกรรมต่างๆ

-รู้สึกหมดหวัง และอาจส่งผลให้เกิดความคิดอยากฆ่าตัวตายได้

.

.


ซึ่งจากการศึกษาพบว่าสาเหตุหลักๆของ ภาวะสิ้นยินดี มีดังนี้

- อาจกำลังประสบกับภาวะทางจิตเวช หรือโรคจิตเวชอยู่ ส่งผลให้สารเคมีในสมองผิดปกติ

- ยา/สารเสพติด ยาบางชนิดอาจส่งผลต่อสมองในการประมวลผลทางอารมณ์ทำให้รับรู้ถึงอารมณ์ได้ยากได้

- กำลังประสบกับปัญหาในชีวิตที่ไม่สามารถหาทางออกได้ และไม่สามารถหาที่ช่วยเหลือหรือบรรเทาได้

- คอยระงับอารมณ์ของตนเอง ไม่มีพื้นที่ให้แสดงออก จนบางทีมองว่าการแสดงอารมณ์คือสิ่งที่ไม่จำเป็น

- ประสบกับความโดดเดี่ยวในสังคม หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และไม่มีพื้นที่ให้แสดงออก

- อื่นๆ

โดยถ้าหากบุคคลประสบกับภาวะสิ้นดีเป็นระยะเวลานาน หรือเรื่อยๆ

มีแนวโน้มสูงที่บุคคลนั้นอาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้า หรือโรคทางจิตเวชได้

.


แล้วถ้าหากว่ากำลังประสบกับภาวะสิ้นยินดีนั้น จะสามารถจัดการและบรรเทาได้อย่างไร ?


จากการศึกษานั้นได้มีแนวทางการจัดการและบรรเทาได้ ดังนี้

1.ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ให้คุณได้มีพื้นที่ แสดงอารมณ์ ระบายได้

2.พักผ่อน แน่นอนคุณอาจจะไม่ได้รู้สึกเพลิดเพลินไปกับมัน แต่มันคือสิ่งหนึ่งที่มันจำเป็นสำหรับคุณ

3.คอยหาสิ่งใหม่ๆทำ ให้หลุดพ้นจากสิ่งที่จำเจ ให้ได้รับรู้ว่ายังมีเรื่องราวใหม่ๆรอคุณอยู่

4.หากิจกรรมที่คุณเคยชอบ หรืออยากทำ ให้โอกาสมันอีกครั้งหนึ่ง

5.ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็น นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์

.

.


หากคุณกำลังประสบกับภาวะสิ้นยินดี

คุณอาจรับรู้ว่าสิ่งที่คุณพยายามทำ

มันอาจทำให้คุณไม่รู้สึกอะไรเลย ไม่ยินดี ไม่สนุก

ไม่มีความสุข ว่างเปล่า เฉยชาไปกับมัน

ทำให้คิดว่า แล้วจะทำมันไปทำไมกัน

มันไม่มีความหมายอะไรกับคุณแล้วจนล้มเลิกที่จะทำ

หรือไม่อยากทำอะไรเลย ปล่อยให้เฉยชาไปเลยดีกว่า

.


อยากให้คุณรับรู้ว่า ยังมีสิ่งใหม่ๆที่รอให้คุณได้พบเจออยู่ และแน่นอนว่า ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งใหม่ๆนะ อาจจะยังมีเรื่องราวที่คุณอาจจะเคยเฉยชากับมัน ทำให้คุณได้รู้สึกดีอีกครั้ง การได้เจอเพื่อนอีกครั้ง การได้กินของโปรดที่ไม่ได้กินมานาน การที่ได้กลับมาฟังเพลงโปรดสมัยก่อน การได้พบว่าแค่กาแฟ หรือชานมดีๆซักแก้ว ในวันที่เฉยชา มันก็อาจจะทำให้รู้สึกว่า

“มันก็ไม่แย่ขนาดนั้นมั้ง”

.

อย่าเพิ่งยอมแพ้ไปกับมัน ให้คุณได้พักเหนื่อยซักหน่อย แล้วก็ได้มาลองหาหนทางให้ได้ยินดีไปกับชีวิตอีกครั้ง

.

.


เก้าอี้ตัว W

วงศธรณ์ ทุมกิจจ์

.

Reference:

American Psychological Association. APA concise dictionary of psychology. Washington, DC: American Psychological Association, 2009. Print.

Anhedonia: What to do when you’ve lost your joy. (n.d.). Depression Alliance. Retrieved from https://www.depressionalliance.org/anhedonia/...

Germine, L. T., Garrido, L., Bruce, L., & Hooker, C. (2011, October 1). Social anhedonia is associated with neural abnormalities during face emotion processing.



ดู 86 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page